#กายทิพย์ทั้ง 7 (#The #Seven #Subtle $Bodies)*
ในโมเดล “โยคะ” แห่งศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการของผมนั้น ตัวผมนอกจากจะจำแนกกายของคนเราออกเป็น “กายเนื้อ” กับ “กายทิพย์” (subtle energy bodies) แล้ว ผมยังจำแนกแยกย่อย “กายทิพย์” ออกเป็น “เจ็ดกาย” (seven bodies) อีกด้วย
ที่มาของการจำแนกกายทิพย์ออกเป็นเจ็ดกายของผมนี้ มาจากระบบของราชาโยคะโบราณ ที่พิจารณาว่า คนเรามี กายทั้งสาม กับ โกศทั้งห้า ที่ปกคลุมอาตมัน (real self) เอาไว้ “กายทั้งสาม” นี้คือกายหยาบ กายละเอียด และกายเหตุ โดยที่ กายหยาบ ประกอบขึ้นมาจาก โกศชั้นที่หนึ่ง กับ โกศชั้นที่สอง ส่วน กายละเอียด ประกอบขึ้นมาจาก โกศชั้นที่สาม กับ โกศชั้นที่สี่ และ กายเหตุ อันเป็นกายที่ละเอียดพิสดารกว่ากายละเอียดอีก ประกอบขึ้นมาจาก โกศชั้นที่ห้า
(1) โกศชั้นที่หนึ่ง มีชื่อเรียกว่า อันนายามาโกศ (Annayama Kosha) เป็นส่วนที่หยาบสุดของร่างกาย ที่เรียกกันว่า กายเนื้อ
(2) โกศชั้นที่สอง มีชื่อเรียกว่า ปราณามายาโกศ (Pranamaya Kosha) เป็นตัวสร้างความคึกคักมีชีวิตชีวาแก่กายหยาบ ซึ่งเป็นเปลือกที่ปิดบังอาตมันชั้นนอกสุด โดยเป็นผู้ส่งพลังปราณหรือพลังชีวิตให้แก่กายเนื้อ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กายแห่งปราณ
(3) โกศชั้นที่สาม มีชื่อเรียกว่า มโนมายาโกศ (Manomaya Kosha) เป็นตัวที่เกี่ยวกับสัมผัส การรับรู้ อารมณ์ ความรู้สึก จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กายแห่งจิตใจ
(4) โกศชั้นที่สี่ มีชื่อเรียกว่า วิญญานามายาโกศ เป็นตัวที่เกี่ยวกับสติปัญญา ปรีชาญาณ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กายแห่งญาณปัญญา
(5) โกศชั้นที่ห้า มีชื่อเรียกว่า อนันดามายาโกศ เป็นตัวที่เกี่ยวกับความรู้อันศักดิ์สิทธิ์เรื่องอาตมัน จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กายแห่งจิตวิญญาณ หรือ กายแห่งอาตมัน
การจำแนกกายแบบราชาโยคะโบราณ ที่จำแนกกายออกเป็น โกศทั้งห้า หรือ กายทั้ง 5 (ที่พัฒนามาจาก กายทั้งสาม หรือกายหยาบ กายละเอียด และกายเหตุ) นี้ ยังตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ยอมรับการดำรงอยู่ของอาตมัน ในขณะที่ในโมเดลของผมตั้งอยู่บนมุมมองของพุทธที่ยึดหลักอนัตตา และสุญตา ด้วยเหตุนี้ ผมจึงได้จำแนกส่วนที่เป็น “กายทิพย์” (กายละเอียดกับกายเหตุ) ให้แยกย่อยออกไปอีก รวมทั้งหมดเป็น “เจ็ดกาย” (หรือถ้ารวมกายเนื้อเข้าไปด้วยก็จะเป็น 8 กาย) ดังต่อไปนี้คือ
(1) กายแห่งปราณ (pranic body)
(2) กายแห่งอารมณ์ (emotional body)
(3) กายแห่งจิตใจ (มโน) (mental body)
(4) กายแห่งพลังจิต (psychic energy body)
(5) กายแห่งเหตุของกรรม (กายเหตุ) (causal body)
(6) กายแห่งจิตวิญญาณ (spiritual body)
(7) กายแห่งนิพพาน (nirvanic body)
(หนึ่ง) กายแห่งปราณ (pranic body) เป็นกายที่อยู่ร่วมพื้นที่เดียวกับกายเนื้อของเรานี่เอง แต่จะแผ่ขยายออกมาเป็นออร่า หรือรัศมีคลุมกายออกไปได้ถึงสองสามฟุต สำหรับคนที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง หรืออาจแผ่ขยายออกมานอกผิวหนังเพียงสองสามนิ้วสำหรับคนที่ป่วย กายแห่งปราณนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งในศาสตร์เร้นลับทางตะวันตกว่า กายอีเธอร์ (etheric body)
(สอง) กายแห่งอารมณ์ (emotional body) เป็นกายที่ละเอียดกว่ากายแห่งปราณ แถมยังเป็นกายอันเป็นที่สะสมอารมณ์ด้านลบ จิตใต้สำนึกที่ถูกเก็บกด และถูกสร้างเงื่อนไขอคติต่างๆ นานา โดยผ่านพ่อแม่ ครู และต้นแบบต่างๆ ที่หล่อหลอมความเป็นตัวตน อุปนิสัย จริตสันดาน รสนิยมของคนผู้นั้นขึ้นมา
(สาม) กายแห่งจิตใจ (กายแห่งมโน) (mental body) เป็นกายที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเป็นกายอันเป็นที่ตั้งของ พุทธิ (intellect) หรือสติปัญญาในการแยกแยะถูก-ผิด ดี-เลวของคนผู้นั้น จึงเป็นกายที่เกี่ยวกับการใช้ตรรกะ เหตุผล ความคิดของคนผู้นั้น
(สี่) กายแห่งพลังจิต (psychic energy body) เป็นกายที่ละเอียดยิ่งกว่า กายแห่งมโน เพราะเป็นกายอันเป็นที่ตั้งของ ศักยภาพภายในที่แฝงเร้น (hidden internal capacities) อภิญญา ความสามารถทางจิต หรือฤทธิ์ต่างๆ เป็นสิ่งที่เกิดกับกายชั้นนี้หรือกายแห่งพลังจิตนี้
(ห้า) กายแห่งเหตุของกรรม (กายเหตุ) (causal body) เป็นกายที่ละเอียดพิสดารยิ่งกว่ากายแห่งพลังจิต เพราะเป็นกายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ (space) และเวลา หรือเกี่ยวข้องกับกรรมหรือเหตุแห่งกรรมในอดีตชาติ การ “ล้างกรรม” หรือการ “ชำระกรรม” จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำกับกายชั้นนี้หรือกายในระดับนี้ กายนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กายแห่งวิญญาณ (soul body)
(หก) กายแห่งจิตวิญญาณ (spiritual body) ในระบบของราชาโยคะโบราณ จะเรียกกายแห่งจิตวิญญาณนี้ว่า กายแห่งอาตมัน อันเป็น กายอมตะ และถือเป็นที่สิ้นสุดของกายทิพย์ แต่จริงๆ แล้วในมุมมองแบบพุทธ น่าจะยังมีกายทิพย์หลงเหลืออีกกายหนึ่งที่ข้ามพ้น “ความเป็นตัวตน” ของปัจเจกอย่างถึงที่สุด เพราะถึงอย่างไร กายแห่งอาตมัน อันเป็นกายทิพย์กายที่หกนี้ ก็ยังคงมีความเป็นตัวตนของปัจเจก (body of individuality) หลงเหลืออยู่
(เจ็ด) กายแห่งนิพพาน (nirvanic body) หรือ กายแห่งสุญตา หรือ ธรรมกาย อันเป็นความว่างอย่างถึงที่สุดหรือมหาสุญตานั่นเอง นี่เป็นกายที่ไม่ใช่กาย หรือกายที่เป็นอนัตตาอันเป็นที่สุดของกายโดยแท้จริง
อนึ่ง การจำแนกกายทิพย์ออกเป็น 7 กายของผมนี้ มีความคล้ายคลึงกับศาสตร์เร้นลับทางตะวันตกอย่างสำนัก “เทวญาณวิทยา” (Theosophy) ที่จำแนกกายทิพย์ออกเป็น 6 กาย ซึ่งถ้ารวมกายเนื้อเข้าไปด้วยจะเป็น 7 กาย ส่วนของผม ถ้ารวมกายเนื้อเข้าไปด้วยก็จะเป็น 8 กาย โดยสำนักเทวญาณวิทยาได้จำแนก “กายทั้งเจ็ด” (seven fold constitution of human being) ดังต่อไปนี้
(1) กายเนื้อ (physical body)
(2) กายอีเธอร์ (etheric body)
(3) กายทิพย์ (astral body)
(4) กายแห่งจิตใจ (mental body)
(5) กายแห่งพลังจิต (psychic body)
(6) กายแห่งการข้ามพ้นตัวตน (transcendental body) และ
(7) กายศักดิ์สิทธิ์ (divine body) หรืออาตมัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น