Meditation posture in Tsewang Nyenjud.
ท่านั่งสมาธิ
คัมภีร์เซวัง เญียนจุด (คำสอนกระซิบบอกจากพระคุรุเซวัง รินซิน)
ได้อธิบายความหมายของท่านั่งซึ่งทำให้กายดำรงมั่นห้าลักษณะดังนี้
1. ขาทั้งสองขัดสมาธิ โดยขาซ้ายวางอยู่บนขาขวา
แสดงถึงพระหทัยของพระพุทธเจ้ากุนนัง เชียบบา (ไวโรจนะ) ทำให้โมหะได้รับการชำระให้บริสุทธิ์
ก่อให้เกิดการตระหนักรู้ปัญญาแห่งศูนยตา
2. มือทั้งสองประสานที่หน้าตัก โดยมือซ้ายวางบนมือขวา
แสดงถึงพระหทัยของพระพุทธเจ้าเชทรัก เงอเม (อมิตาภะ)
ทำให้โลภะได้รับการชำระให้บริสุทธิ์
ก่อให้เกิดการตระหนักรู้ปัญญาแห่งการแยกแยะ
3. กระดูกสันหลังตั้งตรง
แสดงถึงพระหทัยของพระพุทธเจ้าเซวา รังซุง
ทำให้โทสะได้รับการชำระให้บริสุทธิ์
ก่อให้เกิดการตระหนักรู้ปัญญาแห่งความชัดใสและว่างดังกระจก
4. ไหล่ขยาย ไม่คุ้ม รักแร้เปิด คอโน้มต่ำเล็กน้อย
แสดงถึงพระหทัยของพระพุทธเจ้าเกลา กาชุก
ทำให้ความหยิ่งยโสได้รับการชำระให้บริสุทธิ์
ก่อให้เกิดการตระหนักรู้ปัญญาแห่งความเท่าเทียม
5. ตาหลุบต่ำอยู่ปลายจมูก ริมฝีปากไม่เม้มติดกัน แต่เผยอเล็กน้อยขนาดเม็ดข้าวสารวางไว้ได้ ผ่อนลมหายใจเข้าออกแบบสบายๆ
แสดงถึงพระหทัยของพระพุทธเจ้ากาวา เทินทุบ
ทำให้ความอิจฉาริษยาได้รับการชำระให้บริสุทธิ์
ก่อให้เกิดการตระหนักรู้ปัญญาแห่งการบรรลุผล
ในคัมภีร์กล่าวว่า ขอให้นั่งทำสมาธิด้วยท่านี้
โดยระมัดระวังไม่ให้ตัวเอียงหรือเอี้ยวไป ดำรงอยู่อย่างแน่นิ่งเหมือนศพที่หมดลมหายใจ
หากทำได้เช่นนี้ ธาตุทั้งห้าจะดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล
พิษแห่งกิเลสห้าจะหมดสิ้นไป
และปัญญาห้าจะฉายแสงโดยไม่ต้องพยายาม
จากคำสอนของพระอาจารย์ชาซา ต้าชี เกียลเซ็น ริมโปเช ในคัมภีร์กูซุม รังชา (ตรีกายส่องแสง)
กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล เรียบเรียง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น