วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2561

แก้วรัตนะ

สัญลักษณ์แทนพระรัตนตรัย ตามคติของทิเบต ทำเป็นรูปแก้ว (รัตนะ) สามดวง (ไตร) เปล่งรัศมีวางไว้บนดอกบัว 

ตามคติพุทธศาสนาในทิเบต แก้วสามประการยังมีนัยที่ล้ำลึกมากกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

นัยภายนอก - หมายถึง พระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์

นัยภายใน - หมายถึง คุรุ, อิษฏเทวดา, ฑากินี

นัยลี้ลับ - หมายถึง ธรรมกาย, สัมโภคกาย, นิรมาณกาย

นัยภายนอกและนัยลี้ลับเป็นที่ทราบกันดีแล้ว จะขออธิบายนัยภายใน ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะของวัชรยาน

ว่าด้วยนัยภายใน
1. คุรุ หรือลามะ คือพระอาจารย์ที่ประสิทธิประสาทวิชาทางธรรม ศิษย์ต้องชื่อฟังลามะอย่างที่สุดถึงกับถวายชีวิตให้ได้ การล่วงวินัยที่รับมาจากท่าน (เรียกว่า สะมะยะ) เป็นเรื่องร้ายแรงมาก จึงนับว่าคุรุหรือลามะเป็นสรณะอย่างหนึ่ง

2. อิษฏเทวดา หรือยิดัม คือเทพยดาหรือโพธิสัตว์ที่เป็นบุคคลาธิษฐานในการปฏิบัติภาวนา ผู้ปฏิบัติจะภาวนาถึงท่านเหล่านี้เพื่อชี้ทางปฏิบัติ ขอให้ท่าช่วยคุ้มครองระหว่างการปฏิบัติธรรมบนวิถีอันตราย

3. ฑากินี คือ พลังช่วยเหลือในทางพุทธตันตระในรูปของเทพสตรี

วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2561

ธรรมชาติของใจเรามันก็อย่างนั้น

ธรรมชาติของใจเรามันก็อย่างนั้น เมื่อใดที่เกาะเกี่ยวผูกพัน ยึดมั่นถือมั่น ก็จะเกิดความวุ่นวายสับสน เดี๋ยวมันก็จะวิ่งวุ่นไปโน่นไปนี่ พอมันวุ่นวายสับสนมากๆ เข้า เราก็คิดว่าคงจะฝึกอบรมมันไม่ได้แล้ว แล้วก็เป็นทุกข์ นี่ก็เพราะไม่เข้าใจว่ามันต้องเป็นของมันอย่างนั้นเอง ความคิด ความรู้สึก มันจะวิ่งไปวิ่งมาอยู่อย่างนี้

แม้เราจะพยายามฝึกปฏิบัติ พยายามให้มันสงบ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เมื่อเราติดตามพิจารณาดูธรรมชาติของใจอยู่บ่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจว่าธรรมชาติของใจมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

ถ้าเราเห็นอันนี้ชัด เราก็จะทิ้งความคิดความรู้สึกอย่างนั้นได้ ทีนี้ก็ไม่ต้องคิดนั่นคิดนี่อีก คอยแต่บอกตัวเองไว้อย่างเดียวว่า "มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง" พอเข้าใจได้ชัด เห็นแจ้งอย่างนี้แล้ว ทีนี้ก็จะปล่อยอะไรๆ ได้ทั้งหมด ก็ไม่ใช่ว่าความคิดความรู้สึกมันจะหายไป มันก็ยังอยู่นั่นแหละ แต่มันหมดอำนาจเสียแล้ว

เปรียบก็เหมือนกับเด็กที่ชอบซน เล่นสนุก ทำให้รำคาญ จนเราต้องดุเอาตีเอา แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของเด็กก็เป็นอย่างนั้นเอง พอรู้อย่างนี้ เราก็ปล่อยให้เด็กเล่นไปตามเรื่องของเขา ความเดือดร้อนรำคาญของเราก็หมดไป

มันหมดไปได้อย่างไร ก็เพราะเรายอมรับธรรมชาติของเด็ก ความรู้สึกของเราเปลี่ยน และเรายอมรับธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย เราปล่อยวาง จิตของเราก็มีความสงบเยือกเย็น นี่เรามีความเข้าใจอันถูกต้องแล้ว เป็นสัมมาทิฐิ

ถ้ายังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ยังเป็นมิจฉาอยู่ แม้จะไปอยู่ในถ้ำลึกมืดสักเท่าใด ใจมันก็ยังยุ่งเหยิงอยู่ ใจจะสงบได้ก็ด้วยความเห็นที่ถูกต้อง เป็นสัมมาทิฐิเท่านั้น ทีนี้ก็หมดปัญหาจะต้องแก้เพราะไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี่มันเป็นอย่างนี้ เราไม่ชอบมัน เราปล่อยวางมัน

เมื่อใดที่มีความรู้สึกเกาะเกี่ยวยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้น เราปล่อยวางทันที เพราะรู้แล้วว่าความรู้สึกอย่างนั้นมันไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อจะกวนเรา แม้บางทีเราอาจจะคิดอย่างนั้น แต่ความเป็นจริงความรู้สึกนั้นเป็นของมันอย่างนั้นเอง

ถ้าเราปล่อยวางมันเสีย รูปก็เป็นสักแต่ว่ารูป เสียงก็สักแต่ว่าเสียง กลิ่นก็สักแต่ว่ากลิ่น รสก็สักแต่ว่ารส โผฏฐัพพะก็สักแต่ว่าโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ก็สักแต่ว่าธรรมารมณ์ เปรียบเหมือนน้ำมันกับน้ำท่า

ถ้าเราเอาทั้งสองอย่างนี้เทใส่ขวดเดียวกัน มันก็ไม่ปนกัน เพราะธรรมชาติมันต่างกัน เหมือนกับที่คนฉลาดก็ต่างกับคนโง่ พระพุทธเจ้าก็ทรงอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แต่พระองค์ทรงเป็นพระอรหันต์ พระองค์จึงทรงเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสิ่ง "สักว่า" เท่านั้น

พระองค์ทรงปล่อยวางมันไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ทรงเข้าพระทัยแล้วว่า ใจก็สักว่าใจ ความคิดก็สักว่าความคิด พระองค์ไม่ทรงเอามันมาปนกัน ใจก็สักว่าใจ ความคิดความรู้สึกก็สักว่าความคิด ความรู้สึก ปล่อยให้มันเป็นเพียงสิ่ง "สักว่า"

รูปก็สักว่ารูป เสียงก็สักว่าเสียง ความคิดก็สักว่าความคิด จะต้องไปยึดมั่นถือมั่นทำไม ถ้าคิดได้ รู้สึกได้อย่างนี้ เราก็จะแยกกันได้ ความคิดความรู้สึก (อารมณ์) อยู่ทางหนึ่ง ใจก็อยู่อีกทางหนึ่ง เหมือนกับน้ำมันกับน้ำท่า อยู่ในขวดเดียวกัน แต่มันแยกกันอยู่

พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกของพระองค์ ก็อยู่ร่วมกับปุถุชนคนธรรมดาที่ไม่ได้รู้ธรรม ท่านไม่ได้เพียงอยู่ร่วมเท่านั้น แต่ท่านยังสอนคนเหล่านั้น ทั้งคนฉลาด คนโง่ ให้รู้จักวิธีที่จะศึกษาธรรมปฏิบัติธรรมและรู้แจ้งในธรรม ท่านสอนได้เพราะท่านได้ปฏิบัติมาเอง ท่านรู้ว่ามันเป็นเรื่องของใจเท่านั้น เหมือนอย่างที่ได้พูดมานี่แหละ

ดังนั้น การปฏิบัติภาวนานี้อย่าไปสงสัยมันเลย เราหนีจากบ้านมาบวช ไม่ใช่เพื่อหนีมาอยู่กับความหลง หรือยู่กับความขลาดความกลัว แต่หนีมาเพื่อฝึกอบรมตัวเอง เพื่อเป็นนายตัวเอง ชนะตัวเอง ถ้าเราเข้าใจได้อย่างนี้ เราก็จะปฏิบัติธรรมได้ ธรรมะจะแจ่มชัดขึ้นในใจของเรา

ผู้ที่เข้าใจธรรมะก็เข้าใจตัวเอง ใครเข้าใจตัวเองก็เข้าใจธรรมะ ทุกวันนี้ก็เหลือแต่เปลือกของธรรมะเท่านั้น ความเป็นจริงแล้วธรรมะมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่จำเป็นที่จะต้องหนีไปไหน ถ้าจะหนีก็ให้หนีด้วยความฉลาด ด้วยปัญญา หนีด้วยความชำนิชำนาญ อย่าหนีด้วยความโง่ ถ้าเราต้องการความสงบก็ให้สงบด้วยความฉลาด ด้วยปัญญา เท่านั้นก็พอ

เมื่อใดที่เราเห็นธรรมะ นั่นก็เป็นสัมมาปฏิปทาแล้ว กิเลสก็สักแต่ว่ากิเลส ใจก็สักแต่ว่าใจ เมื่อใดที่เราทิ้งได้ ปล่องวางได้ แยกได้ เมื่อนั้นมันก็เป็นเพียงสิ่งสักว่า เป็นเพียงอย่างนี้อย่างนั้นสำหรับเราเท่านั้นเอง เมื่อเราเห็นถูกแล้ว ก็จะมีแต่ความปลอดโปร่ง ความเป็นอิสระตลอดเวลา

พระพุทธองค์ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านอย่ายึดมั่นในธรรม" ธรรมะคืออะไร คือทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรระ ความรักความเกลียดก็เป็นธรรมะ ความสุขความทุกข์ก็เป็นธรรมะ ความชอบความไม่ชอบก็เป็นธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กน้อยแค่ไหน ก็เป็นธรรมะ

หลวงพ่อชา สุภัทโท

ทําไมการปฏิบัติที่ก้าวหน้าอยู่ดีดีในตอนแรก ถึงหายไป หรือหยุดความก้าวหน้า "

ทําไมการปฏิบัติที่ก้าวหน้าอยู่ดีดีในตอนแรก ถึงหายไป หรือหยุดความก้าวหน้า "

.
สิ่งหนึ่งที่ดึงเราคือ ความสับสน ความลังเลสงสัยนี้ล่ะครับ จริงๆ แล้วการปฏิบัติที่ทําอยู่จะได้สลับระหว่าง สมถะกับวิปัสสนา ถ้าไม่ลังเลสงสัย ทําไปเรื่อยๆ เล่นๆ แม้ใจเราอยากได้วิปัสสนา แต่บางครั้งหลุดไปสมถะบ้างก็ไม่แปลกครับ ดีในแง่ไปเสริมให้จิตเราตั้งมั่นดีขึ้น แต่ถ้าไปลังเลปุ๊บเนี้ย มันจะไม่ได้อะไรเลย แม้แต่สมถะก็ไม่ได้ ไม่ต้องหวังวิปัสสนาหรอกครับยิ่งห่างไปใหญ่ ( สมถะกับวิปัสสนา ล้วนมีส่วนที่หนุนกันและกัน ) จุดนี้เป็นจุดที่เกิดกับผู้ปฏิบัติที่เริ่มรู้อะไรมากแล้ว แต่สิ่งที่รู้มากขึ้นแล้วยังจัดระบบไม่เข้าที่ หรือยังรู้ไม่ชัดแบบลึกๆ จริงๆ จะทําให้เกิดความลังเลสงสัยว่า เราทําคลาดเคลื่อน ทําผิดตรงไหนหรือปล่าว ทั้งที่ก่อนหน้าที่ทําบนความไม่รู้ชัด ทําผิดๆ ถูกๆ และลองทําเล่นๆ กับเกิดความก้าวหน้า เกิดสภาวะบ้างแล้ว แต่พอมารู้เยอะขึ้น พอเริ่มสงสัย เริ่มลังเลสับสน ที่นี้ความก้าวหน้าที่มีหายไปหมด พอหายก็เริ่มอยากได้สภาวะที่เคยได้แว๊ปๆ ชั่วคราวกลับมาใหม่ ก็จะยิ่งหลุดไปไกลกว่าเดิมอีก ยิ่งหายิ่งไกลห่างออกไปเรื่อยๆ

.
วิธีแก้ ก็ให้ทําเหมือนคนไม่รู้ครับ สักแต่ว่าทํา ทําเรื่อยๆ เล่นๆ ไม่ให้ค่าใดๆ " ไม่มุ่งมั่นแต่ก็ไม่ลดละ ละความลังเลสงสัยเสีย " หากเจตนาเป็นการปฏิบัติแล้ว จะทําคลาดเคลื่อนไปบ้าง เมื่อเจตนาหมดลงจากการทําเรื่อยๆ เล่นๆ ก็ยังจะได้ความก้าวหน้าที่สลับกันไปมาระหว่างสมถะกับวิปัสสนาอยู่ดี ดีกว่าลังเลแล้วไม่ได้อะไรจากการปฏิบัติเลย เหมือนทําฟรี การปฏิบัติธรรมนั้นอยู่ที่จิต จิตสําคัญสุด จิตที่บริสุทธิ์ยิ่งได้สภาวธรรมง่ายๆ จิตที่บริสุทธิ์คือ จิตที่ว่างๆ ไงครับ ที่นี้ว่างเนี่ยเกิดได้สองแบบ คือ ว่างเพราะไม่รู้อะไรเลย ว่างแบบไม่มีอะไรรู้ ไม่มีความคิดอะไร กับว่างแบบรู้เยอะ รู้ลึกแล้วว่างจริง แต่ไม่ว่าว่างแบบไหนก็ได้สภาวธรรมทั้งนั้นครับ แล้วพอเราได้สภาวะไปแล้ว ปัญญาญาณจะเกิดกับเราเอง สิ่งที่เราไม่ได้รู้อะไรมาก่อน เราจะค่อยๆ เริ่มรู้ธรรมได้เองครับ แต่ถ้าไปลังเลสงสัยมากๆ พยายามรู้มากๆ รู้เยอะๆ ก่อน มักจะกลายเป็นไปติดอยู่กับการเป็นผู้รู้ครับ ที่รู้อะไรเยอะรู้ลึกแบบความคิดคือไปอ่านไปฟังเขามา ศึกษามาเป็นสิบๆ ปี แต่ตนเองกลับไม่ได้เกิดสภาวะใดๆ กับจิตใจตนเองเลย ปัญญาญาณจึงไม่เกิด การบรรลุธรรมได้เองจึงไม่มี ยังติดอยู่กับรัก โลภ โกรธ หลง เหมือนเดิม ลองสังเกตสิครับบางท่านที่รู้มากๆ รู้เยอะๆ แต่เถียงเพื่อจะเอาชนะกันแทบตาย ตัวตนโผล่มาเต็มไปหมดไม่รู้ตัว แต่ถ้ารู้ได้จากใจตนนี้ สภาวะที่ได้มันทําให้รัก โลภ โกรธ หลง เจือจางลงไปเรื่อยๆ พวกนี้จะไม่เถียงเพื่อเอาชนะกับใครหรอกครับ เขาแค่ต้องการบอกเพื่อจะช่วยเท่านั้น ไม่ได้ต้องการสิ่งอื่นใดๆ หรือเอาชนะผู้ใดเลย เพราะตัวตนเขาลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ครับ

ตัวเรารู้ตัวเรา...เราคิดอะไร!?

ตัวเรารู้ตัวเรา...เราคิดอะไร!?
ตัวเรารู้คนอื่นไม่รู้หรอก สะอาดไม่สะอาด บริสุทธ์ไม่บริสุทธิ์  ตัวเรารู้เท่านั้น เราจะชำระกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์อย่างไร
ให้กาย วาจา ใจ เป็นสมาธิและบริสุทธิ์  ให้กายวาจาใจเป็นสมาธิตั้งอยู่ในสิกขาบททั้ง 3 อันเป็นอริยมรรค เป็นหนทางเดินเข้าสู่มรรคผล

#อริยมรรค๘
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะคือองค์ปัญญา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะน่ะคือ องค์แห่งศีล  สัมมาวายามะ  สัมมาสติ  สัมมาสมาธิ  คือองค์สมาธิ
ใน "สิกขา ๓" เมื่อเราเคารพในสิกขาสามนั้นได้ก็เหมือนเราเดินถูกทางถูกต้องแล้ว...... มีอริยมรรคเป็นมรรควิสุทธิ อยู่ในมรรค ๘ นั้นแหละไม่ใช่อยู่ที่อื่น

#มรรค๘ก็อยู่ที่ตัวเรานั้นเอง จะไปอยู่ที่ไหนอีก
แล้วจะไปแสวงหามรรคที่ไหนอีก ถ้าเราทำตัวเราให้บริสุทธิ์แล้ว ทุกสิ่งอย่างก็บริสุทธิ์นะ แต่ว่าทุกคนจะทำให้กันก็ไม่ได้ สุขก็กายเราที่สุข ใจเราน่ะสุข
ทุกข์ก็กายเราน่ะที่ทุกข์ ใจเราน่ะทุกข์ มีอยู่ 2 อย่างนี้แหละ เอาใจมาเรียนกายสิ หาเหตุมันหน่อยเถอะ อยากให้ญาติธรรมหาเหตุตัวนี้

...ในกรรมฐาน ๕ เกศา โลมา นขา ทันตา ตะโจ กรรมฐานมีหน้าเป็นที่ ๕ เห็นไหม ? เป็นสิ่งที่เราควรจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณา นี้แหละตัวจอมปลอมน่ะ!!

ตัวหลอกลวงเราน่ะ !! ที่จริงมันไม่มีตัวตนเลย กายก็สักว่ากาย ผมก็สักแต่ว่าผม ไม่มีตัวไม่มีตน ฟันจนถึงหนังมันไม่มีตัวตนหรอก มันไม่จริงไม่จังอะไรเลย เวทนามันก็ไม่มีตัวตน ว่าเป็นสุขเป็นทุกข์ มันก็ไม่มีตัวตน มันไม่มีอะไรสักอย่างเลย จิตก็สักแต่ว่าจิต

ใจก็สักแต่ว่าใจไม่มีตัวตน จะว่าธรรมกุศล  อกุศลมันก็ไม่มีตัวตนอีก อะไรเป็นตัวเป็นตัวเป็นตนล่ะ ก็มันสมมุติเฉยๆ ให้รู้ตามความเป็นจริงก็พอน่ะ ดูตรงนี้ ให้มันทะลุให้มันสว่างเถอะ

.
CR.ศรัทธาบารมีหลวงปู่สวาท ปัญญาธโร

เส้นทางตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า

เส้นทางตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า

หลักการที่พระองค์ทรงยึดเป็นหลักปฏิบัติก็คือว่า
( ทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก )

พระองค์ทำลมอานาปานสติให้เป็นสิ่งรู้ของจิต แล้วเอาสติไปจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ พระองค์ทรงทำพระสติรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทำให้พระองค์ต้องรู้
ความหยาบความละเอียดของลมหายใจ
และรู้ความเปลี่ยนแปลงของลมหายใจ

ในขณะใดที่พระองค์ไม่ได้ดูลมหายใจ พระองค์ก็กำหนดดูอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในจิตของพระองค์ สิ่งใดเกิดขึ้นพระองค์ก็รู้
รู้ด้วยวิธีการทำสติกำหนดจิต กำหนดคอยรู้ คอยจ้องดูอารมณ์
ที่เกิดดับของจิต ในเมื่อสติสัมปชัญญะของพระองค์มีความเข้มแข็งขึ้น
สามารถที่จะประคับประคองจิตใจ ให้มีความรู้ซึ้งเห็นจริงใน
ความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ในสภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติ

คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เมื่อรู้ว่าอารมณ์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
อารมณ์อันใด ที่จิตของพระองค์ยังยึดถืออยู่
เมื่ออารมณ์สิ่งนั้นเกิดขึ้นก็มายุแหย่ให้จิตของพระองค์
เกิดความยินดี เกิดความยินร้าย ความทุกข์ก็ปรากฏขึ้นภายในจิต

ทุกข์ที่ปรากฏขึ้นภายในจิตของพระองค์ พระองค์ก็กำหนดว่า
นี่คือทุกข์อริยสัจ เป็นทุกข์จริงๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเมื่อรู้ว่า
เป็นทุกข์จริงๆ พระองค์ก็สาวหาสาเหตุ ทุกข์นี่มันเกิดมาจากเหตุอะไร
ทุกข์อันนี้เกิดมาจากตัณหา ตัณหาเกิดมาจากไหน
เกิดมาจากความยินดี และความยินร้าย

ความยินดีเป็นกามตัณหา ความยินร้ายเป็นวิภวตัณหา
ความยึดมั่นถือมั่นในความยินดียินร้ายทั้ง ๒ อย่างเป็นภวตัณหา
ในเมื่อจิตมีภวตัณหา มันก็ย่อมมีความทุกข์เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น
จึงทำให้พระองค์รู้ซึ้งเห็นจริงในอริยสัจ๔ คือ
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
อันนี้เป็นภูมิธรรมที่พระองค์ค้นคว้าพบ และตรัสรู้เองโดยชอบ

.

สมาธิเพื่อชีวิต
โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาลวัน
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...