วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

วิธีฝึกสมาธิชนิดตั้งมั่น

วิธีฝึกสมาธิชนิดตั้งมั่น (๑/๓)

หลวงพ่อปราโมทย์ : สมาธิชนิดที่ตั้งมั่น มีวิธีฝึก ๒ วิธี เนี่ยไม่มีใครสอนละเอียดเท่าหลวงพ่อหรอกนะ ส่วนมากท่านก็สอนให้พุทโธเอา จบแล้วไม่พูดอะไรแล้ว สอนตั้งหลายปีก็สอนสั้นๆแค่นี้เอง ต้องตั้งใจทำเอามากเลย หลวงพ่อสอนละเอียดยิบเลยนะ สอนให้แทบจะครบทุกแง่ทุกมุมเลย

วิธีที่จะฝึกให้ได้ลักขณูปนิชฌาน หรือสมาธิชนิดมีจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูเนี่ย มี ๒ วิธี วิธีที่ ๑ ทำฌาน พวกเราถ้าทำฌานไม่ได้ วิธีนี้ก็ใช้ไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีที่สอง (ดู วิธีฝึกสมาธิชนิดตั้งมั่น (๓/๓))

วิธีทำฌาน อันนี้จะยาวไปนิดนึงนะ ก็คือ ต้องถึงฌานที่ ๒ ละวิตกละวิจารณ์ก่อน มีวิตกคือการตรึกอยู่ในอารมณ์ มีวิจารณ์คือจิตส่งออกไปเคล้าเคลียอยู่ในอารมณ์ อารมณ์นั้นเป็นปฏิภาคนิมิตร เป็นแสงสว่าง เวลาที่จิตเข้าไปจับที่แสงอยู่นี่นะ ยังไม่มีตัวรู้นะ ถ้ารู้ทันว่าจิตมันเคลื่อนไปอยู่กับปฏิภาคนิมิตร รู้ทันว่าจิตได้ไปตรึกอยู่กับปฏิภาคนิมิตร รู้ทันว่าจิตไปเคล้าเคลียหรือไปตรองในปฏิภาคนิมิตร อาการที่จิตส่งออกไปอยู่กับปฏิภาคนิมิตรจะขาดสะบั้นลง จิตจะทวนกระแสกลับมาตั้งมั่นอยู่ที่จิต

เพราะฉะนั้นในพระไตรปิฎกจะพูดถึงสภาวะชนิดหนึ่ง ชื่อ เอโกทิภาวะ เอโกทิภาวะเกิดขึ้นในฌานที่สอง เอโกทิภาวะก็คือความตั้งมั่นของจิตนั่นเอง

วิธีฝึกสมาธิชนิดตั้งมั่น (๒/๓)

หลวงพ่อปราโมทย์ : ในพระไตรปิฎกจะพูดถึงสภาวะชนิดหนึ่งเรียกชื่อว่า “เอโกทิภาวะ” เอโกทิภาวะเนี่ยเกิดขึ้นในฌานที่ ๒ เอโกทิภาวะก็คือความตั้งมั่นของจิตนั่นเอง จิตละวิตกวิจารณ์ ละการตรึกการตรองในอารมณ์นั้น ก็ทวนกระแสเข้ามาตั้งมั่นอยู่ที่จิตได้ ถ้าเราได้สมาธิชนิดตั้งมั่นด้วยการเข้าฌานมานะ สมาธิชนิดนี้จะทรงกำลังอยู่ได้นาน แต่ก็ไม่เกิน ๗ วันนะ ก็เสื่อม เวลาที่มันตั้งมั่นเด่นดวงอยู่นี่ มันจะเห็นรูปธรรมและนามธรรมนี้ทำงานอยู่ได้ทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่นด้วยซ้ำไป ใจมันจะตั้งมั่นเด่นดวง

แต่ถ้าเราทำฌานไม่ได้เนี่ย เราก็ไม่สิ้นหวังเสียทีเดียว คนส่วนใหญ่ แม้กระทั่งในสมัยพุทธกาล ก็ทำฌานไม่ได้

วิธีฝึกสมาธิชนิดตั้งมั่น (๓/๓)

หลวงพ่อปราโมทย์ : พระอรหันต์ส่วนใหญ่ในสมัยพุทธกาลนะ ก่อนที่จะบรรลุพระอรหันต์ ก่อนที่จะบรรลุพระโสดาฯอะไรอย่างนี้ ก็ทำฌานไม่ได้เหมือนพวกเรานี้เอง ยกตัวอย่างเมื่อวานนี้ที่หลวงพ่อเล่าให้ฟัง พวกที่ไม่ได้มา เล่าย่อๆนิดนึง

พระพุทธเจ้าท่านอยู่กับพระ หมู่สงฆ์จำนวนมากนะ แล้วท่านก็อธิบายให้สงฆ์ฟัง บอกว่าในบรรดาพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์เนี่ย เป็นพระอรหันต์ที่ได้วิชา ๓ เนี่ย ๖๐ องค์ อภิญญา ๖ อีก ๖๐ องค์ ได้อุภโตภาควิมุตติ ๖๐ องค์ พระอรหันต์ ๓ จำพวกนี้ต้องทรงฌาน รวมแล้ว ๑๘๐ องค์ อีก ๓๒๐ องค์ คือคนอย่างพวกเรานี่เอง

เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเราเข้าฌานไม่ได้เราจะสิ้นหวังเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ ไม่ใช่เลยนะ เราก็ต้องรู้จักวิธีปฏิบัติที่พอเหมาะพอควรกับสิ่งที่เราเป็นสิ่งที่เรามีอยู่ เรามีความฟุ้งซ่านมาก เราไม่ได้มีสมาธิมาก เข้าฌานไม่เป็น เราก็มาฝึกให้ได้สมาธิชนิดตั้งมั่น แต่มันจะตั้งอยู่ชั่วขณะเท่านั้นเอง ไม่ตั้งนาน ไม่ใช่อัปนาสมาธิ แต่จะตั้งเป็นขณะๆเรียกว่า ขณิกสมาธิ จิตตั้งเป็นขณะๆนะ

ขณิกสมาธิ วิธีฝึกนะ พวกเรา เบื้องต้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำเพื่อจะเข้าฌาน ทำเพื่อเป็นเครื่องอยู่ของจิตเท่านั้นเอง หัดพุทโธไปก็ได้ หัดรู้ลมหายใจไปก็ได้ หัดดูท้องพองยุบไปก็ได้ ทำกรรมฐานอะไรก็ได้ แต่ไม่ได้ทำเพื่อน้อมจิตไปอยู่กับอารมณ์อันนั้น ถ้าน้อมจิตไปอยู่ที่อารมณ์อันนั้นจะเป็นสมาธิชนิดที่ ๑ (ดู วิธีฝึกสมาธิชนิดตั้งมั่น (๑/๓)) คือสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว เรียกว่า อารัมณูปนิชฌาน ถ้าทำกรรมฐานขึ้นอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิต จิตไหลไปคิดก็รู้ทัน จิตไหลไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานอันนั้นก็รู้ทัน จิตมันเคลื่อนตลอดนะ เคลื่อนไปคิดก็ได้ เคลื่อนไปเพ่งก็ได้ ถ้าเรารู้ทันจิตที่เคลื่อน จิตจะเลิกเคลื่อน เพราะจิตที่เคลื่อนเป็นจิตฟุ้งซ่าน ทันที่สติรู้ทันจิตที่ฟุ้งซ่าน จิตจะไม่ฟุ้งซ่าน จิตก็จะตั้งมั่นอยู่กับฐาน

เพราะฉะนั้นๆเราหัดพุทโธๆนะ จิตหนีไปคิดเรารู้ทัน จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา เราหัดรู้ลมหายใจนะ จิตหนีไปคิดก็รู้ทัน จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา รู้ลมหายใจอยู่ จิตไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ รู้ว่าจิตไหลไปอยู่ที่ลมหายใจแล้ว จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา ถ้ารู้ทันว่าจิตไหลไปนะ จิตจะตั้งมั่น

เพราะฉะนั้นเบื้องต้นจะต้องทำกรรมฐานอย่างหนึ่งเสียก่อนนะ ถ้าไม่ทำกรรมฐานอย่างหนึ่งขึ้นมาก่อน จิตจะไหลตลอดเวลาจนดูไม่ทัน เดี๋ยวก็ไหลไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ดูไม่ทันหรอก เพราะฉะนั้นเบื้องต้นทำกรรมฐานขึ้นมาสักอย่างหนึ่งก่อน พุทโธก็ได้ หายใจก็ได้ แล้วก็คอยรู้ทันจิตไป จิตหนีไปคิดก็รู้ จิตไปเพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียวก็รู้นะ จิตเคลื่อนไปเมื่อไหร่ให้รู้ทัน

ถ้ารู้ทันจิตที่เคลื่อน จิตจะไม่เคลื่อน จิตจะตั้งมั่นขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยไม่ได้เจตนาให้ตั้ง มันตั้งของมันเอง

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่วัดสวนสันติธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...