สติปัฏฐานสี่ เป็นหนทางสายเดียวเพื่อไปสู่การบรรลุธรรม และสิ่งใดหนอที่จะขัดขวางการเจริญสติปัฏฐานสี่
ลักษณะของผู้อาจและไม่อาจเจริญสติปัฏฐานสี่
ภิกษุ ท. ! บุคคคลไม่อาจเพื่อเป็นผู้ มีปกติตามเห็นกายในกาย อยู่เพราะเขาไม่ละธรรม ๖ อย่าง. หกอย่าง อย่างไรเล่า ? หกอย่างคือ
ความเป็นผู้ยินดีในการงาน
ความเป็นผู้ยินดีในการคุยฟุ้ง
ความเป็นผู้ยินดีในการหลับ
ความเป็นผู้ยินดีในการคลุกคลีกันเป็นหมู่
ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
ความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในการบริโภค.
ภิกษุ ท. ! เพราะไม่ละธรรม ๖ อย่าง เหล่านี้แล บุคคลจึงเป็นผู้ไม่อาจเพื่อเป็นผู้มีปกติตามเห็นกายในกาย อยู่.
(ในกรณีที่ไม่อาจเป็นผู้ มีปกติตามเห็นกายในกายในภายใน - ในภายนอก - ในภายในและภายนอก และเป็นผู้ไม่อาจเป็นผู้ มีปกติตามเห็นเวทนาในเวทนา ตามเห็นจิตในจิต - ตามเห็นธรรมในธรรม ก็ดี ล้วนแต่มีข้อความที่ตรัสไว้อย่างเดียวกัน).
ภิกษุ ท. ! บุคคลอาจเพื่อเป็นผู้ มีปกติตามเห็นกายในกาย อยู่ เพราะเขาละธรรม ๖ อย่าง. หกอย่าง อย่างไรเล่า? หกอย่างคือ ความเป็นผู้ยินดีในการงาน ความเป็นผู้ยินดีในการคุยฟุ้ง ความเป็นผู้ยินดีในการหลับ ความเป็นผู้ยินดีในการคลุกคลีกันเป็นหมู่ ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในการบริโภค. ภิกษุ ท. ! เพราะละธรรม ๖ อย่าง เหล่านี้แล บุคคลจึงเป็นผู้อาจเพื่อเป็นผู้มีปกติตามเห็นกายในกาย อยู่.
(ในกรณีที่อาจเป็นผู้ มีปกติตามเห็นกายในกายในภายใน - ในภายนอก - ในภายในและภายนอก และเป็นผู้อาจเป็นผู้ มีปกติตามเห็นเวทนาในเวทนา - ตามเห็นจิตในจิต - ตามเห็น ธรรมในธรรม ก็ดี ล้วนแต่มีข้อความที่ตรัสไว้อย่างเดียวกัน).
- ฉกฺก.อํ. ๒๒/๔๙๙ - ๕๐๐/๓๘๘ - ๓๙๔.
......................
สติปัฏฐานสี่ เป็นเอกายนมรรค
ภิกษุ ท. ! หนทางนี้ เป็นหนทางเครื่องไปอันเอกทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงเสียซึ่งโสกะและปริเทวะ เพื่อความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อถึงทับซึ่งญายธรรม เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ; หนทางนี้คือ สติปัฏฐานสี่. สี่อย่างไรเล่า ? สี่คือ ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ภิกษุ :-
๑. เป็นผู้ ตามเห็นกายในกาย อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลก ออกเสียได้.
๒. เป็นผู้ ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลก ออกเสียได้.
๓. เป็นผู้ ตามเห็นจิตในจิตทั้งหลาย อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลก ออกเสียได้.
๔. เป็นผู้ ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลก ออกเสียได้.
- มหา. ที.๑๐/๓๒๕/๒๗๓.
พุทธพจน์จากอริยสัจจากพระโอษฐ์ ท่านพุทธทาสรวบรวม
ภาพ วัดเพื่อพระนิพพาน เยอรมัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น