《ปรัชญามหายาน》โดย เสถียร โพธินันทะ
禪宗 นิกายเซน (ธฺยาน หรือฌาน หรือเซี่ยงจง)
禪宗史 ประวัตินิกายเซน
นิกายนี้ ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า เซี้ยงจง แต่เนื่องด้วยคนไทยเราทราบชื่อนิกายนี้ตามภาษาญี่ปุ่นมาว่า นิกายเซน ซึ่งเป็นมูลศัพย์เดียวกัน จึงขอเรียกตามญี่ปุ่นไปด้วย พุทธศาสนิกชนสังกัดนิกายนี้กล่าวว่า หลักธรรมแห่งนิกายนี้ มีสมุฏฐานโดยตรงมาจากภาวะความตรัสรู้อย่างแจ่มแจ้งของพระพุทธองค์ ภายใต้ต้นโพธิพฤกษ์ ต่อมาในปีที่ 49 แห่งการภายหลังแต่ตรัสรู้ พระพุทธองค์ได้ชูดอกไม้ขึ้นดอกหนึ่งท่ามกลางพุทธบริษัท แทนคำเทศนาอันยืดยาว แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดเข้าใจในความหมาย นอกจากพระมหากัสสปะผู้เดียว ซึ่งยิ้มน้อยๆ อยู่ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "ดูก่อนกัสสปะ ! ตถาคตมีธรรมจักษุครรภ์อันถูกตรงและนิพพานจิต ลักษณะที่แท้จริงย่อมไม่มีลักษณะ เธอพึงรักษาไว้ด้วยดี" พระพุทธวจนะนี้เป็นบ่อเกิดของนิกายเซน และพระมหากัสสปะก็ได้เป็นปฐมาจารย์ของนิกายด้วย กล่าวกันว่า ในอินเดียมีคณาจารย์ของนิกายเซนซึ่งสืบเนื่องกันไม่ขาดสาย โดยการมอบหมายตำแหน่งให้กันถึง 28 รูป จนถึงพระโพธิธรรมเป็นองค์ที่ 28 พระโพธิธรรม (พู่ที้ตับม๊อ) ท่านได้จาริกมาสู่ประเทศจีนในราวกลางพุทธศตวรรตที่ 10 ได้เข้ามาพบสนทนาธรรมกับพระเจ้าเหลียงบูเต้ แห่งราชวงศ์เหลียง แต่ทัศนะไม่ตรงกัน โพธิธรรมจึงได้ไปพำนักที่วัดเซียวลิ่มยี่ ณ ภูเขาซงซัว นั่งสมาธิผินหน้าเข้าฝาอยู่ถึง 9 ปี และได้มอบหมายธรรมให้แก่ฮุ้ยค้อ สำเร็จเป็นนิกาเซนขึ้น โดยที่ท่านเป็นปฐมาจารย์ของนิกายนี้ในประเทศจีน คณาจารย์ฮุ้ยค้อเป็นทุติยาจารย์ ฮุ้ยค้อได้มอบธรรมให้แก่เจ็งชั้น เจ็งชั้นให้แก่เต้าสิ่ง ถึงคณาจารย์เต้าสิ่งซึ่งนับเป็นองค์ที่ 4 นิกายเซนแบ่งออกเป็น 2 สำนัก คือสำนักของคณาจารย์ฮ่งยิ่ม เรียกว่า สำนักอึ้งบ้วย ซึ่งถือกันว่าเป็นสำนักที่สืบเนื่องมาโดยตรง และสำนักของคณาจารย์ฮวบย้ง เรียกว่าสำนักงู่เท้า ซึ่งเป็นสำนักแฝงเท่านั้น คณาจารย์ฮ่งยิ่มสำนักอึ้งบ๊วยเป็นปัญจมาจารย์ของนิกายเซน ต่อมานิกายเซนแห่งจีนก็เกิดแตกออกเป็น 2 สำนักเหมือนกัน สำนักแรกถือกันว่าเป็นสำนักสืบเนื่องมาจากฮ่งยิ่มโดยตรง ผู้เป็นคณาจารย์ชื่อ ฮุ้ยเล้ง สำนักนี้อยู่ทางใต้ของจีน แพร่หลายไปทั่วจีนใต้ อีกสำนักหนึ่งผู้เป็นคณาจารย์ก็เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกันกับท่านฮุ้ยเล้งเหมือนกันชื่อ สิ่งซิ่ว ตั้งสำนักอยู่ที่จีนเหนือ มูลเหตุแห่งการแยกนั้น เราดูจากโศลกคาถาของท่านทั้ง 2 รูปก็จะเห็นชัด คราวหนึ่งคณาจารย์ฮ่งยิ่มประกาศว่าจะมอบหมายตำแหน่งให้แก่ศิษย์ แล้วให้ศิษย์ทั้งหลายไปเขียนโศลกคาถาตามปัญญาของตนมาให้ดู เพื่อจะสอบว่าความรู้ของผู้ใดจะสูง ท่านสิ่งซิ่วเขียนโศลกว่าดังนี้
กายนี้อุปมาเหมือนต้นโพธิ์
ใจนี้อุปมาเหมือนกระจกเงา
จงหมั่นขัดหมั่นปัดเสมอ
อย่าให้ฝุ่นละอองจับคลุมได้
ส่วนโศลกของท่านฮุ้ยเล้ง (ตามประวัติว่าท่านไม่รู้หนังสือ ขอร้องให้คนอื่นเขียนตามคำบอกของท่าน)
ต้นโพธิ์นี้เดิมมิใช่เป็นต้นโพธิ์
กระจกเงาเดิมก็มิใช่กระจก
แต่เดิมไม่มีอะไรสักอย่าง
แล้วจะถูกฝุ่นละอองจับคลุมที่ตรงไหน
ความในโศลกของท่านฮุ้ยเล้งลึกซึ้งกว่า จึงได้รับตำแหน่ง อนึ่ง ด้วยทัศนะของคณาจารย์ทั้ง 2 ต่างกันเช่นนี้ วิธีปฏิบัติจึงพลอยต่างกัน สำนักเหนือมีวิธีปฏิบัติเป็นไปโดยลำดับ ส่วนสำนักใต้ปฏิบัติอย่างฉับพลัน เรียกว่า "น้ำตุ้งปักเจี๋ยม" แปลว่า ใต้เร็ว เหนือลำดับ
อนึ่ง ต่อมาสำนักนี้ได้แตกแยกออกเป็นแขนงอีกหลายแขนง ที่สำคัญมี 5 คือ สำนักนิ่มชี้ สำนักฮุ้นมี้ง เช่าตั่ง อุ้ยเอี้ยง และสำนักฮวบงั้ง 5 สำนักนี้สำนักนิ่มชี้แพร่หลายที่สุดจนถึงในยุคพุทธศตวรรษที่ 25 นี้
คัมภีร์สำคัญ
ความจริงนิกายเซนถือว่าเป็นคำสอนพิเศษ เผยแผ่ด้วยวิธีใจสู่ใจ ไม่อาศัยตัวหนังสือหรือการอธิบาย แต่เนื่องด้วยอินทรีย์ของสัตว์มีสูงต่ำ นิกายนี้จึงจำต้องอาศัยหนังสือและคำพูดมาเป็นส่วนประกอบ ซึ่งถือว่าเป็นเพียงอุบายวิธีเท่านั้น ฉะนั้นคัมภีร์ของนิกายนี้จึงมีมากไม่แพ้นิกายอื่น คัมภีร์ที่เป็นหลัก คือ
1. ลังกาวตารสูตร (เล่งแคเก็ง) คุณภัทระแปลและฉบับแปลของโพธิรุจิ ศึกษานันทะอีก 2 ฉบับ
2. วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร (กิมกังปัวเยียกปอล่อมิกเก็ง) กุมารชีพ แปล
3. วิมลกีรตินิเทศสูตร (ยุยม่อเคียกซอส้วยเก็ง) กุมารชีพ แปล
4. มหาไพบูลยสมันตโพธิสูตร (ไต้ฮวงก้วงอี้กักเก็ง) พุทธตาระ แปล
5. ศูรางคมสมาธิสูตร (ซิ่วเล่งเงี้ยมซาม่วยเก็ง) สูตรนี้สงสัยกันว่าชาวจีนแต่งขึ้นเอง ในพระไตรปิฎกจีนมีอีกสูตรหนึ่งชื่อเหมือนกัน แต่ไม่พิสดารดังสูตรนี้
6. ลักโจ๊วไต้ซือฮวบป้อตั้วเก็ง ซึ่งเป็นปกรณ์สำคัญที่สุด กล่าวถึงระวัติของคณาจารย์ฮุ้ยเล้งและภาษิตของท่าน
7. ซิ่งซิมเม้ง (จารึกสัทธาแห่งจิต) ของคณาจารย์เจงชั้ง
8. จวยเสี่ยงเสงหลุง (อนุตตรยานศาสตร์) ของ คณาจารย์ฮ่งยิ่ม
9.จงเกี้ยลก (บันทึกกระจกแห่งนิกาย) รวบรวมโดยเอี่ยงซิว
10. บ่อมึ่งกวง (ด่านที่ไม่มีประตู) ของจงเสียว
11. นั้งเทียนงั่งมัก (จักษุแห่งเทพดาแลมนุษย์) ของตี้เจียว
12. ตุ้งหงอยิบเต๋าฮวบมึ้ง (ประตูวิถีแห่งการเข้าถึงธรรมอย่างฉับพลัน) เป็นหนังสือถามตอบอย่างง่ายแก่การเข้าใจ (ผู้เขียนกำลังแปลอยู่) นอกจากนี้ ยังมีบรรดาอาจริยภาษิตของคณาจารย์ต่างๆ แห่งนิกายเซนอีกมาก
禪的宗旨 หลักธรรมคำสอนนิกายเซน
นิกายนี้ถือว่าสัจจภาวะนั้น ย่อมอยู่เหนือการพูด การคิด เราจะค้นสัจธรรมในหนังสือพระไตรปิฎกย่อมไม่พบ นอกจากเราจะต้องหันมาบำเพ็ญดูจิตใจของตนเอง เพราะความจริงเราจะหาได้ภายในตัวเรานี้เอง จะไปค้นหาภายนอกไม่ได้ นิกายนี้จึงว่า ปุกลิบบุ้นยี่ แปลว่า ไม่ต้องอาศัยตัวหนังสือเป็นรากฐานหรอก ติกจี้นั้งซิม แปลว่า แต่ชี้ตรงไปยังใจของคน
นิกายเซนนี้ มีปรัชญาว่า
สรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนมีอมตจิตเป็นมูลการณะ สิ่งทั้งหลายเป็นปรากฏการณ์ของอมตภาวะนี้เท่านั้น อมตภาวะนี้มีอยู่ทั่วไปในสรรพชีวะทั้งหลาย อมตภาวะนี้แผ่ครอบคลุมทั่วทุกหนแห่งไม่ขีดจำกัด และสรรพสิ่งจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกว่าชีวิตเป็นหนึ่ง คือมีมูลภาวะอันเดียวกัน อมตภาวะนี้ ก็คือจิตของเรานั่นเอง แต่เป็นแก่นอันแท้จริงของจิตของเรา จิตนั้นไม่เกิดดับ ที่เกิดดับเป็นเพียงปรากฏการณ์ซึ่งเป็นมายา หาใช่ภาวะจิตที่แท้จริงไม่
ลักษณะของจิตนี้เป็นอย่างไร ดังคำอธิบายของท่านอาจารย์เซนองค์หนึ่งของญี่ปุ่นว่า "มหึมาจริงหนอ เจ้าจิต ! ฟ้าที่สูงไม่อาจประมาณถึงที่สุดได้ แต่จิตก็อยู่พ้นฟ้านั้นขึ้นไปอีก แผ่นดินที่หนาไม่อาจวัดได้ แต่จิตก็อยู่พ้นแผ่นดินนั้นลงไป แสงสว่างของดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ไม่อาจข้ามได้ แต่จิตก็อยู่พ้นแสงสว่างของดวงอาทิตย์ดวงจันทร์นั้นไปอีก โลกธาตุทั้งปวงอันมีปริมาณดุจเม็ดทรายไม่มีที่สิ้นสุด แต่จิตก็อยู่นอกเหนือจักรวาลทั้งหลายนั้นไปอีก จะว่าเป็นอวกาศหรือ จะว่าเป็นภาวะธาตุหรือ จิตนี้ครอบงำอวกาศทรงไว้ซึ่งภาวะธาตุเดิม อาศัยตัวของเรา ฟ้าจึงครอบจักรวาลแลดินจึงรองรับ (จักรวาล) อาศัยตัวของเรา ดวงอาทิตย์แลดวงจันทร์จึงหมุนเวียนไป อาศัยตัวเรา ฤดูทั้ง 4 จึงมีการเปลี่ยนแปลง และอาศัยตัวเรา สรรพสิ่งจึงอุบัติขึ้น มหึมาจริงนะ เจ้าจิตนี่ ข้าจำเป็นต้องให้นามบัญญัติเจ้าละว่า เอกปรมัตถสัจจะ หรือปรัชญาสัจลักษณ์ หรือเอกสัตยธรรมธาตุ หรืออนุตตรสัมโพธิ หรือศูรางคมสมาธิ หรือสัมมาธรรมจักษุครรภ์ หรือนิพพานจิต
นิกายเซนถือว่า พระพุทธองค์กับสรรพสัตว์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะจิตธาตุอันนี้ ดังภาษิตของคณาจารย์เซนอึ้งเพกกล่าวว่า "พระพุทธเจ้าทั้งหลายกับสรรพสัตว์ ต่างมีจิตๆ เดียวกัน ไม่มีสิ่งอะไรต่างหาก จิตนี้นับตั้งแต่กาลเบื้องต้นอันไม่ปรากฏ ก็ไม่เคยเกิด ไม่เคยดับ ไม่เป็นสีเขียวสีเหลือง ไม่มีรูป ไม่มีลักษณะ ไม่อยู่ในวงว่ามีหรือไม่มี ไม่เป็นของใหม่หรือของเก่า ไม่ยาวไม่สั้น ไม่ใหญ่ไม่เล็ก อยู่พ้นการประมาณวัดทุกอย่าง พ้นชื่อเสียงเรียงนาม พ้นร่องรอยและความเป็นคู่ คือสภาพในเดี๋ยวนี้ (คือใจของตัวเราทุกคนที่กำลังอ่านหนังสือนี้แหละ) ถ้าเกิดมีอารมณ์หวั่นไหวขึ้นก็ต้องพลาดไป (น้ำทะเลเกิดคลื่น) จิตนี้เหมือนอากาศ ไม่มีขอบเขต ไม่อาจวัดได้ จิตดวงเดียวนี้แหละคือพุทธะ"
สรรพสัตว์ยังมีอวิชชาหลงยึดถือเอาใจเกิดดับซึ่งเป็นเพียงอาการมายาอันเกิดจากการปรุงแต่งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มาเป็นตัวตน เห็นเป็นจริงเป็นจังไป จึงเกิดกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ต้องหมุนเวียนตายเกิดมิรู้สิ้นรู้หยุดได้ ต่อเมื่อไรมีปัญญารู้แจ้งว่า แท้จริงตนนั้นหาเกิดดับไม่ เป็นของวิสุทธิปลอดโปร่งผุดผ่อง ก็จักเป็นทางสู่ความหลุดรอด
นิกายเซนว่า ตนที่เกิดดับนั้นเป็นตนในขันธ์ 5 ตนที่ไม่เกิดดับนั้นเป็นผู้รู้ขันธ์ วางขันธ์ ปล่อยขันธ์ สมมุติอัตตา ได้แก่ขันธ์ 5 สัตยอัตตาได้แก่ตัวอมตจิต พุทธภาวะนี้แหละ การที่จะให้หายโง่รู้แจ้งเห็นจริงในสัตยภาวะนี้ก็ต้องปฏิบัติด้วยตนเอง จะพึ่งพาปริยัติได้ก็เพียงเครื่องมือ และปริยัตินั้นยังเป็นอุปสรรคแก่การบรรลุโพธิ ถ้าหากผู้เรียนเกิดติดขึ้นมา แม้ความยึดถือในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ยังมีอยู่ตราบใด ตราบนั้นก็ยังไม่เข้าถึงโพธิได้
ในประวัติของคณาจารย์เซนเล่าว่า มีบางครั้งอาจารย์เซนต้องการเตือนให้ทราบถึงความจริงเรื่องนี้ ถึงกับว่าในฤดูหนาวท่านอุ้มพระพุทธรูปไม้ลงในกองไฟนั่งผิงก็มี ครั้นมีผู้ติท่าน ท่านจะตอบว่า พระพุทธะที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ไม้หรือวัตถุ อยู่ที่ความรู้แจ้งภายในต่างหาก ดังนี้ ได้ยินมาว่าครั้งหนึ่งสมัยราชวงศ์ถัง คณาจารย์เซนชื่อตังเฮี้ย เดินทางมาพักอยู่ในวัดแห่งหนึ่งซึ่งสมภารเจ้าอาวาสเป็นนักปฏิบัติในนิกายเซนแต่ยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง เวลานั้นเป็นฤดูหนาวหิมะตกหนัก อาจารย์ตังเฮี้ยนนำพระพุทธรูปไม่ทิ้งลงกองไฟเผา สมภารเจ้าวัดตกใจถามว่า เหตุไฉนจึงทำดังนั้น ตอบว่าเผาเพื่อต้องการหาพระสารีริกธาตุ สมภารก็ว่าพระพุทธรูปไม้จะหาพระธาตุได้แต่ไหน ตอบว่าเมื่อพระพุทธรูปไม้หาพระธาตุไม่ได้ก็จะเผาอีก 2-3 องค์ และในสมัยหลังคณาจารย์เซนมีอุบายวิธีที่จะชักนำให้ศิษย์เห็นแจ้งนั้นมีต่างๆ กัน บางวิธีก็ดูออกรุนแรงและอาจเข้าใจผิดได้ง่าย ถ้าผู้ฟังมิใช่นักปฏิบัติชั้นสูง เช่นวิธีหนึ่งเรียกว่า ฮอฮุดแม่โจ๊ว แปลว่า ดุพระพุทธเจ้า ด่าพระบูรพาจารย์ ซึ่งเป็นวิธีการชั้นหลังของคณาจารย์เซน ที่ว่าพระพุทธเจ้านั้นมีตัวอย่างดังนี้ คณาจารย์ฮุ้นมึ้ง ซึ่งเป็นต้นสำนักฮุ้นมึ้ง คราวหนึ่งท่านกล่าวว่า พระศากยมุนีขณะประสูติ ได้ชี้พระหัตถ์หนึ่งไปสู่ฟ้าอีกพระหัตถ์หนึ่งชี้ลงแผ่นดิน แลตรัสว่า เบื้องฟ้าแลบนปฐพีมีเราผู้เดียวเป็นใหญ่ควรแก่การบูชา ถ้าสงฆ์แก่ (หมายถึงตัวท่านฮุ้นมึ้ง) อยู่ด้วยในขณะนั้น ก็จะเอาไม้ตีพระศากยมุนีให้สิ้นพระชนม์ แล้วนำเนื้อไปให้สุนัขกิน (ข้าพเจ้าผู้เขียนเล่าเรื่องนี้ขอขมากรรมจากคุณพระรัตนตรัยด้วย ในการที่อาจหาญเขียนอักษรหยาบเช่นนี้ออกมา ด้วยเจตนาเพียงจะเล่าลัทธิเซนในมุมหนึ่งเป็นความรู้เท่านั้น หาเจตนาอื่นมิได้) คำกล่าวอันน่าตกใจเช่นนี้ นิกายเซนอธิบายว่าเพื่อให้ศิษย์ผู้ปฏบัติรู้ตัวว่าความเป็นผู้ยิ่งในโลกควรแก่การบูชานั้น มิใช่แต่จะเป็นองค์สมเด็จพระศากยมุนีเท่านั้น แท้จริงเราทุกๆ คน ต่างก็มีพุทธภาวะอันหนึ่งอันเดียวกับสมเด็จพระศากยมุนี ควรแก่การเคารพบูชาเช่นเดียวกับพระองค์เหมือนกัน ศิษย์จะได้เห็นความสำคัญในตัวเอง และหันมาปัดล้างกิเลสที่จับหุ้มพุทธภาวะให้หมดไปในจิตของตน ไม่นึกว่ามีแต่พระพุทธเจ้าพระองค์อื่นข้างนอกเท่านั้น
ส่วนแม่โจ๊วนั้น ตัวอย่างเช่น คณาจารย์เซนองค์หนึ่งกล่าวว่า จงเอาพระไตรปิฎกมาเป็นอาสนะที่นั่งของอาตมา แลจงให้พระบูรพาจารย์มาล้างเท้าให้อาตมาเป็นต้น คำกล่าวเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติจะยึดถือเอาเป็นจริงจังไม่ได้ จะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไป จะตกนรกหมกไหม้ด้วยอกุศลกรรมนั้นไป อาจารย์ผู้กล่าวถ้อยคำเช่นนี้ต้องเป็นผู้ได้บรรลุธรรมแล้ว และที่กล้าวไปก็เป็นเพียงอุบายกลวิธีที่จะชักนำผู้ยังมีอุปาทานชั้นละเอียดบางอย่างของศิษย์ให้หมดไป ปุถุชนธรรมดาถ้าบังอาจเปล่งถ้อยคำชนิดนี้ออกมาด้วยอหังการในตนเองแล้ว ก็จักเป็นอกุศลครุกรรมอันน่าสะึงกลัวยิ่งนัก แลผู้รับฟังคำกล่าวชนิดนี้เล่า ก็มิใช่จะเป็นคนสามัญธรรมดาทั่วไปจะฟังได้ทุกคน อาจารย์จะต้องเลือกพูดให้ถูกกับกาละเทศะและบุคคลด้วย บุคคลจะเข้าใจในถ้อยคำเช่นนี้โดยมิกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไซร้ ต้องเป็นผู้มีอุปนิสัยอินทรีย์แก่กล้าต่อการบรรลุธรรมอยู่แล้ว เหมือนว่าผู้หนึ่งให้หินก้อนหนึ่งสำหรับเคาะประตูสัตยธรรมแก่เรา เราใช้หินก้อนนั้นเคาะประตูสัตยธรรม เปิดแล้วเราก็ทิ้งหินก้อนนั้น ไม่ถือเอาติดตัวเข้าไปด้วยฉันใด เราจะใช้วาจานั้นๆ เป็นแต่เครื่องมือไม่ยึดถือเข้าว่าจริงตามนั้นฉันนั้นเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ฮอฮุดแม่โจ๊วอย่างนี้ไม่สมควรโดยประการทั้งปวงแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุบายหรือประสงค์อย่างไร พระรัตนตรัยควรแก่การยกย่องเทิดทูนโดยกรณีทั้งปวง นี้เป็นมติของข้าพเจ้า และคณะพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนิกายอื่น ก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีฮอฮุดแม่โจ๊วของนิกายเซนเหมือนกัน
参禪 ซาเซน
พุทธภาวะที่ไม่เกิดแก่เจ็บตายมีอยู่ทั่วไป และมีอยู่แก่สรรพสัตว์ทั้งสิ้น และเป็นภาวะบริสุทธ์มาแต่ดั้งเดิม แต่ปุถุชนถูกอวิชชากำบัง เข้าใจว่าตนนั้นเกิดแก่เจ็บตาย ซึ่งเป็นความหลงผิดนั้น ต้องกำจัดอวิชชานี้ออกไปเสีย ด้วยวิธีทำซาเซน ซึ่งภาษาจีนว่าชัมเซี้ยง คือทำฌานให้เกิด นิกายเซนกล่าวว่า ปัญญากับฌานจะแยกกันมิได้ ฌานที่ไร้ปัญญาก็มิใช่ฌานชนิดโลกุตตระ นิกายเซนมีวิธีเรียกว่า ชัมกงอั่ว หรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่าโกอาน ซึ่งแปลกันอย่างเอาความหมายก็คือ การขบปริศนาธรรม อาจารย์เซนจะมอบปริศนาธรรม เช่นว่า สุนัขมีพุทธภาวะหรือไม่ หน้าตาดั้งเดิมของเจ้าก่อนพ่อแม่ให้กำเนิดคืออย่างไร สิ่งทั้งปวงรวมเป็นหนึ่งแล้วหนึ่งจะรวมในที่ใด ผู้ใดเป็นผู้สวดมนต์ภาวนาอยู่นี้ ศิษย์จะนำไปขบคิดจนกระทั่งขบแตก ซึ่งถือว่าเป็นก้าวแรกแห่งปัญญาที่จะนำตนให้พ้นวัฏฏสงสารทีเดียว ภูมิธรรม การบรรลุธรรมของนิกายเซนแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
1. ระยะแรก เรียกว่า ชอกวง หรือปุนชัม ได้แก่การขบปริศนาธรรมแตก เกิดปัญญาความรู้แจ่มจ้า เห็นภาวะดั้งเดิมอันบริสุทธ์ปราศจากกิเลสของตนเอง (นี้เทียบด้วยทัศนมรรค)
2. ระยะกลาง เรียกว่า เต้งกวง คือการใช้ปัญญา พละ และในระยะนั้นเอง กำราบสรรพกิเลสให้อยู่นิ่งเป็นตะกอนน้ำนอนก้นถังอยู่
3. ระยะหลัง เรียกว่า หมวกเอ้ากวง คือการทำลายกิเลสที่เป็นตะกอนนอนก้นนั้นให้หมดสิ้นไม่เหลือเลย
ความพิสดารของนิกายเซนยังมีอีกมาก ควรอ่านในเรื่องรวมปาฐกถาเรื่องนิกายเซน ที่ข้าพเจ้าแปลเทอญ
《ปรัชญามหายาน》โดย เสถียร โพธินันทะ
17/4/2016 สวนศรีอริยทรัพย์ คัดเลือก น.146-158
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น