ศาสนาแบบจีน
1. ลัทธิเต๋า หรือ ศาสนาเต๋า (จีน: 道教 Dàojiao; อังกฤษ: Taoism) เป็นศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติ โดยคำว่า เต๋า แปลว่า "มรรค" หรือ "หนทาง" ซึ่งไม่สามารถรู้ได้ด้วยอักษรและชื่อ ถ่ายทอดไม่ได้ เล่าจื๊อ ศาสดาของศาสนาเต๋าได้เขียนข้อความสื่อถึง "เต๋า" ไว้ในชื่อคัมภีร์ชื่อ "เต้าเต๋อจิง" (道德經 Dàodéjīng)
แนวคิดสำคัญอีกประการหนึ่งในศาสนาเต๋าคือเรื่อง "หยินหยาง" ซึ่งหมายถึง ธรรมชาติที่เป็นของคู่ตรงกันข้าม สิ่งที่เป็นของคู่
หยิน (陰 yīn) คือพลังลบ มีลักษณะสีดำ เป็นพลังความมืด พบในทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ความหนาวเย็น ความมืด อ่อนนุ่ม ชื้นแฉะ ลึกลับ และเปลี่ยนแปลง เช่น เงามืด น้ำ ฯลฯ หยาง (陽 yáng) คือพลังบวกมีลักษณะสีขาว เป็นพลังแสงสว่าง พบในทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ความอบอุ่น สว่างไสว มั่นคง สดใส เช่น ดวงอาทิตย์ ไฟ ฯลฯ
เอกภพเกิดขึ้นโดยมีหยินและหยาง จากการปะทะกันของสองสิ่งนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็อุบัติขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างมีพลังทั้งสองนี้ทั้งนั้น บางครั้งหยินอาจมีพลังแข็งแรง แต่บางครั้ง หยาง ก็มีพลังมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ท่อนไม้ ตามปกติเป็นหยิน แต่เมื่อโยนเข้าไปในกองไฟ ก็เปลี่ยนรูปเป็นหยางไป ในชีวิตหยินและหยางก่อให้เกิดความล้มเหลวและความสำเร็จ เป็นต้น เช่นเดียวกัน หยางและหยินไม่ใช่เป็นตัวแทนของความดีและความชั่ว แต่ทั้งสองนี้มีความจำเป็นต่อกฎเกณฑ์และระเบียบของเอกภพ ทั้งสองนี้ไม่ใช่อยู่ในภาวะปะทะกันตลอดเวลา แต่ยามใดมีความสามัคคีกัน ทั้งสองอย่างนี้ก็เป็นสิ่งดีด้วยกัน
2. ลัทธิขงจื๊อ หรือศาสนาขงจื๊อ ชุนชิวแต่ภายหลังพัฒนาส่วนที่เป็นอภิปรัชญา และจักรวาลวิทยาในสมัยราชวงศ์ฮั่นหลังการละ ทิ้งลัทธิฟาเฉียในประเทศจีนหลังราชวงศ์ฉิน ลัทธิขงจื๊อได้กลายมาเป็นอุดมการณ์แห่งรัฐอย่างเป็นทางการของจีน กระทั่งถูกแทนที่ด้วย "หลัก 3 ประการแห่งประชาชน" เมื่อมีการสถาปนาสาธารณรัฐจีน ตามด้วยคอมมิวนิสต์ลัทธิเหมาหลังสาธารณรัฐจีนถูกแทนที่ด้วยสาธารณรัฐประชาชนจีนในจีนแผ่นดินใหญ่
มนุษยนิยมเป็นแก่นของลัทธิขงจื๊อ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ว่า มนุษย์สามารถสอน พัฒนาและทำให้สมบูรณ์ได้ผ่านความพยายามส่วนตนและร่วมกับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฝึกตนและการเกิดขึ้นเอง (self-creation) ลัทธิขงจื๊อมุ่งเน้นการพัฒนาคุณธรรมและการธำรงรักษาจริยธรรม โดยมีหลักพื้นฐานที่สุด คือ เหริน (rén) ยี่ (yì) และหลี่ (lǐ) เหรินเป็นข้อผูกมัดปรัตถนิยมและความมีมนุษยธรรมแก่ปัจเจกบุคคลอื่นภายในชุมชน ยี่เป็นการค้ำจุนความชอบธรรมและอุปนิสัยทางศีลธรรมในการทำดี และหลี่เป็นระบบจารีตและความเหมาะสมซึ่งตัดสินว่า บุคคลควรปฏิบัติตนอย่างไรให้เหมาะสมภายในชุมชน ลัทธิขงจื๊อถือว่า บุคคลควรยอมถวายชีวิตให้ หากจำเป็น เพื่ออุทิศแก่การค้ำจุนค่านิยมทางศีลธรรมหลัก เหรินและยี่ ผู้นับถือลัทธิขงจื๊ออาจเป็นผู้เชื่อในศาสนาพื้นบ้านของจีนด้วยก็ได้ เพราะลัทธิขงจื๊อเป็นอุดมการณ์มนุษยนิยมและอเทวนิยม และไม่ข้องเกี่ยวกับความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติหรือในพระเจ้าที่มีตัวตน
หลายวัฒนธรรมและประเทศได้รับอิทธิพลอย่างมากจากลัทธิขงจื๊อ รวมทั้ง จีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่นและเวียดนาม เช่นเดียวกับอีกหลายดินแดนที่ชาวจีนเข้าไปตั้งรกรากจำนวนมาก เช่น สิงคโปร์ แม้แนวคิดลัทธิขงจื๊อจะแพร่หลายในพื้นที่เหล่านี้ มีคนส่วนน้อยนอกแวดวงวิชาการที่ระบุว่าตนเองเป็นผู้นับถือลัทธิขงจื๊อ และกลับเห็นว่าจริยศาสตร์ขงจื๊อเป็นแนวปฏิบัติเติมเต็มสำหรับอุดมการณ์และความเชื่ออื่นมากกว่า ซึ่งมีทั้งประชาธิปไตย มากซิสต์ ทุนนิยม ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาพุทธ
ประวัติและพัฒนาการ
นับตั้งแต่ขงจื๊อเริ่มรวบรวมตำราและคัมภีร์โบราณได้ห้าเล่ม คือ ซือจิง หรือคัมภีร์กวีนิพนธ์ ซูจิงหรือประวัติศาสตร์โบราณ หลี่จี้ หรือบันทึกว่าด้วยธรรมเนียมประเพณี อี้จิงหรือคัมภีร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงและชุนชิว หรือประวัติศาสตร์สมัยชุนชิว แล้วได้ตั้งสำนักวิชาให้การศึกษาแก่ประชาชน หลังขงจื๊อเสียชีวิตไปแล้ว เม่งจื๊อหรือเมิ่งจื่อ กลายเป็นนักคิดคนสำคัญของสำนักวิชาขงจื๊อหรือหยู เม่งจื๊อได้สังเคราะห์แนวคิดจากคัมภีร์ทั้งห้า ที่เน้นเสนอแนะให้ผู้ปกครองยึดมั่นคุณธรรมและสันติวิธี ยุติศึกสงครามที่กำลังดำเนินอยู่และเดินทางไปเสนอความเห็นแก่ผู้ปกครองในอาณาจักรต่าง ๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก ความคิดสำคัญของเม่งจื๊อคือความเชื่อในความดีงามตามธรรมชาติของมนุษย์ การส่งเสริมการศึกษาและยังเสนอว่าผู้ปกครองต้องมีคุณธรรมเหนือกว่าประชาชน อีกทั้งประชาชนพึงเคารพนับถือผู้ปกครองที่มีคุณธรรม หากผู้ปกครองไร้คุณธรรม การล้มล้างเป็นสิ่งที่ชอบธรรม
นักคิดคนสำคัญอีกคนของสำนักขงจื๊อคือซุนจื๊อหรือสวินจื่อ ซึ่งเสนอให้อบรมสั่งสอนผู้คนให้มีคุณธรรมเคร่งครัด โดยเห็นว่าธรรมเนียมประเพณีเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีคุณธรรมมากขึ้น ซุนจื๊อเชื่อว่า "มนุษย์มีธรรมชาติที่ชั่วร้ายเป็นพื้นฐาน" ทำให้ต้องมีการควบคุมและอบรมสั่งสอนให้ยึดมั่นคุณธรรมอย่างจริงจัง
นักคิดและปัญญาชนสำนักวิชาขงจื๊อกลับถูกปราบปรามกวาดล้างครั้งใหญ่ในสมัยราชวงศ์ฉินหรือจักรพรรดิจิ๋นซี ในเหตุการณ์ "เผาตำรา ฝังบัณฑิต" เพราะเห็นว่าปัญญาชนขงจื๊อต่อต้านการปกครองและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าไร้คุณธรรม อย่างไรก็ตาม ลัทธิขงจื๊อได้รับการฟื้นฟูและมีบทบาทอีกครั้งในสมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อน ค.ศ.- ค.ศ. 220) และกลายเป็นลัทธิคำสอนที่มีอิทธิพลต่อการเมืองการปกครองของจีนมากที่สุด รวมถึงได้รับการส่งเสริมให้แพร่หลายในสังคมในฐานะหลักในการดำเนินชีวิตของผู้คน คัมภีร์และตำราของสำนักวิชาขงจื๊อกลายเป็นตำราเรียนและวิชาหลักของชาวจีนตั้งแต่โบราณจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19
3. ลัทธิบัวขาว (จีน: 白蓮教 ไป๋เหลียนเจี้ยว) เป็นขบวนการทางศาสนาและการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศจีนสมัยราชวงศ์หยวน เป็นลัทธิบูชาพระแม่องค์ธรรมเป็นพระเป็นเจ้าสูงสุด และรอคอยยุคพระศรีอริยเมตไตรย ซึ่งเป็นอุตมรัฐที่เชื่อว่าสังคมจะรุ่งเรืองสงบสุขตลอดไป
ประวัติ
ลัทธิบัวขาวเกิดขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่เป็นสมัยราชวงศ์หยวน ที่จักรวรรดิมองโกลปกครองแผ่นดินจีน ชาวฮั่นในสมัยนั้นไม่พอใจที่คนต่างชาติมาปกครองอย่างกดขี่ จึงรวมกลุ่มกันตั้งเป็นสมาคมทางศาสนาและดำเนินการเคลื่อนไหวทางการเมื่อเพื่อปลดปล่อยประเทศจากการปกครองของคนต่างชาติ แนวทางการเมืองนี้ทำให้ลัทธิบัวขาวถูกทางการปราบปรามอย่างหนัก
ศาสนิกชนของลัทธิบัวขาวได้ร่วมกันก่อกบฏโพกผ้าแดงขึ้นในช่วง ค.ศ. 1351 – 1368 จู หยวนจางกับสมัครพรรคพวกก็เข้าร่วมขบวนการด้วย กลุ่มกบฏสามารถโค่นล้มราชวงศ์หยวนได้เป็นผลสำเร็จในเวลาต่อมา และส่งเสริมราชวงศ์หมิงให้ปกครองแผ่นดินสีบแทน โดยจู หยวนจางได้รับอาณัติสวรรค์ให้ปกครองแผ่นดิน เฉลิมพระนามจักรพรรดิหงหวู่
เมื่อราชวงศ์หมิงล่มสลายและถูกราชวงศ์ชิงขึ้นมาปกครองแทน ลัทธิบัวขาวก็ก่อกบฏบัวขาวอีกครั้งในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เพื่อต่อต้านราชวงศ์ชิงที่กดขี่เรื่องภาษีและฟื้นฟูราชวงศ์หมิง แต่ก็ถูกปราบปรามอย่างหนักจนสลายตัวไปในปี ค.ศ. 1804 ศาสนิกชนถูกจับกุมและประหารชีวิต ตำราคัมภีร์ต่าง ๆ ถูกเผาทำลายไปเป็นจำนวนมาก
ความเชื่อ
ความเชื่อหลักของลัทธิบัวขาวคือการบูชาพระเป็นเจ้าคือพระแม่องค์ธรรม พระผู้สร้างสรรพสิ่งและให้สรรพชีวิตทั้งหลายมาเกิดบนโลก ชีวิตทั้งหลายจึงเป็นบุตรของพระแม่องค์ธรรม ล้วนแต่มีธรรมชาติบริสุทธิ์มาแต่เดิม แต่ต่อมาสรรพสัตว์กลับใช้ชีวิตหลงผิด สูญเสียธรรมชาติเดิมจนไม่อาจกลับไปหาพระแม่องค์ธรรมได้
พระแม่องค์ธรรมจึงเมตตาต่อสรรพสัตว์ด้วยการส่งพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ลงมาบนโลกเพื่อช่วยแนะนำสั่งสอนมนุษย์ให้ปฏิบัติในหนทางที่ถูกและกลับไปสู่พระแม่องค์ธรรมได้ ในการนี้พระแม่องค์ธรรมได้ส่งพระทีปังกรพุทธเจ้าและพระศากยมุนีพุทธเจ้ามาช่วยเวไนยสัตว์ได้จำนวนหนึ่งแล้ว แต่สรรพสัตว์ส่วนมากยังตกค้างอยู่ พระแม่จึงสัญญาต่อมนุษย์ว่าต่อไปจะส่งพระศรีอริยเมตไตรยลงมาเพื่อช่วยเหลือเวไนยสัตว์ที่เหลือทั้งหมด
ในท้ายยุคของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ จะมีการชุมนุมอริยะบนสวรรค์เพื่อสรุปผลการช่วยสรรพสัตว์ การชุมนุมท้ายสมัยพระทีปังกรเรียกว่า ชิงหยางฮุ่ย (ตะวันเขียว) ท้ายสมัยพระศากยมุนีเรียกว่า หงหยางฮุ่ย (ตะวันแดง) และท้ายสมัยพระเมตไตรยเรียกว่า ไป๋หยางฮุ่ย(ตะวันขาว) ลัทธิบัวขาวเชื่อว่าตนเองกำลังอยู่ในปลายสมัยตะวันแดง จึงมุ่งหวังและรอคอยการมาถึงของสมัยตะวันขาว ซึ่งพระศรีอารย์จะลงมาโปรดชี้แนะการบำเพ็ญวิถีธรรมที่ถูกต้องเพื่อกลับสู่บ้านเดิม
แม้ลัทธิบัวขาวจะสลายตัวไปจากการปราบปรามของทางการชิง แต่แนวคิดและขนบของลัทธิบัวขาวยังสืบทอดมาอีกในหลายลัทธิ โดยเฉพาะในลัทธิเซียนเทียนเต้า ซึ่งหวง เต๋อฮุย ได้ก่อตั้งขึ้นในเวลาต่อมา ลัทธินี้ยังคงรักษาความเชื่อหลักได้แก่การบูชาพระแม่องค์ธรรม พระผู้สร้างสรรพสิ่ง และส่งสรรพชีวิตทั้งหลายมาเกิดบนโลก และรอคอยการมาถึงของยุคพระศรีอริยเมตไตรยซึ่งเชื่อว่าเป็นสังคมในอุดมคติที่ลัทธินี้จะสร้างขึ้นสำเร็จในอนาคต
4.ลัทธิเซียนเทียนเต้า (จีน: 先天道 Xiāntiān Dào) เป็นลัทธิศาสนาหนึ่งที่หวง เต๋อฮุย ก่อตั้งขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง โดยสืบความเชื่อมาจากลัทธิบัวขาวในสมัยราชวงศ์หยวน นอกจากนี้ยังรับคำสอนมาจากลัทธิหลัวด้วย ลัทธิเซียนเทียนเต้าเป็นต้นกำเนิดของอีก 5 ลัทธิที่แยกตัวออกมาภายหลัง ได้แก่ ลัทธิอนุตตรธรรม ลัทธิถงซั่นเซ่อ ลัทธิฉือฮุ่ยถัง ลัทธิเทียนเต๋อเซิ่ง และลัทธิเต้าเยวี่ยน
อักษร 母 หมู่ หมายถึง 'พระแม่องค์ธรรม'
พระเป็นเจ้าตามความเชื่อของ
ลัทธิเซียนเทียนเต้าและอีก 5 ลัทธิที่แตก
แขนงออกมา
ประวัติ
ในสมัยราชวงศ์หยวนได้เกิดลัทธิบัวขาวขึ้น ซึ่งนับถือพระแม่องค์ธรรมคือพระเป็นเจ้า ถือการกินเจ รอคอยการมาเกิดของพระศรีอริยเมตไตรย และต่อต้านการปกครองกดขี่ของต่างชาติคือชาวมองโกลในขณะนั้น ราชวงศ์หยวนจึงปราบปราบลัทธิบัวขาวอย่างหนักจนลัทธินี้กลายเป็นองค์กรใต้ดิน แต่ลัทธิยังคงแพร่หลายอยู่ต่อมา
ถึงสมัยราชวงศ์ชิง หวง เต๋อฮุย (黃德輝, ค.ศ. 1624–1690) ซึ่งนับถือลัทธิบัวขาวได้แยกออกไปตั้งลัทธิศาสนาใหม่ในชื่อเซียนเทียนเต้า คำสอนหลักยังคงเน้นเรื่องพระแม่องค์ธรรม การถือพรต และการกินเจ และได้นำคำสอนของลัทธิหลัวมาผสมผสานด้วย โดยหวง เต๋อฮุย ประกาศตนเป็นจู่ซือรุ่นที่ 9 สืบจากนิกายเซนซึ่งถือพระโพธิธรรมเป็นจู่ซือองค์ที่ 1 ลัทธิเซียนเทียนเต้าได้แพร่หลายต่อมาและแตกแขนงออกไปอีก 5 ลัทธิ โดยลัทธิอนุตตรธรรมและลัทธิถงซั่นเซ่อยังคงถือหวง เต๋อฮุย เป็นจู่ซือรุ่นที่ 9 และยึดถือจู่ซือสายเดียวกันจนถึงหยาง หวนซวี จู่ซือรุ่นที่ 13 นับจากนี้จึงนับจู่ซือแตกต่างกัน ส่วนอีกสามลัทธิที่เหลือไม่ได้ยึดถือสายธรรมาจารย์เดียวกัน
ลัทธิเซียนเทียนเต้าเชื่อว่าพระแม่องค์ธรรมคือพระเป็นเจ้าพระผู้สร้างโลก และสรรพชีวิตไว้รวม 9.6 พันล้านชีวิต แต่ด้วยความหลงลืมธรรมชาติเดิมแท้ของตนจึงต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ และไม่อาจกลับสู่สวรรค์ได้ พระแม่องค์ธรรมจึงส่งพระพุทธเจ้า ศาสดา และนักปราชญ์ทั้งหลายมาเกิดบนโลกเพื่อฉุดช่วยสรรพสัตว์ให้กลับไปสู่ธรรมชาติเดิม โดยแบ่งออกเป็นสามยุค ยุคแรกเป็นยุคพระทีปังกรพุทธเจ้าได้ช่วยสรรพสัตว์ได้ 200 ล้านชีวิต ต่อมาเป็นยุคพระศากยมุนีพุทธเจ้าช่วยสรรพสัตว์ได้อีก 200 ล้านชีวิต เหลืออีก 9.2 พันล้านชีวิตพระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้าในอนาคตจะเสด็จมาโปรดนำกลับสู่สวรรค์
ผู้นับถือลัทธิเซียนเทียนเต้าจะอุทิศตนช่วยเหลือพระแม่องค์ธรรมเพื่อนำสรรพสัตว์กลับสู่สวรรค์ดังเดิม โดยสอนเน้นหลักจริยธรรม การทำบุญ นับถือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยมีพระแม่องค์ธรรมเป็นสิ่งสูงสุด และรับคำสอนจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผ่านทางร่างทรงซึ่งฝึกตนมารับหน้าที่นี้โดยเฉพาะ
ลัทธิเซียนเทียนเต้า (รวมถึงลัทธิที่แยกมาภายหลัง) ใช้คำสอนซึ่งเป็นการผสานความเชื่อของ 3 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ลัทธิขงจื๊อ และลัทธิเต๋า ต่อมาได้เอาคำสอนของศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามมาใช้ด้วย จึงนับเป็น 5 ศาสนา และเชื่อว่าคำสอนของลัทธิตนไม่ใช่ศาสนา แต่เป็นสัจธรรมแท้สากลของทุกศาสนา
5. ลัทธิอนุตตรธรรม (จีน: 一貫道 Yīguàn Dào อีก้วนเต้า) ในประเทศไทยเรียกว่าวิถีอนุตตรธรรม เป็นศาสนาที่หวัง เจฺว๋อี ก่อตั้งขึ้นในประเทศจีนสมัยราชวงศ์ชิงเมื่อปี ค.ศ. 1877 คำสอนเป็นการผสานความเชื่อระหว่างลัทธิขงจื๊อ ลัทธิเต๋า และศาสนาพุทธแบบจีน ทั้งยังยอมรับขนบที่มาจากต่างประเทศ เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลามด้วย
ลัทธิอนุตตรธรรมเกิดขึ้นและแพร่หลายที่จีนแผ่นดินใหญ่ ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ลัทธิอนุตตรธรรมถูกรัฐบาลกวาดล้างอย่างหนัก จึงย้ายไปเผยแผ่ที่ไต้หวันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 ในปัจจุบันถือเป็นศาสนาที่มีศาสนิกชนมากที่สุดเป็นอันดับสามในไต้หวัน (รองจากศาสนาพุทธและศาสนาเต๋า) ในประเทศจีนลัทธินี้ยังไม่ได้รับการยอมรับ ส่วนไต้หวันได้รับรองในปี ค.ศ. 1987 ปัจจุบันลัทธิอนุตตรธรรมมีศาสนิกชนมากกว่า 10 ล้านคน ใน 86 ประเทศทั่วโลก
ประวัติ
แม้ผู้นับถือลัทธิอนุตตรธรรมจะเชื่อว่าธรรมะของตนสืบมาจากศาสนาพุทธนิกายเซน แต่ในทางวิชาการประวัติศาสตร์ถือว่าลัทธิอนุตตรธรรมแยกตัวมาจากลัทธิเซียนเทียนเต้า ซึ่งลัทธิเซียนเทียนเต้าสืบคำสอนมาจากลัทธิบัวขาวและลัทธิหลัว
ลัทธิบัวขาวเกิดขึ้นสมัยราชวงศ์หยวน ต่อมาถูกทางการกล่าวหาว่าบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ จึงถูกกวาดล้างอย่างหนักจนต้องปฏิบัติการเป็นองค์กรใต้ดิน ต่อมาหวง เต๋อฮุย ได้ตั้งลัทธิเซียนเทียนเต้าโดยการผสานความเชื่อของลัทธิบัวขาวกับลัทธิหลัวเข้าด้วยกัน และประกาศตนเป็นธรรมาจารย์รุ่นที่ 9 โดยสืบมาจากนิกายเซน เน้นวัตรปฏิบัติเน้นเรื่องการกินเจ การถือพรต
ต่อมาหวัง เจฺว๋อี สาวกลัทธิเซียนเทียนเต้า ได้แยกออกไปตั้งสำนักใหม่ที่เมืองชิงโจวบ้านเกิดของตน ชื่อสำนักตงเจิ้น (จีน: 東震堂) ปี ค.ศ. 1877 หวัง เจว๋อีอ้างว่าได้รับอาณัติสวรรค์จากพระแม่องค์ธรรมแต่งตั้งเป็นธรรมาจารย์รุ่นที่ 15 เขาเน้นคำสอนของลัทธิขงจื๊อเป็นหลัก สำนักของหวังเริ่มเป็นที่แพร่หลาย ทำให้ทางการราชวงศ์ชิงระแวงว่าจะก่อกบฏ จึงดำเนินการปราบปรามสำนักนี้อย่างหนัก เมื่อหวัง เจว๋อี ถึงแก่กรรมแล้ว หลิว ชิงซฺวีศิษย์ของเขาได้ปกครองสำนักต่อแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการปราบปรามทางการ เขาจึงเปลี่ยนชื่อสำนักเป็นอีก้วนเต้าในปี ค.ศ. 1882 (ในประเทศไทยเรียกว่าวิถีอนุตตรธรรม)
ตำแหน่งธรรมาจารย์ได้สืบทอดมาจนถึงสมัยของจาง เทียนหรัน ธรรมาจารย์รุ่นที่ 18 เขาได้ย้ายศูนย์กลางของลัทธิไปที่เมืองเทียนจินในปี ค.ศ. 1935 เมื่อญี่ปุ่นเข้ารุกรานจีน สาวกหลายคนของลัทธิได้เข้าสนับสนุนญี่ปุ่น จึงทำให้ลัทธินี้รุ่งเรืองมากขึ้นในพื้นที่ที่ญี่ปุ่นยึดครอง กองทัพจีนของพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งร่วมกันต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น จึงปราบปรามลัทธิอนุตตรธรรมด้วย จางเปลี่ยนชื่อลัทธิกลับไปเป็น "เทียนเต้า" เมื่อปี ค.ศ. 1940 และได้ใช้ทั้งสองชื่อสืบมาจนปัจจุบัน เมื่อเทียนหรันถึงแก่กรรมแล้วซุน ฮุ่ยหมิง ธรรมาจารย์รุ่นที่ 18 อีกคนหนึ่งก็ปกครองสำนักต่อมา แต่ลัทธิยังคงถูกปราบปรามอย่างหนักจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 ส่งผลให้ลัทธิอนุตตรธรรมหมดไปจากประเทศจีนโดยสิ้นเชิงในปลายทศวรรษนั้น ลัทธิอนุตตรธรรมจึงต้องย้ายไปเผยแผ่ที่ประเทศไต้หวัน ต่อมาจึงแพร่หลายในชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศต่าง ๆ และประชาชนพื้นเมืองในประเทศนั้นจนปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น