ปฏิจจสมุปบาทในนิกายพุทธตันตระ: ความสัมพันธ์กับทฤษฎีกาลจักร
ตามหลักการในพระพุทธศาสนาแล้ว ปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมสำคัญอันหนึ่งที่นับได้ว่าเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่ธรรมข้ออื่นๆได้เป็นอันมาก ในด้านหนึ่งปฏิจจสมุปบาทเท่ากับเป็นทฤษฎีความสัมพันธ์ร่วมกันของสิ่งต่างๆ สำหรับในส่วนของพุทธศาสนามหายานในธิเบตนั้นมีคตินิยมในการสร้างรูปวงกลมที่มีลักษณะเหมือนล้อเกวียนซึ่งมี ๖ ซี่ (หรือ ๖ กำ)
โดยให้ล้อเกวียนนั้นซ้อนกัน ๓ ชั้น มีรูปพระอวโลกิเตศวรในร่างยักษ์หรือพญายมหรือท้าวมหากาลนั่งคาบล้อเกวียนและมือทั้งสองข้างโอบรอบล้อเกวียนไว้ คติการสร้างล้อเกวียนนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในอินเดีย และต่อมาคณาจารย์ในฝ่ายสรวาสติวาทินนำได้ไปเผยแผ่ในธิเบตด้วย
ศูนย์กลางของวงกลมมี
รูปไก่ งู และหมูกำลังไล่กินหางกันและกันอยู่ในวงกลมนั้น ในชั้นต่อมาซึ่งแบ่งเป็น ๖ ช่องมีความหมายสื่อถึงภูมิทั้ง ๖ ส่วนวงกลมด้านนอกแบ่งเป็น ๑๒ ช่อง หมายถึงปฏิจจสมุปบาท ๑๒ และภาพทุกภาพที่ปรากฏในวงกลม ๓ ชั้นนี้มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ทั้งหมด
โดยรูปไก่ หมายถึง โลภะ
รูปงู หมายถึง โทสะ
รูปหมู หมายถึง โมหะ
ทั้งสามประการนี้ถือเป็นมูลรากของการเกิดภพ ชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสต่างๆ อันเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของสังสารวัฏ
ถัดจากศูนย์กลางซึ่งเป็นช่อง ๖ ช่องนั้นหมายถึงภูมิทั้ง ๖
โดยให้ช่องที่ ๑ (บนสุด) หมายถึงเทวภูมิ
ช่องที่ ๒ (ถัดมาทางด้านขวา) หมายถึง อสุรภูมิ ช่องที่ ๓ หมายถึง เปตภูมิ
ช่องที่ ๔ (ล่างสุด) หมายถึง นรกภูมิ
ช่องที่ ๕ หมายถึง ดิรัจฉานภูมิ
ช่องที่ ๖ หมายถึง มนุสสภูมิ
ส่วนวงกลมชั้นนอกสุด ซึ่งแบ่งออกเป็น ๑๒ ช่อง (คือปฏิจจสมุปบาท) นั้นเรียงลำดับจาก
รูปหญิงชรา หมายถึง อวิชชา
ช่างปั้นหม้อ หมายถึง สังขาร
รูปลิง หมายถึง วิญญาณ
รูปชายสองคนที่นั่งในเรือ หมายถึง นามรูป
รูปบ้านที่มีช่องหน้าต่าง ๖ บานหมายถึง สฬายตนะทั้ง ๖ รูปคู่รัก หมายถึง ผัสสะ รูปลูกศรแทงตามนุษย์ หมายถึง เวทนา
รูปคนกำลังหิวมีหญิงคอยบริการ หมายถึง ตัณหา รูปคนเก็บผลไม้ หมายถึง อุปาทาน
รูปคนเสพเมถุน หมายถึง ภพ
รูปหญิงคลอดลูก หมายถึง ชาติ
รูปคนแบกศพ หมายถึง ชรามรณะ
ภาพเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงเรื่องราวของปฏิจจสมุปบาทที่ปรากฏในอภิปรัชญามหายานนี้เป็นที่น่าสังเกตว่ามีความใกล้เคียงอย่างยิ่งกับการให้ความหมายในเรื่องเดียวกันนี้ในพุทธศาสนาเถรวาท แสดงให้เห็นว่าหลักการทางพระพุทธศาสนาในเรื่องนี้ (ปฏิจจสมุปบาท) เป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับร่วมกันอย่างกว้างขวางทั้งในเถรวาทและมหายาน อย่างน้อยก็ในบรรดานิกายหลัก
ประเด็นความเกี่ยวข้องระหว่างปฏิจจสมุปบาทกับทฤษฎีกาลจักรในนิกายพุทธตันตระนั้นเห็นได้ชัดว่ามีความเกี่ยวข้องกันมากพอสมควรโดยเฉพาะในมิติของความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันของสิ่งต่างๆ ดังจะเห็นได้ว่าปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นหลักการที่ปักแน่นอยู่ในเรื่องของเหตุและผล
เรื่องของการเชื่อมโยงกันของสิ่งต่างๆ และค่อนข้างจะสอดคล้องกันกับทฤษฎีกาลจักรที่กล่าวถึงการสอดประสานกันของธรรมชาติเช่นกัน (พิจารณาจากภาพที่มีความต่อเนื่องกัน คือ ภาพแรกก่อให้เกิดภาพที่สอง ภาพที่สองเป็นผลพวงของภาพแรกและทำให้เกิดภาพต่อๆมา ฯลฯ การที่แต่ละภาพจะขาดช่วงจากกันไม่ได้เพราะเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน เป็นต้น)
อย่างไรก็ตามแม้ว่าทฤษฎีกาลจักรจะกล่าวถึงเรื่องการสอดประสานของธรรมชาติ แต่ก็มุ่งให้ความสำคัญเรื่องของ
“ความอ่อนโยน” ที่ต้องสอดประสานกับ “ความแข็งแกร่งทางปัญญา” นั้นเป็นประการหลัก โดยตัวแทนของความอ่อนโยนให้แทนด้วยภาพของพุทธะ
(ซึ่งเท่ากับเป็นตัวแทนของบุรุษเพศ ดังที่ได้เรียกว่า “ศักตะ”) และให้ความแข็งแกร่งทางปัญญานั้นเป็นตัวแทนของสตรีเพศ ดังที่ได้เรียกว่า “ศักติ” ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งหากจะมีการตีความอย่างง่ายแล้วจะพบว่าที่จริงแล้ว “ศักตะ” กับ “ศักติ” ก็เป็นเพียงนามธรรมอย่างหนึ่งคล้ายกับนามธรรมอื่นๆ เช่น ความงาม ความสงบ ความดี ฯลฯ
เช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อเรากล่าวถึงศักติ ภาพของความอ่อนโยน ความเมตตา ความต้องการให้ผู้อื่นพ้นจากทุกข์จึงน่าจะปรากฏชัดขึ้นในความรู้สึกของเราได้ และเมื่อเรากล่าวถึงศักตะ ภาพของความมีไหวพริบ การมีความรู้ การรู้แจ้ง ความองอาจอันเนื่องมาจากการมีความรู้จึงน่าจะปรากฏชัดขึ้นในความรู้สึกของเราได้เช่นเดียวกัน และด้วยเหตุผลนี้เองจึงทำให้ฝ่ายพุทธตันตระจึงเลือกที่จะอธิบายความเป็นนามธรรมของศักติ และศักตะให้ปรากฏในรูปของสัญลักษณ์บางอย่างเพื่อให้ผู้นับถือทั่วไปเข้าใจ (จึงนำมาสู่การสร้างรูปพุทธะคู่กับชายาในรูปแบบต่างๆนั้น)
ศักตะและศักติในทฤษฎีกาลจักรจึงมีความหมายเป็นเพียงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในทำนองเดียวกับการใช้บุคลาธิษฐานเพื่อสื่อความหมายทางภาษาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นตัวตนที่แท้จริงแต่อย่างใด ศักตะเมื่อจะแทนความหมายของกรุณาจึงมีภาพปรากฏต่างๆกัน เช่น ภาพพุทธะที่มีพระพักตร์อ่อนโยน มีลักษณะละเมียดละไมและให้ความรู้สึกของการแผ่ขยายความกรุณาในสรรพสัตว์อย่างไม่มีประมาณ ขณะที่ศักติเมื่อจะแทนความหมายของปัญญาจึงปรากฏให้เห็นเป็นภาพของ “ชายา” ที่ต้องเคียงคู่อยู่กับพุทธะอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะแสดงว่ากรุณาแล้วต้องอาศัยปัญญาเสมอด้วย ฯลฯ
อีกประการหนึ่งการที่ศักติของพุทธะแต่ละองค์นั้นที่มีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกัน จะมีผลถึงลักษณะของศักติของแต่ละพระองค์ด้วยจึงอาจกล่าวได้ว่าทั้งพุทธะและศักตินั้นล้วนแต่เป็นองค์เดียวกันแต่มีสองสิ่งประสานอยู่ในองค์เดียวนั่นเอง (เช่นเดียวกับธรรมชาติของไฟที่ต้องที่ทั้งแสงสว่างและความร้อน น้ำที่จะต้องมีลักษณะที่แทรกซึมได้ง่ายและสามารถแปรเปลี่ยนไปตามภาชนะและอุณหภูมิที่มันอยู่ เช่นกัน)
ดังนั้นหากกล่าวโดยทั่วไปแล้วแนวคิดการสอดประสานของเพศชายและเพศหญิงในทฤษฎีกาลจักรนั้นจึงเป็นสิ่งที่คล้ายคลึงและเข้ากันได้กับแนวคิดของลัทธิเต๋า (หรือเต๋าเต๋อจิง) อย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเรื่องกาลจักร (หรือจักรวาลวิทยา) ในพุทธศาสนาเถรวาทอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือในขณะที่ทฤษฎีกาลจักรเป็นเรื่องของการสอดประสานกันของเพศชาย-เพศหญิงและสรรพสิ่งคือชีวิตและจิตใจที่มีอยู่ในตน แต่จักรวาลวิทยาของพุทธศาสนาเถรวาทก็กลับเป็นเรื่องของโลกธาตุ เรื่องภพภูมิ เรื่องสวรรค์ นรก และพรหมภูมิ ฯลฯ
ซึ่งถือเป็นแกนความรู้ความเชื่อดั้งเดิมมาเป็นเวลานานแล้วนั้นเป็นหลัก อย่างไรก็ตามควรกล่าวได้ว่าสำหรับแนวคิดเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้นถือเป็นแนวคิดที่มีอยู่ในกระบวนการและความเชื่อในพุทธศาสนาทั้งนิกายมหายานและเถรวาทเสมอเหมือนกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น