วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

หทะโยคะ และกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)*

หทะโยคะ และกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)*

กุมภกะ หรือการกลั้นหายใจมีความสำคัญมากในการฝึกปราณายามะ จนแทบกล่าวได้ว่า ปราณายามะก็คือกุมภกะ (การกลั้นหายใจ) นั่นเอง หากเราแบ่งประเภทของปราณายามะจากมุมมองของการกลั้นหายใจ ก็จะสามารถแบ่งปราณายามะออกเป็น 2 รูปแบบได้ดังต่อไปนี้

(1) แบบพาหยะ หรือการกลั้นหายใจหลังจากหายใจออก (พาหยปราณายามะ)

ในโยคะ การหายใจออกจะทำให้ผู้ฝึกสมองว่าง และทำให้อัตตาของผู้ฝึกสงบลง การหายใจออกในปราณายามะของโยคะจึงเป็นการกระทำอันศักดิ์สิทธิ์ของผู้ฝึกในการศิโรราบ มอบตัวตนของผู้ฝึกต่อจักรวาล และยังเป็นการละตัวตนอย่างหนึ่งด้วย โดยที่ โยคะเชื่อว่า การกลั้นหายใจหลังจากการหายใจออกจะสามารถนำความสงบนิ่งมาสู่จิตใจ และอารมณ์ของผู้ฝึกได้ โดยเริ่มจากผู้ฝึกต้องหายใจออกช้าๆ จนสุด หยุดชั่วขณะ จากนั้นจงหายใจออกอีกครั้ง เพราะจะมีลมเหลืออยู่ในปอดเล็กน้อยเสมอ ลมที่เหลือนี้โยคะเชื่อว่าจะมีตะกอนของความทรงจำที่เป็นพิษ และอัตตาดำรงอยู่

ในช่วงสั้นๆ ของการหายใจออกครั้งหลังนั้น ผู้ฝึกจะต้อง “ทิ้ง” “ละ” ตะกอนเหล่านี้ออกไป และสัมผัสกับภาวะที่ลึกซึ้งจากความรู้สึกโล่งเบาที่เกิดขึ้นจากการได้ “ละ” “วาง” และรู้สึกถึงความสงบและความว่างที่เกิดขึ้นตามมาจากการได้ “ละ” หลังจากหายใจออกอีกครั้งนั้น

ผู้ฝึกต้องเข้าใจว่า โยคะมองว่า เมื่อเราหายใจเข้า ศักยภาพทั้งหมดของเราจะถูกเติมเต็ม และถูกยกขึ้นราวกับเป็นถ้วยที่ปรี่ไปด้วยพลังปราณที่มอบให้แด่ความศักดิ์สิทธิ์ของจักรวาล และเมื่อเราหายใจออกช้าๆ จนสุด หยุดชั่วขณะแล้วหายใจออกอีกครั้ง เราจะสัมผัสได้ถึง “ตัวตน” ของเราที่ว่างลง อันเป็นความว่างอันศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นสุญตาแบบชั่วคราวได้ อนึ่งในการฝึกปราณายามะ ถ้าผู้ฝึกจะฝึกแบบพาหยะหรือการกลั้นหายใจหลังจากหายใจออก ผู้ฝึกก็ควรที่จะฝึกแบบนี้แบบเดียวเป็นหลักไปพักใหญ่จนกว่าจะชำนาญ ในระหว่างนั้น ผู้ฝึกไม่ควรปะปน หรือฝึกร่วมกับการฝึกปราณายามะแบบอื่น

(2) แบบอาภยันตระ หรือการกลั้นหายใจหลังจากหายใจเข้า (อาภยันตรปราณายามะ)

จะว่าไปแล้ว การฝึกกลั้นหายใจหลังจากหายใจเข้าเป็นการฝึกปราณายามะที่แพร่หลายที่สุด ที่ผู้ฝึกควรจะฝึกให้ได้ และชำนาญเสียก่อนที่จะไปฝึกแบบพาหยะข้างต้น เพราะการฝึกกลั้นหายใจหลังจากหายใจเข้า จะทำให้พลังงานหรือปราณถูกซึมซับเข้าสู่ร่างกายอย่างเต็มที่ และกระจายไปสู่ระบบทั้งหมดผ่านการไหลเวียนของเลือด โยคะเชื่อว่า การหายใจเข้าเป็นการยืดและขยายออกของจิตวิญญาณ โดยการหายใจเข้า จิตวิญญาณข้างในสุดจะค่อยๆ เผยตัวออกมาโอบกอดเปลือกหุ้มแต่ละชั้น (กายทิพย์แต่ละชั้น) ของมันขึ้นสู่ชั้นผิวหนังของกายหยาบ (กายเนื้อ) ประหนึ่งคนรักที่กำลังโอบกอดผู้เป็นที่รักของตน

การกลั้นหายใจหลังจากหายใจเข้า ในมุมมองของโยคะ จึงเป็นการหลอมรวมกันของคนรัก (จิตวิญญาณ) กับผู้เป็นที่รัก (กายแต่ละชั้น ทั้งกายเนื้อและกายทิพย์ชั้นต่างๆ ข้างใน) จะเห็นได้ว่า ปราณายามะนั้นเป็นมากกว่าการฝึกหายใจในทางสรีระอย่างแน่นอน

เพราะในทันทีที่ผู้ฝึกจดจ่อใส่ใจอยู่กับการเคลื่อนไหวภายในของลมหายใจแล้ว มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่ผู้ฝึกจะใช้ประสาทสัมผัสภายนอกไปด้วยในขณะเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เอง ปราณายามะจึงเป็นการเริ่มต้นถอนจิตและอินทรีย์ของผู้ฝึกออกจากการเกี่ยวข้องกับสิ่งภายนอก นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม ปราณายามะจึงทำให้จิตใจของผู้ฝึกเกิดความสงบได้

การจะฝึกปราณายามะให้ได้ผลเต็มที่ ผู้ฝึกจะต้องมีพลังและความมั่นคงของกระแสพลังในร่างกายผ่านความชำนาญในการฝึกอาสนะเสียก่อน เพื่อให้ร่างกายของผู้ฝึกมีความต้านทานการเพิ่มขึ้นของกระแสพลัง ซึ่งมาจากการฝึกปราณายามะได้ โยคะเชื่อว่าปราณคือลมหายใจของพระเจ้าหรือเทพเจ้า ผู้ฝึกปราณายามะจะสัมผัสกับ “ตรีมูรติ” อยู่ทุกขณะจิต โดยที่การหายใจเข้าคือพลังแห่งการสร้าง (พระพรหม) การกลั้นหายใจคือ พลังในการควบคุม (พระนารายณ์) และการหายใจออกคือพลังในการทำลายสิ่งไม่บริสุทธิ์ (พระศิวะ) มันจึงเป็นพันธกิจของโยคะโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปราณายามะที่จะนำพาผู้ฝึกหยั่งถึงความลี้ลับนี้

ผู้ฝึกต้องไม่ลืมว่า การฝึกอาสนะจะปกป้องผู้ฝึกจากอันตราย และความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของกระแสพลังที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการฝึกปราณายามะ เพราะฉะนั้น ผู้ฝึกควรมีอารมณ์ที่มั่นคง และร่างกายที่มั่นคงเสียก่อนที่จะเริ่มฝึกปราณายามะอย่างจริงจัง หากผู้นั้นยังเป็นคนที่กระดอนไปมาระหว่างความสุดโต่งของพฤติกรรมอารมณ์และจิตใจ นั่นย่อมแสดงว่า คนผู้นั้นยังไม่พร้อมสำหรับปราณายามะ ควรกลับไปฝึกอาสนะให้ดีเสียก่อน

ขอย้ำอีกครั้งว่า ปราณายามะไม่ใช่การหายใจตามปกติ อีกทั้งไม่ใช่การหายใจลึกๆ เท่านั้น แต่มันคือศิลปะในการหลอมรวมสมองกับหัวใจ คือศิลปะในการเชื่อมปัญญาของปัจเจกเข้ากับปัญญาจักรวาล นอกจากนี้ ปราณายามะยังเป็นศิลปะในการเสริมสร้างพลังจักรวาล โดยผ่านการหลอมรวมธาตุที่ตรงกันข้ามสองชนิดคือ ไฟและน้ำในตัวของผู้ฝึก ไฟคือคุณสมบัติของจิตใจ ส่วนน้ำคือคุณสมบัติซึ่งตรงกับสรีระร่างกายโดยปกติ น้ำทำให้ไฟดับ ส่วนไฟทำให้น้ำระเหย ดังนั้น มันจึงไม่อาจนำไฟกับน้ำมารวมกันได้โดยง่าย

ดังนั้น ธาตุลมจึงเป็นตัวเชื่อมต่อ ซึ่งการไหลเวียนของมันภายในปอดจะทำให้เกิดกระแสพลังซึ่งหลอมรวมน้ำกับไฟเข้าด้วยกัน และก่อเกิดกระแสพลังของปราณ กระแสพลังนี้จะแผ่ซ่านผ่านระบบประสาทและกระแสเลือดกระจายไปทั่วร่าง ทำให้เซลล์ทุกเซลล์ฟื้นคืนความมีชีวิตชีวา ขณะที่ธาตุดินในรูปของกายคือ ฐานของการก่อกำเนิดพลัง ส่วนธาตุที่ห้าหรืออากาศธาตุที่เป็นที่ว่าง ทำให้เกิดพื้นที่ว่างภายใน ซึ่งจำเป็นสำหรับการกระจายของพลังงานในร่างกาย ความจำเป็นของพื้นที่ว่าง (อากาศธาตุ) ที่กลมกลืน และสมดุลยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของกระดูกสันหลัง และกล้ามเนื้อที่ค้ำจุนมัน เพราะกระดูกสันหลังคือช่องกลางของระบบประสาท เมื่อผู้ฝึกทำให้ลมหายใจลึกและยาวขึ้น พร้อมๆ กับการยกเหยียดข้อกระดูกสันหลังทั้งสามสิบสามข้อ ตามด้วยการเปิดกระดูกซี่โครงจากกระดูกสันหลัง กระบวนการเหล่านี้ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันในระหว่างการทำอาสนะร่วมกับปราณายามะ จะทำให้เกิดการหลอมรวมน้ำกับไฟได้ อุปมาดั่งการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำนั่นเอง โดยที่ปราณายามะใช้วิธีกลั้นหายใจในการชักนำ และกั้นกระแสทั้งหมด (ด้วยการกลั้นหายใจ) เพื่อควบคุมดึงพลังที่มีอยู่ออกมาอย่างพรั่งพรูบริบูรณ์ได้

ผู้ฝึกจึงควรทำให้ตัวเองเอิบอาบอยู่ในลมหายใจเข้า และลมหายใจออก รวมทั้งในการกลั้นหายใจอย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่ทำให้เกิดความเครียดในเซลล์สมอง หรือเส้นประสาท ผู้ฝึกต้องหัดควบคุมลมหายใจของตนเอง เพื่อให้มันไปควบคุมสมองอีกต่อหนึ่ง แล้วผู้ฝึกจะสามารถมีชีวิตในแต่ละขณะโดยดื่มด่ำอยู่ในการไหลเวียนอันราบเรียบของวงจรแห่งลมหายใจเข้า และลมหายใจออกได้ กระแสของลมหายใจของเขา ก็จะเป็นเฉกเช่นการไหลของแม่น้ำที่ทั้งปริ่มเต็ม ยิ่งใหญ่ และเปี่ยมไปด้วยพลังชีวิต (ยังมีต่อ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...