" อริยสัจจ์เป็นธรรมะที่สำคัญที่สุด "
หลวงพ่อปราโมทย์: อริยสัจจ์น่ะสำคัญที่สุดเลย แต่ก่อนดูข้ามๆไปนะ รู้สึกตื้นๆ รู้สึกปฏิจจสมุปบาทอะไรเนี่ย แหมลึกซึ้ง ลึก น่าสนใจกว่าอริยสัจจ์ จริงๆถ้าไม่เห็นแจ้งอริยสัจจ์นะ ก็เกิดอีก สำคัญมากเลย
ถ้าเห็นอริยสัจจ์ เห็นปฏิจจสมุปบาทนี้เรียกว่าดวงตาเห็นธรรม เห็นในกระบวนการของปฏิจจสมุปบาทมันทำให้เราเห็นว่าไม่มีคน ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ธรรมทั้งหลายอาศัยกันเกิดขึ้นเป็นคราวๆ มันละสักกายทิฏฐิ
แต่ถ้ารู้แจ้งลงมาในรูปในนามได้นะ เรียกว่ารู้แจ้งอริยสัจจ์ ถึงจะพ้นได้ พระพุทธเจ้าแต่ละองค์ก็ตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาทไม่เท่ากัน บางองค์ท่านสาวไปแค่วิญญาณเป็นปัจจัยของนามรูป และก็วกกลับมานามรูปเป็นปัจจัยของวิญญาณ พระวิปัสสี พระสิขี พระเวสภู อะไรพวกนี้ท่านดูแค่นี้ พระพุทธเจ้าเราสาวไปถึงอวิชชา ความจริงปัจจัยของอวิชชามีอีกอันหนึ่ง คืออาสวะ นี้ท่านไปถึงอวิชชาท่านกลับมา
อริยสัจจ์นะ ยิ่งศึกษายิ่งสนุก ลึก ลึก จริงๆ ตอนเราเด็กๆ เราก็นึกว่าเข้าใจ อ่าน เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ นึกว่าเข้าใจอริยสัจจ์แล้ว ตอนบวชอยู่วัดชลประทานนะไปสวดมนต์แปลบอก ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ไม่ใช่ ไม่ใช่คนเกิดคนแก่หรอกเป็นทุกข์ กลายเป็นว่ารูปนามมันเป็นทุกข์ เราก็นึกว่าเข้าใจธรรมมากขึ้นแล้วนะ รูปนามเป็นทุกข์ ไม่ใช่เราเป็นทุกข์
เวลาภาวนาปฏิบัติไป ไม่ได้เห็นอย่างนั้นนะ เห็นว่ารูปนามเป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง ไม่ได้เห็นว่าเป็นทุกข์หรอก ภาวนากันนาน ๆ เมื่อไรเห็นว่ารูปนามเป็นทุกข์ล้วนๆ ได้นะ มันบอกจะวางแล้ว วาง มันวางได้ด้วยปัญญาจริงๆ คำว่า“ปัญญา”ก็คือการที่เห็นรูปนามเป็นไตรลักษณ์นั่นแหละ
เราต้องพัฒนาสติ สมาธิ ปัญญาขึ้นมา มันเห็นเอง แกล้งทำให้เห็น ไม่เห็นหรอก ถ้าคิดจะทำให้เห็นนะ มันเจือด้วยความคิดแล้ว มันตกจากวิปัสสนาแล้ว
ช่วงที่เราภาวนาไป เราก็จะไม่รู้ว่าเราขาดอะไรมั่ง รู้สึกอย่างเดียวว่าความรู้ยังไม่พอ ยัง ลึกๆ จะรู้สึกตลอดเลยว่ายังรู้ไม่พอ ยังรู้ไม่พอ ถามว่าไม่รู้อะไรตอบไม่ถูก จนภาวนาไปถึงจุดหนึ่ง ถึงจะรู้ว่า อ้อ ไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์นั่นเอง ตราบใดที่ไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์นะ ข้ามภพ ข้ามชาติไม่ได้นะ
อริยสัจจ์ลึกที่สุดเลย อย่างเราไม่สามารถเห็นว่ารูปนามเป็นทุกข์ เราเห็นว่าเป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง ยังนึกว่ารู้อริยสัจจ์นะ ไม่รู้จริงหรอก หรือเราคิดว่ามีสมุทัย มีตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คนทั่วๆไปไม่ได้รู้สึกว่ามีตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่ได้มีความอยากแล้วทุกข์ไม่ใช่ คนทั่วๆไปรู้สึกแค่ว่าถ้าไม่สมอยากถึงจะทุกข์ ถ้าสมอยากแล้วไม่ทุกข์หรอก มีตัณหาแล้วสนองตัณหาได้ไม่ทุกข์ มันตื้นนะตื้นมากๆ
แต่ว่าพอเราลงมือภาวนาดูจิต ดูใจตนเองออก เราเห็นทันทีเลย ทันทีที่จิตเกิดตัณหาเกิดความอยาก เกิดความยึดถือขึ้นมา จิตมันจะหมุนติ้วๆนะ มันทำงาน จิตทำงานเรียกว่าภพ “ภพ” คำเต็มๆ ของภพคือ กรรมภพ นั่นเอง จิตมันทำงานขึ้นมา มันก็มีความทุกข์ขึ้นมา มันมีทุกข์เพราะมันมีภาระ ภาวนามากเข้าๆเลยถึงจะเห็น ถ้ามีความอยากก็จะมีความทุกข์นะ จะสมอยากหรือไม่สมอยากก็ทุกข์แล้ว จะเห็น
เราก็นึกว่าเข้าใจอริยสัจจ์แล้วนะ เพราะว่าท่านบอกสมุทัยเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่ลึกๆ ก็ยังงงอยู่ว่าทำไมท่านเริ่มด้วยทุกข์ก่อน ท่านน่าจะสอนอริยสัจจ์ ๔ เริ่มด้วยสมุทัย และสมุทัยเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ น่าจะสอนสมุทัยก่อนว่า ถ้ามีตัณหาแล้วจะทุกข์ ตัวทุกข์ก็ไม่พูดเรื่องตัณหา ตัวทุกข์ กลับไปพูดเรื่องขันธ์ งั้นอริยสัจจ์ไม่ใช่เรื่องเข้าใจได้ง่ายๆเลย
นี้พอเราภาวนามาถึงจุดที่เราเห็นว่าถ้ามีตัณหา มีสมุทัยก็มีทุกข์ เราก็นึกว่าเข้าใจที่จริงยังไม่เข้าใจ เราจะเข้าใจอริยสัจจ์ต่อเมื่อเราภาวนาไปถึงจุดที่ว่า ถ้าไม่รู้ทุกข์ถึงจะเกิดสมุทัย ถ้าไม่รู้ทุกข์นะถึงจะเกิดสมุทัย ของเราคิดว่าถ้ามีสมุทัยจึงเกิดทุกข์ มันตื้นอยู่อีกชั้นนึง งั้นท่านถึงเอาทุกข์ขึ้นก่อน บอกทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ เมื่อไรรู้ทุกข์แล้วเมื่อนั้นละสมุทัย เมื่อไรละสมุทัยเมื่อนั้นแจ้งนิโรธ
ธรรมท่านเรียงร้อยได้สวยงามตรงกับการปฏิบัติ ท่านไม่ได้สอนไว้เพื่อให้คิดแบบนักปรัชญา ถ้าสอนอย่างนักปรัชญาก็จะเริ่มจากสมุทัย ท่านสอนจากการปฏิบัติ ปฏิบัติให้รู้รูปนามให้รู้ทุกข์ งั้นจุดเริ่มต้นคือให้รู้ทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์แจ้ง เห็นว่าขันธ์นี้ไม่ใช่เราแล้ว คืนขันธ์ให้โลก คืนขันธ์ให้ธรรมชาติไป ตัณหาหรือสมุทัยจะดับอัตโนมัติ จะไม่เกิดแล้ว ถ้ายังไม่เห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์ล้วนๆเนี่ย ตัณหาจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ มีอวิชชาอยู่ตัณหายังเกิดอีก มันเกิดเป็นระยะ ระยะไป
ตัณหาคืออะไร พูดง่าย ๆ เลยตัณหาก็คือความอยากให้ขันธ์นี้มีความสุข ความอยากจะให้ขันธ์นี้พ้นจากทุกข์ ทำไมมีความอยากอันนี้ขึ้นมา ก็เพราะมีความสำคัญมั่นหมายว่าขันธ์นี้คือเรา เราคือขันธ์ ฉะนั้นถ้าภาวนาจนเห็นว่า ขันธ์ไม่ใช่เราหรอก นี่กำลังเหยียบประตูไปสู่นิพพานแล้ว ได้โสดาบัน ดูต่อไปจนวางขันธ์ได้ พอวางขันธ์ได้แล้วสมุทัยหายไปเองนะ ไม่เกิดอีกว่าขันธ์ไม่ใช่เราแล้วจะไปอยากให้มันมีความสุขทำไม จะอยากให้มันพ้นทุกข์ทำไม ฉะนั้นเมื่อไรรู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อนั้นจะละสมุทัย
ทันทีที่ละสมุทัย จิตจะเข้าถึงธรรมอีกชนิดหนึ่งคือพอเราวางความยึดถือจิต สลัดจิตคืนเรียก ปฏินิสสัคคะ สลัดรูปนามคืนคืนเจ้าของเดิมคือ คืนโลกไปพอสลัดคืนไปแล้วเนี่ย ภาระที่จะต้องทำงานให้รูปนามมีความสุข พ้นทุกข์ ไม่มีอีก จิตใจเลยเข้าถึงสันติสุข เข้าถึงสันติสุข สันติสุขนั่นแหละคือนิพพาน
นิพพานมันไม่ได้อยู่ไกลนะ นิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตา เมื่อไรจิตมันสิ้นตัณหา เพราะมันรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง คืนกาย คืนใจ คืนขันธ์ให้โลกไปแล้วเนี่ย เมื่อนั้นจะเห็นนิพพานต่อหน้าต่อตาไม่ได้ยากอะไร เราไปวาดภาพนิพพานเอาไว้ซะไกลเลย คิดว่าต้องภาวนาอีกแสนๆ ชาติถึงจะเจอ ถ้าอย่างนั้นอีกแสนชาติ ยังไม่เจอ ยังมีความเห็นผิดอยู่
นิพพานจริงๆ พูดให้ง่ายๆ นิพพานจริงๆ คือความสิ้นตัณหาหรือวิราคะ จิตของเรามีตัณหาย้อมอยู่ตลอดเวลานะ เดี๋ยวอยากดู เดี๋ยวอยากฟัง เดี๋ยวอยากได้กลิ่น เดี๋ยวอยากได้รส เดี๋ยวอยากได้โผฏฐัพพะที่ดีนี่ เดี๋ยวอยากได้ธรรมารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจอยากตลอดเวลา ความอยากนะหมุนอยู่ในอายตนะทั้ง ๖ ในเวลาเราภาวนานะ
แต่เดิมเราคิดว่าตัณหามี ๓ ตัว กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา พอลงมือภาวนาจริง ๆ เราเห็นตัณหา ๖ ตัว เรียกว่ารูปตัณหา ความอยากได้รูป สัททตัณหา อยากได้ยินเสียง อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากได้สัมผัสที่ดี อยากได้ธรรมารมณ์ที่ดี อยากได้ธรรมารมณ์ที่ดีเรียกว่า “ธรรมตัณหา” ชื่อเพราะนะธรรมตัณหา “อยาก” เช่นอยากรู้เรื่อง ก็คิด ๆ คิดไปนี่เรียกว่ามีธรรมตัณหา
พอจิตมันมีตัณหาขึ้นมาในอายตนะ ๖ มันก็เกิดการทำงานขึ้นมาที่จิต จิตก็หมุนจี๋ๆๆ ขึ้นมานะ ทำงานเป็นทุกข์ขึ้นมา แต่ถ้าเราคอยรู้คอยดูนะ โอ้ วันหนึ่งละความยึดถือในกายในจิตได้ตัณหาจะไม่เกิดอีก ตัณหาไม่เกิดอีกนะ ภพก็ไม่เกิดขึ้น การทำงานทางใจไม่มีขึ้น ความจะไปหยิบฉวยเอารูปเอานามคือชาตินี้ขึ้นมาอีกก็ไม่มี ความทุกข์ไม่มี
ความทุกข์ไม่มีเพราะไม่มีขันธ์ ขันธ์นี้เป็นที่ตั้งของความทุกข์ด้วย เป็นตัวทุกข์ด้วยนะ ความทุกข์เมื่อจะตั้งก็ตั้งอยู่ในขันธ์ ตั้งอยู่ในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง และตัวขันธ์ หรือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง ตัวมันก็เป็นตัวทุกข์นะ
งั้นธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนลึกนะ ลึกมาก แต่ว่ามีสติดูจิตลูกเดียวนั่นแหละจะเข้าใจได้ทั้งหมด
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น