กิริยาท่าที่ 4 “ภวัน ศัลจาลนะ” (ใช้จิตชักนำลมหายใจ)
ทำอาสนะในท่าสิทธิอาสนะ หรือปัทมะอาสนะก็ได้ หลับตาทั้งสองข้าง ม้วนลิ้นไปแตะหลังเพดานฟันบนให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ (เขจรีมุทรา) ตลอดการฝึกกิริยาท่านี้ หายใจออกให้หมดปอด พร้อมกับก้มศีรษะไปข้างหน้าเหมือนกับกิริยาท่าที่ 3 “นาฏศัลจาลนะ” เพ่งจิตไปที่จักระที่ 1 หายใจเข้าแบบอุชชายี พร้อมๆ กับค่อยๆ ชักนำลมปราณจากจักระที่ 1 ขึ้นข้างบนไปทางช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว ระหว่างที่ชักนำจิตและลมปราณผ่านขึ้นไปแต่ละจักระ จะต้องตระหนักถึงแต่ละจักระที่ผ่านขึ้นไปด้วย
เมื่อจิตของผู้ฝึกเคลื่อนจากจักระที่ 5 ไปยังจุดพินธุ ศีรษะของผู้ฝึกควรจะเงยขึ้นช้าๆ ตามไปด้วย จนกระทั่งใบหน้าเงยขึ้น 20 องศาจากแนวนอน (เงยศีรษะไปด้านหลังเล็กน้อย) เหมือนกับกิริยาท่าที่ 3 “นาฏศัลจาลนะ” แล้วเพ่งจิตจดจ่อไปที่จุดพินธุ
จากนั้นค่อยๆ หายใจออกแบบอุชชายี พร้อมกับชักนำจิตและลมปราณจากจุดพินธุ ผ่านจักระที่ 6 ลงไปตามกระดูกสันหลัง (ช่องลมปราณด้านหลังของลำตัว) ผ่านจักระต่างๆ พร้อมๆ กับกำหนดรู้ไปที่แต่ละจักระที่ผ่านลงไปด้วย เมื่อจิตและลมปราณของผู้ฝึกตามลงไปจนถึงจักระที่ 1 ศีรษะของผู้ฝึกควรจะกลับมาตั้งตรงเหมือนตอนก่อนฝึกแล้วค่อยลืมตา
ข้างต้นคือ หนึ่งรอบ จากนั้นจึงขึ้นรอบใหม่ ด้วยการหายใจเข้าแบบอุชชายี พร้อมกับปิดตาแล้วชักนำลมปราณจากจักระที่ 1 ขึ้นข้างบนอีก จงฝึกอย่างนี้ 49 รอบ หรือฝึกจนกว่าจะออกจากสมาธิ จะเห็นได้ว่า กิริยาท่าที่ 4 เป็นการพัฒนาต่อยอดการฝึก กิริยาท่าที่ 2 กับกิริยาท่าที่ 3 ที่ได้ถ่ายทอดไปแล้วนั่นเอง
กิริยาท่าที่ 5 “ชทะ ศัลจาลนะ” (ชักนำจิตไปตามเสียงของลมหายใจ)
ทำอาสนะในท่าสิทธะอาสนะหรือปัทมะอาสนะก็ได้ ลืมตาและทำเขจรีมุทรา ตลอดการฝึกกิริยาท่านี้ หายใจออกให้หมดปอด ก้มศีรษะไปข้างหน้าเล็กน้อย จิตจดจ่อไปที่จักระที่ 1 อยู่ชั่วขณะ จากนั้นค่อยๆ หายใจเข้าแบบอุชชายีขึ้นไปตามช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว ขณะที่ชักนำจิตขึ้นไป ขอให้ตระหนักถึงเสียงลมหายใจ “โซ” เสียงธรรมชาติของลมหายใจเข้าตามไปด้วย ในขณะเดียวกัน จะต้องตระหนักถึงจักระแต่ละจักระที่ผ่านขึ้นไปด้วยเช่นกัน
เมื่อจิตของผู้ฝึกเคลื่อนจากจักระที่ 5 ไปยังจุดพินธุ ศีรษะของผู้ฝึกควรจะเงยขึ้นช้าตามไปด้วย จนกระทั่งศีรษะเงยไปด้านหลังเล็กน้อย เหมือนกับกิริยาท่าที่ 3 “นาฏศัลจานะ” และกิริยาท่าที่ 4 “ภวันศัลจาลนะ” จากนั้นให้กักลมหายใจไว้ภายในอยู่ชั่วครู่ โดยให้จิตจดจ่ออยู่ที่จุดพินธุ
แล้วจึงค่อยๆ หายใจออกแบบอุชชายี พร้อมกับชักนำจิตจากจุดพินธุ ผ่านจักระที่ 6 ลงไปตามกระดูกสันหลัง ขณะที่ชักนำจิตลงไป ขอให้ตระหนักถึงเสียงลมหายใจ “ฮัม” (เสียงธรรมชาติของลมหายใจออก) ตามไปด้วย และจะต้องตระหนักถึงจักระแต่ละจักระที่ผ่านลงไปด้วย
เมื่อจิตของผู้ฝึกลงตามช่องลมปราณด้านหลังของลำตัว ไปจนถึงจักระที่ 1 แล้ว ศีรษะของผู้ฝึกควรจะกลับมาตั้งตรงเหมือนตอนก่อนฝึก แล้วค่อยลืมตา ข้างต้นนี้คือหนึ่งรอบจากนั้นจึงขึ้นรอบใหม่ด้วยการก้มศีรษะไปข้างหน้าเล็กน้อย หายใจเข้าแบบอุชชายี ชักนำจิตขึ้นไปตามช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว พร้อมกับตระหนักถึงเสียงลมหายใจ “โซ” (เสียงธรรมชาติของลมหายใจเข้า) ตามไปด้วย จงฝึกอย่างนี้ 59 รอบ หรือฝึกจนกว่าจะออกจากสมาธิ จะเห็นได้ว่า กิริยาท่าที่ 5 นี้ เป็นการพัฒนาต่อยอดการฝึกกิริยาท่าที่ 2 ถึงกิริยาท่าที่ 4 นั่นเอง แต่คราวนี้ให้ทิ้งลมหายใจ และสนใจแค่การชักนำจิตไปตามจักระต่างๆ อย่างเป็นวงโคจรกับตามรู้เสียงธรรมชาติของลมหายใจเข้า-ออกเป็นหลักแทน
กิริยาท่าที่ 6 “มหามุทรา”
กิริยาท่านี้ ควรฝึกในท่าสิทธะอาสนะเป็นหลัก โดยให้ส้นเท้าของผู้ฝึกกดแตะไปที่จักระที่ 1 ทำ เขจรีมุทรา ด้วยการห่อลิ้นไปแตะหลังเพดานฟันบนให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ หายใจออกให้หมดปอด ก้มศีรษะไปข้างหน้า ลืมตาเพ่งจิตไปที่จักระที่ 1 พร้อมกับหายใจเข้าแบบอุชชายี โดยชักนำจิตจากจักระที่ 1 ขึ้นไปข้างบนตามช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว ระหว่างที่ชักนำจิตผ่านขึ้นไปแต่ละจักระ จะต้องตระหนักถึงแต่ละจักระที่ผ่านขึ้นไปด้วย
ค่อยๆ เงยศีรษะขึ้นตั้งตรง เมื่อชักนำจิตขึ้นมาจนถึงจักระที่ 5 และไปยังจุดพินธุ (ไม่เงยศีรษะไปด้านหลังเล็กน้อยเหมือนกิริยาท่าที่ผ่านมา)
จดจ่อจิตอยู่ที่จุดพินธุ พร้อมกับทำมูลพันธ และ (ขมิบบริเวณรอยฝีเย็บระหว่างรูทวารหนักกับอวัยวะเพศ) ศัมภาวีมุทรา (เพ่งจิตไปที่บริเวณหว่างคิ้วหรือตาที่สาม) ไปด้วย โดยยังทำเขจรีมุทราอยู่ตลอดการฝึก นอกจากนี้ ผู้ฝึกยังต้องกักลมหายใจเอาไว้ข้างในในระหว่างนั้นด้วย
ในระหว่างนั้น ผู้ฝึกต้องหัดย้ายฐานของจิต จากหว่างคิ้ว (ศัมภาวีมุทรา) ไปที่ปลายลิ้นที่แตะเพดานฟันบน (เขจรีมุทรา) และไปที่จักระที่ 1 (มูลพันธะ) ตามไปด้วย ผู้ฝึกควรหัดย้ายฐานของจิตในระหว่างการกักลมหายใจ ให้ได้อย่างน้อยสามเที่ยว ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงสิบสองเที่ยว เมื่อความสามารถในการกักลมหายใจของผู้ฝึกทำได้นานขึ้น
จากนั้น คลายศัมภาวีมุทราก่อน แล้วจึงค่อยคลายมูลพันธะ แล้วชักนำจิตของผู้ฝึกกลับไปที่จุดพินธุอีกครั้ง ก่อนที่จะชักนำจิตจากจุดพินธุลงไปตามช่องลมปราณด้านหลังของลำตัว พร้อมๆ กับการหายใจออกแบบอุชชายี จนกระทั่งถึงจักระที่ 1 โดยจะต้องตระหนักถึงแต่ละจักระที่ผ่านลงไปด้วย
ข้างต้นนี้คือ หนึ่งรอบ จากนั้นจึงขึ้นรอบใหม่ด้วยการก้มศีรษะไปข้างหน้าเล็กน้อย หายใจเข้าแบบอุชชายี ชักนำจิตขึ้นไปตามช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว จงฝึกอย่างนี้ 12 รอบหรือฝึกจนกว่าจะออกจากสมาธิ เคล็ดการฝึกกิริยาท่านี้ หรือ “มหามุทรา” นี้ อยู่ที่การฝึกย้านฐานของจิต ในช่วงที่กำลังกักลมหายใจผ่านการทำศัมภาวีมุทรา เขจรีมุทรา และมูลพันธะไปพร้อมๆ กันนั่นเอง
กิริยาท่าที่ 6 หรือ “มหามุทรา” จึงเป็นท่าบำเพ็ญท่าหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับการฝึกจิตในกุณฑาลินีโยคะ ที่ผู้ฝึกควรใส่ใจฝึกฝนอย่างจริงจัง อนึ่ง “มหามุทรา” ยังทำการฝึกได้ในท่าที่เหยียดขาตรงข้างหนึ่งออกไป โดยงอขาอีกข้างเข้าหาลำตัวท่อนล่าง พร้อมกับเหยียดแขนทั้งสองข้างออกไปจับหัวแม่เท้าที่เหยียดตรงออกไป แต่ขอแนะนำให้ฝึกในท่าสิทธะอาสนะดังข้างต้นจะดีกว่า (ยังมีต่อ)
กิริยาท่าที่ 7 “มหาเภธะมุทรา”
กิริยาท่านี้ ควรฝึกในท่าสิทธะอาสนะเป็นหลักเหมือนกับกิริยาท่าที่ 6 “มหามุทรา” โดยให้ส้นเท้าของผู้ฝึกกดแตะไปที่จักระที่ 1 ทำ เขจรีมุทรา ด้วยการห่อลิ้นไปแตะหลังเพดานฟันบนให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ ลืมตาตลอด ก้มศีรษะไปข้างหน้า หายใจออกให้หมดปอด เพ่งจิตไปที่จักระที่ 1 พร้อมกับหายใจเข้าแบบอุชชายี โดยชักนำจิตจากจักระที่ 1 ขึ้นไปตามช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว ระหว่างที่ชักนำจิตผ่านขึ้นไป แต่ละจักระจะต้องตระหนักถึงแต่ละจักระที่ผ่านขึ้นไปด้วย
ค่อยๆ เงยศีรษะขึ้นตั้งตรงเมื่อชักนำจิตขึ้นมาจนถึงจักระที่ 5 และไปยังจุดพินธุ จากนั้นจดจ่อจิตอยู่ที่จุดพินธุแล้วหายใจออกแบบอุชชายี พร้อมกับชักนำจิตลงสู่ช่องลมปราณด้านหลังของลำตัวไปยังจักระที่ 1 โดยจะต้องตระหนักถึงแต่ละจักระที่ผ่านลงไปด้วย
จากนั้นให้ผู้ฝึกทำชาลันธรพันธะ (ล็อกคาง) พร้อมกับกักลมหายใจเอาไว้ แล้วให้เริ่มทำมูลพันธะ (ขมิบรูทวารหนัก) อุททียานพันธะ (แขม่วท้อง) และการเพ่งปลายจมูกไปพร้อมๆ กันด้วย โดยที่ผู้ฝึก ต้องหัดย้ายฐานของจิตจากปลายจมูกไปที่บริเวณท้อง (อุททียานพันธะ) และที่บริเวณรอยฝีเย็บ (มูลพันธะ) ตามไปด้วย คล้ายกับการฝึก “มหามุทรา” (กิริยาท่าที่ 6) แต่ต่างกันที่ตำแหน่งของฐานที่จิตไปตั้งอยู่เท่านั้น
ผู้ฝึกควรหัดย้ายฐานของจิตในระหว่างการกักลมหายใจให้ได้อย่างน้อยสามเที่ยว ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงสิบสองเที่ยว เมื่อความสามารถในการกักลมหายใจของผู้ฝึกทำได้นานขึ้น จากนั้นค่อยๆ คลายการเพ่งปลายจมูก คลายมูลพันธะ คลายอุททียานพันธะ และคลายชาลันธรพันธะตามลำดับ แต่ศีรษะยังคงก้มอยู่ คราวนี้ให้ส่งจิตไปที่จักระที่ 1 อีก เพื่อขึ้นรอบใหม่ด้วยการหายใจเข้าแบบอุชชายี ชักนำจิตขึ้นไปตามช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว จงฝึกอย่างนี้ 12 รอบ หรือฝึกจนกว่าจะออกจากสมาธิ อนึ่ง เคล็ดการฝึกกิริยาท่านี้หรือ “มหาเภธะมุทรา” ก็อยู่ที่การฝึกย้ายฐานของจิต ในช่วงที่กำลังกักลมหายใจอยู่ ผ่านการเพ่งปลายจมูก อุททียานพันธะ และมูลพันธะไปพร้อมๆ กันนั่นเอง การฝึกกิริยาท่าที่ 7 มักฝึกหลังจากที่ผู้ฝึกได้ฝึก กิริยาท่าที่ 6 จนชำนาญแล้ว
กิริยาท่าที่ 8 “มาณทุกีกริยา” (ฝึกแบบกบ)
นั่งขัดสมาธิ ลืมตา วางสองมือบนเข่า และทำการเพ่งปลายจมูก จากนั้นให้มีสติตามรู้ลมหายใจที่ไหลผ่านเข้ารูจมูกทั้งสองข้าง ในระหว่างที่หายใจเข้า ให้ตามรู้ลมหายใจที่ไหลผ่านรูจมูกทั้งสองข้างนี้ซึ่งไปบรรจบกันที่หว่างคิ้ว หรือจักระที่ 6 ครั้นพอหายใจออก ก็ให้ตามรู้ลมหายใจออกที่ไหลจากจักระที่ 6 แยกออกเป็นสองสาย ผ่านรูจมูกทั้งสองข้างออกไป ลักษณะของลมหายใจที่ไหลออกจะเหมือนกับรูป “วี” คว่ำ ขอให้รู้สึกให้ได้ พร้อมกันนั้น ก็ให้ตื่นตัวในการสัมผัสกลิ่นต่างๆ ในระหว่างที่กำลังอยู่ในสมาธิด้วย
ในระหว่างฝึก หากรู้สึกเมื่อยตาก็สามารถหลับตาได้เป็นพักๆ ก่อนที่จะเปิดตาและเพ่งปลายจมูกต่อ ให้ฝึกกิริยาท่านี้ จนกระทั่งจิตของผู้ฝึกกำลังจะเข้าสู่ภวังค์ แล้วให้หยุดฝึกเพราะไม่ควรฝึกต่อ จนกระทั่งจิตตกภวังค์ลืมตนจนไม่ออกจากสภาวะนั้น
กิริยาท่าที่ 9 “ทาดัน กิริยา” (ท่ากระแทกกุณฑาลินี)
นั่งขัดสมาธิในท่าปัทมะอาสนะ โดยยังลืมตาอยู่ วางสองมือแตะกับพื้นข้างลำตัวใกล้กับสะโพก ปลายนิ้วชี้ไปข้างหน้า เงยศีรษะไปข้างหลังเล็กน้อย เพ่งจิตไปที่หว่างคิ้ว (ศัมภาวีมุทรา) จากนั้นจงอ้าปาก หายใจเข้าแบบอุชชายี โดยให้ลมเข้าทางปาก ขณะที่หายใจเข้า ขอให้ผู้ฝึกรู้สึกด้วยว่า ลมหายใจได้เคลื่อนลงจากปากผ่านท่อลมปราณจนกระทั่งลงมาถึงจักระที่ 1 เมื่อลมหายใจลงมาสะสมที่จักระที่ 1 แล้ว ให้กักลมหายใจไว้พร้อมกับกำหนดจิตอยู่ที่จักระที่ 1 โดยทำ มูลพันธะ (ขมิบบริเวณรอบๆ รูทวารหนัก) ด้วย
จากนั้นให้ใช้สองมือยกตัวขึ้นจากพื้น แล้วปล่อยตัวลงให้กระแทกกับพื้นเบาๆ เพื่อกระตุ้นจักระที่ 1 ให้ฝึกอย่างนี้สามครั้ง ที่สำคัญจะต้องไม่ทำเร็วเกินไปและแรงเกินไป หลังจากทำครบสามครั้งแล้ว ให้หายใจออกอย่างผ่อนคลายผ่านทางจมูกแบบอุชชายี ลมปราณจะดูเหมือนกระจายออกทุกทิศทางจากจักระที่ 1 ข้างต้นคือหนึ่งรอบ ให้ฝึกอย่างนี้ 7 รอบด้วยกัน ส่วนจำนวนครั้งที่ปล่อยลำตัวลงกระทบพื้นนั้น ค่อยๆ เพิ่มจาก 3 ครั้ง จนมากสุดถึง 11 ครั้งเท่าที่ผู้ฝึกจะสามารถกักลมหายใจเข้าได้นานขนาดนั้นได้
(ยังมีต่อ)
กิริยาท่าที่ 10 “เนามุคลี มุทรา” (ท่าปิดทวารทั้ง 9)
กิริยาท่านี้เป็นท่ายาก จึงควรเตรียมการฝึกทีละขั้นๆ ก่อนจะเข้ามาฝึกกิริยาท่านี้ โดยเริ่มจาก
(1) ฝึกปิดทวารหู นั่งขัดสมาธิ ตัวตรง หลังตรง ผ่อนคลาย ปิดตาแล้วใช้นิ้วชี้ แต่ละข้างอุดหูแต่ละข้างเอาไว้แล้วทำสมาธิ ขณะทำสมาธิต้องปิดปากสนิท ให้ฟันห่างกันเล็กน้อย (ไม่ขบฟัน) ค่อยๆ สูดลมหายใจเข้าไปลึกๆ ช้าๆ ขณะที่หายใจออก ให้จิตจดจ่อตาม “เสียง” ที่เกิดขึ้นภายในศีรษะขณะที่กำลังเจริญภาวนาอยู่ โดยพยายามให้จิต “ตามรู้” เสียงที่เป็นคลื่นความถี่ต่ำนี้ ทั้งลมหายใจออก และลมหายใจเข้าไปเรื่อยๆ อย่างผ่อนคลาย อย่างสบายๆ ไม่เครียดเกร็ง จนกว่าจะออกจากสมาธิ การฝึกปิดทวารหูนี้เป็นการฝึกที่สำคัญมาก ผู้ฝึกต้องฝึกหัดให้ชำนาญก่อนที่จะก้าวไปสู่การปิดทวารอื่นๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ
(2) ฝึกปิดทวารทั้ง 7 หลังจากที่ ผู้ฝึกได้ฝึกปิดทวารหู จนชำนาญแล้ว ขั้นต่อไป ผู้ฝึกควรเริ่มฝึก ปิดทวารทั้ง 7 เป็นลำดับ ต่อมาการฝึกปิดทวารทั้ง 7 หมายถึง สองตา สองหู สองรูจมูก และปากจะต้องปิดตลอดการฝึก โดยผ่านการปิดทวารทั้ง 7 ที่เป็นช่องทางรับรู้โลกภายนอก จิตของผู้ฝึกจะถูกดึงให้มาตระหนักรู้ และจดจ่ออยู่กับโลกภายในในขณะฝึกโดยปริยาย อย่างไรก็ดี การฝึกปิดทวารทั้ง 7 นี้ จะยากกว่าการฝึกปิดทวารหูตรงที่ผู้ฝึกจะต้องกักลมหายใจในระหว่างการฝึกด้วย เพราะฉะนั้นคนที่จะฝึกการปิดทวารทั้ง 7 นี้ได้ จะต้องมีความพร้อมจริงๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
การฝึกปิดทวารทั้ง 7 นี้ เริ่มจากนั่งขัดสมาธิในท่าสิทธะอาสนะผ่อนคลายร่างกาย และจิตใจอย่างสิ้นเชิง ตัวตรง หลังตรง ยกสองมือขึ้นมาอยู่ตรงหน้า โดยศอกทั้งสองข้างชี้ออกไปด้านข้างลำตัว จากนั้น จงปิดหูด้วยหัวแม่มือ ปิดตาด้วยนิ้วชี้ ปิดรูจมูกด้วยนิ้วกลาง ปิดริมฝีปากบนด้วยนิ้วนาง และปิดริมฝีปากล่างด้วยนิ้วก้อย นิ้วมือควรปิดทวารแต่ละทวารเบาๆ แต่ปิดให้แน่นทั้งทวารทั้ง 7 ตลอดการฝึก นิ้วกลางควรคลายรูจมูกออกในช่วงกำลังหายใจเข้า และกำลังหายใจออก โดยที่พอหายใจเข้าจนสุดให้ใช้นิ้วกลางปิดจมูกเอาไว้แล้วทำการกลั้นหายใจ จากนั้นให้จิตจดจ่อไปที่ “เสียงภายใน” ที่เปล่งออกมาจากจุดพินธุบริเวณยอดศีรษะส่วนหลัง และจากตรงกลางกระหม่อม โดยพยายามกักลมหายใจให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วจึงคลายนิ้วกลางออกจากการปิดรูจมูกพร้อมกับระบายลมหายใจออก นี่คือหนึ่งรอบ พอจะขึ้นรอบใหม่ก็ให้สูดลมหายใจเข้า ใช้นิ้วกลางปิดรูจมูก แล้วกักลมหายใจอีก นำจิตไปจดจ่อที่ “เสียงภายใน” อีก ให้ผู้ฝึกหัดเช่นนี้จนกระทั่งสามารถจับ “เสียงภายใน” ที่ชัดเจนจำเพาะเสียงหนึ่งนั้นได้ เมื่อจับเสียงภายในเสียงนั้นได้แล้ว ก็ให้ทุ่มเทความใส่ใจของตนทั้งหมดไปที่เสียงภายในเสียงนั้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะออกจากสมาธิ
(3) ฝึกปิดทวารทั้ง 9 นั่งในท่าสิทธะอาสนะหรือปัทมะอาสนะปิดตา ทำเขจรีมุทรา และก้มศีรษะไปข้างหน้าเล็กน้อย พร้อมกับเพ่งจิตไปที่จักระที่ 1 อยู่สักพัก จากนั้นจงหายใจเข้าแบบอุชชายี ดึงลมปราณจากจักระที่ 1 ขึ้นไปตามช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว ยกศีรษะขึ้นเมื่อลมปราณและจิตที่ชักนำปราณผ่านจักระที่ 5 ไปยังจุดพินธุ เมื่อจิตของผู้ฝึกไปถึงจุดพินธุแล้ว ให้ทำการปิดทวารทั้ง 7 โดยปิดหูด้วยหัวแม่มือ ปิดตาด้วยนิ้วชี้ ปิดรูจมูกด้วยนิ้วกลาง ปิดริมฝีปากบนด้วยนิ้วนาง และปิดริมฝีปากล่างด้วยนิ้วก้อย
จากนั้นให้ทำมูลพันธะ (ขมิบรอบรูทวารหนัก) กับวัชโรลิมุทราควบคู่กันไปด้วย มูลพันธะคือการปิดทวารที่รูทวารหนัก ส่วนวัชโรลิมุทราคือการปิดทวารที่ท่อปัสสาวะ รวมแล้วจึงเป็นการปิดทวารทั้ง 9 พร้อมกัน ขณะที่ผู้ฝึกทำการฝึกปิดทวารทั้ง 9 นี้ ต้องให้จิตจดจ่อไปที่ช่องลมปราณด้านหลังของลำตัวกับจุดพินธุเสมอ โดยผู้ฝึกจะต้องจินตนาการว่ามีตรีศูล (อาวุธที่เป็นสามง่ามของพระศิวะ) ซึ่งปลายด้ามอยู่ที่จักระที่ 1 ตัวด้ามตั้งตรงขนานขึ้นไปกับกระดูกสันหลัง และส่วนที่เป็นสามง่าม ตั้งอยู่ตั้งแต่จักระที่ 5 ขึ้นไป โดยที่ปลายคมของสามง่ามอันตรงกลาง ค่อยๆ แทงจุดพินธุเข้าไปให้ผู้ฝึกจินตนาการว่า ปลายสามง่ามอันตรงกลางนี้ ค่อยๆ แทงจุดพินธุจนทะลุในขณะที่ผู้ฝึกกำลังกลั้นลมหายใจและจิตจดจ่ออยู่ที่จุดพินธุ แล้วจึงคลายมูลพันธะกับวัชโรลิมุทราออก พร้อมกับเปิดทวารทั้ง 7 ข้างบน เอามือลงขณะที่ค่อยๆ ระบายลมหายใจออกแบบอุชชายี ดึงลมปราณจากจุดพินธุผ่านช่องลมปราณด้านหลังของลำตัวกลับลงมาที่จักระที่ 1 ข้างต้นนี้คือ หนึ่งรอบให้ฝึกเช่นนี้ 5 รอบ หรือจนกว่าจะออกจากสมาธิ
*เคล็ดการฝึก “กิริยา” ในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)*
กิริยาท่าที่ 11 “ศักติ จาลนิ” (ปิดทวาร ชักนำปราณ)
กิริยาท่านี้ ควรฝึกในท่าสิทธะอาสนะ หรือปัทมะอาสนะ ให้ปิดตาตลอดการฝึก และห่อลิ้นทำ เขจรีมุทรา จากนั้นหายใจออกให้ผมส่งกระแสจิตจดจ่อไปที่จักระที่ 1 (จักระมูลธาร) ก้มหน้าเล็กน้อยพร้อมกับดึงลมปราณจากจักระที่ 1 ขึ้นไปทางช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว พร้อมๆ กับการหายใจเข้าแบบอุชชายี เมื่อชักนำปราณไปถึงจุดพินธุ ค่อยๆ ยกศีรษะตามขึ้นไปด้วย โดยให้ศีรษะตั้งตรงตอนที่ชักนำปราณไปถึงจุดพินธุพอดี จากนั้นให้กักลมหายใจพร้อมกับปิดทวารทั้ง 7 คือ สองหู สองตา สองรูจมูก และหนึ่งริมฝีปากด้วยนิ้วทั้งห้าทั้งสองข้าง ในระหว่างนั้น ให้ขับเคลื่อนปราณให้ไหลเวียนเป็นวงโคจร โดยไหลลงจากช่องปราณด้านหลังของลำตัวไปถึงจักระที่ 1 และไหลขึ้นจากจักระที่ 1 ขึ้นไปตามช่องปราณด้านหน้าของลำตัวไปยังจุดพินธุ จากจุดพินธุไหลลงไปยังจักระที่ 6 แล้วไหลลงผ่านช่องปราณด้านหลังของลำตัว ไหลวนเวียนอยู่เช่นนี้ไม่ขาดสาย ในระหว่างที่กักลมหายใจอยู่จนกระทั่งไม่อาจกักลมหายใจได้อีกต่อไป จึงค่อยคลายนิ้วทั้งหมดออกจากการปิดทวารทั้ง 7 วางฝ่ามือลงที่หัวเข่า กำหนดจิตไปที่จุดพินธุพร้อมกับค่อยๆ ระบายลมหายใจออกแบบอุชชายี แล้วชักนำจิตลงไปที่จักระที่ 1 อีกครั้ง เพื่อเตรียมฝึกรอบต่อไป ทั้งนี้ควรฝึกกิริยานี้ให้ได้ 5 รอบขึ้นไป หรือ 5 ลมหายใจต่อเนื่องกันไป
กิริยาท่าที่ 12 “ศามภวี” (ท่าบัวบาน)
กิริยาท่านี้ ควรฝึกในท่าสิทธะอาสนะหรือปัทมะอาสนะ ปิดตาและห่อลิ้นทำเขจรีมุทรา ให้จินตนาการว่ามีดอกบัวที่ยังหุบอยู่ตั้งอยู่บนจักระที่ 7 กลางกระหม่อม โดยที่ก้านของดอกบัวนี้ทอดยาวลงมาตามช่องปราณด้านหลังของลำตัว โดยรากของดอกบัวอยู่ที่จักระที่ 1 จากนั้นให้หายใจเข้าแบบอุชชายี พร้อมทั้งชักนำจิตไต่ขึ้นจากจักระที่ 1 ขึ้นไปตามช่องปราณด้านหลังของลำตัว จนมาสุดที่จักระที่ 7 (สหัสธาร) พอมาถึงจักระที่ 7 แล้วให้กักลมอยู่ ณ ตำแหน่งดอกบัวหุบดอกนั้น พร้อมกับจินตนาการว่า ดอกบัวดอกนี้ค่อยๆ บานออกมาอย่างช้าๆ โดยที่ตัวเองก็ค่อยๆ ระบายลมหายใจออกแบบอุชชายีออกมาอย่างช้าๆ พร้อมกันด้วย ชักนำจิตกลับไปที่จักระที่ 1 อีกครั้ง โดยจินตนาการว่าดอกบัวบนจักระที่ 7 กลับมาหุบอีกตามเดิม เพื่อเตรียมที่จะฝึกท่าบัวบานนี้อีก ให้ฝึกอย่างนี้ 11 ครั้งก่อนที่จะออกจากสมาธิ
กิริยาท่าที่ 13 “อมฤตพาน” (ท่ากระตุ้นน้ำอมฤตในกาย)
กิริยาท่านี้ควรฝึกในท่าสิทธะอาสนะหรือปัทมะอาสนะ หลับตาและห่อลิ้นทำเขจรีมุทรา กำหนดจิตไปที่จักระที่ 3 (มณีปุระ) ตรงสะดือ จากนั้นค่อยๆ หายใจเข้าแบบอุชชายี ดึงปราณจากจักระที่ 3 ผ่านช่องปราณด้านหลังของลำตัวขึ้นไปที่จักระที่ 5 กักลมหายใจ ขณะที่ค่อยๆ เคลื่อนปราณจากจักระที่ 5 ไปที่จักระลลนาที่ช่องเพดานปากบน จากนั้นค่อยๆ ระบายลมหายใจออกแบบอุชชายี พอระบายลมหายใจออกหมด ให้กำหนดจิตไปที่จักระที่ 3 อีกเพื่อเริ่มทำกิริยาท่านี้ใหม่ ให้ทำทั้งหมด 9 ครั้ง
กิริยาท่าที่ 14 “จักระเภทาน” (ทะลวงจักระ)
กิริยาท่านี้ควรฝึกในท่าสิทธะอาสนะหรือปัทมะอาสนะปิดตา ห่อลิ้นทำเขจรีมุทรา และหายใจแบบอุชชายีทั้งเข้าและออก เริ่มจากหายใจออก ส่งจิตไปที่จักระที่ 2 ตรงช่องปราณด้านหลังของลำตัว ซึ่งตรงกับบริเวณก้นกบ จากนั้นหายใจเข้าชักนำจิตไปที่จักระที่ 1 บริเวณรอยฝีเย็บ ก่อนที่จะชักนำจิตผ่านช่องปราณด้านหน้าของลำตัวขึ้นไป ผ่านจักระต่างๆ ก่อนไปสิ้นสุดที่จักระที่ 5 แล้วค่อยระบายลมหายใจออก พร้อมๆ กับส่งจิตไปที่จุดพินธุ แล้วส่งไปยังจักระที่ 6 ก่อนที่จะส่งจิตลงตามช่องปราณด้านหลังของลำตัว ผ่านจักระต่างๆ จนกระทั่งกลับมายังจักระที่ 2 ที่บริเวณก้นกบอีกครั้ง ถือเป็น 1 รอบให้ฝึกอย่างนี้ 59 รอบหรือจนกว่าจะออกจากสมาธิ
กิริยาท่าที่ 15 “ปราณ อหุติ” (รับพลังศักดิ์สิทธิ์)
กิริยาท่านี้ ควรฝึกในท่าสิทธะอาสนะหรือปัทมะอาสนะปิดตา หายใจตามปกติ จงรู้สึกสัมผัสอันอ่อนโยนราวกับว่ามีมือศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตัวเองเคารพบูชา วางอยู่บนศีรษะของตัวเอง และมือศักดิ์สิทธิ์นี้กำลังถ่ายพลังปราณเข้าสู่ร่างกายและจิตใจของเราผ่านจักระที่ 7 จักระที่ 6 จักระที่ 5 ไปตามช่องปราณด้านหลังของลำตัว ผ่านจักระที่ 4 จักระที่ 3 จักระที่ 2 จนมาถึงจักระที่ 1 หรือจักระมูลธาร เมื่อปราณไหลมาถึงจักระที่ 1 แล้วให้ผู้ฝึกหันไปฝึกกิริยาท่าอื่นทันที โดยไม่ต้องฝึกกิริยาท่านี้ซ้ำ
กิริยาท่าที่ 16 “อุทธาน” (ดูพลังกุณฑาลินี)
กิริยาท่านี้ ควรฝึกในท่าสิทธะอาสนะ หรือปัทมะอาสนะปิดตา หายใจตามปกติ ส่งจิตไปที่จักระที่ 1 จินตนาการว่าพลังกุณฑาลินีที่จักระที่ 1 พยายามเคลื่อนตัวขึ้นสู่ข้างบน ให้เฝ้าดูว่าพลังกุณฑาลินีนี้ขึ้นมาได้ถึงจักระใด โดยแค่เฝ้าดูเฉยๆ ไม่ต้องไปบีบเค้นมัน ให้ฝึกแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าพลังกุณฑาลินีจะขึ้นไปถึงจักระที่ 7 ได้เอง
กิริยาท่าที่ 17 “สวารูปาดารชัน” (ดูตัวเอง)
กิริยาท่านี้ ควรฝึกในท่าสิทธะอาสนะหรือปัทมะอาสนะปิดตา ตระหนักรู้ใน กายเนื้อ กายนี้ของตนเอง ร่างกายต้องไม่ขยับเขยื้อนให้แน่นิ่งอยู่เช่นนั้นราวกับตัวเองเป็นหินผา พอตระหนักรู้และ “ดู” กายของตน ที่แน่นิ่งได้แล้ว ต่อไปให้หันมาตระหนักรู้ในลมหายใจตาม ดู “ลม” หายใจเข้าออกของตนแทน โดยที่กายของตนจะต้องแน่นิ่งดุจหินผาไม่เปลี่ยนแปลง ให้ฝึกจนกระทั่งร่างกายของตัวเองแน่นิ่ง จนตัวเองก็ยากที่จะขยับมันได้แล้ว ให้หันไปฝึกกิริยาท่าต่อไปทันที
กิริยาท่าที่ 18 “ลึงค ศัลจาลนะ” (ฝึกกายทิพย์)
ให้อยู่ในท่าที่ร่างกายแข็งทื่อต่อจากกิริยาท่าที่แล้ว โดยยังหลับตาอยู่ ในตอนนี้ผู้ฝึกจะหายใจเข้าออกแบบอุชชายีเอง และก็ห่อลิ้นเองแบบเขจรีมุทราด้วย ความใส่ใจจดจ่อของผู้ฝึกจะอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกอย่างเดียวเท่านั้น ในตอนหายใจเข้า ผู้ฝึกจะรู้สึกว่ากายของตนกำลังขยายออกไป และในตอนหายใจออกผู้ฝึกจะรู้สึกว่ากายของตนกำลังหดตัวลง ความรู้สึกที่ว่านี้ เกิดจาก “กายทิพย์” ของผู้ฝึก ขยายขึ้นตอนหายใจเข้าและหดตัวลงตอนหายใจออกนั่นเอง ให้ฝึกจนกระทั่งตอนหายใจเข้า “กายทิพย์” ของตนขยายแผ่กว้างออกไปไม่มีประมาณ และตอนหายใจออก “กายทิพย์” ของตนหดเล็กลงเหลือแค่เป็นจุดแห่งแสงเท่านั้น ถ้าฝึกได้ถึงขั้นนี้แล้วถึงจะฝึกกิริยาท่าต่อไปได้
กิริยาท่าที่ 19 “ธารณะ” (ฝึกฌาน)
การฝึกธารณะ ซึ่งเป็นขั้นตอนต่อจากปรัตยาหาระ จะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ฝึกสามารถตระหนักถึง “กายทิพย์” ของตนว่าเป็นจุดแห่งแสงตามกิริยาท่าที่ 18 ได้แล้วเท่านั้น จากนั้นผู้ฝึกก็แค่จดจ่ออยู่ที่จุดแห่งแสงนี้ (ตรงบริเวณหว่างคิ้ว หรือจักระที่ 6) ต่อไป จนกระทั่งเข้าสู่สภาวะของฌานสมาบัติได้ในที่สุด
*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ*
เมื่อผู้ฝึกได้ผ่านขั้นตอนการฝึกอาสนะ ปราณายามะ พันธะ มุทรา และกิริยาตาม ระบบการฝึกของกุณฑาลินีโยคะ ที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดได้แล้ว ผู้ฝึกจะอยู่บนเส้นทางสองแพร่งที่ต้องเลือกว่าจะเดินต่อไปบนเส้นทางใด กล่าวคือ ถ้าจริตของผู้ฝึกมีความโน้มเอียงไปในแนวทางแบบเจโตวุมุติอยู่แล้ว ผู้ฝึกก็ควรมุ่งหน้าเจริญฌานสมาบัติเพื่อชำระ กายทิพย์ทุกๆ ชั้นต่อไป จนกระทั่งถึงกายทิพย์ชั้นสุดท้ายตามแนวทางที่ปตัญชลีได้เขียนไว้ในคัมภีร์โยคสูตร แต่แนวทางนี้เป็นแนวทางที่ฝึกให้สำเร็จยากมาก ถ้าไม่มีบุญบารมีเก่ามาหนุนเสริม แนวทางแบบเจโตวิมุติจึงเป็นหนทางที่เล็กแคบราวกับต้องรอดรูเข็ม ด้วยเหตุนี้ คนทั่วไปจึงควรหันมาเลือก แนวทางแบบปัญญาวิมุติ น่าจะเหมาะกว่า เพราะแนวทางแบบปัญญาวิมุติเป็นเส้นทางที่กว้างขวางราวกับเดินอยู่บนทางเอกที่เป็นถนนสายใหญ่
ด้วยเหตุนี้ เมื่อผู้ฝึกได้ฝึกฝนกุณฑาลินีโยคะ จนมาถึงขั้น “กิริยา” ซึ่งเป็นขั้นตอนของการ “บำเพ็ญบารมี” และเป็นขั้นตอนของการชำระกายทิพย์แต่ละชั้นไปเรื่อยๆ อันเป็นขั้นตอนและกระบวนการที่ควรฝึกไปตลอดชีวิตในฐานะที่เป็นการฝึกตามรูปแบบ ได้แล้ว ต่อไปผู้ฝึกก็ควรหันมาเริ่มฝึก ตันตระ ซึ่งเป็น การฝึกเจริญสติแบบไร้รูปแบบ ไม่เป็นทางการ และเป็นการฝึกในกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยที่ผู้ฝึกไม่ต้องหาเวลาไปแยกฝึกต่างหากอย่างมีรูปแบบอย่างเป็นทางการเหมือนอย่าง “กิริยา” ควบคู่กันไปด้วย (ผู้ฝึกไม่ควรฝึกตันตระอย่างเดียว โดยละทิ้งการฝึก “กิริยา” แต่ควรฝึกควบคู่กันไปจนตลอดชีวิต)
ตันตระคือวิธีการฝึกสติและการภาวนา 112 วิธีที่เก่าแก่โบราณที่สุดที่ถ่ายทอดโดยพระศิว ซึ่งครอบคลุมความเป็นไปได้ทุกชนิดในการกำราบใจ และขจัดความระแวงสงสัยให้หมดสิ้นไป หลักของตันตระนั้นอยู่ที่การใช้พลังงานทางเพศ โดยไม่คิดจะไปต่อสู้หรือกดข่มมัน เพียงแต่เปลี่ยนแปลงมันให้เป็นมิตร เพราะตันตระถือว่า พลังงานทางเพศก็คือพลังชีวิตของคนเรานั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ตันตระจึงไม่เห็นว่ากิเลสหรือตัณหาของคนเราเป็นศัตรู เพียงแต่ตันตระสอนให้เรามีสติกับความเข้าใจในกิเลสตัณหาของตัวเราเอง โดยไม่คิดต่อสู้กดข่มมัน แต่ให้ใช้สติกับความตระหนักรู้ของเราเข้าไปในกระแสกิเลสตัณหานี้ แล้วค่อยข้ามพ้นมันไปเสีย
ตันตระมองว่า ไม่มีความเป็นปฏิปักษ์ระหว่าง “ตัวเราที่เป็นอยู่” กับ “ตัวเราที่ควรจะเป็น” และไม่เห็นว่ามีช่องว่างระหว่าง “โลกนี้” กับ “โลกหน้า” ตันตระจึงแนะให้เรายอมรับตัวเราที่เป็นอยู่ และข้ามพ้นมันไปเสียโดยใช้ร่างกายอันนี้ของเรานี่แหละ เอกลักษณ์แห่งวิธีของตันตระ เห็นได้ชัดจากเรื่องการจัดการความโกรธ กล่าวคือ เมื่อคนเรารู้สึกโกรธ ตันตระจะไม่แนะว่า “จงอย่าโกรธ” หรือ “จงต่อสู้กับความโกรธ” แต่ตันตระจะแนะให้ “จงโกรธจริงๆ เมื่อรู้สึกโกรธ แต่ก็จงรักษาสติในขณะที่โกรธด้วย”
จะเห็นได้ว่า ตันตระไม่ได้ปฏิเสธความโกรธ แต่ตันตระปฏิเสธความไร้สติ ความไร้จิตสำนึก และความเฉื่อยชาทางจิตใจต่างหาก เพราะตันตระเห็นว่า ถ้าคนเรามีสติตื่นรู้อยู่แล้ว ตัวความโกรธจะถูกแปรสภาพไปเองกลายเป็นความเมตตากรุณาได้ นี่แหละคือ เคล็ดลับของตันตระ เพราะเมื่อตันตระบอกว่า “ความโกรธไม่ใช่ศัตรูของเรา” เมื่อนั้น ตันตระหมายความว่า ความโกรธเป็นเมล็ดพันธุ์ของความเมตตากรุณาได้ เพราะพลังงานที่ใช้ไปในความโกรธนั้น ที่แท้ก็เป็นพลังงานอันเดียวกับที่ใช้ไปเพื่อความรัก ความเมตตากรุณานั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น