0345 หลักการทำสมาธิ (ต่อจากเมื่อวาน)
ตรงนี้ที่ฝ่ายที่ปฏิบัติวิปัสสนา เขาตำหนิติเตียนว่าทำทางสมถะคือทำฌานนั้นไปนิพพานไม่ได้ เพราะว่าไปติดฌานเสียนั่น การที่กล่าวเช่นนี้นั้นเป็นความหลงหรือโมหะของผู้กล่าว เพราะผู้กล่าวไม่รู้ถึงวิธีทำฌาน นอกจากนี้ยังไม่รู้ว่าเมื่อทำฌานแล้วจะไม่ให้ติดฌานได้อย่างไร โดยมากส่วนใหญ่ที่เห็นพวกปฏิบัติทางวิปัสสนานั้น เมื่อนั่งสมาธิแล้วถึงเวลาออกก็ลืมตาออกเฉยๆ ซึ่งถ้าขณะปฏิบัติอยู่ในสมาธิระดับลึก เช่น อุปจารสมาธิ หรือฌาน ๒, ๓, ๔ เวลาออกถ้าลืมตาเฉยๆ สมาธิก็จะค้างอยู่ ทางที่ถูกแล้วจะต้องถอยสมาธิออกมาเป็นขั้นๆ เช่น จากฌาน ๔ ลงมา ๓, ๒, ๑ แล้วสลัดกายพร้อมสติที่คิดในใจคิดว่าออก ฌานก็จะไม่ค้าง พระพุทธองค์สอนไว้ดีแล้วสมบรูณ์ทุกอย่าง ทรงสอนให้เข้าฌานออกฌานให้ชำนิชำนาญเป็นวสี
การเข้าฌานนั้นเราเข้าไปตั้งแต่ฌาน ๑ ขึ้นฌาน ๒ จากฌาน ๒ ขึ้นฌาน ๓ จากฌาน ๓ ขึ้น ฌาน ๔ เรียกว่า เข้าฌาน เวลาออกจะต้องรู้จักวิธีออกฌานด้วย การออกฌานนั้นให้กำหนดที่จิตว่า ถอย ๓ โดยถอยจากฌาน ๔ ลงมาฌาน ๓ คือ ลดตัวลงมาหน่อยฌานก็จะถอยแล้ว เมื่อจิตคิดถอย ฌานมันก็ถอยลงมา อุเบกขาจะค่อยหมดไป มาอยู่ที่ฌาน ๓ ซึ่งเป็นฌานสุข แล้วก็ถอยออกจากฌาน ๓ มาฌาน ๒ พอถอยมาถึงฌาน ๒ อุพเพงคาปิติก็ขึ้นโครมๆ กายโยกกายสั่นอีก ตรงนี้พวกที่ได้ฌานใหม่ๆติดมาก ที่มันติดเพราะมันสนุกชวนให้เพลินมาก รู้สึกมีกำลังวังชาด้วย แล้วก็รู้สึกกายมันเบาอยากกระโดดโลดเต้นไปด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าจะกระโดดโลดเต้นก็จะออกอึกทึกไป เอาเพียงให้มันสั่นกายคลอนบางทีหมุนติ้ว บางทีก็เอาแขนสองแขนตีกันเหมือนไก่ก็มี บางทีก็ตบมือสองมือเลย มีลักษณะต่างๆ ปิติทั้งหมดมี ๕ ชนิด แต่ละชนิดมี ๘, ๙ อาการของปิติทั้งหมดมีถึง ๓๘ – ๓๙ อย่าง เมื่อออกจากฌาน ๒ แล้วก็ให้ถอยมาฌาน ๑ แล้วออกจากฌาน ๑ โดยการสลัดหัวพร้อมกับคิดว่า ออก จากนั้นก็ลืมตาขึ้นเป็นการออกจากฌาน
การเข้าฌานตามขั้นเหมือนกับเราขึ้นบันไดเรือนขั้น ๑ ขั้น ๒ ขั้น ๓ ขั้น ๔ เวลาออกฌานก็เหมือนกับถอยหลังเดินลงมาจากขั้น ๔ มาขั้น ๓, ๒, และ ๑ และก็ลงถึงพื้นเป็นแบบนี้ ถ้าใครอวดดีไม่ลงตามขั้นฌาน คือไม่ถอยลงมาจะไปติดที่ขั้น ๔ มันถอยไม่ออก จิตจะติดอยู่ในสมาธิระดับลึก เที่ยวเดินซึมอยู่อย่างนั้นแหละ เป็นคนไม่พูด แม้บางครั้งเขาถามอะไรก็ไม่ได้ยิน บางทีพูดอะไรคำหนึ่งแล้วก็ไม่พูดต่อ มันหยุดเสียเพราะฌานมันค้างอยู่
ผู้ที่ได้ฌานแล้วตั้งแต่ ฌาน ๒, ๓, ๔ อาจมีฤทธิ์อำนาจ วาจาสิทธิ์ได้ เพราะวาจามีสัจจะ เราจะว่าใครให้ฉิบหายเข้า ให้ป่นปี้อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ถ้าว่าไปแล้วอาจเป็นจริงๆขึ้นมา เพราะตอนที่เรามีฌานอยู่ทุกวันนั้นจิตเราเป็นพรหม แม้กายเราเป็นมนุษย์อยู่ก็จริง แต่จิตเป็นพรหมจึงมีวาจาสิทธิ์ได้ อย่าได้พูดปรักปรำใคร อย่าได้กล่าวตำหนิใครในทางเสีย เขาอาจเสียจริงๆได้ เช่น สมมุติว่าเห็นคนขึ้นต้นไม้ เราพูดเชิงเล่นว่า เออ ระวังนะมันจะตกลงมา อย่าพูดเข้า ถ้าพูดมันจะตกลงมาจริงๆ นี่สำคัญมาก ฉะนั้นเราต้องระวังความคิดระวังวาจา การทำฌานมีอนิสงค์มากมาย เช่น นอนก็หลับสบาย ไม่ฝันเลอะเทอะ ตื่นขึ้นมาก็สบาย จิตใจผ่องใส ไม่เศร้าหมองหน้าตามีสง่าราศรีอิ่มเอิบด้วยเลือดฝาด ศาสตราวุธไม่กินกาย ไฟก็ไม่ไหม้บ้าน แม้ยาพิษก็ทำอันตรายไม่ได้ เป็นที่รักใคร่ของมนุษย์และอมนุษย์ทั้งหลาย เทวดาก็คุ้มครองรักษา เป็นผู้มีโชคลาภ โรคภัยไม่ค่อยเบียดเบียน ถ้าใครเกิดตายลงขณะที่มีฌานก็จะไม่เกิดในอบายภูมิ อันมีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน แต่จะไปเกิดในพรหมโลก ซึ่งมีอยู่ ๒๐ ชั้น เป็นชั้นของรูปพรหม ๑๖ ชั้น และอรูปพรหม ๔ ชั้น แล้วแต่กำลังของฌานที่มีอยู่ ถ้าอยู่ในฌาน ๔ เต็มที่ ต้องไปเกิดในพรหมโลก ในชั้นที่ไม่เกิน ๑๑ คือ วิสัญญีภพมีอายุยืนถึง ๕๐๐ กัป (๑ กัปเท่ากับ ๖,๔๒๐ ล้านปี )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น