วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เห็นโทษแล้วสดับได้ง่ายปล่อยวางได้เร็ว

"เห็นโทษแล้วสดับได้ง่ายปล่อยวางได้เร็ว"

พูดโดยเฉพาะถึงเรื่องอารมณ์ รู้จักอารมณ์และรู้จักโทษของอารมณ์ คนเราถ้าหากไม่เบื่อ ไม่เห็นโทษของอารมณ์ก็สดับได้แสนยาก โดยมากเข้าใจว่าอารมณ์เป็นความสุข ติดเหลือเกิน สนุกไปตามเรื่องตามราว ชอบอันใดก็เพลินไปกับอันนั้น ชอบเรื่องขับเรื่องเพลงก็เพลินไปตามขับตามเพลง ได้ยินแล้วก็เพลินส่งไป นั่นเรียกว่า ส่งไปตามอารมณ์ได้ยิน เห็นรูปก็ส่งไปตามรูป ปรุงแต่งไปตามเรื่อง รูปดีรูปไม่ดี รูปชั่วรูปเลว รูปสวยรูปงาม รูปกิเลสปรุงแต่งไปตามอารมณ์

คำว่า "ปรุงแต่ง" คำว่า "ส่งไป" นั้นคือมันออกจากหลักเดิมจึงไม่เป็นสมาธิ ถ้าหากเราไม่เห็นโทษ เห็นแต่เป็นคุณอยู่ตราบใด อารมณ์อันนั้นก็เป็นกามคุณ อารมณ์อันนั้นก็เป็นกามโทษเป็นกามคุณ พอเห็นโทษเห็นของน่าเบื่อหน่าย ทำจิตใจให้เพลินเคยมัวเมาลุ่มหลง ส่งนอกออกไกล และเข้าใจอย่างนี้ เห็นโทษแล้วสดับได้ง่ายปล่อยวางได้เร็ว

.
"พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี"
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

การภาวนาคืออะไร โดย อ.สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา

การภาวนาคืออะไร โดย อ.สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา หนึ่งในผู้ที่หลวงพ่อปราโมทย์มอบหมายให้ช่วยสอน

Q : - การภาวนา คืออะไร และ ทำอย่างไร?
.
อ.สรว : ภาวนา แปลว่า การเจริญ การอบรม การทำให้มีให้เป็นขึ้น
.
................................
.
ทำอะไรให้มีให้เป็น ให้เจริญขึ้น?
.
ทำให้ “ศีล สมาธิ ปัญญา” มีขึ้น เจริญขึ้น
.
................................
.
ทำอย่างไร?
.
ทุกวัน รักษาศีล ๕ เป็นอย่างน้อย
ฝึกจิตให้มีสมาธิ (มีความตั้งมั่น)
ฝึกจิตให้เห็นความจริงของรูปนาม (ย่อๆคือ กายและใจ)
ความจริงก็คือมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน (เป็นไตรลักษณ์)
.
................................
.
ฝึกจิต ฝึกอย่างไร?
.
การฝึกจิตให้มีสมาธิ (มีความตั้งมั่น)
ฝึกได้ ๒ วิธี
.
๑. ฝึกสมถกรรมฐาน
คือฝึกให้จิตอยู่กับอารมณ์เดียวต่อเนื่องนานๆ
(อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้)
เช่น อยู่กับร่างกายกำลังหายใจ
จนกระทั่งจิตแยกจากอารมณ์
เห็นร่างกายที่หายใจอยู่เป็นส่วนหนึ่ง
รู้สึกมีจิตที่เป็นผู้รู้อีกส่วนหนึ่ง
.
๒. ฝึกสติรู้กายรู้ใจ
คือฝึกให้มีสติรู้สึกอยู่ว่า
มีร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เคลื่อนไหว หายใจ ฯลฯ
ฝึกให้มีสติรู้สึกว่า จิตโลภ จิตโกรธ จิตเผลอหลงไป
จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ จิตสงบ จิตตั้งมั่น ฯลฯ
.
การฝึกสติจะต่างกับฝึกสมถะตรงที่
การฝึกสติ จะไม่ได้อยู่กับอารมณ์เดียวต่อเนื่องนานๆ
แค่เห็นอารมณ์ที่เป็นกายหรือจิตเพียงชั่วขณะก็พอ
เห็นแล้วเดี๋ยวก็เปลี่ยนไปเห็นอารมณ์อื่นๆ ต่อไป
.
เมื่อฝึกสติจนเกิดสมาธิ (มีความตั้งมั่น)
จะเห็นร่างกายที่หายใจอยู่เป็นส่วนหนึ่ง
รู้สึกมีจิตที่เป็นผู้รู้อีกส่วนหนึ่ง
จะรู้สึกหรือเห็นได้ว่า
จิตที่โลภ โกรธ หลง ฟึ้งซ่าน หดหู่
ซึ่งเป็นจิตที่มีกิเลส เป็นจิตอกุศล
เพิ่งดับไปเมื่อกี้
.
................................
.
การฝึกจิตให้เห็นความจริง ฝึกอย่างไร?
.
การฝึกจิตให้เห็นความจริง เรียกกันว่า วิปัสสนากรรมฐาน
จะฝึกได้ต่อเมื่อมีจิตตั้งมั่นชั่วขณะแล้วเป็นอย่างน้อย
โดยใช้จิตตั้งมั่นมาดูรูปนาม (หรือกายใจ)
และต้องดูด้วยความเป็นกลาง จึงจะเห็น
ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน (เห็นไตรลักษณ์) ครับ
.
................................
.
หลวงพ่อปราโมทย์ได้สรุปหลักวิธีการภาวนาไว้ว่า
"มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง"
.
(ตอบไว้ ณ กลุ่มรู้กาย รู้ใจ - รู้แจ้งอริยสัจ 31 ก.ค. 61)
.
Q&A ในการภาวนาเพิ่มเติม :
https://web.facebook.com/groups/100384036730099/permalink/1471114919656997/

ยามตื่น ยามนอน ยามฝัน จงตระหนักรู้ว่าตัวเองเป็นแสง

(75) “ยามตื่น ยามนอน ยามฝัน จงตระหนักรู้ว่าตัวเองเป็นแสง”     

        ต้องฝึกตระหนักรู้ว่า ตัวเองเป็นแสงในยามตื่นให้ได้ก่อน เพราะการฝึกตระหนักรู้ว่าตัวเองเป็นแสงในยามนอนหลับ และในยามฝันนั้นยากมาก ไม่ใช่ทุกคนที่ฝึกวิธีนี้ได้ วิธีนี้อาจเหมาะสำหรับคนที่เป็นศิลปิน หรือคนช่างฝันเท่านั้นก็เป็นได้

        จงสลายไปในความมืดมิด นี่เป็นวิธีฝึกภาวนาในห้องมืด หรือใช้ความดำมืดที่มืดสนิทในตอนนั้น โน้มนำจิตของเราเข้าสู่สมาธิภาวนา

      
        วิธีนี้ฝึกหลับตายลความดำมืด แล้วค่อยเปิดตามองความดำมืดที่เห็นจากภายในนั้น เอาความดำมืดที่เห็นข้างในออกมาสู่ข้างนอก รวมทั้งความดำมืดในจิตใจที่เกิดจากความผิดพลาดในอดีตด้วย หากเอาความดำมืดเหล่านั้นออกมาข้างนอกได้ ปมในใจเหล่านั้นก็จะค่อยๆ หายไปด้วย จนกระทั่งมันหายไปตลอดกาล
     

      
        จงหมั่นพัฒนาความมีสติรู้ตัวให้เกิดขึ้นบ่อยๆ โดยที่เมื่อใดก็ตามที่เราเกิดสติขึ้นมาว่า กำลังหลงไปคิดอยู่ก็ให้รู้ตัว และมีประสบการณ์อยู่กับ “สติ” ที่รู้ตัวว่าเพิ่งหลงไปคิดนั้น
     

      
       ฝึกเอาชนะความตายโดยการเข้าสู่ภาวะไร้ตาย โดยการฝึกอสุภกรรมฐาน โดยให้หัดมองศพคนตายที่กำลังถูกเผาโดยไม่ต้องคิด แค่มองดูเฉยๆ แค่รู้ แค่เห็นเฉยๆ เท่านั้น จากนั้นให้ฝึกกรรมฐานนี้โดยนอนกับพื้นราวกับตัวเองเป็นศพอยู่ แล้วจินตนาการว่าเปลวไฟกำลังเผาร่างกายของเราจากปลายเท้าขึ้นมาให้ตัวเราเป็นแค่ผู้ดู ผู้รู้ ผู้เห็นร่างกายของเราที่ค่อยๆ ถูกเปลวเพลิงเผาผลาญจนเป็นเถ้าถ่าน นี่เป็นวิธีการฝึกเพื่อเข้าถึงภาวะไร้อัตตาที่ดีมากวิธีหนึ่ง เพราะผู้ฝึกจะค่อยๆ ปล่อยวางอุปทานความยึดมั่นถือมั่นในรูปหรือกายของตนไปเอง เมื่อฝึกกรรมฐานนี้บ่อยๆ จนชำนาญ (ยังมีต่อ)

วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

พระอภิธรรม.....เรา

พระอภิธรรม.....เรา

สภาพรู้ทั้งหลายมี จิต เป็นผู้รู้
แต่ปุถุชนทั่วไปจะเข้าใจผิดว่า เราเห็น เราได้ยิน
เรารู้กลิ่น เรารู้รส เราเย็น เราร้อน เรารู้สึก เราคิดนึก ทั้งๆที่จริงแล้ว สภาพรู้ทั้งหลายนี้เป็น จิต ไม่ใช่เรา เป็นเพียงสภาวะธรรม ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว
หาแก่นสาร หาเจ้าของ หาตัวตนมิได้เลย
มีแต่ จิต กับ อารมณ์ เท่านั้น
ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
เพราะไม่รู้ความจริงเช่นนี้
จึงหลงผิดคิดว่าเป็นเรามาตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย และเพราะมีเรานี่แหละ
จึงได้มีแต่ความทุกข์อยู่ตลอด เพราะมี เรา นี่แหละจึงมีความรู้สึกเหมือนกับแบกโลกไว้ทั้งโลก
ถ้าเอา เรา ออกเสียได้
ก็จะรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังยืนอยู่เหนือโลก

หลับตาก็ได้ลืมตาก็ได้

#หลับตาก็ได้ลืมตาก็ได้

เราอย่าเผลอ หลับตาก็ไม่เผลอ ลืมตาก็ไม่เผลอ
มันก็เป็นสมาธิได้ทั้งหลับตาทั้งลืมตานั้นแหละ
ถ้ามันหลับตาดี ลืมตาไม่ดี แสดงว่าสมาธิคอยแต่จะล้ม
แบบนี้ ยังหาหลักเกณฑ์ไม่ได้เข้าใจไหม เอ้า! เป็นอย่างนั้นนี่

______________________________

หลวงตาพระมหาบัว  ญาณสัมปัญโณ

ปฏิจจสมุปบาท หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

"ปฏิจจสมุปบาท หลวงปู่ฝั้น อาจาโร"

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ศิษย์รุ่นใหญ่สายพระกรรมฐานในกองทัพธรรมแห่งหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

เหตุนี้จึงให้พากันนั่งสมาธิพิจารณาตัวของเรา กำหนดทุกข์  นี้เรื่องทุกข์  เรื่องสมุทัย  นี่แหละความหลงของเรา  ให้พากันเพ่งเล็งดู  นี่ข้อสำคัญว่ามันเป็นอย่างนี้  อกาลิโก  ไม่มีกาลเป็นอยู่เสมอ  นั่งอยู่ก็ทุกข์  เป็นโทษ  ให้พากันรู้จัก  ทีนี้เมื่อฟังแล้ว  เอหิปัสสิโก  คำสอน
จงร้องเรียกสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม  ท่านไม่ได้ให้ไปดูธรรมที่ไหน  ท่านให้มาดูรูปธรรมนามธรรมนี้!

เพราะฉะนั้น  ท่านจึงสอนให้มีสติ  นั่งก็ดี  นอนอยู่ก็ดี  ยืนอยู่ก็ดี  เดินอยู่ก็ดี  ให้มีสติอยู่  ให้มันรู้  มีสติสัมปชัญญะ  นั่งก็รู้ให้รู้ว่านั่ง  นอนเดินก็ให้รู้สึก  สติของเราเพ่งเล็งอยู่อย่างนั้น  การทำความสงบมิใช่อื่นไกล เพราะฉะนั้นก็ให้พากันเพ่งเล็งดู
มิใช่อื่นทุกข์  คือความเกิดน่ะเป็นทุกข์  เรานั่งอยู่ที่นี่  เราเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ อะไรทุกข์?
ทุกข์ที่สอง  ‘ชราปิ ทุกขา’ ทุกข์เพราะความเก่าแก่ชรา   คร่ำคร่าเพราะความเจ็บ ความไข้นั่นเป็นทุกข์   ไม่ใช่อื่นไกล   ความเจ็บตรงโน้นปวดตรงนี้   ความชำรุดทรุดโทรมนั่นแหละ ความแก่มาถึงแล้ว ไม่ใช่เพราะอื่น   ทุกข์เพราะอันนี้   มรณัมปิ ทุกขัง ทุกข์เพราะความตาย   ไม่ใช่อื่นเป็นทุกข์
นี่แหละความทุกข์ทั้งหลาย ให้พากันพิจารณาดูสิ อะไรมันเกิด อะไรมันแก่ อะไรมันเจ็บ อะไรมันตายเล่า?
เหตุนั้น ท่านยังให้พิจารณา  ‘ปฏิจจสมุปบาท’   ท่านให้กำหนดทุกข์ว่า  ทุกข์มาจากไหน?   อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยมาให้เกิดทุกข์?
ท่านให้พิจารณาทุกข์ว่ามันมาจากความตาย  นี่ตายนี้เป็นเหตุปัจจัยมาให้ทุกข์  นี่ตายมาจากไหน  เป็นเหตุเป็นปัจจัยมาให้ตาย  มาจากโรคภัยไข้เจ็บ  อาการทั้งหลายต่างมาเป็นเหตุปัจจัย   อาการทั้งหลายเหล่านี้มาจากไหน  เป็นเหตุเป็นปัจจัยมาจากชราความเก่าแก่ชราคร่ำคร่า   อันความชราเก่าแก่คร่ำคร่ามาจากไหน   เป็นเหตุเป็นปัจจัยมา   มาจากชาติ  คือความเกิดนี่มาจากไหน   มันมาจากนี่   มันคดไปเป็นปฏิจจสมุปบาท 12 อันนี้   ความเกิดมาจากไหนเล่า  เป็นเหตุเป็นปัจจัยมา   มาจาก ‘ภพ’ คือเข้าไปตั้ง   เข้าไปยึด   เข้าไปถือไว้ ‘อารมณ์’ ของเรายึดไว้   ยึดมันก็ก่อภพขึ้น
อันนี้ภพมันมาจากไหน  เป็นเหตุเป็นปัจจัยมา  มาจาก ‘อุปาทาน’ กายยึดถือ
ทีนี้อุปาทานมาจากไหน   เป็นเหตุเป็นปัจจัยมา  มาจาก ตัณหาความทะเยอทะยานอยาก  ความดิ้นรน  ตัณหามาจากไหน เป็นเหตุเป็นปัจจัยมา  มาจาก ‘เวทนา’ ทุกขเวทนา   สุขเวทนา   เมื่อความทุกข์เกิดขึ้น   ก็อยากหาความสุขเมื่อความสุขเกิดขึ้น   ก็ไม่อยากให้ทุกข์เกิด
นี่มาจากเวทนา
ทีนี้เวทนามาจากไหน  เป็นเหตุเป็นปัจจัยมา  มาจาก ‘ผัสสะ’ ความกระทบถูกต้องนี่แหละผัสสะ   อันนี้ผัสสะมาจากไหน   เป็นเหตุเป็นปัจจัย   มาจาก ‘อายตนะ’ เป็นบ่อเกิดแห่งอายตนะคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ...
อายตนะมาจากไหน  เป็นเหตุเป็นปัจจัยมา  มาจาก ‘นามรูป’ นามรูปอันนี้มาจากไหน เป็นเหตุเป็นปัจจัย มาจาก วิญญาณ    วิญญาณมาจากไหน   เป็นเหตุเป็นปัจจัยมา   มาจาก สังขาร    สังขารมาจากไหน   เป็นเหตุเป็นปัจจัย   มาจาก อวิชชา   นี่ขั้นต้นมันจบนี้
อวิชชา   คือความหลงละ  หลงสมมติ  หลงภพ  หลงชาติ  หลงตน  หลงตัว  ‘อวิชชา ปัจจยา สังขารา’   เมื่ออวิชชาความหลงเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารการปรุงแต่ง   เมื่อสังขารมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ   วิญญาณก็ทำให้เกิดนามรูป ฯลฯ   ให้พิจารณาทวนกระแสกลับ   วิญญาณมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ ตา หู จมูก อายตนะมีแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ   ผัสสะมีแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา   เวทนามีแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา   ตัณหามีแล้วทำให้เกิดอุปาทาน   อุปาทานทำให้เกิดภพ   ภพมีแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ   เมื่อเกิดชาติก็เป็นปัจจัยให้เกิดชรา ความชำรุดทรุดโทรมเฒ่าแก่ชราคร่ำคร่า  ความแก่เฒ่าชรามีแล้วทำให้เกิดพยาธิ   ความเจ็บไข้พยาธิมีแล้วทำให้เกิดความตาย   ความตายมีแล้วทำให้เกิดทุกข์
โสกปริเทวทุกขโสมนสสุปายาส นี่แหละ!
เหตุนี้จึงให้พากันนั่งสมาธิพิจารณาตัวของเรา กำหนดทุกข์  นี้เรื่องทุกข์  เรื่องสมุทัย  นี่แหละความหลงของเรา  ให้พากันเพ่งเล็งดู  นี่ข้อสำคัญว่ามันเป็นอย่างนี้  อกาลิโก  ไม่มีกาลเป็นอยู่เสมอ  นั่งอยู่ก็ทุกข์  เป็นโทษ  ให้พากันรู้จัก  ทีนี้เมื่อฟังแล้ว  เอหิปัสสิโก  คำสอน
จงร้องเรียกสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม  ท่านไม่ได้ให้ไปดูธรรมที่ไหน  ท่านให้มาดูรูปธรรมนามธรรมนี้!

http://www.dhamma5minutes.com/webboard.php?id=36&wpid=0017

ความรักและความโกรธ ดับที่ใจ

ความรักและความโกรธ ดับที่ใจ"

" .. ความรักและความโกรธ ถ้ารู้มันก็ดีละซี่ กลัวแต่จะไม่รู้ตัวมันนั่นแหละ "เมื่อมีความรักและความโกรธจะไปเพ่งแต่วัตถุภายนอก" ไม่ได้เพ่งเข้ามาหาตัว เราจึงไม่หายรักและไม่หายโกรธ

"วัตถุหรือบุคคลหรืออารมณ์นั้นๆ มิใช่ความรักหรือความโกรธอยู่ ณ ที่นั่น" ที่นั่นเป็นแต่วัตถุอันหนึ่งเท่านั้น ใครจะรักหรือจะโกรธมัน มันก็อยู่อย่างนั้นของมัน

"ผู้รักหรือผู้โกรธแท้ คือตัวใจของเรานี้ต่างหาก" เหตุนั้น "เมื่อจะดับความรักและความโกรธจึงดับที่ใจของเรานี้" เราไม่ต้องละความรักและความโกรธหรอก

#ถ้าเห็นความรักและความโกรธเกิดขึ้นที่ใจแล้วมันจะดับไปเอง แม้แต่อารมณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวก็เช่นเดียวกัน .. "

.
"ปุจฉาวิสัชนาในประเทศ"
หลวงปู่เทสก์  เทสรังสี

ต้นตอของการรู้ปรมัตถ์

#ต้นตอของการรู้ปรมัตถ์

ง่ายๆ คือลงมือทำซื่อๆ ตรงๆ ไม่ต้องไปคิดอะไร
สัมผัสความรู้สึกแค่สองอย่างนี้
ต่อไปมันก็จะเห็นตัวสภาวะอันอื่น ขยายไปเรื่อยๆ
รู้ไปเรื่อยๆ เป็นสมมติปรมัตถ์

เบื้องต้นให้รู้รูปรู้นาม ให้รู้อาการของกาย
ความรู้สึกในร่างกายมันมีอะไรบ้าง
ให้รู้ให้ครบ ให้จบให้ถ้วน

ความรู้สึกทางกายที่มันสบาย ไม่สบายมาจากอะไรบ้าง
ไม่ต้องไปบัญญัติ ไม่ต้องไปสมมติให้มัน
ให้รู้ว่าเป็นความรู้สึกก็พอ นี้เรียกว่าปรมัตถ์

ในส่วนที่เป็นนาม ก็ให้รู้ว่า
ความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ มาจากไหน
ตามรู้จนเห็นต้นตอชัดเจน เราจะไม่สงสัย
เรียกว่ารู้ปรมัตถ์

ในส่วนที่เป็นนามหรือใจของเรา
ให้รู้ว่าความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจมาจากไหน? เกิดจากอะไร?
ตามรู้ไปอย่างนี้จนกระทั่งเห็นต้นตอที่ไปที่มาของมันชัดเจน
เราจะไม่สงสัยแล้ว เพราะรู้ปรมัตถ์
วันๆ ให้ดูแค่สองเรื่องนี้

แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น สิ่งอื่น
ก็ต้องใช้สมมติ แต่เรารู้ว่าต้นตอมันอยู่ที่นี่

อะไรที่จะเป็นเหตุให้เกิดความไม่สบาย ไม่พอใจ
เรารู้ก็หลีกเลี่ยงเสีย เท่านั้นเอง

อะไรที่เป็นเหตุให้เกิดความสบาย
ความสงบ ความราบเรียบ ความสุข 
เราก็ทำสิ่งนั้นเท่านั้นเอง มันไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย
แต่เรื่องของเรื่อง เราไปอยู่กับความคิด ไปติดในสมมติ

สมมติอาศัยกาลเวลา อดีต อนาคต
ทำให้เกิดความคิด

แต่ถ้าจิตมาอยู่กับปัจจุบัน ความคิดเกิดไม่ได้
ตาเห็นก็สักแต่ว่าเห็น หูได้ยินก็คือได้ยิน
จิตรู้ก็สักแต่ว่ารู้
ไม่ไปคิดต่อเติมเสริมแต่งมากกว่าที่เรารู้

.
Direk Saksith
www.buddhayanando.com

อานาปานสติ หลวงปู่เหล้า

อานาปานสติ

(หลวงปู่หล้า เขมปัตฺโต วัดบรรพพตคีรี
(ภูจ้อก้อ) จ.มุกดาหาร)

ผู้ต้องการพ้นทุกข์โดยด่วนในปัจจุบันชาติ ปัจจุบันจิต  ปัจจุบันธรรมแล้ว จะไม่เอื้อเฟื้อ ไม่อาลัย ไม่รัก ไม่ปฏิบัติเนืองๆ ยิ่งๆ ในพระอานาปานสติ ลมหายใจเข้าออกแล้ว  นั่งคอยนอนคอยปรารถนาอยู่เฉยๆ ย่อมเป็นไปได้ยาก

  ลมออกลมเข้ายาว หรือสั้นจะไม่ใช่กายอย่างไร ก็คือ กายานุปัสสนา นั่นเอง และก็ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่สมดุลกันอยู่นั้นเอง จึงพอหายใจเข้าหายใจออกได้

ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก บางที่เสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง อุเบกขาบ้าง ก็เป็น เวทนานุปัสสนา นั่นเอง 

  ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เห็นจิตเศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว หรือกลางๆ  ก็เป็น จิตตานุปัสสนา นั่นเอง

ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เห็นความไม่เที่ยงแห่งกายสังขาร  จิตตสังขาร ก็เป็น ธรรมานุปัสสนา นั้นเอง

แล้วกายก็ดี  เวทนาก็ดี  จิตก็ดี ยกขึ้นสู่เมืองขึ้นของ "ไตรลักษณ์"  ให้กลมกลืนกันเป็นเชือกสามเกลียว เป็นเป้าอันเดียวกันไม่ต้องแยก ไม่ต้องเรียง ไม่ต้องขยาย เห็นอยู่ ณ ซึ่งหน้าสติ ซึ่งหน้าปัญญาพร้อมกับลมเข้าออก ไม่มีอันใดก่อน ไม่มีอันใดหลัง ติดต่ออยู่ พิจารณาอยู่ไม่ขาดสาย

ความเพลิดเพลิน ความเมา ความดิ้นรนในโลกทั้งปวง ทั้งอดีต อนาคต มันจะมารวมพลมาจากประตูใด เพราะปัจจุบันมีอำนาจเหนืออดีต เหนืออนาคตแล้ว มิหนำซ้ำจะได้โต้ตอบกับปัจจุบันว่า ปัจจุบันเป็นเมืองขึ้นของใคร และใครมายึดถือเอาเป็นเจ้าของ จะได้ตะลุมบอนหั่นแหลกกันในปัจจุบันนั้น

ลมออกเป็นชาติหนึ่ง ลมเข้าเป็นชาติหนึ่งๆ ของกายสังขาร ส่วนจิตสังขารนั้นเป็นชาติอันละเอียดเร็วนัก เกิดดับติดต่อกันเร็วนัก อนิจจาอันละเอียดมีมากมายแท้ๆ เมื่ออนิจจาละเอียดเข้าสักเพียงใรก็ดี ทุกขาอนัตตาก็ละเอียดเข้าเป้าเดียวกัน ขณะเดียวกัน

แต่อย่าลืมลมเข้าออก เพราะลมเข้าออกเป็นแม่เหล็กอาจารย์เดิม ลมจะละเอียดสักเพียงใด อย่าได้ลืมเลย  เพราะจิตจะฟุ้งซ่าน เป็นว่าวเชือกขาด จะเป็นช่างเหล็กที่ตีเหล็กไม่ถูกทั่ง เหล็กจะกระเด็นใส่หน้า ข้อนี้สำคัญมากนักหนา ผู้ทิ้งกรรมฐานเดิมที่ตนตั้งไว้  ย่อมไปตามนิมิตภายนอกต่างๆ นานา

อานาปานสติ เป็นกรรมฐานชั้นที่หนึ่ง ในพระพุทธศาสนา  เป็นยอดแห่งกรรมฐานทั้งปวง  ผู้เจริญชำนาญแล้ว จะดึงกรรมฐาน และวิปัสสนาภาวนาปัญญามารวมเข้ากันได้ ไม่ขัดแย้ง ไม่แสลงกันเลย เช่น นิโรธความดับตัณหา เป็นธรรมอันละเอียด จะดึงเข้ามาพร้อมกับลมเข้าออกก็ได้ทั้งนั้น

  ยาขนานเดียวแก้โรคได้เป็นล้านๆ อย่าง ก็คืออานาปานสตินี้ สามารถบรรเทา และแก้สรรพกิเลส สรรพตัณหาได้ ตามเหตุตามผลของท่านผู้เจริญน้อย หรือมาก ได้โดยตรงๆ ไม่อ้อมค้อมเลย ขอแต่ทุ่มเท ศรัทธา วิริยะ สติ  สมาธิ ปัญญา ลงให้สมดุลกัน ติดต่อกันไม่ขาดสาย นิพพิทา คลายเมาในความหลงอันดองขันธสันดานมานมนาน ก็จะปรากฏเป็นสัมมาวิมุตติ เป็นสัมมาญาณโดยแท้  ไม่ต้องสงสัยเลย อย่าตีตนก่อนไข้ก็แล้วกัน อย่ามุ่งกล่าวตู่พระพุทธศาสนา และอย่ากล่าวตู่ว่ามรรคผลนิพพานหมดไปแล้ว

       ผู้ไม่แยบคายในอานาปานสติ ไฉนจะเห็นเจตสิก ที่เกิดดับได้ง่ายๆ เล่า เพราะตามลมเข้าออกไม่ถึงจิต และเจตสิก เมื่อไม่เห็นการเกิดดับได้ละเอียด  ไฉนจะเห็นไตรลักษณ์ละเอียด  ให้ปรากฏแก่ตาปัญญาญาณเล่า  พระบรมศาสดาทรงเน้นหนักลงใน "ไตรลักษณ์" มากกว่าพระพุทธภาษิตอื่นๆ เพราะเป็นธรรมนำไปสู่การหลุดพ้นได้ง่าย

ภัยที่แม่ลูกก็ช่วยกันไม่ได้

ภัยที่แม่ลูกก็ช่วยกันไม่ได้

ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อม
กล่าวภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้ (อมาตาปุตฺติกภย)
ว่ามีอยู่ ๓ อย่าง. ๓ อย่างคือ :-
มีสมัยที่ไฟไหม้ใหญ่ตั้งขึ้น ไหม้หมู่บ้าน ไหม้นิคม
ไหม้นคร. ในสมัยนั้น มารดาไม่ได้บุตร (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้),
บุตรก็ไม่ได้มารดา (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้).
ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อม
เรียกภัยนี้ว่าเป็นอมาตาปุตติกภัย อย่างที่หนึ่ง.
ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก คือมีสมัยที่
มหาเมฆตั้งขึ้น เกิดน้ำท่วมใหญ่ พัดพาไปทั้งหมู่บ้าน ทั้งนิคม
ทั้งนคร. ในสมัยนั้น มารดาไม่ได้บุตร (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้),
บุตรก็ไม่ได้มารดา (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้).
ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อม
เรียกภัยนี้ว่าเป็นอมาตาปุตติกภัย อย่างที่สอง.

ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก คือมีสมัยที่มีภัย
คือการกำเริบ (กบฏ) มาจากป่า ประชาชนขึ้นยานมีล้อ
หนีกระจัดกระจายไป. เมื่อภัยอย่างนี้เกิดขึ้น สมัยนั้น
มารดาไม่ได้บุตร (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้), บุตรก็ไม่ได้
มารดา (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้).
ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อม
เรียกภัยนี้ว่าเป็นอมาตาปุตติกภัย อย่างที่สาม.
ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อมกล่าว
ภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้ ว่ามีอยู่ ๓ อย่าง เหล่านี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ กล่าว
สมาตาปุตติกภัย (ภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันได้) แท้ๆ
๓ อย่างนี้ว่าเป็น อมาตาปุตติกภัย (ภัยที่มารดาและบุตร
ช่วยกันไม่ได้) ไปเสีย.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภัย ๓ อย่าง ที่มารดาและบุตร
ช่วยกันได้นั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
สามอย่าง คือ สมัยที่ไฟไหม้ใหญ่ เป็นอย่างหนึ่ง,
สมัยที่น้ำท่วมใหญ่ เป็นอย่างที่สอง, สมัยที่หนีโจรขบถ
เป็นอย่างที่สาม; เหล่านี้บางคราวมารดาและบุตรก็ช่วย

กันและกันได้ แต่ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับมากล่าวว่าเป็นภัย
ที่มารดาและบุตรก็ช่วยกันไม่ได้ไปเสียทั้งหมด.
ภิกษุทั้งหลาย !

ภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้ (โดยแท้จริง)
๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่สามอย่าง คือ :-
ภัยเกิดจากความแก่ (ชราภยํ),
ภัยเกิดจากความเจ็บไข้ (พฺยาธิภยํ),
ภัยเกิดจากความตาย (มรณภยํ).

ภิกษุทั้งหลาย มารดาไม่ได้ตามปรารถนากับ
บุตรผู้แก่อยู่อย่างนี้ว่า เราแก่เองเถิด บุตรของเราอย่าแก่
เลย; หรือบุตรก็ไม่ได้ตามปรารถนากะมารดาผู้แก่อยู่
อย่างนี้ว่า เราแก่เองเถิด มารดาอย่าแก่เลย ดังนี้.
มารดาก็ไม่ได้ตามปรารถนาว่า เราเจ็บไข้เองเถิด
บุตรของเราอย่าเจ็บไข้เลย; หรือบุตรก็ไม่ได้ตามปรารถนา
ว่า เราเจ็บไข้เองเถิด มารดาของเราอย่าเจ็บไข้เลย ดังนี้.
มารดาก็ไม่ได้ตามปรารถนาว่า เราตายเองเถิด
บุตรของเราอย่าตายเลย; หรือบุตรก็ไม่ได้ตามปรารถนา
ว่า เราตายเองเถิด มารดาของเราอย่าตายเลย ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล เป็นภัยที่มารดา
และบุตรช่วยกันไม่ได้ ๓ อย่าง.
ภิกษุทั้งหลาย ! หนทางมีอยู่ปฏิปทามีอยู่ย่อม
เป็นไปเพื่อเลิกละ ก้าวล่วงเสีย ซึ่งภัยทั้งที่เป็นสมาตาปุตติกภัย
และอมาตาปุตติกภัย อย่างละสามๆ เหล่านั้น.
ภิกษุทั้งหลาย หนทางหรือปฏิปทานั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
นั่นคือ อริยอัฏฐังคิกมรรค (อริยมรรคมีองค์ ๘)
นั่นเอง ได้แก่
สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ(ดำริชอบ)
สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (ทำการงานชอบ)
สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) สัมมาวายามะ (เพียรชอบ)
สัมมาสติ (ระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ).
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แหละหนทาง นี้แหละ
ปฏิปทา เป็นไปเพื่อเลิกละ ก้าวล่วงเสีย ซึ่งภัยทั้งที่เป็น
สมาตาปุตติกภัย และอมาตาปุตติกภัย อย่างละสามๆ
เหล่านั้น.
ติก. อํ. ๒๐/๒๒๘-๒๓๑/๕๐๒.

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...