กุณฑาลินีโยคะมองว่า ฮอร์โมนที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสโลหิตของคนเรานั้น มีอานุภาพที่ทรงพลังมากเทียบเท่าระเบิดปรมาณูในระดับจุลภาคเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น ฮอร์โมนเอสโทโรเจนที่หลั่งออกมาจากรังไข่ของสตรีเพศในช่วงระยะเวลา 30 ปีที่สตรีเพศสามารถตั้งครรภ์ได้นั้น มีปริมาณและน้ำหนักแค่ดวงตราไปรษณีย์อันเล็กๆ ดวงเดียวเท่านั้นเอง แต่ฮอร์โมนแค่ส่วนเสี้ยวของดวงตาไปรษณีย์อันนี้ที่หลั่งออกมาในวัยแรกรุ่นนี้แหละที่สามารถ “แปลงโฉม” เด็กหญิงคนหนึ่งให้กลายเป็นสาวเต็มตัวได้ ต่อมอะดรีนัลก็เช่นกัน ตลอดชีวิตของคนเรามันจะหลั่งฮอร์โมนออกมาแค่ 1 ช้อนชาเท่านั้น
หากต่อมอะดรีนัลเกิดหยุดทำงานไปด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง จะทำให้คนที่หนุ่มกลายสภาพเป็นคนแก่ได้ภายในไม่กี่เดือนเท่านั้น ช่างเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อจริงๆ นอกจากนี้ เมื่อคนเราได้รับบาดแผล ฮอร์โมนในร่างกายจะถูกระดมมาใช้งานเพื่อระงับการติดเชื้อ และการอักเสบอีกด้วย จากตัวอย่างข้างต้น คงพอทำให้เห็นได้แล้วกระมังว่า ต่อมไร้ท่อมีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกายคนเราขนาดไหน
ต่อมไร้ท่อในร่างกายของคนเรามีทั้งหมด 8 ต่อมด้วยกัน หากรวมต่อมน้ำลายเข้าไปด้วย ก็จะเป็น 9 ต่อม ซึ่งได้แก่ ต่อมเพศ ต่อมอะดรีนัล ตับอ่อน ต่อมไทมัส ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ ต่อมน้ำลาย ต่อมพิทูอิทารี และต่อมไพนีล และอย่าแปลกใจเลยว่า ที่ตั้งของต่อมเหล่านี้ ล้วนตรงกับที่ตั้งของจักระทั้ง 7 ในวิชากุณฑาลินีโยคะแทบทั้งสิ้น
แก่นความคิดของกุณฑาลินีโยคะนั้น อยู่ที่ความเชื่อที่ว่า ถ้าดักแด้ยังกลายเป็นผีเสื้อได้ มนุษย์ธรรมดาผู้มีความพากเพียรในการบำเพ็ญโยคะ ก็ย่อมสามารถกลายเป็น “ยอดคน” ได้เช่นกัน ตัวอ่อนของแมลงผ่านการลอกคราบหลายครั้งก่อนจะกลายเป็นดักแด้ในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่ตัวอ่อนของแมลงจะกลายเป็นดักแด้นั้นมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นภายในร่างกายของตัวอ่อนก่อน นั่นคือ ฮอร์โมนที่ถูกผลิตออกมาเพื่อธำรงรักษาความเป็นตัวอ่อนของแมลงนั้น ค่อยๆ มีปริมาณลดน้อยลงตามลำดับ ขณะเดียวกัน ตัวอ่อนก็จะเลิกรับประทานอาหารเข้าสู่สภาพสงบนิ่ง ซึ่งถ้าดูเผินๆ จากภายนอกจะเหมือนกับว่าตัวอ่อนกำลังหลับอยู่
แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น เพราะในขณะนั้น ภายในร่างกายของตัวอ่อนกำลังมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ซึ่งไม่อาจมองเห็นได้จากภายนอก ฮอร์โมนเก่าที่คอยธำรงรักษาความเป็นตัวอ่อนกำลังถูกแทนที่ด้วยฮอร์โมนใหม่ที่แต่เดิมมีบทบาทน้อยมาก ฮอร์โมนใหม่นี้ถูกผลิตออกมาจากต่อมที่มีชื่อว่า โปรโธแรซิค (Prothoracic Gland) จึงมีชื่อว่า ฮอร์โมนโปรโธแรซิค (PGH) เมื่อฮอร์โมนนี้ถูกผลิตออกมาจนถึงปริมาณมากสุด ร่างกายของตัวอ่อนจะค่อยๆ หดแฟบเข้าสู่ขั้นตอนก่อนเป็นดักแด้ และกลายเป็นดักแด้ในที่สุด
ช่วงนี้แหละที่ตัวดักแด้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายครั้งมโหฬาร เพราะในขณะที่ฮอร์โมน PGH ถูกขับออกมาจนมีปริมาณมากสุดนั้น เซลล์ของตัวดักแด้ก็จะค่อยๆ เริ่มสลายตัวกลายเป็นของเหลวด้วยเช่นกัน เพื่อเข้าสู่การลอกคราบครั้งสุดท้าย ตัวอ่อนนั้นต้องผ่านการลอกคราบมาแล้วถึง 4 ครั้งก่อนที่จะกลายเป็นดักแด้ในครั้งที่ห้า และเมื่อเป็นดักแด้แล้วจะเกิดการลอกคราบครั้งมโหฬารอีกครั้งเป็นครั้งที่หก เพื่อที่ดักแด้จะกลายเป็นผีเสื้อที่โผบินไปสู่ท้องฟ้าได้
เมื่อได้พิจารณากระบวนการ “ลอกคราบ” ของตัวอ่อนของแมลง จนกลายไปเป็นผีเสื้อข้างต้น ทำให้กุณฑาลินีโยคะได้แง่คิดที่สำคัญมากในการพัฒนาคน ดังต่อไปนี้
(1) ก่อนอื่นต้องย้ำเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่า กระบวนการ “ลอกคราบ” ของคนเราจากคนธรรมดากลายเป็นยอดคนด้วย กุณฑาลินีโยคะนั้น ไม่เหมือนกับกระบวนการ “ลอกคราบ” ของตัวอ่อนของแมลง ก่อนจะกลายเป็นดักแด้ และผีเสื้อในที่สุด เพราะในขณะที่กระบวนการ “ลอกคราบ” ของตัวอ่อนของแมลงเป็นกระบวนการทางกายภาพเป็นหลัก ขณะที่ กระบวนการ “ลอกคราบ” ของคนเราโดยผ่านการฝึกกุณฑาลินีโยคะนั้น เป็นกระบวนการ “ชำระกายทิพย์” เป็นชั้นๆ ขึ้นไป อันเป็นกระบวนการทางพลังงานในขั้นละเอียดเป็นหลัก และก็เป็นกระบวนการของการชำระ และ/หรือสลายตัวตนเป็นขั้นๆ ไปของคนผู้นั้นด้วยไปพร้อมๆ กัน (คนเราแต่ละคนมีกายทิพย์อยู่ 7 กาย ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว)
(2) อย่างไรก็ดี ในระดับกายเนื้อ กุณฑาลินีโยคะเห็นความสำคัญของการใช้จิตสำนึกเข้าไปควบคุมการหลั่งฮอร์โมนของต่อมไร้ท่อต่างๆ ในร่างกาย เพราะในกรณีของตัวอ่อน การลอกคราบของมันเกิดขึ้นได้เพราะฮอร์โมน PGH แต่กระบวนการนั้นเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ตัวอ่อนไม่สามารถใช้จิตสำนึกของมันไปกระตุ้นฮอร์โมนให้หลั่งออกมาได้ เพราะกลไกการควบคุมฮอร์โมนนั้นเป็นระบบประสาทอัตโนมัติที่อยู่นอกเหนือการควบคุมจิตสำนึกของแมลง ขณะที่ผู้ฝึกกุณฑาลินีโยคะนั้น มุ่งพยายามเข้าไปควบคุมการหลั่งฮอร์โมนของต่อมไร้ท่อต่างๆ ในทางอ้อมโดยผ่านการฝึกกระตุ้นจักระทั้ง 7 เพื่อให้ร่างกายของผู้ฝึกมีความสมบูรณ์แข็งแรงในทุกๆ มิติอย่างบูรณาการ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากสำหรับการชำระกายทิพย์ทั้ง 7 ต่อไป
ในมุมมองของกุณฑาลินีโยคะ จักระคือศูนย์กลางแห่งการควบคุมฮอร์โมนที่สำคัญในร่างกายของมนุษย์ จักระคือบ่อน้ำพุที่ให้กำเนิดพลังงานอันสุดแสนมหัศจรรย์ของคนเรา โดยผ่านการขับฮอร์โมนและเอนไซม์ออกมาช่วยทำให้คนเราสามารถรักษากายภาพแห่งความเป็นมนุษย์เอาไว้ได้ หรือสามารถเป็นอะไรที่ยิ่งกว่านั้นได้
เราจะสามารถเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญยิ่งที่จักระทั้ง 7 มีต่อชีวิตมนุษย์นี้ได้โดยผ่านการศึกษา และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของต่อมไร้ท่อต่างๆ ที่สัมพันธ์กับที่ตั้งของจักระทั้ง 7 ดังต่อไปนี้
(1) ต่อมไพนีล
ต่อมนี้ถือเป็นต่อมหลักที่กุณฑาลินีโยคะเชื่อว่า มันทำหน้าที่ควบคุมต่อมอื่นๆ อีกทีหนึ่ง ต่อมนี้ยาวเพียงครึ่งนิ้วมีสีแดง ลักษณะเหมือนเมล็ดต้นสน หนักเพียง 0.2 กรัม ต่อมนี้จะโตเต็มที่เมื่อคนเรามีอายุราวๆ 7-8 ขวบ หลังจากนั้น จะค่อยๆ เสื่อมสภาพลง กุณฑาลินีโยคะเชื่อว่า ต่อมไพนีลทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมวุฒิภาวะทางเพศ กิจกรรมทางเพศ และอิริยาบถต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ฮอร์โมนนั้นก็คือเมลาโทนิน นอกจากนี้ต่อมนี้ยังผลิตฮอร์โมนเซราโทนินที่สัมพันธ์อยู่กับหน้าที่ของการใช้ความคิดที่เกี่ยวกับตรรกะเหตุผล ต่อมไพนีลนี้มีความฉับไวต่อแสงสว่างเป็นพิเศษ เพราะต่อมนี้น่าจะเป็นร่องรอยเดิมของ “ตาที่สาม” ของมนุษย์ที่ค่อยๆ หายเข้าไปในสมองเหมือนกับตาที่สามของจิ้งจก ตุ๊กแกที่อยู่บนศีรษะที่ทำหน้าที่ฉับไวในการรับแสงสว่าง และการควบคุมลีลาจังหวะธรรมชาติในวงจรชีวิต จักระที่ 7 หรือสหัสธารเกี่ยวข้องกับต่อมไพนีลโดยตรง
ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากที่ตั้งแต่เมื่อหลายพันปีก่อนแล้วที่พวกปราชญ์โยคีได้กล่าวถึง “ตาที่สาม” ซึ่งอยู่ “ตรงศูนย์กลางของสมอง” โดยกล่าวว่าเป็น “ดวงตาแห่งปัญญาญาณ” ซึ่งถ้าหากได้ผ่านการฝึกฝนปฏิบัติตามแนวทางของกุณฑาลินีโยคะแล้ว จะทำให้ผู้นั้นสามารถหลอมรวมตนเองให้เป็นหนึ่งเดียวกับ “สภาวะที่สูงส่งทางจิตวิญญาณ” ได้
เนื่องจากความฉับไวในการรับแสงของต่อมไพนีลในเวลากลางคืนท่ามกลางไฟมืด จะทำให้ปริมาณของฮอร์โมนเมลาโทนินที่หลั่งออกมาจากต่อมไพนีลจะสูงมาก ขณะที่ปริมาณของฮอร์โมนเซราโทนินที่ถูกขับออกมาจะลดต่ำมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะก่อให้เกิดสภาวะแห่งการพักผ่อน และผ่อนคลายของกายและจิตใจทำให้ผู้นั้นหลับสนิทได้ แต่พอในตอนกลางวันสิ่งต่างๆ จะเกิดในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ ปริมาณของฮอร์โมนเมลาโทนินจะลดลง ขณะที่ปริมาณฮอร์โมนเซราโทนินจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดสภาวะของความคึกคักเคลื่อนไหวที่ปราศจากการผ่อนคลาย นอกจากนี้สีเขียวยังมีบทบาทในการช่วยลดปริมาณของเซราโทนินที่ต่อมไพนีลผลิตออกมาได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความเขียวชอุ่มของต้นไม้ และป่าไม้จะช่วยส่งเสริมอารมณ์ของคนเราให้สงบลง และคลายเครียดลงได้
แน่นอนว่า การฝึกกุณฑาลินีโยคะ ย่อมส่งผลสะเทือนอย่างสูงต่อการทำงานของต่อมไพนีลในทิศทางที่ทำให้ฮอร์โมนเมลาโทนินเพิ่มขึ้น และฮอร์โมนเซราโทนินลดลง เมื่อเป็นดังนั้น จิตและกายของผู้ฝึก ย่อมจะผ่อนคลาย สงบ จมดิ่งไปสู่สภาวะของความตระหนักรู้ที่ลึกล้ำยิ่งขึ้น และสามารถนำไปสู่การเข้าถึงภาวะแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลได้ในที่สุด (ยังมีต่อ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น