เผลอ เพ่ง
วิธีการปฏิบัตินะ มันก็มีเป็นขั้นๆไปเหมือนกัน ขั้นแรกเลยก็ต้องหัดรู้สึกตัวให้เป็น คนรู้สึกตัวไม่เป็นนะ มันเดินปัญญาไม่ได้ รู้สึกตัวไม่เป็นก็หลงไป ถ้าไม่หลงไปก็นั่งเพ่งไว้ทั้งวัน คนส่วนใหญ่ที่เขาภาวนากัน เขาเอาแต่นั่งเพ่งกัน ไปที่ไหนก็เจอแต่นักเพ่ง เพ่งแล้วกายก็นิ่งใจก็นิ่ง ก็ได้แค่นั้นแหละ กี่ปีมันก็อยู่แค่นั้นแหละ เพ่งมาวันนี้สงบนะอีกหน่อยก็ฟุ้ง ฟุ้งแล้วก็ไปทำความสงบใหม่ ไปเพ่งอีกก็สงบ กลับไปกลับมาไม่มีอะไรขึ้นมา ก็ได้แค่นั้น
จะต้องกลับมารู้สึกตัวให้เป็น ไม่ใช่เผลอไป ไม่ใช่เพ่งเอาไว้ เผลอไปเนี่ยหย่อนไป เพ่งเอาไว้นี่ตึงเกินไป เผลอเนี่ยตามใจกิเลส กิเลสลากไปทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจโดยเฉพาะลากทางใจคือลากไปคิด ลืมตัวเอง ใช้ไม่ได้ เพ่งเอาไว้นะ เพ่งออกข้างนอกก็ได้ เพ่งพระ เพ่งเทียน เพ่งลูกแก้ว เพ่งใบไม้ เพ่งน้ำ เพ่งออกนอกก็ได้ เพ่งร่างกายก็ได้ เช่น เพ่งลมหายใจ เพ่งท้องพองยุบ หรืออิริยาบถ ๔ ยืนอยู่ก็เพ่งอยู่ทั้งตัว นั่งอยู่ก็เพ่งทั้งตัว นอนอยู่ก็เพ่งทั้งตัว เดินก็เพ่งตัวแข็งๆ ใจแข็งๆตัวแข็งๆ หรือเพ่งทางใจก็ได้ น้อมจิตให้นิ่ง รักษาจิตให้นิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียวเลย ไม่ให้จิตคิดนึกปรุงแต่ง บังคับจิตให้นิ่ง สงบ อันนั้นก็คือเพ่ง ถ้าเผลอไปคือไม่สามารถรู้กายรู้ใจได้ ถ้าเพ่งไว้เนี่ย กายก็นิ่งใจก็นิ่ง ไม่แสดงไตรลักษณ์
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น