คนเราควรตระหนักให้ได้ก่อนว่า พลังงานทั้งหมดที่คนเราใช้ผลักดัน สรรค์สร้าง หรือทำลายล้างสังคมนั้นล้วนเป็นพลังงานของข่าวสารข้อมูลที่ได้มาจากความทรงจำในสมองทั้งสิ้น ประการแรก คนเราทำการรื้อฟื้นข้อมูลปิดหรือความจำที่เป็นเหตุการณ์ หรือประสบการณ์ที่สมองรับเข้ามาในอดีต และถูกเก็บเอาไว้โดยทันทีเป็นส่วนใหญ่ ประการที่สอง เมื่อข่าวสารข้อมูลที่รับจากการสัมผัสเข้ามาถึงเซลล์ประสาท จะเกิดมีสัญญาณเป็นกระแสไฟฟ้าวิ่งไปตามกิ่งหลักหรือแอ็กซอนที่ไปต่อกับเซลล์สมอง อีกตัวหนึ่งผ่านช่องว่าง หรือไซแนปส์ที่จะสร้างสารเคมีเข้าไปในเซลล์ตัวที่สองนั้น ซึ่งถ้าหากสัญญาณส่งซ้ำซาก และกระชั้นก็จะทำให้มีการปรับสภาพของเซลล์ตัวที่สองให้สามารถเก็บเป็นข้อมูลพร้อมที่จะรื้อฟื้นได้ เมื่อมีสัญญาณแบบเดียวกันมากระตุ้นซ้ำอีกในภายหลัง
เซลล์สมองแต่ละตัวจะมีกิ่งก้านไซแนปส์เฉลี่ยหนึ่งหมื่นกิ่งเชื่อมโยงระหว่างกันซับซ้อนเหมือนขยุกใยแมงมุม ทำให้สัญญาณเชื่อมต่อกันได้ ข้อมูลความจำเปิดจะถูกเก็บที่กลีบสมองส่วนขมับ และที่ฮิปโปแคมปัส ส่วนข้อมูลปิดที่ลี้ลับจะถูกเก็บไว้ที่อมิกดาลากับสมอง ส่วนเซเรเบ็ลลั่ม สมองของมนุษย์ยังประกอบด้วยส่วนที่แยกจากกัน 3 ส่วน แต่ละส่วนต่างมีวิวัฒนาการแยกกันตามลำดับตามความจำเป็นของสิ่งแวดล้อม สามส่วนที่ว่านั้นได้แก่
(1) สมองส่วนดึกดำบรรพ์หรือฐานสมอง เป็นส่วนที่เป็นศูนย์สัญชาตญาณดิบแบบสัตว์เลื้อยคลาน ปัญหาหลักที่ชาวโลกปัจจุบันยังประสบอยู่ก็คือ มีคนจำนวนมากที่ยังไม่สามารถควบคุมสมองส่วนนี้ให้อยู่ในอำนาจได้ จึงทำให้เกิดพฤติกรรมประเภทแสวงหาอำนาจ ก้าวร้าว และต่อต้านการยอมจำนนแม้ว่าตัวจะตาย หวงแหนพื้นที่ และหมกมุ่นในรูปแบบที่ปฏิบัติมานาน
(2) สมองลิมบิค เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการแสดงออกของจิตใจ อารมณ์ สมองส่วนนี้ประกอบด้วยศูนย์สำคัญต่างๆ เช่น ทาลามัส ไฮโพทาลามัสที่ต่อเนื่องกับต่อมใต้สมองพิทูอิทารี
(3) สมองนีโอคอร์เท็กซ์ เป็นสมองส่วนหน้าที่แบ่งเป็นกลีบใหญ่ ซ้ายขวาแยกจากกัน กลีบซ้าย (สมองซีกซ้าย) เน้นหนักไปทางด้านรูปธรรม ตัวเลข เหตุผล กลีบขวา (สมองซีกขวา) เน้นหนักไปทางด้านนามธรรม อารมณ์อ่อนไหว ศิลปะ สองกลีบนี้เชื่อมต่อกันด้วยสะพานที่เรียกว่า คอปัสแคโลซั่ม และยังต่อเนื่องกับสมองส่วนอื่นๆ ทุกส่วน
หากคนเราต้องการควบคุมสัญชาตญาณดิบแบบสัตว์เลื้อยคลานให้อยู่ในอำนาจ คนเราก็ต้องประสานการบริหารสมองลิมบิคกับสมองนีโอคอร์เท็กซ์อย่างบูรณาการให้จงได้ นี่คือเคล็ดลับของหลักวิชากุณฑาลินีโยคะที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้กัน นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องประยุกต์ใช้สมองนีโอคอร์เท็กซ์ของตนให้สอดคล้องกับศักยภาพตามธรรมชาติของมันด้วย เพื่อที่ตัวเองจะได้ไม่ตกเป็นทาสของความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยาก ความก้าวร้าวแบบหยาบดิบของสมองส่วนสัตว์เลื้อยคลานในตนเอง จะเห็นได้ว่า การพัฒนาศักยภาพของสมองด้วยกุณฑาลินีโยคะ เป็นเรื่องของการพัฒนา “โลกแห่งกาย” และการวิวัฒนา “โลกแห่งจิต” ไปพร้อมๆ กัน
ทั้งๆ ที่มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีสติปัญญาล้ำเลิศ ถ้าดูจากการทำงานของสมอง แต่ทำไมจึงไม่ใช้ความล้ำเลิศนี้ให้มีคุณค่าอย่างเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจริงๆ ด้วยการพัฒนาศักยภาพของสมองของตนอย่างต่อเนื่อง เพื่อค้นหาความจริงแท้ของธรรมชาติ และจักรวาล แทนที่จะยอมสยบเป็นทาสรับใช้ สมองส่วนสัตว์เลื้อยคลานหรือรับใช้จิตไร้สำนึก (จิตขาดสำนึก) ที่สยบยอมต่อกิเลส ความก้าวร้าวและความเห็นแก่ตัว มีอยู่สิ่งเดียวไม่ใช่หรือในตัวคนเราที่เป็นคุณสมบัติที่เยี่ยมยอดที่สุดที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม และเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้อย่างไร้ขีดจำกัด นั่นคือจิตวิญญาณ ด้วยเหตุนี้ กุณฑาลินีโยคะจึงนำเสนอว่า คนเราควรพัฒนาศักยภาพสมองโดยผ่านการฝึกกุณฑาลินีโยคะเพื่อนำไปใช้พัฒนาจิตวิญญาณของตนอย่างไร้ขีดจำกัด นั่นเอง
แน่นอนว่า ในการฝึกกุณฑาลินีโยคะเพื่อพัฒนาศักยภาพของสมองนั้น ควรจะทำควบคู่ไปกับการดูแลเรื่องโภชนาการ เพื่อความแข็งแรงของสมองด้วย อย่าลืมว่า ร่างกายของคนเรานี้ เปรียบได้กับโรงงานผลิตสารเคมีชั้นยอดที่มีกระบวนการผลิตสารเคมีชนิดต่างๆ อย่างสุดแสนซับซ้อนและพิสดาร เมื่อเป็นโรงงานผลิตสารเคมี ดังนั้นวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่โรงงานนี้ (หรืออาหารที่ทานเข้าไป) จึงต้องมีคุณภาพดี และเหมาะสมด้วย ถึงจะทำให้สินค้าที่ผลิตออกมา (กายและใจ) มีคุณภาพดีได้ เพราะคนเราจะเป็นเช่นอาหารที่เรารับประทานเข้าไปนั่นเอง รวมทั้งฮอร์โมนทั้งหลายของเราด้วย
ถ้าพิจารณาจากมุมมองของการพัฒนาศักยภาพของสมอง สารโปรตีนถือว่ามีความสำคัญเป็นที่สุด เหตุผลก็คือ ผิวหนังของเรา เส้นผมของเรา กล้ามเนื้อของเรา นัยน์ตาของเรา ล้วนถูกสร้างขึ้นมาจากสารโปรตีนทั้งสิ้น แม้แต่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่ไม่อาจแลเห็นได้โดยตรงอย่างเลือด น้ำเหลือง หัวใจ ปอด สมอง เส้นประสาท สิ่งเหล่านี้ทำขึ้นมาจากสารโปรตีนหรือต้องพึ่งสารโปรตีนในการทำงานทั้งนั้น แม้แต่เอนไซม์ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการเป็นตัวกลางของปฏิกิริยาเคมีต่อสิ่งมีชีวิตก็ทำขึ้นมาจากสารโปรตีนเช่นกัน
สารโปรตีนที่เป็นอาหารที่ร่างกายรับประทานเข้าไปจะถูกแยกย่อยโดยเอนไซม์กลายเป็นกรดอะมิโนที่ไหลเข้าสู่กระแสโลหิตจากผนังในของลำไส้เล็ก ก่อนที่จะไหลผ่านเส้นเลือดใหญ่ไปสู่ตับ เมื่อตับทำการดูดซับกรดอะมิโนแล้ว กรดอะมิโนที่เหลือจะไหลไปตามกระแสโลหิตไปทั่วร่างกาย กลายเป็นน้ำตาลบ้าง ไขมันบ้าง พลังงานบ้าง เป็นต้น สารโปรตีนจึงเป็นสิ่งที่จะมีประโยชน์ต่อร่างกาย เมื่อตัวมันถูกแยกย่อยเป็นกรดอะมิโนเสียก่อนซึ่งเป็นหน้าที่ของเอนไซม์ แต่ตัวเอนไซม์เองก็เป็นสารที่ทำมาจากโปรตีนเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ การบริโภคสารโปรตีนทุกวันในจำนวนที่มากพอ จึงมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต และมีความหมายมากเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่ฝึกกุณฑาลินีโยคะ เพื่อกระตุ้นการหลั่งของต่อมฮอร์โมนในจุดหรือจักระต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยสารโปรตีนจากอาหารที่ควรบริโภคเป็นประจำคือ ไข่กับปลา
แต่การบริโภคสารโปรตีนอย่างเดียวโดยไม่บริโภควิตามินและเกลือแร่ด้วย เป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอ เพราะหากไม่มีวิตามินและเกลือแร่ สารโปรตีนจะไม่อาจเผาผลาญในร่างกายได้ วิตามินที่สำคัญคือ วิตามินบีประเภทต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่ปรับพลังงานต่างๆ ในร่างกายของเรา ยกตัวอย่างเช่น วิตามินบี 1 มีหน้าที่ช่วยสลายคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นกลูโคสซึ่งเป็นแหล่งพลังงานเพียงหนึ่งเดียวของสมอง อนึ่ง เซลล์ในร่างกายของเรา ซึ่งมีจำนวนหลายพันล้านเซลล์ จะถูกสลับเปลี่ยนแทนที่เป็นระยะๆ โดยเซลล์เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาจากสมองสั่งการภายใต้ความร่วมมือของวิตามินและเกลือแร่
ตับจะใช้เวลาประมาณ 10-140 วันในการเปลี่ยนเซลล์ของมันครึ่งหนึ่ง ส่วนไตจะใช้เวลาประมาณ 11-180 วัน
ส่วนกล้ามเนื้อใช้เวลาประมาณ 16-180 วัน ส่วนสมองใช้เวลาประมาณ 16-150 วัน และกระดูกใช้เวลาประมาณ 16-240 วัน แต่ถ้าเป็นกระเพาะหรือลำไส้จะใช้เวลาเปลี่ยนเซลล์เร็วมาก แค่หนึ่งวันเศษๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การขาดสารโปรตีนและวิตามินที่นานเกินกว่าสองสัปดาห์ จนถึงค่อนปีขึ้นไปจะส่งผลอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของคนผู้นั้น
แต่ต่อให้คนเราบริโภคสารอาหารที่มีคุณค่าเพียงพอ หากไม่ออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย สารอาหารที่มีคุณค่าเหล่านั้น ก็ไม่อาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้เต็มที่ การฝึกฝนตนเองที่มีประโยชน์สูงสุด จึงควรเป็นการฝึกฝนตนเองอย่างบูรณาการที่ได้ทั้งพลังกาย พลังใจ พลังจิตวิญญาณ และพลังสมองไปด้วยพร้อมๆ กัน โดยที่วิชากุณฑาลินีโยคะเป็นวิชาเพียงไม่กี่วิชาที่สามารถให้สิ่งนั้นได้ โดยผ่านการฝึก “3 ควบคุม” ซึ่งก็คือ
(1) การควบคุมคลื่นสมอง
(2) การควบคุมระบบประสาทอัตโนมัติในร่างกาย และ
(3) การควบคุมการหลั่งฮอร์โมนของต่อมไร้ท่อต่างๆ ในร่างกาย (ยังมีต่อ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น