การสร้างจังหวะ
การเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญานั้น ต้องมี “วิธีการ” ที่จะนำตัวเรา ไปสู่ตัวสติ ตัวสมาธิ ตัวปัญญาได้ การทำทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีวิธีการ จึงจะเข้าถึงจุดหมายปลายทางได้
ดังนั้นการมาที่นี่ต้องพยายาม ไม่ต้องนั่งนิ่งๆ สอนกันแนะนำกัน ให้มีวิธีทำ โดยเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ทำเป็นจังหวะ
วิธีทำนั้น ก็ต้องนั่ง แต่ไม่ต้องหลับตา อันนี้มีวิธีทำ นั่งพับเพียบก็ได้ นั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งเก้าอี้ก็ได้ นอนก็ได้ ยืนก็ได้ ทำความรู้สึกตัว
พลิกมือขวาตะแคงขึ้น...ทำช้าๆ...ให้รู้สึก ไม่ใช่(พูด) ว่า พลิกมือขวา อันนั้นมากเกินไป เพียงแต่ว่าให้รู้สึกเท่านั้นเอง พลิกมือขึ้นให้รู้สึก หยุดไว้ ยกมือขึ้นให้รู้สึก ให้มันหยุดก่อน ให้มันหยุด มันไหวไปให้รู้ขึ้นครึ่งตัวนี่ ให้มันรู้ แล้วก็เอามาที่สะดือ
อันนี้มีจังหวะซ้าย-ขวา เป็น ๖ จังหวะ เวลาเอามือออกมาก็ซ้าย-ขวา รวมกันเข้ามี ๘ จังหวะ อันนี้เป็นจังหวะ เป็นจังหวะ
การเจริญสตินั้น ท่านว่าให้ทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ก็ทำความรู้สึกนี่เอง เมื่อพูดถึงความรู้สึกแล้ว ก็พูดวิธีปฏิบัติพร้อมๆ กันไป ทุกคนทำตามอาตมาก็ได้
เอามือเรามาวางไว้บนขาทั้งสองข้างนั้นเอง คว่ำมือไว้ ตามเท่าที่อาตมาได้ทำทำอย่างนี้
พลิกมือขวาตะแคงขึ้น ทำช้าๆ ให้มีความรู้สึกตัว อันความรู้สึกตัวนั้น ท่านเรียกว่า สติ
ยกมือขวาขึ้นครึ่งตัว แล้วก็รู้สึกว่ามันไหวขึ้นมา แล้วก็มันหยุดนิ่ง ก็รู้สึกตัว
บัดนี้ เลื่อนมือขวามาที่สะดือเรา เมื่อมือมาถึงสะดือเรา ก็มีความรู้สึกว่ามันหยุดแล้ว เราก็รู้
พลิกมือซ้ายตะแคงขึ้นที่ขาซ้าย ชันไว้ แล้วก็มีความรู้สึก
ยกมือซ้ายขึ้นครึ่งตัว ให้มีความรู้สึกหยุดไว้
บัดนี้ เลื่อนมือซ้ายเข้ามาทับมือขวาที่สะดือ แล้วก็รู้สึก อันนี้เรียกว่า การเจริญสติ อันความรู้สึกนั้น ท่านเรียกว่า ความตื่นตัว หรือว่า ความรู้สึกตัว เรียกว่า สติ
เลื่อนมือขวาขึ้นหน้าอก ทำช้าๆ มาถึงหน้าอกแล้ว เอาหยุดไว้
เลื่อนมือขวาออกมาตรงข้าง ไหวมาช้าๆ อย่างนี้ เมื่อมาถึงที่ตรงข้าง หยุด
แล้วก็ลดมือขวาลงที่ขาขวา ตะแคงไว้ ให้รู้สึกตัว
คว่ำมือขวาลงที่ขาขวา ให้มีความรู้สึกตัว
เลื่อนมือซ้ายขึ้นหน้าอก ให้มีความรู้สึกตัว
เอามือซ้ายออกมาที่ตรงข้าง ให้มีความรู้สึกตัว
ลดมือซ้ายลงที่ขาซ้าย ตะแคงเอาไว้ให้มีความรู้สึกตัว
คว่ำมือซ้ายลงที่ขาซ้าย ให้มีความรู้สึกตัว
การเดินจงกรม
เดินจงกรม ก็หมายถึง เปลี่ยนอิริยาบถนั่นเอง ให้เข้าใจว่า เดินจงกรมเพื่ออะไร? (เพื่อ) เปลี่ยนอิริยาบถ คือนั่งนานมันเจ็บแข้งเจ็บขา บัดนี้ เดินหลาย (เดินมาก) มันก็เมื่อยหลังเมื่อยเอว นั่งด้านหนึ่ง เขาเรียกว่า เปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนให้เท่าๆ กัน นั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง อิริยาบถทั้ง ๔ ให้เท่าๆ กัน แบ่งเท่ากันหรือไม่แบ่งเท่ากันก็ได้ เพราะว่าเราไม่มีนาฬิกานี่ น้อยมากอะไร ก็พอดีพอควร เดินเหนื่อยแล้ว ก็ไปนั่งก็ได้ นั่งเหนื่อยแล้ว ลุกเดินก็ได้
เวลาเดินจงกรม ไม่ให้แกว่งแขนเอามือกอดหน้าอกไว้ หรือเอามือไขว้ไว้ข้างหลังก็ได้
เดินจงกรม ก็อย่าไปเดินไวเกินไป อย่าไปเดินช้าเกินไป เดินให้พอดี
เดินไปเดินมา ก้าวเท้าไปก้าวเท้ามาทำความรู้สึก แต่ไม่ได้พูดว่า ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ ไม่ต้องพูด เพียงเอาความรู้สึกเท่านั้น
เดินไปก็ให้รู้ นี่เป็นวิธีเดินจงกรม ไม่ใช่ว่าเดินจงกรม เดินทั้งวันไม่รู้สึกตัวเลย อันนั้นก็เต็มทีแล้ว เดินไปจนตาย มันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เดินอย่างนั้น
เดินก้าวไป ก้าวมา รู้ นี่(เรียก)ว่าเดินจงกรม
พระธรรมเทศนา หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
ภาพ วัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น