หลวงปู่ดูลย์กราบเรียนพระอาจารย์ใหญ่(พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต)ว่า
"เดี๋ยวนี้กระผมเข้าใจแล้ว กระผมได้ทำความรู้จักกับกิเลสของกระผมได้ดีแล้ว คือ ถ้ารวมกันทั้งหมด แล้วแบ่งเป็น ๔ ส่วน ส่วนที่หนึ่ง กระผมละได้เด็ดขาดแล้ว ส่วนที่สอง กระผมละได้ครึ่งหนึ่ง และส่วนที่สามกับส่วนที่สี่ กระผมยังละไม่ได้ขอรับ"
เมื่อได้ยินดังนั้น พระอาจารย์ใหญ่จึงเอ่ยว่า "เก่งมาก ฉลาดมาก ที่สามารถรู้จักกิเลสของตนเอง และการปฏิบัติที่ผ่านมา ที่เล่าบอกนั้น ก็เป็นการถูกต้องดีแล้ว"
จากบทสนทนานี้ แสดงให้เห็นว่า การบำเพ็ญเพียรตามแนวคำสอนของพระพุทธองค์ก็คือ การค้นหาความจริงของตนเอง เป็นการมองลึกลงไปในสภาพตัวตนที่เป็นจริงของตน และอีกประการหนึ่งเป็นการค้นหาสภาพความเป็นจริงแห่งกองทุกข์ นั่นคือกิเลส
เพราะหากไม่รู้จักตนเอง และไม่รู้จักกิเลส ก็ไม่รู้จักกองทุกข์ เมื่อไม่รู้จักกองทุกข์ ก็ไม่สามารถดับทุกข์ให้หมดสิ้นไปได้ เป้าหมายสูงสุดคือ สามารถดับทุกข์อย่างชนิดไม่มีเหลืออยู่เลย
พระอาจารย์ใหญ่ และหลวงปู่ดูลย์ ได้สนทนาธรรมกันด้วยความเคร่งเครียด จริงจัง แล้วพระอาจารย์ก็มอบการบ้านให้หลวงปู่ไปพิจารณา ความเป็นอนิจจังของสังขาร และภาวะแห่งการแปรเปลี่ยนโดยเริ่มจากกาย และสังขารแห่งตน
โดยพระอาจารย์ใหญ่ได้บอกเป็นคำบาลี เป็นการบ้านให้หลวงปู่นำไปพิจารณาว่า "สพฺเพ สงฺขารา สพฺพสญฺญา อนตฺตา"
นี่คือการบ้านที่พระอาจารย์ใหญ่มอบให้หลวงปู่ ก่อนการอำลาในครั้งนั้น
หลังจากหลวงปู่ดูลย์ได้รับคำแนะนำ พร้อมทั้งรับ การบ้าน จากพระอาจารย์ใหญ่แล้ว จึงได้กราบลาและปลีกตัวไปบำเพ็ญภาวนาตามลำพัง
หลวงปู่นั่งเข้าที่ทำสมาธิ ประเดี๋ยวเดียวจิตก็สงบ แล้วยกหัวข้อธรรม ซึ่งเป็นการบ้านที่ว่า สพฺเพ สงฺขารา สพฺพสญฺญา อนตฺตา ขึ้นพิจารณาเพียงชั่วประเดี๋ยวเดียวก็เกิดความสว่างแจ้งในธรรม คือเห็น
ปฏิจฺจสมุปฺปาท กระจ่างชัดตลอดสาย นั่นคือ
เห็นความเป็นมาของสังขารทั้งหลายว่า เกิดจากความคิดปรุงแต่งของวิญญาณที่ได้รู้จากอายตนะของตนนั่นเอง เมื่อละสังขารเหล่านี้ได้ ความทุกข์ก็ดับหมดตลอดสาย และนี่คือหลักการของปฏิจจสมุปบาท
แม้จะไม่มีคำอธิบายโดยพิสดารในที่นี้ แต่เมื่อนำคำสอนของหลวงปู่ในหนังสือ หลวงปู่ฝากไว้ มาพิจารณา จะเห็นว่าท่านพูดสั้นๆ เพียงว่า
คนสมัยนี้เขาเป็นทุกข์เพราะความคิด
ที่ใจเป็นทุกข์เพราะเกิดความยึดมั่น แล้วมีการปรุงแต่งในความคิดขึ้น และอุบายที่จะละความทุกข์ก็คือ หยุดการปรุงแต่ง แล้วปล่อยวางให้เป็น
นี่คือหลักการ แต่การจะทำเช่นนั้นได้ต้องอาศัยภาวนา ทำใจให้สงบ จึงจะเกิดพลัง มีสติปัญญามองเห็นเหตุเห็นผล แล้วจิตก็จะมีการปล่อยวางได้ เมื่อละความยึดมั่นได้ ความทุกข์ในสิ่งนั้นก็หมดไป
จากประวัติและปฏิปทาหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น