คัมภีร์วิกยานไภราพตันตระ ที่มีอายุกว่าห้าพันปีของทิเบต อาจถือได้ว่าเป็นหนึ่งในคัมภีร์ที่สำคัญที่สุดของผู้ฝึก กุณฑาลินีโยคะในขั้นสูงก็เห็นจะไม่ผิดนัก เพราะวิถีแห่งตันตระ หรือวิถีของพระศิวะ ผู้เป็นปฐมคุรุแห่งวิชาโยคะทั้งปวง ล้วนปรากฏออกมาอย่างแจ่มชัดในคัมภีร์วิกยานไภราพตันตระนี้ เพราะคัมภีร์นี้ขึ้นต้นด้วยข้อความดังต่อไปนี้
“พระแม่อุมาผู้เป็นชายาของพระศิวะ ทรงตรัสถามพระศิวะว่า...โอ พระศิวะท่านเอย ตัวตนที่แท้จริงของพระองค์นั้นเป็นฉันใดกันแน่ โลกที่เต็มไปด้วยความน่าอัศจรรย์ใจอันนี้คือ สิ่งใดกัน เมล็ดพันธุ์ของสรรพสิ่งถือกำเนิดมาจากสิ่งใด ใครคือผู้ที่อยู่ ณ จุดศูนย์กลางของกงล้อแห่งจักรวาล ชีวิตที่ข้ามพ้นรูป และดำรงอยู่ในรูปลักษณ์ที่หลากหลายเหลือประมาณนี้คือสิ่งใดหรือ
พวกเราจะข้ามพ้นรูปกับนาม และกาลเวลากับพื้นที่เข้าไปอยู่ในสิ่งนั้น อย่างบริบูรณ์ได้หรือไม่
ขอพระองค์ได้ทรงโปรดขจัดความสงสัยของหม่อมฉันด้วยเถิด...”
โลกของตันตระ (หรือโลกของกุณฑาลินีโยคะ) มิใช่โลกแห่งความคิด มโนทัศน์หรือปรัชญาแต่ประการใด ในโลกของตันตระนั้น คำสอนไม่มีความหมายแต่อย่างใดเลย เพราะสิ่งที่เป็นเป้าหมายของตันตระนั้นก็คือ วิธีฝึกหรือเคล็ดอุบายในการฝึกกุณฑาลินีโยคะขั้นสูง หาใช่หลักการ ความเชื่อหรือลัทธิใดๆ ไม่ ความหมายที่แท้จริงของตันตระจึงหมายถึงเส้นทางที่เป็นอุบาย เป็นวิธีการ เป็นวิธีฝึกฝนการทำให้จิตสำนึกข้ามพ้นหรือก้าวข้าม อันเป็นการยกระดับจิตสำนึกอย่างก้าวกระโดดไปสู่ “จิตสำนึกใหม่” นั่นเอง ตันตระจึงไม่ใช่ปรัชญาใดๆ ตรงนี้แหละคือประเด็นที่สำคัญที่สุดในการทำความเข้าใจตันตระ
เพราะการแสวงหาหรือการตั้งคำถามใดๆ ในเชิงความคิดหรือเชิงสติปัญญา (intellect) ใดๆ ไม่เคยอยู่ในความสนใจของตันตระหรือกุณฑาลินีโยคะขั้นสูงเลย สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับตันตระ จึงไม่ใช่การถามว่า “ทำไม” แต่เป็นการถามว่า “อย่างไร” ต่างหาก เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฝึกตันตระหรือกุณฑาลินีโยคะขั้นสูง (โยคะของพระศิวะ) จะไม่ถามว่า “สัจธรรมคืออะไร” แต่จะมุ่งถามว่า “จะเข้าถึงสัจธรรมได้อย่างไร” แทนเป็นสำคัญ
ด้วยเหตุนี้ #ตันตระจึงหมายถึงระบบการฝึกชนิดหนึ่ง และเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับ “อย่างไร” มากกว่า “ทำไม” ซึ่งต่างกับปรัชญาที่สนใจในเรื่อง “ทำไม” มากกว่า และเมื่อใดก็ตามที่ “อย่างไร” มีความสำคัญมากที่สุด เมื่อนั้นผู้นั้นจะให้ความสนใจในประสบการณ์มากกว่าทฤษฎี และสนใจเคล็ดการฝึกวิธีการมากกว่าหลักการคำสอน
ต้องขอย้ำอีกครั้งว่า ตันตระมิใช่ปรัชญา การจะเข้าใจปรัชญาหนึ่งปรัชญาใดนั้นไม่ใช่เรื่องยากนัก ขอเพียงมีสติปัญญาในระดับหนึ่งก็เพียงพอแล้ว กล่าวคือ ขอเพียงผู้นั้นมีความเข้าใจในตรรกะภาษาและนิยามของระบบความคิดหรือมโนทัศน์ที่ปรัชญานั้นใช้อยู่ ก็สามารถทำความเข้าใจได้แล้ว เพราะฉะนั้นปรัชญาจึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ยาก และผู้เรียนก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ใช่เงื่อนไขข้อเรียกร้องในการศึกษาปรัชญาแต่ประการใด จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรที่คนที่มีจิตใจต่ำช้าก็สามารถเรียนรู้ปรัชญาที่สูงส่งได้
แต่ตันตระไม่ใช่อย่างนั้น ก่อนอื่นจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในจิตใจของผู้เรียนก่อน เพราะถ้าหากผู้เรียนไม่ทำการเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยแล้ว ผู้นั้นจะไม่มีทางเข้าใจ และเข้าถึงตันตระได้อย่างแท้จริงเลย เนื่องจากตันตระเป็นประสบการณ์อย่างหนึ่ง หากผู้เรียนไม่มีทัศนะที่เปิดกว้าง เปิดรับโดยไม่มีข้อแม้ ตันตระจะไม่มีวันเข้าหาบุคคลผู้นั้นเลย
ปรัชญาเป็นเรื่องของการคิดที่ใช้แต่มันสมองเท่านั้น ในขณะที่ตันตระเป็นสิ่งที่ผู้เรียนจะต้องทุ่มเทบุคลิกภาพทั้งหมด ทั้งตัวของผู้เรียนเข้าไปศึกษาอย่างหมดจิตหมดใจถึงจะเรียนรู้และเข้าถึงได้...
ต่อไปจะขอถ่ายทอดเคล็ดการฝึกปลุกจักระในกุณฑาลินีโยคะอย่างเป็นระบบต่อจากที่ได้ถ่ายทอดไปแล้ว
(4) หลังจากที่ผู้ฝึกได้ฝึกปลุกจักระที่ 2 หรือจักระสวาธิษฐานตรงบริเวณปลายล่างสุดของกระดูกสันหลังอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหนึ่งเดือนขึ้นไปแล้ว จึงค่อยเริ่มการฝึกสมาธิสำหรับปลุกจักระที่ 3 (มณีปุระ) เป็นลำดับต่อไป มณีปุระหมายถึง คลังสมบัติที่เต็มไปด้วยอัญมณี ที่ตั้งของจักระที่ 3 นี้อยู่ที่ด้านในของช่องกระดูกไขสันหลังด้านหลังของสะดือ อันเป็นศูนย์รวมพลังที่สำคัญมาก และสามารถทำหน้าที่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง
ณ จักระที่ 3 นี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูงส่งของกุณฑาลินีโยคะ โดยที่จักระที่ 3 นี้เป็นศูนย์กลางของความร้อนเปรียบเหมือนพลังแสงอาทิตย์ที่ให้พลังบวก (พลังหยาง) ในร่างกายมนุษย์ จักระที่ 3 มีบทบาทสำคัญในการทำให้พลังบวก (พลังหยาง) กับพลังลบ (พลังหยิน) ในร่างกายสมดุลกัน โดยผ่านการเผาผลาญฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อต่างๆ ในร่างกายซึ่งกุณฑาลินีโยคะมองว่า ฮอร์โมนเหล่านี้เปรียบประดุจ “น้ำทิพย์” หรือ “น้ำอมฤต”
จักระที่ 3 หรือจักระมณีปุระ ยังเป็นบริเวณที่ “ปราณา” (ปราณบริเวณลำคอถึงกะบังลม) กับ “อปานา” (ปราณบริเวณต่ำกว่าสะดือลงไป) มาพบกัน เมื่อฝึกการหายใจแบบโยคะ จะทำให้บริเวณตรงสะดือนี้เป็นที่รวมของปราณากับอปานา การมารวมกันของลมปราณทั้งสองนี้ เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถปลุกจักระที่ 3 ให้ทำหน้าที่โดยสมบูรณ์ได้ โดยที่ท่าฝึกที่ช่วยในการปลุกจักระที่ 3 ที่ทรงพลังที่สุดคือ #อุทิยานะพันธะ
เมื่อผู้ฝึกทำการฝึกสมาธิปลุกจักระที่ 3 ให้ตื่นได้ จิตของผู้นั้นจะละเอียดขึ้นมาก อันเป็น สภาวะจิตแห่งความเป็นเทพ เพราะผู้นั้นจะมองโลกด้วยสายตาและหัวใจที่งดงามเสมอ ในตอนฝึกสมาธิจักระที่ 1 จิตของผู้นั้นยังอยู่ในระดับหยาบอยู่ ครั้นพอเข้าสู่การฝึกสมาธิจักระที่ 2 จิตของผู้นั้นจะพัฒนาขึ้นมาในระดับปานกลาง แต่เมื่อผู้นั้นเข้าสู่การฝึกสมาธิจักระที่ 3 จิตของผู้นั้นจะเข้าถึงสภาวะจิตที่เปี่ยมไปด้วยความจริง ความดี ความงามได้ ผู้นั้นจะกลายเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี และงดงาม ในช่วงเวลาที่ฝึกจิตผ่านจักระที่ 1 มาถึงจักระที่ 2 ผู้ฝึกยังอาจพบกับปัญหาส่วนตัว ยังมีอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้น และยังมองสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาแบบเดิมอยู่
แต่เมื่อผู้ฝึกได้ฝึกจิตผ่านมาจนถึงจักระที่ 3 และปลุกจักระที่ 3 ได้ ผู้นั้นจะพบกับความเบิกบานใจ ความสบายใจ ความคิดที่ดีที่ยอดเยี่ยมทั้งหลายทั้งปวงจะผุดขึ้นมาในใจเขาอย่างไม่เคยเหือดแห้ง ผู้นั้นจะมองเห็นทุกสิ่งรอบๆ ตัวล้วนประเสริฐงดงามทั้งสิ้น จิตที่จะเอียดขึ้น จะทำให้เกิดพลังต่างๆ เข้ามาสถิตอย่างมั่นคงในจักระที่ 3 ของผู้นั้น ทำให้จิตของผู้นั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา ความกรุณา ความอ่อนโยน มีจิตใจที่มั่นคง กว้างขวาง ไม่มีความหวาดกลัว หวาดระแวงอยู่ในใจ
กุณฑาลินีโยคะเชื่อว่า เมื่อจักระที่ 3 ถูกปลุกให้ตื่นตัวขึ้นมาได้แล้ว การจะปลุกจักระที่เหนือขึ้นไป ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว เปรียบเหมือนจิตได้ขึ้นทางด่วน จะไม่มีอะไรมาขัดขวางปิดกั้นอีกต่อไปแล้ว จิตสามารถรุดหน้าไปปลุกจักระที่ 4 จักระที่ 5 จักระที่ 6 จนถึงส่วนบนสุดเหนือสมองหรือจักระที่ 7 ได้อย่างแน่นอน (ยังมีต่อ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น