วันหนึ่งจิตรวมอย่างน่าประหลาดใจ คือรวมใหญ่เข้าสว่างอยู่คนเดียว แล้วมีความรู้ชัดเจนจนสว่างจ้าอยู่ ณ ที่เดียว จะพิจารณาอะไรๆ หรือมองดูในแง่ไหนในธรรมทั้งปวง ก็หมดความลังเลสงสัยในธรรมวินัยนี้ทั้งหมด คล้าย ๆ กับว่าเรานี้ถึงที่สุดแห่งธรรมทั้งปวงแล้ว แต่เราก็มิได้สนใจในเรื่องนั้น มีแต่ตั้งใจไว้ว่า
ไฉนหนอเราจะชำระใจของเราให้บริสุทธิ์หมดจด เราทำได้ขนาดนี้แล้วจะมีอะไรแลดำเนินอย่างไรต่อไปอีก
จึงได้เดินทางตามหาหลวงปู่มั่น แล้วเราจึงได้กราบเรียนท่านว่า
"ที่ต้องตามหาท่านอาจารย์ในครั้งนี้ ด้วยจุดประสงค์อยากจะมาขอความกรุณาให้ท่านอาจารย์ได้ช่วยแก้อุบายภาวนาให้ เพราะกระผมได้คิดและได้ศึกษาจากหมู่คณะมามากแล้ว เห็นว่านอกจากท่านอาจารย์แล้ว คงไม่มีใครแก้อุบายนี้ของกระผมได้แน่ "
แล้วก็ได้เล่าความเป็นมาของเราถวายให้ท่านทราบทุกประการ เริ่มต้นแต่ได้ปฏิบัติมาจนกระทั่งถึงเรื่องที่ได้นำเข้าเรียนท่านอาจารย์สิงห์ที่โคราช ท่านจึงเล่าถึงการที่ท่านได้อบรมสานุศิษย์มาแล้วเป็นทำนองว่าให้เราทบทวนดูหมู่เพื่อนที่ท่านอบรมว่า
"ถ้าองค์ไหนดำเนินตามรอยของผมจนชำนิชำนาญมั่นคงองค์นั้นย่อมเจริญก้าวหน้า อย่างน้อยก็คงตัวอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง ถ้าองค์ไหนไม่ดำเนินตามรอยของผม องค์นั้นย่อมอยู่ไม่ทนทานต้องเสื่อมหรือสึกไป ผมเองหากมีภาระมาก ๆ ยุ่งกับหมู่คณะ
การประกอบความเพียรไม่สม่ำเสมอ เพ่งพิจารณาในกายคตาไม่ละเอียด จิตใจก็ไม่ค่อยจะปลอดโปร่ง การพิจารณาอย่าให้จิตหนีออกนอกกาย อันนี้จะชัดเจนแจ่มแจ้งหรือไม่ก็อย่าได้ท้อถอย เพ่งพิจารณาอยู่ ณ ที่นี่ละ
จะพิจารณาให้เป็นอสุภหรือให้เป็นธาตุก็ได้ หรือจะพิจารณาให้เห็นเป็นขันธ์หรือให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ได้ทั้งนั้น แต่ให้พิจารณาเพ่งลงเฉพาะในเรื่องนั้นจริง ๆ ตลอดอิริยาบถทั้งสี่
แล้วก็มิใช่ว่าเห็นแล้วก็จะหยุดเสียเมื่อไร จะเห็นชัดหรือไม่ชัดก็พิจารณาอยู่อย่างนั้นแหละ เมื่อพิจารณาอันใดชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยใจตนเองแล้ว สิ่งอื่นนอกนี้จะมาปรากฏชัดในที่เดียวกันดอก " ท่านบอกว่าอย่าให้จิตมันรวมเข้าไปภวังค์ได้
พอท่านพูดจบ เรานึกตั้งปณิธานไว้ในใจว่า เอาละคราวนี้เราจะเรียนกัมมัฏฐานใหม่ ผิดถูกเราจะทำตามท่านสอน ขอให้ท่านเป็นผู้ดูแลและชี้ขาดแต่ผู้เดียว
นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา เราตั้งสติกำหนดพิจารณาอยู่แต่เฉพาะกาย โดยให้เป็นอสุภเป็นธาตุสี่ เป็นก้อนทุกข์อยู่ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน เราใช้เวลาปรารภความเพียรอยู่ด้วยความไม่ประมาท สิ้นเวลา ๖ เดือน (พรรษานี้เราจำพรรษาอยู่ที่นี้)
โดยไม่มีความเบื่อหน่าย ใจของเราจึงได้รับความสงบและเกิดอุบายเฉพาะตนขึ้นมาว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นธาตุสี่เท่านั้น แต่คนเราไปสมมติแล้วหลงสมมติตนเองต่างหาก มันจึงต้องยุ่งและเดือดร้อนด้วยประการทั้งปวง
เราได้อุบายครั้งนี้ทำให้จิตหนักแน่นมั่นคง ผิดปกติกว่าเมื่อก่อน ๆ มาก แล้วก็เชื่อมั่นในตัวเองว่าเราเดินถูกทางแล้ว
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น