วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2561

การ-ให้ทาน-รักษาศีล

“...การ-ให้ทาน-รักษาศีล
เจริญสมถะ-เจริญวิปัสสนา ก็ตาม
ถ้ายังไม่มาแก้ไขบทนี้แล้ว...ก็ยังทุกข์มาก
[แก้ไขบทนี้ คือ ทำให้โทสะ-โมหะ-โลภะจืดจางลง
แล้ว เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ ไม่ทุกข์]

แต่ถ้าแก้ไข มาทำอย่างนี้...ทุกข์น้อย ไม่ทุกข์มากแล้ว
[มาทำอย่างนี้ คือ เจริญสติ...แล้วเอาสติมาดูความคิด
จน โทสะ-โมหะ-โลภะจืดจางลง]

อันนี้แหละ...ได้ชื่อว่า ‘ทางไปหาพระพุทธเจ้า’
ผมเข้าใจอย่างนั้น

แล้วผมก็ทำจังหวะไป เดินจงกรมไป
เลยเข้าใจ กิเลส-ตัณหา-อุปาทาน-กรรม
‘กิเลส’...มันเหมือนยางไม้ ยางเหนียว
‘ตัณหา’…มันอยาก
‘อุปาทาน’…มันเข้าไปยึดมั่นถือมั่น
‘กรรม’...แปลว่า เสวยทุกข์-เสวยสุข

ถ้าเข้าไปยึดมั่นถือมั่น
เข้าไปแบกไปหามอยู่อย่างนั้น...มันก็ทุกข์ล่ะซิ
ทีนี้ผมก็เลยวาง ‘วาง’...ก็คือ ไม่สนใจกับสิ่งนั้น ๆ ล่ะ
เราก็มาสนใจดู...เริ่มตั้งแต่การเคลื่อนไหวของตัวเรา
มันคิดขึ้นมา...เราก็ทิ้งไปเลย
เมื่อทำอย่างนี้อยู่...มันก็จืดก็จางไป มันหลุดไป ๆ

เปรียบอุปมาให้ฟัง
น้ำสี...แต่ก่อนน่ะมันมีคุณภาพ ๑๐๐% เต็มกระป๋อง
หากมันเป็นสีดำ เราเอาไปย้อมผ้าขาว
ผ้านั้นมันจะดำทั่วหมด

แต่เมื่อมารู้-มาเห็น-มาเข้าใจอย่างนี้แล้ว
น้ำสี...ซึ่งมีปริมาณเต็มกระป๋องเหมือนเดิม
แต่มันหมดคุณภาพแล้ว
ถ้าเป็นสีดำ ไปย้อมผ้าขาว...มันจะไม่ติดผ้า
หากจะติด...มันก็ติดดำนิดหน่อย
หรืออาจไม่ดำเลยล่ะ...มันเป็นอย่างนั้น

การกระทำอันนี้ก็เหมือนกัน กล่าวคือ
เมื่อเราเห็นมันอยู่เรื่อย ๆ รู้จักชื่อเสียงมัน
เห็นหน้าตาดั้งเดิม-สภาพของมันว่า...มันเป็นอยู่อย่างนี้
มันก็จะไม่ทำร้าย (ไม่)ทำอันตรายให้กับเราได้

ดังนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงว่า
‘สภาพหรือสภาวะดั้งเดิมนั้น...เหมือนกันหมด
ไม่มีผิดแปลกแตกต่างกัน’

พระองค์จึงตรัสว่า
‘เราตถาคต...ผู้เป็นตถาคตไปถึงแล้ว ณ ที่แห่งนั้น
แล้วจึงมาบอกมาสอน
ผู้ใดปฏิบัติตามเรา...ก็จะรู้-จะเห็น อย่างเราตถาคตนี้’ ว่างั้น
ท่านว่า ‘ถ้าหากไม่ประพฤติ ไม่ปฏิบัติตามอย่างเราตถาคตแล้ว
จะไม่รู้-จะไม่เห็น-จะไม่เข้าใจ...อย่างเราตถาคตนี้’ ...”

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
------------------------------------------------------------------------------------------------

※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ ~ รู้สึกตัว - เป็นปกติ - อยู่กับปัจจุบัน ~ ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※

รู้สึกกาย รู้สึกใจ

_/|\_ _/|\_ _/|\_

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...