วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ทุกข์ที่ไหน ดับทุกข์ที่นั่น

ทุกข์ที่ไหน ดับทุกข์ที่นั่น

"ท่านทั้งหลายควรจะเข้าใจความข้อนี้ เพราะเป็นวิธีที่ลัดสั้นที่สุด จริงที่สุด และมีประโยชน์มากที่สุด มีความทุกข์ที่ไหนต้องดับความทุกข์ที่นั่น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทำได้เป็นสิ่งที่กระทำได้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า...
       
    "ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ : สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงก็มีความดับเป็นธรรมดา"

ถ้าวัฏฏสงสารมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา วัฏฏสงสารก็ต้องมีความดับเป็นธรรมดา เราอย่าได้ไปแยกออกจากกันเลย มันเกิดที่ไหนมันต้องดับที่นั่น มันขึ้นทางไหนมันต้องลงทางนั้น

ตัวอย่างเราก็เห็นได้ชัดแล้ว ว่ามันเกิดขึ้นมาจาก"อวิชชา" ฉะนั้น เราต้องดับลงที่"อวิชชา" ขึ้นทางไหนต้องลงทางนั้น หมายความว่า ความทุกข์เกิดขึ้นตรงไหนต้องดับที่ตรงนั้น อย่ามัวไปหาที่ดับที่อื่นเลย

ดังนั้น ต้องหาความดับทุกข์ที่ตัวความทุกข์ เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า...โลกนี้ก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับสนิทแห่งโลกก็ดี หนทางให้ถึงความดับสนิทแห่งโลก ตถาคตบัญญัติไว้..ในร่างกายอันยาวประมาณวาหนึ่งนี้ พร้อมทั้งสัญญาและใจ

ถ้าเราจะพูดกันให้ง่ายๆ อย่างวัตถุ เราก็จงดู"ความไม่มี" ว่ามันอยู่ที่"ความมี" คือวัตถุอย่างหนึ่งตั้งอยู่ เราพูดว่ามี"ความมี" แล้ว"ความไม่มี"อยู่ที่ตรงไหน ความไม่มีมันก็ซ้อนกันอยู่ที่วัตถุนั้นเอง อยู่ที่ความมีของวัตถุนั่นเอง ลองเอาความมีของวัตถุนั้นออกไปก็จะพบความไม่มีของวัตถุนั้นอยู่ตรงที่เดียวกัน

เพราะฉะนั้น มีความทุกข์ที่ไหน ก็มีความดับทุกข์อยู่ที่นั่น เราต้องหา"ความดับทุกข์"ที่"ความทุกข์"เสมอไป...

เช่นเดียวกับที่จะต้องหาจุดที่เย็นที่สุดที่กลางเตาหลอม หาความเย็นที่สุดจากความร้อนที่สุด เย็นที่สุดนั้นมันอยู่ที่ร้อนที่สุด จงหาความดับที่ความเดือด ถ้าวัฏฏสงสารเป็นความเดือด นิพพานก็ต้องเป็นความดับ และหาได้ที่ความเดือด

แต่ท่านทั้งหลายไม่เคยนึกเสียด้วยซ้ำไป อย่าว่าแต่จะรู้หรือจะกระทำเลย แม้แต่นึกก็ยังไม่เคยนึก ทำให้เป็นคนโง่ เหมือนกับคนโง่ชนิดหนึ่งซึ่งว่าโดยที่แท้แล้วเพชรมีอยู่ที่หน้าผากของตัว แต่ไม่เคยทราบ ไม่เคยคลำหาเพชรแท้ๆ มีอยู่แล้วที่หน้าผากของตัว มีอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ไม่เคยทราบและไม่เคยคลำหา นี่แหละ! คือคนที่โง่ ที่ไปหานิพพานที่อื่นจากวัฏฏสงสาร"

พุทธทาสภิกขุ
๒ มิถุนายน ๒๕๑๑
ที่มา : ธรรมบรรยาย เรื่อง "ในวัฏฏสงสารมีนิพพาน" จากหนังสือ "มองด้านใน" ชุดที่ ๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...