ทฤษฎีกาลจักร (Time and Space) และแนวคิดหลักของพุทธตันตระนิกาย
ทฤษฎีกาลจักรเป็นทฤษฎีที่สลับซับซ้อนทฤษฎีหนึ่งในอภิปรัชญาพุทธตันตระนิกาย ซึ่งดังที่กล่าวแล้วว่าทฤษฎีนี้เน้นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างการเคลื่อนที่ของจักรวาลกับกระแสชีวิตในร่างกาย (ของสิ่งมีชีวิต) รวมทั้งกระแสของเวลาในจักรวาลที่ดำเนินไปร่วมกัน ซึ่งโดยเฉพาะพุทธตันตระนิกายนี้ได้นำเสนอว่าการดำเนินร่วมกันของจักรวาลทั้งภายนอกภายในนี้จะปรากฏเป็นภาพ (หรือมิติ) ๔ มิติคือ
๑) จักรวาล
๒) พุทธวิทยา
๓) ปัจเจกชน
๔) สังคม
ซึ่งเมื่อพิจารณาความหมายของจักรวาลในพุทธตันตระยานแล้วจึงพบว่ามีความแตกต่างกันพอสมควรกับจักรวาลในมิติของพุทธศาสนาเถรวาท กล่าวคือ
๑) ภาพจักรวาล แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนได้แก่ คัพภธาตุ และวัชรธาตุ ซึ่งคัพภธาตุถือเป็นพลังฝ่ายจิต(หรือนาม) ขณะที่วัชรธาตุเป็นพลังฝ่ายวัตถุ (รูป) ทั้งวัชรธาตุและคัพภธาตุนี้เองที่ฝ่ายมหายานขยายความว่ามีความเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของจักรวาลโดยตรง ทั้งนี้เมื่อจิตกำลังสั่งการ (ซึ่งหากดูด้วยตาเปล่าไม่เห็นว่ากำลังสั่งการ แต่ในทางการแพทย์หรือในทางการวิปัสสนาแล้วพบว่าสามารถเห็นกระบวนการสั่งงานของจิตได้) อยู่นั้น
จิตเท่ากับเป็นแกนกลางที่ผลักดันให้วัตถุเคลื่อนไหว และการเคลื่อนไหวของวัตถุทุกชนิดนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญที่มีผลต่อเนื่องร่วมกัน(คล้ายกับปฏิกิริยาลูกโซ่) ความคิดของบุคคลหนึ่งในซีกโลกหนึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของบุคคลจำนวนมากมายในอีกซีกโลกหนึ่งเสมอ ในทางกลับกันหากบุคคลมีความหยุดนิ่งก็จะย่อมมีผลให้การเคลื่อนไหวของวัตถุต่างๆเปลี่ยนแปลงไปด้วย ทั้งนี้ในภาษิตจีนที่เรามักกล่าวถึงกันเสมอคือ
“ความสงบสยบความเคลื่อนไหว”
เช่นเดียวกับที่ความเคลื่อนไหวย่อมปะทะกับความเคลื่อนไหว แต่ความสงบย่อมไม่ปะทะความสงบ
ในแง่นี้คัพภธาตุ และวัชรธาตุจึงมีความสัมพันธ์กับการกระทำกรรมของสิ่งมีชีวิตโดยตรง เพราะนี้คัพภธาตุ และวัชรธาตุนั้นเองที่เป็นตัวผลักดันให้เกิดการกระทำ และการกระทำต่างๆนั้นก็จะมีผลผลักดันให้เกิดการเคลื่อนที่ของจักรวาล (เป็นที่น่าสังเกตว่าแนวคิดนี้มีความคล้ายคลึงกับแนวคิดของตะวันตกเรื่อง Butterfly Effect หรือ
“เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” อย่างมีนัยสำคัญ และสอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับกระแสความคิดแบบเต๋าเรื่องมนุษย์กับธรรมชาติเป็นอย่างสูง) ในด้านที่ดีนั้นหมายถึงทั้งสิ่งมีชีวิตและจักรวาลนั้นย่อมมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก เพราะการมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในจักรวาลนั้นนำมาสู่ภาวะที่สมดุลของจักรวาล แต่ในทางกลับกันหากสิ่งมีชีวิต (โดยเฉพาะมนุษย์) ได้ทำกรรมในลักษณะที่เป็นไปในทางที่เบียดเบียนธรรมชาติ (หรืออีกนัยหนึ่งคือเบียดเบียนจักรวาลก็จะมีผลไปถึงการคงอยู่ของจักรวาลเองด้วย) อย่างไรก็ดีเกี่ยวกับกรณีนี้ทฤษฎีกาลจักรค่อนข้างจะอธิบายไปในทางที่ให้คุณค่าแก่สิ่งมีชีวิตมาก เพราะมีการกล่าวว่าการที่โลกและจักรวาลนั้นมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่นั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพราะ
“ถ้าโลกว่างจากสิ่งมีชีวิตโลกก็จะถูกทำลาย”เพราะที่สุดแล้วจะต้องถูกธรรมชาติเบียดเบียน (เช่นถูกเบียนเบียนจากน้ำ ไฟ หรือลม ฯลฯ) เพราะหากสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ การกระทำกรรมของสิ่งมีชีวิตนั้นเองจะเป็นเครื่องป้องกันภัยจากธรรมชาติได้ (การอธิบายในลักษณะนี้มีข้อสังเกตว่าค่อนข้างมุ่งให้น้ำหนักความสำคัญมาที่สิ่งมีชีวิตหรืออีกนัยหนึ่งก็คือตัวมนุษย์มาก และมีข้อน่าสังเกตว่าการแยกระหว่างธรรมชาติ โลกและจักรวาลนั้นยังลักลั่นอยู่เนื่องจากไม่แน่ว่าธรรมชาติ โลกและจักรวาลจะเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่อย่างไร และหากเป็นเช่นนี้เท่ากับว่าแท้จริงแล้วมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตนั้นเป็นศูนย์กลางของระบบหรือไม่ หรือทุกสิ่งนับเป็นศูนย์กลางของระบบทั้งหมดร่วมกัน ?)
๒) ภาพพุทธวิทยา มีความหมายว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งอุตตรรูปอื่น ภาพพุทธวิทยาถือว่าเป็นบุคลาธิษฐานของสัจจภาวะหรือ(หนทางที่นำไปสู่การหลุดพ้น)ด้านต่างๆของมรรคา และถือว่าเป็นพลังของฝ่ายชายที่รวมกับพลังของฝ่ายหญิง (ศักตะรวมกับศักติ) หรืออีกนัยหนึ่งพลังของฝ่ายชายถือว่าเป็นพลังกรุณารวมกับพลังของฝ่ายหญิงคือปรัชญา หรือบางแห่งอาจเรียกว่ากรุณากับปัญญาก็มี
ภาพของพุทธวิทยาในนิกายตันตระนี้ โดยทั่วไปแล้วจะนิยมกล่าวถึงพระธยานิพุทธะ (หรือพระชินพุทธะ)๕ พระองค์คือ พระไวโรจนะพุทธะ พระอักโษภยะพุทธะ พระรัตนสัมภาวะพุทธะ พระอมิตาภะพุทธะ และพระอโมฆสิทธิพุทธะ ซึ่งทั้ง ๕ พระองค์นี้ถือว่าอยู่ในร่มพระมณฑลแห่งพระธยานิพุทธะเดียวกัน
และแต่ละพระองค์ก็ทรงมีอิตถีภาวะ (ภาวะแห่งสตรีเพศ) ประจำองค์ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นปัญญาญาณแบบต่างๆ
อิตถีภาวะของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์นี้เองที่ตันตระนิกายนำเสนอออกมาในรูปสัญลักษณ์ของ “ชายา” หรือ ศักติ ดังที่ปรากฏให้เห็นอย่างแพร่หลายนั้น ทั้งนี้ การปรากฏของอิตถีภาวะของพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ดังกล่าวนี้พุทธศาสนามหายานนิกายตันตระ หรือ วัชรยานพยายามสื่อว่าไม่ใช่หมายถึงการมีชายาจริงๆอย่างที่เข้าใจหากเป็นแต่เพียงบุคลาธิษฐานอย่างหนึ่งที่มุ่งนำเสนอเพื่อให้เข้าใจถึงหลักการของประสานกันของปัญญาและกรุณาที่มีอยู่ในพุทธะเท่านั้น ดังจะได้กล่าวต่อไป
๓) #ภาพปัจเจกชน เกี่ยวกับภาพปัจเจกชนนี้มีการอธิบายว่าในตัวของบุคคลทุกคนปัญญากับกรุณานั้นเป็นพลังที่เลื่อนไหลอยู่ตามเส้นประสาท โดยมีการเข้าและออกทางช่องจมูกทั้งซ้ายและขวา (ในทำนองเดียวกับพลังจักรวาล) ปัญญานั้นอยู่ทางช่องจมูกซ้าย เรียกว่าลลนา กรุณาอยู่ในช่องจมูกขวา ความรู้ด้านนี้ยังมีการนำไปปฏิบัติในโยคะชั้นสูงของพุทธตันตระโดยใช้การประสานพลังทั้งสองนี้เข้าด้วยกัน ผลที่ได้คือทำให้เกิดพลังที่ละเอียดอ่อนที่สามารถแทงตลอดในธรรมทั้งหลายได้
๔) #ภาพสังคม การสร้างภาพสัญลักษณ์ของสตรีให้แทนปรัชญา และภาพของบุรุษแทนกรุณานั้นปรากฏว่าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดวาทกรรมขึ้นมากมาย ทั้งในทางที่สนับสนุนและคัดค้าน ทั้งนี้เริ่มต้นมาจากการที่มีผู้แปรภาพสัญลักษณ์ของสตรีและบุรุษออกมาเป็นรูปธรรมและต่อมาได้นำมาสู่การตีความที่บิดเบือนไป เช่นการแปรความหมายภาพที่นำมาสู่การสร้างพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ที่อยู่ในอ้อมกอดของเทวีในหลากหลายรูปแบบ ยิ่งเมื่อภายหลังมีการนำแนวคิดนี้แปรมาสู่การปฏิบัติแล้วยิ่งทำให้เกิดความเชื่อที่แปลกแยกออกไปมากขึ้น เช่น มีการนำสตรีมาเข้าร่วมในกระบวนการปฏิบัติธรรมโดยเชื่อว่าจะทำให้สามารถบรรลุธรรมได้เร็วขึ้น (เรียกว่าการใช้ตัณหาเป็นเครื่องมือนำไปสู่จุดหมาย เป็นยานที่นำไปสู่ความหลุดพ้นโดยมีวลีว่า “การหลั่งน้ำอสุจิคือการปลุกโพธิจิต”) ความบิดเบือนทั้งแนวคิดและการปฏิบัติดังนี้เองที่ทำให้พุทธตันตระถูกเรียกว่าเป็นลัทธินอกรีตหรือนอกจารีตแห่งพระพุทธศาสนา[3]
ที่จริงแล้วควรกล่าวว่าจุดเริ่มต้นแห่งความคิดของพุทธตันตระนิกายเกี่ยวกับการอาศัยพลังร่วมกันของปรัชญาและกรุณานั้นนับเป็นสิ่งที่ดี (เพราะนำเสนอเรื่องความสอดคล้อง ความพอดีเป็นแกนหลัก) แต่การตีความและการนำมาสู่การปฏิบัตินั้นเป็นสิ่งที่ควรศึกษาอย่างถี่ถ้วน สิ่งที่ควรทำความเข้าใจคือแท้จริงแล้วพุทธตันตระนั้นมุ่งนำเสนอเรื่องการสอดประสานของพลังสองส่วนคือปัญญาและกรุณานั้นอย่างไร หากเจตนาเริ่มต้นนั้นเพียงต้องการนำเสนอในเชิง
#อุปมาว่าการสอดประสานของพลังสองส่วน (คือชายกับหญิง) นั้นหมายถึงการมีมหากรุณาต่อสรรพสัตว์โดยทั่วไปไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง การใช้ปัญญาเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์อย่างละเอียดถี่ถ้วนมีเหตุมีผล และทั้งสองส่วนนี้ (คือกรุณาและปัญญา)ก็ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ฯลฯ ก็ควรนับได้ว่าเป็นแนวคิดเชิงสัญลักษณ์ที่น่าสนใจ ดังนั้น การเกิดปัญหาความผิดพลาดเกี่ยวกับการตีความแนวคิดของพุทธตันตระจึงเป็นกรณีที่เราผู้ศึกษาพึงระลึกไว้เป็นตัวอย่างที่สำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทำความเข้าใจโดยแท้ อย่างไรก็ตามการเกิดปัญหานี้แก่พุทธตันตระทำให้นิกายนี้สูญเสียการยอมรับในแง่ของความเป็นนิกายในพระพุทธศาสนา (มหายาน) อยู่พอควรเพราะคล้ายกับว่าพุทธตันตระนิกายนี้ได้ก้าวออกนอกขอบเขตของความเป็นพุทธศาสนามากเกินไป แต่อย่างไรก็ตามชาวพุทธตันตระก็ยังสามารถที่จะอธิบายแนวคิดในเรื่องนี้ (เรื่องการสอดประสานพลังของชายกับหญิง) ได้พอควรดังจะได้กล่าวต่อไป
1.พุทธตันตระ หรือ พุทธตันตรยานนั้น
ปัญญาที่แผ่ไปเพื่อป้องกันอันตราย โดยความหมายในแง่นี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในหมู่ศาสนิกชาวฮินดูและพุทธ อนึ่งมีการระบุด้วยว่าสำหรับชาวฮินดูแล้วตันตระเป็นส่วนของคำสอนที่เหมาะสำหรับยุคเสื่อมซึ่งจะกินเวลาประมาณสามแสนสี่หมื่นสองพันปีอันเป็นหนึ่งในสิบของมหายุค นิกายตันตระยังเป็นพัฒนาการของศาสนาที่เน้นไปที่พิธีกรรมหรือการเพ่งสมาธิเป็นหลัก เป็นอุปายะที่ช่วยสนับสนุนคำสอนของพุทธมหายาน เช่นการบำเพ็ญบุพพกิจห้าแสน เป็นต้น
[2] อย่างไรก็ตามยังพบว่าความหมายของพระธยานิพุทธะกับพระชินพุทธะก็ยังมีความแตกต่างกันไปตามการอธิบายความที่เกี่ยวเนื่องกับคติตรีกายคือ มีการให้ความหมายของพระชินพุทธะว่าหมายถึงพระพุทธเจ้าที่ทรงชนะกิเลสได้อย่างเด็ดขาด พระธยานิพุทธะคือพระพุทธเจ้าอันเป็นสัมโภคกายที่อยู่ในฌานสมาบัติอันลึกซึ้ง การให้ความหมายในลักษณะนี้ทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันของพุทธศาสนามหายานที่มีอยู่ในเอเชียตอนเหนือและเอเชียตะวันออกอย่างแนบแน่นด้วย
[3] เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๓๐๐ พราหมณ์ผู้หนึ่งนามว่า สังกราจารย์ ซึ่งเป็นนักปราชญ์และนักสอนศาสนาคนสำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ได้เริ่มต้นเผยแผ่ศาสนาฮินดูอย่างเอาจริงเอาจัง โดยนำเอาหลักปรัชญาของหลายศาสนาในอินเดียรวมทั้งพระพุทธศาสนาเข้าผสมผสานกัน อีกทั้งได้รวบเอาการบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเข้าเป็นอีกปางหนึ่งของนารายณ์อวตารด้วย แล้วกล่าวอ้างว่า พระพุทธศาสนากับศาสนาฮินดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้พุทธศาสนิกชนในอินเดียต่างหันไปนับถือศาสนาฮินดูมากขึ้น ต่อมาสังกราจารย์ ผู้นี้ได้เดินทางเข้าไปประกาศศาสนาในประเทศเนปาลด้วย และมีส่วนทำให้พระพุทธศาสนาในเนปาลอ่อนกำลังไปมาก จนถึงเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๑๕๐๐ ได้มีการนำเอาลัทธิตันตระของฮินดูเข้ามาแทรกซึมเข้าในพระพุทธศาสนาซ้ำอีก พระพุทธศาสนายุคนี้จึงได้ชื่อว่า “พุทธตันตระ” ทำให้พระพุทธศาสนาถึงแก่ความเสื่อมยิ่งขึ้นอีก พระพุทธศาสนาที่ถูกแทรกซึมโดยลัทธิตันตระของฮินดูนี้ได้นำเอาประเพณี พิธีกรรมอันลึกลับน่ากลัว และลามกอนาจารมากำหนดเป็นข้อปฏิบัติ 5 ประการ ได้แก่ ๑) มางสะ ได้แก่การกินเนื้อ ๒) มัตสยา การกินปลา ๓) มุทรา ได้แก่การแสดงท่ายั่วยวนให้เกิดกิเลสตัณหา ๔) มัทยะ ได้แก่การดื่มน้ำเมา ๕) ไมถุน ได้แก่การเสพเมถุนธรรม นอกจากนี้ในหนังสือ ศรีสมาช (คุยหสมาช) สาธนมาลา และชญานุสิทธิ ซึ่งเป็นคัมภีร์ของนิกายวัชรยาน ได้สอนให้มีการเหยียบย่ำแม้กระทั่งศีล ห้าโดยสนับสนุนให้มีการฆ่า การลัก การเสพเมถุนธรรม และการดื่มน้ำเมาครบถ้วน ข้อปฏิบัติ ๕ ข้อของลัทธิตันตระนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญซึ่งผู้ที่จะเข้าพิธีตามลัทธิตันตระจะต้องปฏิบัติ ๕ ข้ออย่างเคร่งครัด เพราะถือว่าเป็นการบูชาพระศักติ ในสถานที่บางแห่ง เมื่อผู้หญิงจะไหว้พระจะต้องเปลื้องเครื่องแต่งตัวออกทั้งหมดแล้วแสดงการร่ายรำไปจนเสร็จพิธี เป็นที่ยอมรับกันว่าปัญหาอันเกิดเนื่องมาจากลัทธิตันตระนี้เป็นเครื่องกีดกันไม่ให้คนไปสวรรค์นิพพานได้ เนื่องจากลัทธินี้มีแนวคิดว่าเนื่องจากมนุษย์ยังติดข้องในสิ่งเหล่านี้มาก การหาทางออกจากิเลสเหล่านี้จึงทำได้เพียงหาความชำนาญในสิ่งเหล่านี้ให้มากเท่าที่จะมากได้ เพื่อให้เกิดความเบื่อหน่ายและคลายกำหนัดยินดีไปเองซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการขัดต่อหลักการและแนวทางปฏิบัติในพระพุทธศาสนาโดยตรง อนึ่งผู้นับถือลัทธินี้บางคนยังเห็นเพิ่มเติมขึ้นไปอีกว่าผู้ที่ยังไม่ผ่านการเสพเมถุนธรรมจะไปนิพพานไม่ได้ เพราะจิตใจยังลังเลอยู่ ต้องเสพเมถุนธรรมให้ถึงที่สุดจนเกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายแล้ว ก็เป็นการง่ายที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพาน ลัทธิตันตระ ในปัจจุบันนี้มีผู้ปฏิบัติแพร่หลายในอินเดียตะวันออก คือในแคว้นเบงกลอล อัสสัม โอริสสา และ บิฮาร์ มหาวิทยาลัยวิกรมศิลา เป็นศูนย์ศึกษาลัทธินี้ และต่อมาลัทธินี้ได้แผ่เข้าไปสู่ประเทศธิเบตด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น