การพัฒนาศักยภาพของสมองด้วยกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)*
เราได้กล่าวไปแล้วว่า การฝึกฝนตนเองที่มีประโยชน์สูงสุดคือการฝึกฝนตนเองอย่างบูรณาการที่ได้ทั้งพลังกาย พลังใจ พลังจิตวิญญาณ และพลังสมองไปด้วยพร้อมๆ กัน โดยที่กุณฑาลินีโยคะเป็นวิชาเพียงไม่กี่วิชาที่สามารถให้สิ่งนั้นได้ โดยผ่านการฝึก “3 ควบคุม” ซึ่งก็คือ
(1) การควบคุมคลื่นสมอง
(2) การควบคุมระบบประสาทอัตโนมัติในร่างกาย
(3) การควบคุมการหลั่งฮอร์โมนของต่อมไร้ท่อต่างๆ ในร่างกาย
รายละเอียดของ “3 ควบคุม” มีดังต่อไปนี้
(1) การควบคุมคลื่นสมอง สมองของคนที่ยังมีชีวิตจะทำงานโดยปล่อยคลื่นไฟฟ้าอ่อนๆ อยู่ตลอดเวลา คลื่นไฟฟ้าของสมองจะเปลี่ยนไปตามการเคลื่อนไหวของสมองที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของใจอีกทีหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์สามารถประดิษฐ์เครื่องมือวัดคลื่นสมองที่มาจากคลื่นไฟฟ้าของสมองนี้ได้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1924 ในตอนแรกๆ นักวิทยาศาสตร์สามารถจำแนกคลื่นสมองของมนุษย์ได้เป็น 2 ประเภทใหญ่เท่านั้น คือ คลื่นสมองอัลฟ่า กับคลื่นสมองเบต้า
คลื่นสมองอัลฟ่าเป็นสภาพที่ร่างกายกำลังผ่อนคลาย พักผ่อน ไม่เพ่ง ขณะที่คลื่นสมองเบต้าเป็นสภาพที่ร่างกายกำลังหมกมุ่นไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์สามารถวัดคลื่นสมองได้ละเอียดกว่าสมัยก่อนมาก และพบว่า แท้ที่จริงแล้วคลื่นสมองของคนเรามีอยู่ 4 ชนิดด้วยกันคือ
(ก) คลื่นอัลฟ่า เป็นคลื่นสมองที่ปรากฏออกมาในตอนที่คนเรามีสุขภาพดี นอนหลับตาพักผ่อน หรือผ่อนคลายความถี่ของคลื่นอัลฟ่าคือ 8-13 รอบต่อ 1 วินาที
(ข) คลื่นเบต้า เป็นคลื่นที่มีความถี่สูงที่สุดของสมอง เกิดขึ้นเมื่อมีการใช้งานสมองอย่างคึกคัก ไม่ว่าในการดูหรือการฟัง ความถี่ของคลื่นเบต้าคือ 14-20 รอบต่อ 1 วินาที
(ค) คลื่นธีต้า เป็นคลื่นเมื่อจิตตกอยู่ในภวังค์ ความถี่ของคลื่นธีต้าคือ 4-7 รอบต่อ 1 วินาที ต่ำกว่าคลื่นอัลฟ่าลงไปอีกชั้นหนึ่ง
(ง) คลื่นเดลต้า เป็นคลื่นที่มีความถี่ต่ำกว่าคลื่นธีต้าอีก คือมีความถี่แค่ 1.5-3 รอบต่อ 1 วินาทีเท่านั้น คลื่นนี้ส่วนใหญ่เกิดในช่วงที่นอนหลับสนิท
ได้เคยมีการทดลองวัดคลื่นสมองของพระเซน ในขณะที่กำลังนั่งสมาธิ (ซะเซน) แล้วพบว่า ก่อนที่จะเริ่มนั่งสมาธิคลื่นสมองยังเป็นคลื่นเบต้าอยู่ แต่ครั้นพอเริ่มนั่งสมาธิแบบซะเซนแล้ว ทั้งๆ ที่ตายังเปิดกว้างอยู่ (การนั่งซะเซนจะไม่ปิดตาเหมือนการนั่งสมาธิของไทย) แต่คลื่นสมองของผู้นั่งได้เปลี่ยนเป็นคลื่นอัลฟ่า ทั้งๆ ที่เพิ่งนั่งไปได้ไม่ถึงนาทีเท่านั้น และเมื่อยิ่งนั่งนานไปเรื่อยๆ ความต่อเนื่องของระดับคลื่นอัลฟ่า ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นจนเริ่มมีคลื่นธีต้าที่มีความถี่แค่ 4-7 รอบ ปรากฏขึ้นด้วย
ตามปกติ เมื่อจิตคนเรามีคลื่นสมองอัลฟ่า ผู้นั้นมักจะตกอยู่ในภาวะใกล้หลับ หรือใกล้เข้าภวังค์ แต่ในกรณีของพระเซนข้างต้นที่กำลังนั่งซะเซนอยู่นั้น พอลองเปิดเสียงต่างๆ ให้ฟัง คลื่นสมองของพระเซนจะเปลี่ยนเป็นคลื่นอัลฟ่าตามเดิม แต่ของคนธรรมดาที่ไม่เคยฝึกสมาธิกลับไม่ใช่เช่นนั้น ภาวะคลื่นเบต้ายังคงดำรงอยู่ต่อเป็นเวลานานไม่อาจกลับเข้าสู่คลื่นอัลฟ่าได้โดยง่ายเหมือนผู้ที่ชำนาญในการทำสมาธิ
พูดง่ายๆ ก็คือ ภาวะของคลื่นสมองของผู้ที่ฝึกสมาธิ และธำรงสภาวะแห่งสมาธิเอาไว้ได้นั้น เป็นภาวะที่สมองของคนเรามีความปลอดโปร่ง แจ่มใส และแหลมคมที่สุด เพราะมันเป็นภาวะที่ตื่นตัว แต่ผ่อนคลายคือมีคลื่นสมองอัลฟ่า แต่มีปฏิกิริยาตื่นตัวยิ่งกว่าคลื่นสมองเบต้าของคนธรรมดาเสียอีก เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเลยว่าทำไม การฝึกสมาธิจึงมีความสำคัญยิ่งนักต่อการพัฒนาศักยภาพสมองของคนเรา
(2) การควบคุม “ระบบประสาทอัตโนมัติ”
ผู้บำเพ็ญมี่ซิวเรียกขานสังขารชั้นในว่าสภาพแวดล้อมภายใน ขณะที่ทางการแพทย์ปัจจุบันได้แบ่งประสาทของร่างกายมนุษย์เป็นสองระบบใหญ่ๆ คือ ระบบประสาทในอำนาจจิตใจ หรือระบบประสาทโซมาติก (Somatic Nervous System) กับระบบประสาทอัตโนมัติ เส้นประสาทโซมาติกทำให้คนเราควบคุมการเคลื่อนไหวทั่วทั้งร่างกายได้ตามต้องการ อย่างเช่นพูดคุย ขยับมือ กลอกกลิ้งลูกตา พวกนี้อยู่ในขอบข่ายการควบคุมของเส้นประสาทโซมาติก ส่วนประสาทอัตโนมัติคือระบบการควบคุมตนเองของอวัยวะบางอย่างในร่างกายที่ไม่ถูกควบคุมโดยการสั่งการตามความต้องการของคนเรา อย่างเช่น การเต้นของหัวใจ การย่อยของกระเพาะลำไส้ การหลั่งของฮอร์โมน ดังนั้น ไม่ว่าคนเราจะมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม ประสาทอัตโนมัติจะทำหน้าที่รับรองว่าอวัยวะพวกนั้นสามารถทำงานต่อไป เพราะพวกมันควบคุมอวัยวะภายในร่างกายของคนเรา
ในความเป็นจริง ระบบทั้งสองนี้ ไม่ได้แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิงเสียทีเดียว แต่เป็นร่างเดียวที่เชื่อมโยงกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคนเราอยู่ในความมืด หากรู้สึกถึงอะไรที่ทำให้หวาดกลัว เมื่อผู้นั้นส่งสัญญาณที่ได้จากการมองเห็น ได้ยิน สัมผัสโดยผิวหนังกลับไปยังสมอง สมองก็จะสั่งการให้ร่างกายแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบประสาทอัตโนมัติเริ่มทำงาน สารอะดรีนาลินจะขับออกมามาก ทำให้หัวใจของผู้นั้นเต้นเร็วขึ้น ม่านตาขยายกว้างขึ้น ม่านตาขยายเพื่อช่วยให้ผู้นั้นรับแสงในความมืดได้มากขึ้น มองเห็นมากขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น เพื่อให้กระแสเลือดได้ออกซิเจนเต็มที่ สูบฉีดไปถึงทั่วทั้งร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อของผู้นั้นอัดแน่นไปด้วยพลัง มีศักยภาพสูงสุดที่พร้อมจะหนีหรือตอบโต้ ประสาทอัตโนมัติกับประสาทโซมาติกนั้น ใช้การประสานงานอย่างคล้องจองกันเช่นนี้ เพื่อทำให้ร่างกายอยู่ในสภาพพร้อมรับมือที่สุดต่อทุกๆ สภาพแวดล้อม
แต่น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่พึ่งพาอาศัยเส้นประสาทโซมาติกมากเกินไป ปล่อยให้ประสาทอัตโนมัติทำงานไปโดยเลื่อนลอย ไม่คิดเอาใจใส่ ดูแลการสอดประสานกันของอวัยวะภายในร่างกายตนเอง มีแต่เมื่อเกิดปัญหาจึงไปหาหมอ ซึ่งการบำเพ็ญมี่ซิวของทิเบตก็คือ การใช้ความจงใจในการปรับแต่งสภาพแวดล้อมภายในร่างกาย และการปรับเปลี่ยนวิธีการหายใจนำไปสู่การเปิดกำแพงที่กั้นกลางอยู่ระหว่างจิตสำนึกสั่งการกับระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้จิตสำนึกของผู้นั้นสามารถควบคุมประสาทอัตโนมัติโดยตรง
วิธีการฝึกจิตเพื่อสุขภาพหลายๆ แบบอย่างชี่กง โยคะ ความจริงก็อาศัยหลักการเดียวกันกับมี่ซิวนี้ เพราะต่างก็มีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ อาศัยการสัมผัสกับธรรมชาติ และการปรับลมหายใจเข้าออกเพื่อนำไปสู่การปรับแต่งสภาพแวดล้อมภายในร่างกายให้ดีขึ้น อาศัยการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมภายใน ทำให้ภายนอกและภายในของร่างกายเกิดความสมดุลสอดคล้อง เข้าสู่สภาพสมบูรณ์ นี่ถึงจะเรียกว่า มีสุขภาพแข็งแรงอย่างแท้จริง ในขณะที่ผู้คนจำนวนมาก แม้รูปร่างภายนอกดูแข็งแรง ความจริงร่างกายภายในย่ำแย่ พวกเขาอยู่ในสภาวะสุขภาพเสื่อมโทรมโดยไม่รู้ตัว โรคภัยไข้เจ็บสามารถเล่นงานได้ทุกเวลา
สิ่งที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ก็คือ ทั้งการบำเพ็ญมี่ซิว ชี่กง และโยคะ ล้วนใช้วิธีการฝึกลมปราณหรือการควบคุมลมหายใจเข้าออก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพแวดล้อมภายในร่างกายทั้งสิ้น หรืออาศัยการเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาทโซมาติกมาบังคับให้ประสาทอัตโนมัติในตัวเกิดการเปลี่ยนแปลงตามสภาพได้นั่นเอง (ยังมีต่อ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น