*จักระแห่งกายทิพย์ทั้ง 7*
ในโมเดล “โยคะ” กายเนื้อและกายทิพย์ทั้งเจ็ดจะสัมพันธ์กับจักระทั้ง 7 อย่างแน่นแฟ้น โดยที่แต่ละจักระจะเชื่อมต่อกับภายในแต่ละชั้นด้วยความสัมพันธ์ที่พิเศษเฉพาะ ดังต่อไปนี้
(1) จักระของกายหยาบ (กายเนื้อกับกายแห่งปราณ) คือจักระที่ 1 หรือ “มูลธาร” จักระนี้สัมพันธ์กับ 2 กายที่ประกอบขึ้นเป็น “กายหยาบ” คือ กายเนื้อ (physical body) กับกายแห่งปราณ (pranic body) จักระนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับแรงขับทางเพศในตัวผู้นั้น ผู้ใดก็ตามที่หมกมุ่นในเรื่องเพศหรือถูกครอบงำจิตใจด้วยตัณหาราคะ มันจะเป็นการยากมากที่ผู้นั้นจะพัฒนาศักยภาพของจักระที่ 1 ไปจนถึงขีดสูงสุด ซึ่งต้องกระทำโดยผ่านการเจริญสมาธิภาวนา เพื่อแปรเปลี่ยนแรงขับทางเพศให้กลายเป็นพลังทางจิตวิญญาณได้
แต่ในอีกด้านหนึ่ง การข่มใจเพื่อพยายามฝืนขืนหรือยับยั้งแรงขับทางเพศ ก็มิใช่หนทางที่ถูกต้อง แต่กลับเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาจักระที่ 1 เสียมากกว่า เพราะการแปรเปลี่ยนแรงขับทางเพศให้กลายเป็นพลังทางจิตวิญญาณไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการข่มใจหรือการข่มกลั้นความรู้สึกทางเพศแต่ประการใด แต่มันจะเกิดขึ้นเมื่อผู้นั้นเข้าใจ มีสติ รู้ทันความรู้สึกทางเพศนั้นได้ต่างหาก ถ้าผู้นั้นไม่สามารถพัฒนาจักระที่ 1 ซึ่งทำได้ด้วยการฝึกดัดกาย (อาสนะ) กับฝึกลมปราณอันเป็นการฝึกในระดับกายเนื้อกับกายแห่งปราณ มันจะเป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะพัฒนาศักยภาพของจักระอื่นๆ ในกายทิพย์ชั้นอื่นๆ ต่อจากนั้น
(2) จักระของกายแห่งอารมณ์ (emotional body) คือจักระที่ 2 หรือ “สวาธิษฐาน” จักระนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับอารมณ์กลัว เกลียด โกรธ และความรู้สึกเป็นปรปักษ์ โดยที่การพัฒนาศักยภาพของจักระที่ 2 คือการแปรเปลี่ยนอารมณ์ในเชิงลบเหล่านี้ให้กลายเป็นอารมณ์ในเชิงบวกทั้งหลาย อย่างเช่น ความรัก ความเมตตา ความกรุณา ความกล้าหาญ ความมีน้ำใจ เหล่านี้เป็นต้น และก็เช่นเดียวกับจักระที่ 1 มันจะเป็นการยากมากที่จะพัฒนาศักยภาพของจักระที่ 2 ไปจนถึงขีดสุดด้วยการข่มกลั้นอารมณ์ในเชิงลบต่างๆ แบบเก็บกดเพราะมีแต่ต้องใช้การเจริญสติ และการเจริญสมาธิภาวนาไปทำความเข้าใจความตระหนักรู้ ความรู้สึกตัว ความรู้ทัน และเผชิญหน้ากับอารมณ์ในเชิงลบเหล่านี้โดยตรงเท่านั้น ถึงจะสามารถแปรเปลี่ยนอารมณ์ในเชิงลบต่างๆ ให้กลายเป็นอารมณ์ในเชิงบวกทั้งหลายได้
(3) จักระของกายแห่งจิตใจ (มโน) (mental body) คือจักระที่ 3 หรือ “มณีปุระ” จักระนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับความสงสัยและการคิด การพัฒนาศักยภาพของจักระที่ 3 คือการแปรเปลี่ยนความสงสัยในธรรมให้กลายเป็นความศรัทธาในธรรม และแปรเปลี่ยนการปรุงแต่งทางความคิดให้กลายเป็นการตระหนักรู้แทน จะว่าไปแล้ว การพัฒนาศักยภาพของจักระที่ 3 ไปจนถึงขีดสุดก็คือ การสร้างสรรค์กระบวนการคิดที่สมบูรณ์แบบ และถึงแก่นในตัวผู้นั้น อันเป็นกระบวนการที่ต้องคิดด้วยสมอง และหัวใจไปพร้อมๆ กันอย่างมีสมดุล นั่นเอง ความกระจ่างชัดทางความคิดในการแยกแยะถูก-ผิด ดี-ชั่ว จริง-ปลอม จักบังเกิดขึ้นแก่ผู้ที่ได้พัฒนาศักยภาพของจักระที่ 3 โดยผ่านกระบวนการคิดที่ละเอียดลุ่มลึก และลึกซึ้งนี้ไปแล้วเท่านั้น อันเป็นความคิดที่ข้ามพ้นความคิดหรือความคิดที่กลายเป็น “ญาณ” นั่นเอง
(4) จักระของกายแห่งพลังจิต (psychic energy body) คือจักระที่ 4 หรือ “อนาหตะ” จักระนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับจินตนาการ และความฝัน โดยที่ พลังจิตคือการทำให้จินตนาการ และความฝันของผู้นั้นเป็นจริง ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาศักยภาพของจักระที่ 4 ไปจนถึงขีดสุด คือ การแปรเปลี่ยนจินตนาการ และความฝันของผู้นั้นให้กลายเป็นวิชันที่ชัดเจนที่สามารถนำไปปฏิบัติให้ปรากฏเป็นจริงตามนั้นได้ โดยที่วิชันที่ว่านี้คือวิชันในเชิงจิตวิญญาณว่าจะพัฒนาตัวเองไปสู่ความรู้แจ้ง และการเติบโตทางจิตวิญญาณอย่างต่อเนื่อง และอย่างบูรณาการได้อย่างไร รวมทั้งจะสามารถนำพาผู้คนให้เติบโตทางจิตวิญญาณอย่างรวมหมู่ไปพร้อมๆ กับตนเองได้อย่างไร โดยคำนึงถึงบริบททางประวัติศาสตร์ที่ตัวเองมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยนั้นด้วย
(5) จักระแห่งกายเหตุ (causal body) คือจักระที่ 5 หรือ “วิสุทธิ” จักระนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสื่อสาร และการสร้างสัมพันธภาพอันเป็นที่มาแห่งกรรมทั้งหลายทั้งปวง การพัฒนาศักยภาพของจักระที่ 5 คือการไม่สร้างความขัดแย้งกับผู้ใด และเมื่อพัฒนาศักยภาพของจักระที่ 5 ไปจนถึงขีดสุด มันก็คือ การแปรเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร และการไม่เป็นปรปักษ์กับใครเลยในโลกใบนี้นั่นเอง ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ คนผู้นั้นจะต้องรู้จักตัวเองให้ถ่องแท้เสียก่อน อาจกล่าวได้ว่า ความขัดแย้งและปัญหาทั้งหลายทั้งปวงของปัจเจกจะจบลงที่กายเหตุ (กายเหตุแห่งกรรม) ในกายทิพย์ชั้นที่ห้านี้แหละ
(6) จักระของกายแห่งจิตวิญญาณ (spiritual body) คือจักระที่ 6 หรือ “อาชณะ” จักระนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเริ่มสลายอัตตาตัวตน การพัฒนาศักยภาพของจักระที่ 6 ไปจนถึงขีดสุดคือการเข้าสู่ “สภาวะพรหม” หรือการตระหนักรู้ว่า “เราคือพรหมัน (Brahman)” นั่นเอง ผู้ที่แสวงหาความเป็นพรหม จึงมักจะกำหนดจิตในการเจริญสมาธิภาวนาไปที่จักระที่ 6 หรือจักระอาชณะที่หว่างคิ้ว เพราะจักระนี้เชื่อมต่อกับกายแห่งจิตวิญญาณ ซึ่งมีชื่อเรียกในภาษาสันสกฤตว่า “พรหมสรีระ” (Brahma Sharira) ที่สุดของสภาวะนี้คือสภาวะจิตของ “ผู้รู้” ที่ไม่มีตัวตน แต่มี “ตัวรู้” (consciousness) ล้วนๆ อันเป็นสภาวะที่ไม่มีการดำรงอยู่ของ “ฉัน” (my existence) อีกต่อไปแล้ว มีแต่ สภาวะแห่งการดำรงอยู่ (only existence) เฉยๆ เท่านั้น
ผู้ที่ติดอยู่ในสภาวะพรหมนี้ จึงมักจะเข้าใจผิดว่า “พรหมัน (สภาวะพรหม) คือความจริงขั้นสุดท้าย อันเป็นความจริงแท้ของจักรวาลที่ไม่มีอะไรเหนือไปกว่านั้นอีกแล้ว” ซึ่งยังไม่ใช่เช่นนั้นจริงในมุมมองของพุทธ เพราะตัวพรหมันนี้แหละคืออุปสรรคขั้นสุดท้ายของการฝึกจิต ผู้ที่พัฒนาศักยภาพของจักระที่ 6 ไปจนถึงขีดสุดได้แล้ว ผู้นั้นจะสามารถพัฒนา “ตัวรู้” ขึ้นมาในตัวเขา “ตัวรู้” นี้แหละคือ “ตาที่สาม” อันเป็นดวงตาภายในที่ผู้นั้นใช้รับรู้จักรวาลหรือความไม่สิ้นสุด (the infinite) อันเป็นสายตาของพรหม
(7) จักระของกายแห่งนิพพาน (nirvamic body) คือจักระที่ 7 หรือ “สหัสราร” จักระนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการรู้แจ้ง และการไร้ตัวตน (non-being) หรืออนัตตา อันเป็นสภาวะของการทำลาย “ผู้รู้” อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า การทำลายนี้เป็นฟังก์ชันหลักของ “พระศิวะ” ซึ่งตามทฤษฎีของโยคะ “พระศิวะ” ทรงสถิตอยู่ในตำแหน่งของจักระที่ 7 นี้นั่นเอง ถ้าหากการเข้าถึงสภาวะ “ไม่เป็นคู่” (the non-dual) เป็นหัวข้อหลักในการชำระกายทิพย์ชั้นที่ห้า หรือกายเหตุ และถ้าหากการเข้าถึงสภาวะ “รหัสนัย” (การหยั่งรู้ความเร้นลับของจักรวาล (Mysticism) เป็นหัวข้อหลักในการชำระกายทิพย์ชั้นที่หก หรือกายแห่งจักรวาล การเข้าถึงสภาวะ “สุญตา” คือหัวข้อหลักในการชำระกายทิพย์ชั้นที่เจ็ด อันเป็นกายสุดท้ายนี้
สรุป กายทิพย์ทั้ง 7 และจักระทั้ง 7 ที่ดำรงอยู่ภายในตัวเรา คือ เครื่องมือที่นำเราไปสู่ความรู้แจ้งในโมเดล “โยคะ” แต่ในขณะเดียวกัน ก็คืออุปสรรคที่ขวางกั้นตัวเราไม่ให้เข้าถึงความรู้แจ้งด้วยเช่นกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น