เคยมีคนถามหลวงปู่ดูลย์ อตุโลว่า
" ทำอย่างไรจึงจะตัดความโกรธได้ "
หลวงปู่ตอบว่า
“ ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอกมีแต่รู้ทัน เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง ”
อันนี้น่าคิดนะไม่มีใครตัดความโกรธให้ขาดได้ ถึงแม้ว่าบางครั้งดูเหมือนว่าเราจะตัดความโกรธให้ขาดได้ หรือกดข่มให้มันหายไปได้ แต่ที่จริงมันไม่ได้หายไปไหน มันแอบซ่อนตัวอยู่ในมุมมืด และคอยโผล่มาตอนเราเผลอ
นักปฏิบัติหลายคนเวลาทำสมาธิภาวนาจะพยายามบังคับจิต เช่น เวลามีความโกรธ ความหงุดหงิด ซึ่งได้ผลในช่วงสั้นๆ แต่พอเผลอเมื่อไรมันก็พุ่งขึ้นมาใหม่
เห็นได้จากคนที่ทำสมาธิภาวนาหลายคน เวลาโกรธจะโกรธแรงมาก เพราะเขาไม่รู้จักจัดการกับความโกรธอย่างถูกต้อง เขาใช้วิธีการกดข่มมันเอาไว้ มันซุกซ่อนอยู่ข้างในรอวันระเบิด...
มีบางคนสงสัยว่า ทั้งๆ ที่เห็นความคิดแล้วแต่ทำไมมันไม่หยุด หรือทั้งๆ ที่เห็นความโกรธแล้วทำไมมันไม่หายโกรธ
คำตอบอาจเป็นเพราะคนที่ถามนั้นไม่ได้เห็นหรือรู้เฉยๆ ไม่ได้เห็นด้วยใจที่เป็นกลาง
ใจเป็นกลางคือ ไม่รังเกียจ ไม่ผลักไส ไม่คิดที่จะทำอะไรกับความคิดหรืออารมณ์เหล่านั้น แค่ดูเฉยๆ
แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ดูหรือรู้เฉยๆ ใจแฝงความไม่พอใจ ความไม่ชอบอารมณ์เหล่านั้น อยากผลักไสมัน เช่น ตอนที่เห็นความโกรธ ก็มีความรู้สึกลึกๆ ว่าไม่ชอบความโกรธ อยากให้ความโกรธนั้นดับไป พอเห็นความฟุ้งซ่านก็มีความอยากให้ความฟุ้งซ่านนั้นดับไป พอมีความรู้สึกแบบนั้นใจก็จะกดข่มอารมณ์เหล่านั้นโดยไม่รู้ตัวทำให้มันยิ่งอาละวาดมากขึ้น….
นักปฏิบัติหลายคนพอเห็นความหงุดหงิดเกิดขึ้นก็ไม่พอใจ พอมีความโกรธเกิดขึ้นก็ไม่พอใจ นึกสงสัยว่าเราปฏิบัติมาตั้งนาน ทำไมยังมีความโกรธอยู่
คนที่คิดแบบนี้ในใจส่วนลึกก็พยายามกดข่มความโกรธเอาไว้ มีความรู้สึกต่อต้านความโกรธ หรือจะเรียกว่าเป็นโกรธซ้อนโกรธก็ได้
เห็นโกรธตัวแรกก็จริง แต่ไม่เห็นโกรธตัวที่สอง
แต่ถ้าเราหมั่นดูใจของเราบ่อยๆ เวลามีความโกรธเกิดขึ้น แล้วใจรู้สึกต่อต้านความโกรธนั้น เราก็จะรู้ทันอาการเหล่านั้น
ให้หมั่นรู้ทันความโกรธทั้งสองตัว
ปัญหาที่แท้จริงของคนเราและนักปฏิบัติ ไม่ได้อยู่ที่ว่ามีอารมณ์ใดเกิดขึ้นหรือมีอะไรมากระทบ แต่อยู่ที่เรารู้สึกอย่างไรต่ออารมณ์หรือสิ่งที่มากระทบ เช่น เวลามีเสียงดังเกิดขึ้น เสียงไม่ใช่ปัญหา สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ ใจที่ไม่ชอบเสียงนั้น
คนที่ทุกข์ใจ หรือรู้สึกหงุดหงิดเวลาเสียงดัง จริงๆ แล้วตัวการไม่ได้อยู่ที่เสียงดัง แต่อยู่ที่ความรู้สึกต่อต้านไม่ชอบใจเสียงนั้นต่างหาก
-------------------------------
ส่วนหนึ่งจากหนังสือ ความสุขอยู่ที่ใจ หันมาเมื่อไหร่ก็เจอ
โดย พระไพศาล วิสาโล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น