วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ไตรลักษณ์ขิงกายใจ

ไตรลักษณ์ของกายใจเป็นอย่างไร

หลวงพ่อปราโมทย์ : นี่เราหัดภาวนานะ ลงมาดูที่กายที่ใจไปเรื่อย ถ้าดูเป็น เราจะเห็นความจริงของกายของใจ ความจริงของเขาคือ “ ไตรลักษณ์ ”

กายนี้ไม่เที่ยง กายนี้ทนอยู่ได้ไม่นานหรอก กายนี้เป็นก้อนธาตุ ไม่ใช่ตัวเรา เป็นวัตถุ เป็นแค่เศษธุลีเล็กๆ เทียบกับโลก เทียบกับจักรวาลแล้วเล็กนิดเดียว ใครเคยชอบไปเที่ยวทะเลเที่ยวภูเขาบ้าง? เคยไหม? รู้สึกไหม ตัวเราเล็กนิดเดียว ไปดูแล้ว ต่ำต้อยด้อยค่า นิดเดียวเอง แต่ความสำคัญตัวมันใหญ่ เราเลี้ยงความสำคัญตัวมานาน สะสมความเห็นผิดมานาน

เรามาหัดภาวนา มารู้สึกอยู่ในกาย มารู้สึกอยู่ในใจ วันนึงเห็นความจริงของเขา กายมันไม่เที่ยงนะ กายมันเป็นทุกข์ กายมันเป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ไม่ใช่ตัวเราหรอก

จิตใจก็ไม่เที่ยง จิตใจที่มีความสุข อยู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป จิตใจที่มีความทุกข์ อยู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป จิตใจที่เฉยๆ อยู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป จิตใจที่โลภ ที่โกรธ ที่หลงอยู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป จิตใจที่สงบที่มีปิติ มีคุณงามความดีทั้งหลายอยู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป หรือกระทั่งจิตใจที่มีศรัทธา ศรัทธาก็อยู่ชั่วคราว รู้สึกไหม? ความเพียรก็อยู่ชั่วคราว รู้สึกไหม? เดี๋ยวก็เพียร เดี๋ยวก็ไม่เพียร เดี๋ยวก็ศรัทธา เดี๋ยวก็ไม่ศรัทธา สติก็อยู่ชั่วคราว รู้สึกไหม?

เดี๋ยวก็มีสติ เดี๋ยวสติแตก สติหายไปตั้งเป็นเดือนเลยก็มี สมาธิก็ชั่วคราวใช่ไหม เดี๋ยวก็ตั้งมั่น เดี๋ยวก็ฟุ้งซ่าน ส่วนใหญ่ฟุ้งซ่าน สมาธิอยู่แว๊บๆ ทนอยู่ไม่นานก็หายไปเอง มีปัญญาเห็นความจริงของกายของใจ นานๆ มีทีนึง ภาวนาไปนี่ มีสติมีเรื่อยๆ ได้ แต่มีปัญญานี่ นานๆ มันจะเกิดครั้งหนึ่ง

มันทุกอย่างเลยนะ ทั้งที่เป็นกุศล ทั้งที่เป็นอกุศล ทั้งที่เป็นสุข ทั้งที่เป็นทุกข์ มันอยู่ชั่วคราว เดี๋ยวมันก็หายไป

จิตที่ไปดูรูป จิตที่เกิดที่ตา จิตไปดูรูป จิตที่ฟังเสียง จิตที่ดูรูปอยู่ชั่วคราวแล้วก็หาย จิตที่ฟังเสียงอยู่ชั่วคราวแล้วก็หาย จิตที่คิดอยู่ชั่วคราวแล้วก็หาย ลองดูซิ เวลานั่งฟังหลวงพ่อพูด บางทีก็มองหน้าหลวงพ่อ รู้สึกไหม? มองแว๊บนึง แล้วหน้าหลวงพ่อก็เบลอๆ ไป บางทีก็ตั้งใจฟัง ตั้งใจฟังได้สองสามคำ ประโยคนึง สองประโยค ก็ไปคิดทีนึง ฟังไปคิดไป ฟังไปคิดไป จิตที่ไปฟัง อยู่ชั่วคราวแล้วก็หาย จิตที่ไปคิด อยู่ชั่วคราวแล้วก็หาย จิตที่ไปดู อยู่ชั่วคราวแล้วก็หาย

นี่เรามาเฝ้าดูของจริงนะ เห็นแต่ของไม่เที่ยง มีแล้วก็ไม่มี มีแล้วก็ไม่มี ไม่ว่าจะเป็นจิตที่สุข ที่ทุกข์ ที่ดี ที่ชั่ว หรือจิตที่ไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกอย่างเป็นของชั่วคราวหมด มันทนอยู่ในภาวะอันใดอันหนึ่งไม่ได้ ทนอยู่ไม่ได้ เรียกว่าเป็น “ ทุกข์ ”

แล้วมันจะไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หรือมันจะสุข หรือมันจะทุกข์ หรือมันจะดี หรือมันจะชั่ว เราสั่งไม่ได้ เราลองสั่งจิตเราซิ วันนี้ลองสั่งนะ ลองทดสอบดู สั่งลงไปเลย วันนี้ห้ามโกรธ ห้ามขัดใจ ทำได้ไหม? ใครทำได้นะ เพื่อนข้างๆ ลองด่าดูทีนึง จิตจะโกรธ ห้ามได้หรือเปล่า? ห้ามไม่ได้ จิตจะโลภ ก็ห้ามไม่ได้ จิตจะสุข จิตจะทุกข์ ก็สั่งไม่ได้ มันมีเหตุแล้วมันก็เกิด มันไม่มีเหตุ มันก็ไม่เกิดหรอก

สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุ ไม่ใช่ตามที่เราสั่ง การที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุ ไม่ใช่ตามที่เราสั่ง นี่เรียกว่า “ อนัตตา ” ไม่ใช่สิ่งทั้งหลายไม่มีเลย พวกเราชอบแปลอนัตตา ว่า “ ว่างเปล่า ” อันนั้นมัน “ สุญญตา ” ไม่ใช่อนัตตา

“ อนัตตา ” หมายถึง มันไม่อยู่ในอำนาจบังคับจริงๆ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตัวตนถาวรจริงๆ มีหลายนัย คำว่าอนัตตา รวมความก็ืคือ สิ่งทั้งหลาย ถ้ามีเหตุมันก็มีขึ้นมา ถ้าไม่มีเหตุ มันก็ไม่มี มันเป็นไปโดยเหตุ ไม่ใช่เป็นเพราะเราสั่ง

อย่างจิตจะโกรธ ก็มีเหตุให้โกรธ เช่น ต้องกระทบอารมณ์ที่ไม่ดี มันถึงจะโกรธ ถ้ากระทบอารมณ์ดีๆ มันก็ไม่โกรธ พอกระทบอารมณ์แล้ว ก็ต้องมีการตัดสินอารมณ์ด้วย ต้องคิดนิดนึงก่อน ถึงจะโกรธ แล้วก็ต้องมีพื้นฐาน เป็นคนชอบโกรธ มีอนุสัยขี้โกรธสะสมมา พออนุสัยขี้โกรธมีอยู่แล้ว พอกระทบอารมณ์ที่ไม่ดี มันผุดกิเลส ผุดโทสะขึ้นมาเลย นี่ทุกอย่างมันเป็นไปด้วยเหตุทั้งหมดเลย ไม่มีอะไรที่เกิดโดยไม่มีเหตุ สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับ สิ่งนั้นก็ัดับ พระอัสสชิสอน พระสารีบุตรสอน อย่างนี้ สอนอุปติสะ อุปติสสะฟังแล้วเป็นพระโสดาบัน

สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ พระตถาคตเจ้าแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น และแสดงความดับไปแห่งธรรมนั้น พระตถาคตเจ้ามีปกติกล่าวอย่างนี้ สอนอย่างนี้ืเนืองๆ สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ

นี่เราเฝ้าดูลงไป ไม่ใช่ตัวตนถาวร ไม่ใช่สิ่งที่บังคับได้ ดูลงมาในกาย ความจริงของมันก็อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดูลงในจิต ก็อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

อนัตตาของกาย ดูไป มันไม่ใช่ตัวเราหรอก เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ อย่างนี้ ดูง่ายๆ

อนัตตาของจิต ดูซิ บังคับมันไม่ได้หรอก มันเป็นไปตามเหตุ

เฝ้ารู้ เฝ้าดูอย่างนี้นะ วันนึงก็เห็นความจริงเลย มันไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าตัวตนถาวร หรือตัวตนที่แท้จริง เราสั่งไม่ได้ตลอดเวลาหรอก นี่เฝ้าดูลงมาที่กาย เฝ้าดูลงมาที่ใจ เพื่อวันนึงจะได้เห็นความจริง คือ ( ไตรลักษณ์ )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...