วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

กาดูจิต

"จะเห็นได้ว่าคำสอนเรื่องการดูจิตของหลวงปู่มีสูงมีต่ำ มีลำดับหน้าหลัง ดังนั้นหากใครสรุปว่าหลวงปู่สอนดูจิตเท่าที่สอนตน โดยไม่พิจารณาถึงคำสอนที่ท่านสอนศิษย์อื่น ก็จัดเป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงทีเดียว และถ้าศึกษาการดูจิตที่หลวงปู่มั่นสอนให้แก่หลวงปู่ดูลย์แล้ว จะพบว่าการดูจิตในขั้นที่จะทำให้เกิดความรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจนั้น ตรงกับการเจริญวิปัสสนากรรมฐานด้วยจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนั่นเอง"

๑. ขั้นการเจริญสมถกรรมฐาน (การทำสมาธิที่จิตสงบอยู่ในอารม์เดียว / สมาธิเพ่งอารมณ์หรืออารัมมณูปนิชฌาน) หลวงปู่สอนกรรมฐานไว้หลายอย่าง เช่นสอน “ให้พิจารณาผมเส้นเดียว” “ให้พิจารณากระดูก” และ “ให้บริกรรมพุทโธ” เหล่านี้จะได้ความสงบในขั้นอุปจารสมาธิ และสอน “ให้ประคองจิตให้นิ่งให้ว่างอยู่ภายในไม่ส่งออกนอก ถ้ามีความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ เกิดขึ้นก็ให้ปัดทิ้ง แล้วน้อมจิตให้ว่างอยู่ภายในต่อไป” คำสอนนี้ใช้ทำสมถกรรมฐานได้ถึงขั้นอรูปฌาน ถ้าทำแล้วเจริญปัญญาไม่เป็นก็จะติดอยู่กับความสงบเรื่อยไป ซึ่งผู้ติดความสงบในระดับนี้จะไม่เจริญปัญญา เพราะพอใจในความสุขความสงบและความว่างอย่างเดียว ถ้ากรรมฐานเสื่อมเมื่อใดอารมณ์ก็จะแปรปรวนกว่าคนปกติมากทีเดียว

๒. ขั้นการฝึกจิตให้ตั้งมั่น (การทำสมาธิที่จิตตั้งมั่นหรือลักขณูปนิชฌาน ใช้ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน มรรค และผล) หลวงปู่สอนให้บริกรรมพุทโธแล้วรู้ (ไม่ใช่เพ่ง) จิตที่เป็นผู้บริกรรม จนจิตตั้งมั่นและคำบริกรรมหายไป เหลือจิตที่ตั้งมั่นเด่นดวงรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ พร้อมสำหรับการเจริญปัญญาต่อไป

๓. ขั้นการเจริญปัญญา สำหรับผู้ดูจิต หลวงปู่สอนอยู่ในหลักที่ว่า “จงทำญาณเห็นจิตให้เหมือนดังตาเห็นรูป” คือให้มีญาณได้แก่ปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิต (หมายรวมถึงเจตสิกหรือธรรมที่ประกอบจิต ได้แก่เวทนา สัญญา และสังขารด้วย) โดยเห็นความเกิดดับหรือการทำงานของจิตตามสภาพธรรมของจิตและเจตสิก ไม่ใช่การเอาสติเพ่งจิตหรือประคองจิตให้นิ่งว่างหยุดการทำงาน คำสอนนี้เป็นสิ่งที่ท่านสอนผู้เขียน และรับรองว่าผู้เขียนปฏิบัติได้ถูกต้องตามคำสอนของท่าน ทั้งนี้ถ้าอ่านประวัติของหลวงปู่ ก็จะทราบว่าหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ก็สอนให้ท่านเจริญปัญญาด้วยการดูความไม่เทียงและความเป็นอนัตตาของสัญญาและสังขาร จนหลวงปู่ผู้มีบารมีแก่รอบสามารถรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจในเวลาไม่นานนัก

๔. ขั้นสุดท้ายของการปฏิบัติ หลวงปู่สอนหลวงพ่อพุธ ฐานิโย และผู้เขียน ก่อนหลวงปู่มรณภาพไม่นานนักว่า การปฏิบัติในขั้นสุดท้ายนั้น “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” ซึ่งก็คือต้องปล่อยวางความยึดถึอจิต เพราะถ้ายังยึดถือจิตอยู่ ก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่สิ้นสุด เพราะจิตดวงเดียวนั่นแหละจะสร้างขันธ์ใหม่ขึ้นได้ทั้งหมด

๕. ขั้นผลของการปฏิบัติ  หลวงปู่สอนถึง สภาวะของจิตที่หลุดพ้นแล้ว ซึ่งท่านเรียกว่า “จิตหนึ่ง” ในคำสอนเรื่อง “จิตคือพุทธะ” โดยท่านยืมถ้อยคำอันเป็นสมมติบัญญัติของท่าฮวงโป (ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุแปลเป็นภาษาไทย) มาใช้ เพราะท่านเห็นว่าถูกต้องกับสิ่งที่ท่านเข้าใจจากการปฏิบัติ คำสอนเรื่องนี้ทำให้บางท่านสับสน เพราะไม่ทราบว่าท่านฮวงโปกล่าวถึงผลของการปฏิบัติ กลับพยายามจะฝึกจิตหรือปรุงแต่งจิตให้มีลักษณะเหมือนจิตหนึ่ง เป็นการมุ่งทำผลโดยไม่สนใจทำเหตุ ปฏิเสธการปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา เพราะคิดว่า จิตนั้นดีอยู่แล้วโดยตัวของมันเอง เพียงแค่ไม่ยึดถืออะไรเลยก็พอแล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริงจิตยังชุ่มโชกอยู่ด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กิเลส อาสวะ อนุสัยต่างๆ ตั้งมากมาย ที่จะไม่ให้ยึถือในสิ่งทั้งปวงนั้น เป็นไปไม่ได้เลย

๖. คำสอนพิเศษเฉพาะตัว  ยังมีคำสอนที่หลวงปู่สอนบางท่านเป็นการเฉพาะตัว เช่นครั้งหนึ่งท่านพระอาจารย์สุจินต์ สุจิณฺโณ อาพาธหนักจนคิดว่าจะมรณภาพ แต่ขณะนั้นจิตของท่านไม่กระสับกระส่าย (จนท่านบ่นกับผู้เขียนว่าเสียดายที่ไม่มรณภาพในครั้งนั้น) เมื่อทุเลาจากอาพาธแล้วท่านได้ไปกราบเรียนถามหลวงปู่ว่า ถ้าขณะนั้นจะมรณภาพควรจะวางจิตอย่างไร หลวงปู่สอนว่า ให้วางจิตให้ “ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดความปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง” เป็นการปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างในขณะสุดท้ายของชีวิต เข้าลักษณะตกบันไดพลอยโจน อย่างไรก็ตามหลวงปู่สอนทิ้งท้ายไว้ว่า “ทำได้ ถ้าเคยทำ”

จะเห็นได้ว่าคำสอนเรื่องการดูจิตของหลวงปู่มีสูงมีต่ำ มีลำดับหน้าหลัง ดังนั้นหากใครสรุปว่าหลวงปู่สอนดูจิตเท่าที่สอนตน โดยไม่พิจารณาถึงคำสอนที่ท่านสอนศิษย์อื่น ก็จัดเป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงทีเดียว และถ้าศึกษาการดูจิตที่หลวงปู่มั่นสอนให้แก่หลวงปู่ดูลย์แล้ว จะพบว่าการดูจิตในขั้นที่จะทำให้เกิดความรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจนั้น ตรงกับการเจริญวิปัสสนากรรมฐานด้วยจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนั่นเอง

https://www.dhamma.com/kantampudun/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...