วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2561

หลักของพระพุทธศาสนา – วิธีดับทุกข์แบบของพระพุทธเจ้า

หลักของพระพุทธศาสนา – วิธีดับทุกข์แบบของพระพุทธเจ้า (๘/๑๐)

“…จากนั้นมา ก็เลยรู้จักศีล ‘ศีล’...แปลว่า ปกติ
จิตใจที่ปกติ นั่นแหละเรียกว่า ‘ศีล’
ที่พูดนี้ ไม่ได้พูดส่วนร่างกาย...จะพูดถึงเรื่องจิตใจ

แล้วก็รู้จักเรื่องสมาธิ...สมถะและวิปัสสนามาแยกกันที่ตรงนี้
ก็เลยมารู้จักที่ว่า ‘ศีล’...เป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ
‘สมาธิ’…เป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง
เพราะกิเลสอย่างกลางถูกทำลายแล้ว...จึงรู้จักกิเลสอย่างกลาง

ส่วน ‘ปัญญา’…เป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียดนั้น ตอนนี้ยังไม่รู้จัก

ที่พูดนี้...พูดโดยย่อ

จะพูดอีกเรื่อง...เรื่องนี้จำเป็นต้องพูด
เพราะมันเป็นวิธีการปฏิบัติที่นำไปสู่ความดับทุกข์จริง ๆ

เราดูความคิดนี่แหละ...ดูไป-ดูไป-ดูไป-ดูไป
มันคิดอย่างไร...ก็รู้เท่า-รู้ทัน-รู้กัน-รู้แก้
รู้จักเอาชนะมันได้ทุกครั้งทุกคราวนี้แหละ
มันไวเข้า ๆ มันผ่านเลยไป...เพราะมันไม่ยึด
แล้วมันจะโพลงตัวมันขึ้นมาเอง

คำว่า ‘โพลงตัว’ นี้...เราไม่รู้จัก

วิธีโพลงตัว :
ความคิดยิ่งเร็ว...สติปัญญาก็ยิ่งเร็ว
ถ้าตัวความคิดยิ่งลึก อารมณ์ยิ่งลึก...สติปัญญาก็ยิ่งลึก
ถ้าวันใดขณะใดทั้ง ๒ อย่างนี้ยิ่งลึกเท่ากัน...แล้วกระทบกัน
แตกโพล๊ะออกมาเลย…เรียกว่า ‘โพลงตัวออกมา’

การโพลงตัวออกมานั้น...ชื่อว่า ‘ความปรากฏ’
จะปรากฏออกมาให้บุคคลที่ปฏิบัตินั้นได้ประสบสิ่งนี้

อันสิ่งนี้...มันมีอยู่แล้วในคนทุกคน
มันเป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่ง…เป็นธรรมธาตุ
ส่วนร่างกายนั้นก็เป็นธาตุเช่นกัน...เรียกว่า
ธาตุดิน-ธาตุน้ำ-ธาตุลม-ธาตุไฟ

ถ้าขันธ์ ๕ เขาว่า รูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ
ขันธ์ ๔ หรือ รูป ๔ ก็นามรูป
ขันธ์ ๓ ก็ ศีลขันธ์-สมาธิขันธ์-ปัญญาขันธ์
ขันธ์ ๒ ขันธ์ ขันธ์ ๆ เดียว...รู้จัก

คำว่า ‘โพลง’ หรือ ‘ความที่มันโผล่ มันโพลงขึ้นมา’ นั้น
มันจะหลุดออกมาจากกัน
เหมือนกับนอตของเครื่องยนต์กับแหวนที่เกลียวมันหวาน
มันจะไม่เข้ากัน หรือว่ามันเกาะเกี่ยวไม่ได้
เพราะตัวเกลียวมันสึกหมดแล้วนี่
พอยัดเข้ากัน...แล้ววาง มันจะหลุดออกจากกันเลย

อันนี้แหละ เขาก็เลยมาว่าเป็นเรื่องของอายตนะ
อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ...อย่าให้มันเข้ากันได้
‘อย่าไปยึดมั่นถือมั่น เห็น...ให้สักแต่ว่าเห็นเฉย ๆ’
เขาพูดกันอย่างนั้น...แต่อันนั้นมันยังเป็นคำพูด
มันเป็นการพูดเอาเฉย ๆ
ตำรานั้นถูกต้องแล้ว...แต่ว่าเราไม่รู้จักสมุฏฐานของมัน
มันก็ยึดอยู่อย่างนั้น เรียกว่า ‘มีอุปาทานแล้ว...ยึดแล้ว’
เกลียวมันยังไม่ถูกทำลาย

เรื่องที่ผมพูดนี้...ผมไม่ได้เรียกว่า ‘อุปาทาน’ ด้วยซ้ำ
แต่ผมพูดว่า... ‘เมื่อนอตกับแหวนมันยังมีเกลียวอยู่
พอหมุนเข้ากัน...มันก็ต้องเกาะ ต้องยึดของมันอย่างนั้น’

ทีนี้ วิธี (คือ) เราต้องมาทำให้เกลียวนอต เกลียวแหวน...มันสึก
เมื่อเกลียวมันสึกหมดไปแล้ว...ถึงตัวนอต ตัวแหวนมันจะยังอยู่
พอเอาเข้ากัน...มันจะไม่เกาะกัน วาง...มันก็หลุดออก
เมื่อมันไม่เกาะกัน...รถยนต์ก็วิ่งไม่ได้
แต่ตัวรถยนต์นั้นก็ยังมีอยู่...แต่ไม่วิ่ง ...”

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...