อานาปานสติบริบูรณ์ ย่อมทำสติปัฏฐานให้บริบูรณ์
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ก็อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว
ทำให้มากแล้ว อย่างไรเล่า
จึงทำ สติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ?
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! สมัยใด ภิกษุ
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว,
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว;
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น,
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น;
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”;
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ หายใจออก”;
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้ตามเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ
เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เราย่อมกล่าวลมหายใจเข้าและลมหายใจออก
ว่าเป็นกายอย่างหนึ่ง ๆ ในบรรดากายทั้งหลาย.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ ภิกษุนั้น
ย่อมชื่อว่า เป็นผู้ตามเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส
มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! สมัยใด ภิกษุ
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจออก”;
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุขหายใจออก”;
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก”;
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่” หายใจออก”;
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า
เป็นผู้ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ
เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เราย่อมกล่าวว่า
การทำในใจเป็นอย่างดีถึงลมหายใจเข้า และลมหายใจออก
ว่าเป็นเวทนาอย่างหนึ่งๆ ในบรรดาเวทนาทั้งหลาย.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เพราะ
เหตุนั้น ในกรณีนี้ ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่าเป็นผู้ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ
มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! สมัยใด ภิกษุ
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตหายใจออก”;
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ หายใจออก”;
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่หายใจออก”;
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่หายใจออก”;
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้ตามเห็นจิตในจิต อยู่เป็นประจำ
เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เราไม่กล่าวว่าอานาปานสติ
เป็นสิ่งที่มีได้แก่บุคคลผู้มีสติอันลืมหลงแล้ว ผู้ไม่มีสัมปชัญญะ.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ ภิกษุนั้น
ย่อมชื่อว่า เป็นผู้ตามเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ
มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! สมัยใด ภิกษุ
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจออก”;
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจออก”;
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจออก”;
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจออก”;
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า
เป็นผู้ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ
มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ภิกษุนั้น เป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะเป็นอย่างดีแล้ว
เพราะเธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสทั้งหลายของเธอนั้นด้วยปัญญา.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้
ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่าเป็นผู้ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ
มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว
ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมทำสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์ได้.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น