วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ปฏิบัติธรรม ทำอะไร?

[ ปฏิบัติธรรม ทำอะไร? ]

ผมมักจะได้ยินคำถามลักษณะนี้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะทั้งจากผู้ที่ไม่เคยเข้าคอร์สฝึกปฏิบัติภาวนา อาจเป็นเพราะสื่อทางโทรทัศน์หรืออินเตอร์เน็ตที่มักจะเผยแพร่ภาพของคนที่เข้าวัดปฏิบัติธรรม ใส่ชุดขาว เดินจงกรมช้าๆ หรือนั่งสมาธิหลับตา หลายคนจึงมักจินตนาการว่าคนที่ชอบปฏิบัติธรรมเป็นคนเดินช้า พูดช้า ชอบนั่งสมาธิ เป็นพวกไม่ค่อยโกรธ ใจบุญ เป็นต้น ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของผู้ปฏิบัติธรรม ดูแตกต่างจากคนทั่วไป

ในอดีตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยโต้วาทีกับท่านสนทันพราหมณ์ถึงคุณสมบัติของพราหมณ์ที่ดี ซึ่งท่านสนทันสามารถตอบได้ว่า “ กรรมดีและปัญญาดี ” เป็นคุณสมบัติของพราหมณ์ที่ดี แต่ถึงกระนั้นท่านสนทันก็ไม่สามารถบอกได้ว่าวิธีปฏิบัตินั้นเป็นอย่างไร? จะสร้างเหตุด้วยวิธีไหน? อุปมาเหมือนเรารู้ว่าการจุดกองไฟช่วยให้ร่างกายอบอุ่นได้ แต่ไม่รู้วิธีที่จะก่อกองไฟนั้น การฝึกปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน หากไม่ได้ศึกษาวิธีการปฏิบัติ ศึกษาการสร้างเหตุที่ถูกต้อง ก็อาจจะทำให้ติดเพียงภาพลักษณ์การปฏิบัติภายนอก ไม่ได้มุ่งฝึกฝนพัฒนาที่จิตใจภายใน ซึ่งเป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา

ทั้งนี้ก่อนที่จะกล่าวถึงประเด็นว่านักปฏิบัติธรรม ทำอะไรกัน? ขอให้ทำความเข้าใจถึงแก่นคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่ว่า “ การทำความดี การละชั่ว และการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ “ ซึ่งกล่าวถึงการฝึกฝนพัฒนาทาง “ จิตใจ ” เป็นสำคัญ จนสามารถเปลี่ยนแปลงจิตใจของปุถุชน ให้กลายเป็นจิตของอริยชนได้ ส่วนรูปลักษณ์ภายนอกที่ปรากฏเป็นเพียงการฝึกสำรวมกายวาจาใจ เพื่อมีสมาธิตั้งมั่นศึกษาที่จิตใจตนเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า สิ่งที่ผู้ฝึกปฏิบัติธรรมกำลังทำนั้นคือ การฝึกฝนพัฒนาทางกาย วาจา และใจตนเอง ด้วยการเจริญความดี ละเว้นความชั่ว ฝึกมอง และยอมรับความจริงตามความเป็นจริง โดยเฉพาะความเป็นจริงของร่างกายและจิตใจของพวกเค้าเอง ให้มีความเห็นที่ถูกต้อง มีอิสรภาพ อยู่เหนือกิเลส (รัก โลภ โกรธ หลง) สามารถปล่อยวางความทุกข์แบบที่เข้าใจจากจิตภายใน ไม่ใช่เพียงความคิด จนจิตใจหมดสิ้นกิเลสสามารถพ้นทุกข์ได้อย่างถาวร โดยอาศัยหลักสำคัญคือ ศีล (จิตที่เป็นปกติ) สมาธิ (จิตที่ตั้งมั่น) และปัญญา (จิตมีความเห็นถูกต้อง)

โดยสรุปการปฏิบัติธรรมมุ่งเน้นการศึกษาและเรียนรู้ที่จิตในขณะที่ใช้ชีวิตประจำวัน มีความเพียร มีความรู้สึกตัว และมีสติ ฝึกฝนที่จะรู้เท่าทันใจตนเองและฝึกการปล่อยวาง เพื่อปฏิบัติต่อสัตว์และบุคคลอื่นตามสิ่งที่สมควรกระทำ ด้วยกาย วาจา ใจ ที่สำรวม สอดคล้องไปกับบริบทในสังคมได้อย่างกลมกลืน

นำเสนอโดยทีมงานบ้านธรรมทาน

.
#บ้านธรรมทาน
#ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน
www.baandhammatan.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...