วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ปรัชญาจักรวาลของรูปทรงสามมิติอย่างพระสถูปกับความหมายเชิงโยคะ

*ปรัชญาจักรวาลของรูปทรงสามมิติอย่างพระสถูปกับความหมายเชิงโยคะ*

ภาพ “มันดาลา” (Mandala)
คือภาพของพระสถูปที่มองมาจากสายตา
“เบื้องบน” พิธีกรรมเก่าแก่ในการสร้างพระสถูปจะใช้เงาที่ทอดมาจากเสานาฬิกาแดดที่ตั้งตรงจุดศูนย์กลางของวงกลม
เพื่อกำหนดเส้นผ่าศูนย์กลางบอกทิศตะวันออก
ทิศตะวันตก จากเส้นดังกล่าว เส้นแกนบอกทิศเหนือทิศใต้ก็เกิดขึ้นตามแบบเรขาคณิต เป็นรูปสี่เหลี่ยมที่มีด้านต่างๆ ตรงกับทิศทั้งสี่ การสร้างพระสถูปคือการกำหนด และจำกัด “พื้นที่ว่าง” โดยทำให้พื้นที่ว่างนี้กลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา เพราะเป็นการสร้างสรรค์ระบบระเบียบของพื้นที่ขึ้นมาจากความไร้ระเบียบ อันหมายถึง การสร้างสรรค์ของจักรวาลที่ผุดขึ้นมาจากความไร้ระเบียบ (Chaos)

นี่คือ การสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมอันเป็นโลกีย์ และเป็นการสร้าง “จักรวาลน้อย” ขึ้นมาโดยฉับพลันด้วย ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อเราอยู่ในท่านั่งขัดสมาธิเพชร อันเป็นยันตร์สามมิติรูปทรงพระสถูป เราก็กำลังสร้าง “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ขึ้นมาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมอันเป็นโลกีย์เช่นกัน และเรากำลังสร้าง “จักรวาลน้อย” ขึ้นมาในบัดนั้นด้วย

จุดศูนย์กลางของพระสถูป คือ จุดศูนย์กลางของ “จักรวาลจำลอง” ที่สะท้อนจุดศูนย์กลางอันสูงสุด หรือต้นกำเนิดของปรากฏการณ์ของสิ่งทั้งปวง ในทางสัญลักษณ์ที่จุดศูนย์กลางสูงสุดนี้จะมีเส้นแกน หรือแกนจักรวาลเป็นแกนกลางของภพภูมิต่างๆ ที่เชื่อมร้อยภพภูมิเหล่านี้เข้ากับต้นกำเนิดอันอยู่เหนือโลก แกนของจักรวาลจึงทำให้เกิดช่องที่พลังอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้สามารถไหลบ่าลงมาในภพภูมิที่ต่ำกว่าได้ ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อเราอยู่ในท่านั่งขัดสมาธิเพชร อันเป็นยันตร์สามมิติรูปทรงพระสถูปกระดูกสันหลังของเราจึงสะท้อนเส้นแกนจักรวาล อันเป็นช่องทางให้พลังศักดิ์สิทธิ์ไหลลงมาสู่ตัวเรา ผู้กำลังปฏิบัติธรรม บำเพ็ญภาวนาได้

กำเนิดของจักรวาลนั้น เมื่ออธิบายในเชิงสัญลักษณ์จึงได้ว่าเป็นการแผ่ขยายหรือแผ่รัศมีจากศูนย์กลางไปตามทิศทั้งหก ที่เป็นกากบาทสามมิติ ซึ่งมีเส้น 6 เส้นแผ่มาจากศูนย์กลางร่วมกัน เส้นรัศมีทั้ง 6 นี้ คือ เส้นแสดงพิกัดแห่งโลกของอายตนะทั้ง 6 ของคนเราด้วย ทิศทั้ง 6 ในการแผ่ขยายทางพื้นที่กับเวลาทั้ง 3 ช่วงคือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคตนั้น ต่างก็บรรจุอยู่ใน การเคลื่อนไหวอันไร้มิติที่จุดศูนย์กลาง ปรากฏการณ์ทั้งมวล สิ่งที่ดำรงอยู่ทั้งหมด และเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอวกาศ และเวลาล้วนมีอยู่ที่นั่น

แต่เนื่องจากจุดศูนย์กลางของจักรวาล เป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่างไร้มิติ และไม่ขึ้นกับกาลเวลา มันจึงเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ได้กับ “เอกภาวะ” อันดำรงอยู่ก่อนสิ่งอื่นใด “เอกภาวะ” นี้ ได้สรรค์สร้างสรรพสิ่งโดยปราศจากการเปลี่ยนแปลงหรือกระทบกระเทือนสาระของตัวมันเอง จุดศูนย์กลางของจักรวาลได้สร้างสิ่งต่างๆ เหล่านั้น โดยที่ตัวมันเองมิได้เปลี่ยนแปลงเลย นี่คือ ความหมายของคำสอนเชิงอภิปรัชญาของโยคะที่กล่าวว่า “พรหมันกลายเป็นสรรพสิ่ง” จะเห็นได้ว่า “การสร้าง” จักรวาล คือกระบวนการที่ทำให้สิ่งที่แนบเนื่องหลับใหลอยู่ในเอกภาวะได้คลี่คลายปรากฏตัวออกมา เป็นสิ่งที่หลากหลาย และเป็นความหลากหลายที่กลายเป็นหนึ่งด้วย

ด้วยเหตุนี้ จุดศูนย์กลางของจักรวาลจึงมิได้เป็นเพียงจุดกำเนิดของสรรพสิ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดสุดท้ายที่สรรพสิ่งทั้งปวงต้องกลับคืนมาด้วย เอกภาวะย่อมก่อให้เกิดความหลากหลาย สิ่งที่ลึกล้ำที่สุดก่อให้เกิดสิ่งภายนอกทั้งปวง สิ่งอันเป็นนิรันดร์จึงเผยให้เห็นวัฏจักรแห่งกาลเวลา พลังจักรวาลเมื่อผสมผสานบรรจบกัน ย่อมย้อนกลับไปสู่จุดศูนย์กลาง ความหลากหลายจะกลับไปสู่เอกภาวะ สิ่งภายนอกย่อมกลับเข้าไปเป็นสิ่งภายในโดยสมบูรณ์ และกาลเวลาย่อมกลืนหายเข้าไปในจุดสงบนิ่งแห่งความไร้กาลเวลาหรือนิพพาน

นอกจากนี้ เส้นแกนของพระสถูปยังวางตามตำแหน่งของ “ดวงอาทิตย์” ที่โคจรจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งโดยเป็นการแสดงสัญลักษณ์ทางอภิปรัชญาของดวงอาทิตย์ว่า เป็นบ่อเกิดและเป็นศูนย์กลางของภพต่างๆ พระอาทิตย์จึงเป็นสัญลักษณ์ของหลักสากลสูงสุด เป็นศูนย์กลางของจักรวาล มีสภาวะเหนือโลก เป็นดวงปัญญาแห่งจักรวาล ดวงอาทิตย์ในปรัชญาของโยคะจึงหมายถึง ดวงตาแห่งจักรวาลซึ่งตรวจตราไปทุกสิ่ง และมองเห็นสิ่งทั้งปวงด้วย

สัญลักษณ์แห่งการที่พระอาทิตย์สถิตอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุนั้น จึงมีความหมายเดียวกับ จักระที่ 7 “สหัสวาร” (ดอกบัวพันกลีบ) ซึ่งเป็นจักระที่ตั้งอยู่บนกลางกระหม่อมของผู้บำเพ็ญโยคะ ที่นั่งขัดสมาธิตัวตรงหลังตรงนั่นเอง กล่าวคือ สหัสวารเทียบได้กับรัศมีของดวงอาทิตย์ กระดูกสันหลังที่ตั้งตรงเทียบได้กับเสาแกนโลก และท่านั่งขัดสมาธิเพชรเทียบได้กับเขาพระสุเมรุจำลอง

“เสาแกนโลก” ที่เป็นเสาแกนที่ตั้งฉากตรงจุดศูนย์กลางขององค์พระสถูป มีความหมายว่า เป็นเส้นเชื่อมต่อโลกนี้กับจุดกึ่งกลางของภพภูมิอื่นๆ และกับจุดร่วมและจุดหลักที่เป็นแหล่งกำเนิด เสาแกนนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึง หนทางที่นำไปสู่ภพภูมิที่เป็นอิสระจากกาลเวลาและสถานที่ และในขณะเดียวกัน เสาแกนก็ยังเป็นช่องทางให้พลังอันศักดิ์สิทธิ์ และกระแสสัจธรรมไหลลงมายังโลกภูมิอันเป็นมายา กระแสธรรมหรือกระแสสัจธรรมนี้แหละ เป็นสิ่งที่ทำให้โลกนี้มีความหมาย ทำให้สิ่งจำกัดได้รู้จักสิ่งอันไร้ขอบเขต และทำให้กาลเวลาได้พบกับนิรันดร

“เสาแกนโลก” นี้ยังเป็นเสาแห่งลมปราณอีกด้วย เสาแกนที่ค้ำพยุงจักรวาลเป็นเสาของลมปราณ เนื่องเพราะปราณเป็นเสาเอกของวิหารแห่งจักรวาล และเป็นแกนกระดูกสันหลังของคนเรา ในขณะเดียวกัน เสาแกนนี้จึงเป็นองค์รวมแห่งปรากฏการณ์ เป็นโลกแห่งจิต เป็นที่รวมของสรรพสิ่งที่มีปราณเคลื่อนไหวและแนบเนื่องอยู่ในสิ่งทั้งหมดนี้ มันจึงเป็นอย่างเดียวกับพรหมัน เพราะฉะนั้นในปรัชญาของโยคะ ผู้ใดที่เข้าถึงพรหมันในตัวเอง ผู้นั้นย่อมเข้าถึงพระเจ้า และผู้ใดที่เข้าถึงพระเจ้า ผู้นั้นย่อมเข้าถึงเสาแกนแห่งจักรวาล

เสาแกนแห่งจักรวาล จึงเป็นหนทางไปสู่ความรู้แจ้ง เส้นแกนนี้พุ่งขึ้นไปเบื้องบนไปสู่วิถีแห่งการหลุดพ้นหรือสุริยทวาร ซึ่งเป็นประตูเปิดออกไปสู่จักรวาล โยคะจึงบอกว่า เส้นทางแห่งจิตวิญญาณหมายถึงการขึ้นไปตามเสาแกนแห่งจักรวาลนี้ การทะลุยอดหลังคาจักรวาลออกไป หรือการไต่ขึ้นไปตามแกนจักรวาลจนทะลุยอดหลังคาจักรวาลออกไป ในวิชาโยคะจึงหมายถึงความสำเร็จในการปฏิบัติสมาธินั่นเอง

โดยที่ร่างกายของคนเราเปรียบเหมือนจักรวาลที่ย่อย่อยลงมา กระดูกสันหลังเปรียบเหมือนเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแกนกลางของจักรวาล กระดูกสันหลังตั้งต้นที่บริเวณก้นกบผ่านจักระต่างๆ ขึ้นไปจนมาสุดที่กลางกระหม่อม ยอดศีรษะเป็นจุดที่เรียกว่า “พรหมรันธระ” หรือช่องว่างแห่งพรหม อันเป็นจุดที่สว่างจ้า เปรียบได้กับพระอาทิตย์บนยอดสุดของจักรวาล ยอดศีรษะจึงเป็นจุดศูนย์กลางของตัวตน และเป็นหลักสูงสุดที่ก่อให้เกิดความมีตัวตนของมนุษย

จุดประสงค์ของการฝึกโยคะคือการปีนภูเขาพระสุเมรุ (เสาแกนแห่งปราณ) ในร่างกายขึ้นไปทีละขั้น โดยจะพบความสว่างขึ้นเป็นลำดับ จนในที่สุดจะมาถึงจุดที่สว่างจ้าที่สุด ดั่งพระอาทิตย์บนยอดจักรวาลนั่นเอง เมื่อเราได้ทำความเข้าใจปรัชญาจักรวาล และความหมายของยันตร์สามมิติที่เป็นรูปทรงพระสถูป (เขาพระสุเมรุ) หรือท่านั่งขัดสมาธิเพชรในวิชาโยคะดังข้างต้นแล้วต่อไป เราจะเริ่มกล่าวถึง ระบบการฝึกปฏิบัติของโยคะอย่างละเอียดกันเสียที โดยจะขอเริ่มจากกุณฑาลินีโยคะก่อนเป็นอันดับแรก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...