วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

สมาธิเพื่อวิปัสสนา

สมาธิเพื่อวิปัสสนา

หลวงพ่อปราโมทย์ : สมาธิยังมีอีกชนิดหนึ่ง สมาธิที่ใช้ในการเจริญปัญญา สมาธิชนิดนี้ไม่ใช่อารัมณูปนิชฌาน แต่เรียกว่า “ลักขณูปนิชฌาน” ลักขณูคือเห็นลักขณะ คำว่าลักขณะนี้คนไทยเรียกว่า “ลักษณะ” ลักขณะเป็นภาษาบาลี แต่คนไทยยืมศัพท์นี้มาใช้นะ ยืมภาษาสันสกฤตมาใช้ เรียกว่า “ลักษณะ” เคยได้ยินคำว่า “ไตรลักษณ์” มั้ย “ไตรลักษณะ” นะ ถ้าเป็นภาษาบาลีก็จะเป็น “ลักขณะ” กอไก่แล้วก็ต่อด้วยขอไข่

สมาธิที่เห็นไตรลักษณ์ ลักษณะของสมาธิชนิดนี้นะ จิตใจเป็นคนดู เป็นสภาวะที่เรียกว่า “ความตั้งมั่น” พวกเราไปเปิดพจนานุกรมดูให้ดีนะ สมาธิไม่ได้แปลว่าสงบ เนี่ยพวกมักง่ายแปลเอาเองว่าสมาธิแปลว่าสงบ ในพจนานุกรมทั้งหลาย ไปดูนะ คำว่า “สมาธิ” จริงๆแล้วแปลว่าความตั้งมั่นของจิต

ความตั้งมั่นของจิตหมายถึงอะไร หมายถึงจิตไม่แส่ส่ายไหลเพลินไปทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตั้งมั่นอยู่ที่ตัวเอง ไม่ใช่ไปตั้งอยู่ที่ตัวอารมณ์ ถ้าจิตของเราไหลไปตั้งนิ่งอยู่ที่ตัวอารมณ์ เรียกว่า “อารัมณูปนิชฌาน” เพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว ใช้ทำสมถกรรมฐาน ถ้าจิตตั้งมั่นอยู่กับจิต ไม่ใช่ไปตั้งอยู่ที่อารมณ์นะ ตั้งอยู่กับความรู้สึกตัว รู้สึกกาย รู้สึกใจ ของตัวเอง ใจของเราจะมีความรู้สึกว่า มันเหมือนเป็นคนดูคนหนึ่ง

ร่างกายเดินอยู่ มีใจที่ตั้งมั่นเป็นแค่คนดู เห็นร่างกายเดินใจเป็นคนดู เห็นความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย ใจเป็นคนดู เห็นความสุขความทุกข์ความเฉยๆเกิดขึ้นในจิตใจ ใจเป็นคนดู เห็นกิเลสเกิดขึ้นในใจ ใจเป็นคนดู ใจมันจะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นแค่คนดู ตัวนี้แหละเอาไว้ทำวิปัสสนากรรมฐาน

งานวิปัสสนากรรมฐานคืองานวิจัยภาคสนามล่ะ ตัว Object ที่เราจะเรียน ในการวิจัยภาคสนาม ก็คือรูปธรรมและนามธรรมที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นตัวเรา เราจะเรียนเพื่อให้เห็นความจริงของรูปธรรมและนามธรรมที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรา ความจริงของรูปธรรมและนามธรรมอันนี้ ก็คือ “ไตรลักษณ์” นั่นเอง ร่างกายนี้ไม่เที่ยง ร่างกายนี้เป็นทุกข์ ร่างกายนี้เป็นอนัตตา

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่วัดสวนสันติธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...