วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

อัตตภาพเป็นของกลาง

อัตตภาพเป็นของกลาง ไม่ใช่ของใครทั้งหมด ก้อนใครก้อนเรา เป็นของได้มาอันบริสุทธิ์ เกิดมาชาตินี้ก็เป็นผู้สมบูรณ์บริบูรณ์ พ้นจากใบ้บ้าบอดหนวก เสียจริต มีร่างกายตาหูจมูกลิ้นกายใจสมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว เราก็ควรพากันพิจารณาว่า เราเกิดมาชาตินี้ได้สมบัติอันสมบูรณ์แล้ว เราต้องเอามันทำประโยชน์เสีย เอากะในเสีย อย่าไปปล่อยให้มันแก่ขึ้นตายขึ้นซื่อๆ สมบัติอันนี้เป็นแต่ภายนอกเอานำมันเสีย เอาทรัพย์ภายใน เอาอริยทรัพย์ ทรัพย์อันติดตามตนไปได้ ทรัพย์สมบัติที่เราแสวงหาอยู่ในชาตินี้ ได้เป็นมหาเศรษฐีได้เป็นอิหยังก็ตาม เป็นของกลางหมด เป็นทรัพย์ภายนอกที่เราได้อาศัยมันชั่วชีวิตนี้เท่านั้น ครั้นขาดลมหายใจแล้ว สมบัตินี้ก็เป็นสมบัติของโลก อัตตภาพร่างกายนี้ก็เป็นสมบัติของโลก มันเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ

ประโยชน์ตนคือทำความเพียร คือทำจิตให้สงบ เป็นสมาธิ จิตมันดีแล้วให้มันสงบเป็นสมาธิ ครั้นมันเป็นสมาธิแล้ว ทำให้มันแน่วแน่มีอารมณ์อันเดียวแล้ว ก็จิตนั่นแหละ มันจะเป็นดวงปัญญาขึ้นมา มันจะส่องแสง มันมีกระแสจิตพุ่งออกมา พิจารณากายอีก ซ้ำอีก มันก็จะเห็นชัด ครั้นมันสงบแล้ว พระพุทธเจ้าก็ให้พิจารณาสัจของจริงทั้งสี่ สัจธรรมของจริง ของจริงของดีพระพุทธเจ้า ของพระสาวกผู้ได้ยินได้ฟังแล้วเห็นจริงอย่างนั้น จริงอย่างไร ดีอย่างไร ดีเพราะว่าเหมือนดังพระสาวก ท่านทั้งหลายเบื้องต้นก็เป็นปุถุชนนี่แหละ เมื่อได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า พิจารณาตามเห็นตาม เห็นแล้วเกิดนิพพิทาในเบญจขันธ์ว่า มันไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงของใช้ ไม่ใช่ของเรา นี่แหละเห็นจริงชัดแล้ว ก็ละถอนปล่อยวางไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำให้ปุถุชนเป็นพระอริยเจ้าได้ จึงว่าของจริง

หลวงปู่ขาว อนาลโย

ปฏิบัติธรรม ทำอะไร?

[ ปฏิบัติธรรม ทำอะไร? ]

ผมมักจะได้ยินคำถามลักษณะนี้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะทั้งจากผู้ที่ไม่เคยเข้าคอร์สฝึกปฏิบัติภาวนา อาจเป็นเพราะสื่อทางโทรทัศน์หรืออินเตอร์เน็ตที่มักจะเผยแพร่ภาพของคนที่เข้าวัดปฏิบัติธรรม ใส่ชุดขาว เดินจงกรมช้าๆ หรือนั่งสมาธิหลับตา หลายคนจึงมักจินตนาการว่าคนที่ชอบปฏิบัติธรรมเป็นคนเดินช้า พูดช้า ชอบนั่งสมาธิ เป็นพวกไม่ค่อยโกรธ ใจบุญ เป็นต้น ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของผู้ปฏิบัติธรรม ดูแตกต่างจากคนทั่วไป

ในอดีตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยโต้วาทีกับท่านสนทันพราหมณ์ถึงคุณสมบัติของพราหมณ์ที่ดี ซึ่งท่านสนทันสามารถตอบได้ว่า “ กรรมดีและปัญญาดี ” เป็นคุณสมบัติของพราหมณ์ที่ดี แต่ถึงกระนั้นท่านสนทันก็ไม่สามารถบอกได้ว่าวิธีปฏิบัตินั้นเป็นอย่างไร? จะสร้างเหตุด้วยวิธีไหน? อุปมาเหมือนเรารู้ว่าการจุดกองไฟช่วยให้ร่างกายอบอุ่นได้ แต่ไม่รู้วิธีที่จะก่อกองไฟนั้น การฝึกปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน หากไม่ได้ศึกษาวิธีการปฏิบัติ ศึกษาการสร้างเหตุที่ถูกต้อง ก็อาจจะทำให้ติดเพียงภาพลักษณ์การปฏิบัติภายนอก ไม่ได้มุ่งฝึกฝนพัฒนาที่จิตใจภายใน ซึ่งเป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา

ทั้งนี้ก่อนที่จะกล่าวถึงประเด็นว่านักปฏิบัติธรรม ทำอะไรกัน? ขอให้ทำความเข้าใจถึงแก่นคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่ว่า “ การทำความดี การละชั่ว และการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ “ ซึ่งกล่าวถึงการฝึกฝนพัฒนาทาง “ จิตใจ ” เป็นสำคัญ จนสามารถเปลี่ยนแปลงจิตใจของปุถุชน ให้กลายเป็นจิตของอริยชนได้ ส่วนรูปลักษณ์ภายนอกที่ปรากฏเป็นเพียงการฝึกสำรวมกายวาจาใจ เพื่อมีสมาธิตั้งมั่นศึกษาที่จิตใจตนเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า สิ่งที่ผู้ฝึกปฏิบัติธรรมกำลังทำนั้นคือ การฝึกฝนพัฒนาทางกาย วาจา และใจตนเอง ด้วยการเจริญความดี ละเว้นความชั่ว ฝึกมอง และยอมรับความจริงตามความเป็นจริง โดยเฉพาะความเป็นจริงของร่างกายและจิตใจของพวกเค้าเอง ให้มีความเห็นที่ถูกต้อง มีอิสรภาพ อยู่เหนือกิเลส (รัก โลภ โกรธ หลง) สามารถปล่อยวางความทุกข์แบบที่เข้าใจจากจิตภายใน ไม่ใช่เพียงความคิด จนจิตใจหมดสิ้นกิเลสสามารถพ้นทุกข์ได้อย่างถาวร โดยอาศัยหลักสำคัญคือ ศีล (จิตที่เป็นปกติ) สมาธิ (จิตที่ตั้งมั่น) และปัญญา (จิตมีความเห็นถูกต้อง)

โดยสรุปการปฏิบัติธรรมมุ่งเน้นการศึกษาและเรียนรู้ที่จิตในขณะที่ใช้ชีวิตประจำวัน มีความเพียร มีความรู้สึกตัว และมีสติ ฝึกฝนที่จะรู้เท่าทันใจตนเองและฝึกการปล่อยวาง เพื่อปฏิบัติต่อสัตว์และบุคคลอื่นตามสิ่งที่สมควรกระทำ ด้วยกาย วาจา ใจ ที่สำรวม สอดคล้องไปกับบริบทในสังคมได้อย่างกลมกลืน

นำเสนอโดยทีมงานบ้านธรรมทาน

.
#บ้านธรรมทาน
#ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน
www.baandhammatan.com

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...