เราได้กล่าวไปแล้วว่า หลักการพื้นฐานของปราณายามะคือความพยายามใช้การหายใจในการกำจัดอปานะออกจากร่างกาย เพื่อให้ปราณมีพื้นที่ในร่างกายมากขึ้น เพราะทันทีที่ของเสียในร่างกายถูกปลดปล่อยออกไป ปราณก็จะเข้าไปแทนที่ว่างในร่างกายซึ่งเป็นตำแหน่งแห่งที่ของมัน ปราณมีการเคลื่อนไหวของมันเอง ผู้ฝึกจึงควรตระหนักอยู่เสมอว่า เราไม่สามารถควบคุมปราณได้โดยตรง สิ่งที่เราทำได้คือการสร้างเงื่อนไขให้ปราณเข้าสู่ร่างกาย และซึมซาบไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ด้วยเหตุนี้ ในการฝึกปราณายามะ เราจึงใช้การหายใจเพื่อขจัดสิ่งอุดตันในร่างกาย ปราณซึ่งมากับลมหายใจจะไหลเวียนไปสู่ช่องว่างที่โล่งด้วยตัวมันเอง ด้วยวิธีนี้เราจึงใช้ลมหายใจเพื่อให้ปราณสามารถไหลเวียนไปทั่วร่างกายโดยสะดวกได้
หลังจากที่ผู้ฝึกได้ฝึก การหายใจสลับรูจมูกมาได้สักพักหนึ่งแล้ว ผู้ฝึกควรฝึกปราณายามะต่อไปนี้ตามลำดับ
(1) ฝึกการหายใจที่ช่องท้อง (ส่วนล่างของลำตัว)
จงนั่งในท่าปัทมะอาสนะ หรือสิทธะอาสนะ จงเพ่งความรู้สึกไปที่บริเวณเหนือสะดือ และทุกครั้งที่ลมหายใจเข้า-ออก ให้หายใจทางรูจมูกช้าๆ และแผ่วเบา
จากนั้นให้เริ่มหายใจออก ผนังหน้าท้องจะต้องยุบ พอสุดจังหวะหายใจออก ให้สูดลมหายใจเข้าช้าๆ ผนังหน้าท้องจะป่องออก ส่วนล่างของปอดจะมีลมเข้าไปอยู่เต็มที่
แล้วเริ่มหายใจออกใหม่ โดยแขม่วท้องให้ยุบมากที่สุดเท่าที่ทำได้ และบังคับให้ลมออกจากปอดให้หมด การหายใจที่ช่องท้องแบบข้างต้นนี้ ลมจะเข้าไปเต็มปอดตอนล่างเท่านั้น และโดยวิธีนี้เองที่ทำให้ช่องท้องมีความเคลื่อนไหวกระเพื่อมขึ้นลงดุจคลื่น โดยที่ส่วนหน้าอกนิ่งไม่เคลื่อนไหว
ประโยชน์ของการฝึกหายใจที่ช่องท้องแบบข้างต้นก็คือ ช่วยทำให้หัวใจของผู้ฝึกได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงอาการจะลดลง การหายใจแบบนี้ยังเป็นการนวดอวัยวะภายในช่องท้องทุกส่วน ช่วยกระตุ้นระบบการย่อยอาหาร ทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวเป็นปกติดี
(2) ฝึกการหายใจที่ส่วนกลางของลำตัว
จงนั่งในท่าปัทมะอาสนะหรือสิทธะอาสนะ จงเพ่งความรู้สึกไปที่บริเวณซี่โครงทั้ง 2 ข้าง เอามือขวามาจับตรงซี่โครงข้างขวา และเอามือซ้ายมาจับซี่โครงข้างซ้าย ให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ใต้รักแร้ และนิ้วอีก 4 นิ้วชี้ขึ้นด้านบนตรงระดับซี่โครงระบายลมหายใจออกช้าๆ ซี่โครงก็จะยุบเข้ามาทั้ง 2 ข้าง
จากนั้นให้สูดลมหายใจเข้าช้าๆ ขณะนั้นซี่โครงทั้ง 2 ข้างจะขยายออก ส่วนกลางของปอดจะมีลมเข้าไปอัดอยู่เต็มที่ แล้วหายใจออกซี่โครงทั้ง 2 ข้างจะยุบเข้า มือที่จับอยู่ที่ซี่โครงจะมีความรู้สึกว่าเวลาหายใจเข้า ซี่โครงจะขยาย และเวลาหายใจออกซี่โครงจะยุบเข้า
ประโยชน์ของการฝึกหายใจที่ส่วนกลางของลำตัวแบบข้างต้นก็คือ เป็นการบริหารปอด ทำให้ปอดแข็งแรง และทำให้หัวใจได้พักผ่อนทำงานน้อยลง อีกทั้งยังทำให้เลือดหมุนเวียนไปที่ตับ ถุงน้ำดี กระเพาะอาหาร ม้าม และไตได้ดี
(3) ฝึกการหายใจที่ส่วนบนของลำตัว
จงนั่งในท่าปัทมะอาสนะ หรือท่าสิทธะอาสนะ จงเพ่งความรู้สึกไปที่ส่วนบนของปอด ระบายลมออกมาก่อน จะมีความรู้สึกว่าคอหด จากนั้นจงสูดลมหายใจเข้า โดยยกก้านคอ และไหล่ขึ้นอย่างช้าๆ ให้ลมผ่านจมูกเข้าไปจนเต็มปอดส่วนบน แล้วยกก้านคอให้ตึง เงยคอไปด้านหลังให้ตึง
แล้วจึงหายใจออก โดยค่อยๆ ก้มคางลงมา นั่งตัวตรงหายใจออกช้าๆ ค่อยๆ ลดไหล่ให้ต่ำลง และค่อยๆ หดท้อง โดยที่ส่วนกลางของหน้าอกจะต้องตั้งตรงและนิ่ง ลมหายใจที่เข้าไปได้จนถึงปลายปอดส่วนบน จะทำให้ปอดแข็งแรงขึ้น
(4) ฝึกการรวมวิธีการหายใจที่ช่องท้อง ส่วนกลาง และส่วนบนของลำตัว (การฝึก “หายใจอย่างสมบูรณ์แบบ” หรือการฝึก “หายใจอย่างเต็มที่”)
เมื่อผู้ฝึกได้ทำการฝึกหายใจที่ช่องท้อง ฝึกหายใจที่ส่วนกลางของลำตัว และฝึกหายใจที่ส่วนบนของลำตัวจนชำนาญแล้ว ต่อไปก็ต้องหันมาฝึกการรวมวิธีการหายใจที่ช่องท้องส่วนกลาง และส่วนบนของลำตัวเข้าด้วยกัน ซึ่งโยคะเรียกว่า “การหายใจอย่างสมบูรณ์แบบ การหายใจอย่างเต็มที่” ดังนี้
จงนั่งในท่าปัทมะอาสนะ หรือท่าสิทธะอาสนะ จากนั้นระบายลมหายใจออกทางจมูกช้าๆ ท้องเริ่มยุบ ยุบให้มากที่สุดพอหายใจออกจนสุดแล้ว ค่อยๆ สูดลมหายใจเข้าช้าๆ ท้องจะพอง พองให้มากที่สุด แล้วเบ่งขึ้นไปที่หน้าอก ซี่โครงจะขยายออกมากที่สุด แล้วค่อยๆ ยกไหล่ ยกก้านคอขึ้นพอสูดหายใจเข้าไปหมดแล้ว ให้กักลมหายใจสัก 3 วินาที ในตอนนั้นตัวจะต้องตรง หลังตรง ยกเอว ก้มคางลงมาเล็กน้อย
จากนั้นค่อยๆ ระบายลมหายใจออกช้าๆ ท้องจะเริ่มยุบซี่โครงหด ไหล่และคอลดลงตามลงมาเหมือนลูกคลื่น การเคลื่อนไหวต้องสม่ำเสมอกัน
ข้างต้นคือ วิธีการหายใจอย่างเต็มที่ หรือ วิธีการหายใจอย่างสมบูรณ์แบบของโยคะในขั้นต้น หรือภายนอก เหตุที่เรียกว่า ขั้นต้นหรือภายนอก ก็เพราะในขั้นนี้เวลาหายใจ ผู้ฝึกยังมีการเคลื่อนไหวของท้อง-หน้าอก-ไหล่ ให้มองเห็นได้จากภายนอกอยู่ อย่างไรก็ดี ผู้ฝึกมีความจำเป็นต้องฝึกฝน วิธีการหายใจอย่างสมบูรณ์แบบ (อย่างเต็มที่) ขั้นต้น (ภายนอก) ให้เชี่ยวชาญเสียก่อน พอชำนาญแล้ว ผู้ฝึกก็ควรที่จะค่อยๆ ลดการเคลื่อนไหวของท้อง-หน้าอก-ไหล่ในระหว่างการหายใจเข้า-ออกลงตามลำดับ โดยเพ่งความใส่ใจไปที่จิตสำนึกแทนในขณะหายใจ
กล่าวคือ ผู้ฝึกต้องใช้จิตไปกำหนดรู้ตอนหายใจเข้าให้ “ท้องพอง” “ซี่โครงขยาย"”และ “ไหล่ยก” ขึ้นในจิต ขณะที่การเคลื่อนไหวจริงๆ ของท้อง-หน้าอก-ไหล่ ในขณะหายใจเข้าจะต้องลดน้อยลงตามลำดับ และผู้ฝึกจะต้องใช้จิตไปกำหนดรู้ตอนหายใจออกให้ “ท้องยุบ” “ซี่โครงหด” และ “ไหล่ตก” ลงในจิต ขณะที่การเคลื่อนไหวจริงๆ ของท้อง-หน้าอก-ไหล่ในขณะหายใจออกจะต้องลดน้อยลงตามลำดับ
หลังจากที่ผู้ฝึกได้ฝึกใช้จิตไปกำหนดรู้ในการหายใจอย่างสมบูรณ์แบบ (อย่างเต็มที่) ภายนอก (ขั้นต้น) จนกระทั่งแทบไม่มีการเคลื่อนไหวของร่างกายส่วนใดๆ ในขณะหายใจเข้า-ออกได้แล้ว ผู้ฝึกจะต้องฝึกหายใจอย่างเต็มที่แบบไม่ขยับเขยื้อนร่างกายส่วนใดๆ นี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งผู้ฝึกบรรลุถึงการหายใจอย่างสมบูรณ์แบบภายใน (ขั้นสูง) ได้เองอย่างเป็นธรรมชาติ
การที่ผู้ฝึกจะพัฒนาวิธีหายใจของตนจาก การหายใจอย่างสมบูรณ์แบบภายนอก ไปสู่ การหายใจอย่างสมบูรณ์แบบภายใน ได้นั้น ผู้ฝึกจะต้องหัดหายใจเข้าให้สั้นกว่าหายใจออกเป็นสัดส่วน 1 ต่อ 2 ให้ได้ก่อน คือหายใจเข้า 7 วินาที ก็ต้องหายใจออกนาน 14 วินาที เพื่อไล่อากาศที่ไม่บริสุทธิ์ที่ค้างอยู่ในปอดให้ออกไปมากที่สุด ในระยะแรก ผู้ฝึกอาจจะเริ่มจากการหายใจเข้า 4 วินาที และหายใจออก 8 วินาทีก่อน ก็ได้เมื่อชำนาญแล้ว จึงค่อยๆ เพิ่มเป็นหายใจเข้า 8 วินาที และหายใจออก 16 วินาที หลังจากที่หายใจเข้า-ออกเป็นสัดส่วน 1 ต่อ 2 ได้คล่องแล้ว ให้ผู้ฝึกเพิ่มการกลั้นหายใจไว้ระหว่างช่วงการหายใจเข้า และการหายใจออกด้วย โดยสัดส่วนการหายใจเข้า : การกลั้นหายใจ : การหายใจออกควรจะเป็น 1:4:2 กล่าวคือ ถ้าหายใจเข้า 4 วินาที ก็ควรกลั้นหายใจ 16 วินาที และหายใจออก 8 วินาที ถ้าหายใจเข้า 8 วินาที ก็ควรกลั้นหายใจ 32 วินาที และหายใจออก 16 วินาที เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในตอนเริ่มฝึกกลั้นหายใจใหม่ๆ ผู้ฝึกควรกลั้นหายใจเท่าที่ตัวเองสามารถทำได้เท่านั้นก็พอ อย่าได้ฝืนกลั้นหายใจจนเกินกำลังของตนเป็นอันขาด
การฝึกหายใจอย่างสมบูรณ์แบบภายใน (ไม่ขยับร่างกายส่วนใดๆ เลย เพียงแค่กำหนดรู้ในการตามลมหายใจ) โดยที่สามารถหายใจเข้า : กลั้นหายใจ : หายใจออก ได้ในสัดส่วน 1:4:2 คือเป้าหมายสำคัญของการฝึกปราณายามะของโยคะ และเป็นหัวใจของปราณายามะ (ยังมีต่อ
กุมภกะ หรือการกลั้นหายใจมีความสำคัญมากในการฝึกปราณายามะ จนแทบกล่าวได้ว่า ปราณายามะก็คือกุมภกะ (การกลั้นหายใจ) นั่นเอง หากเราแบ่งประเภทของปราณายามะจากมุมมองของการกลั้นหายใจ ก็จะสามารถแบ่งปราณายามะออกเป็น 2 รูปแบบได้ดังต่อไปนี้
(1) แบบพาหยะ หรือการกลั้นหายใจหลังจากหายใจออก (พาหยปราณายามะ)
ในโยคะ การหายใจออกจะทำให้ผู้ฝึกสมองว่าง และทำให้อัตตาของผู้ฝึกสงบลง การหายใจออกในปราณายามะของโยคะจึงเป็นการกระทำอันศักดิ์สิทธิ์ของผู้ฝึกในการศิโรราบ มอบตัวตนของผู้ฝึกต่อจักรวาล และยังเป็นการละตัวตนอย่างหนึ่งด้วย โดยที่ โยคะเชื่อว่า การกลั้นหายใจหลังจากการหายใจออกจะสามารถนำความสงบนิ่งมาสู่จิตใจ และอารมณ์ของผู้ฝึกได้ โดยเริ่มจากผู้ฝึกต้องหายใจออกช้าๆ จนสุด หยุดชั่วขณะ จากนั้นจงหายใจออกอีกครั้ง เพราะจะมีลมเหลืออยู่ในปอดเล็กน้อยเสมอ ลมที่เหลือนี้โยคะเชื่อว่าจะมีตะกอนของความทรงจำที่เป็นพิษ และอัตตาดำรงอยู่
ในช่วงสั้นๆ ของการหายใจออกครั้งหลังนั้น ผู้ฝึกจะต้อง “ทิ้ง” “ละ” ตะกอนเหล่านี้ออกไป และสัมผัสกับภาวะที่ลึกซึ้งจากความรู้สึกโล่งเบาที่เกิดขึ้นจากการได้ “ละ” “วาง” และรู้สึกถึงความสงบและความว่างที่เกิดขึ้นตามมาจากการได้ “ละ” หลังจากหายใจออกอีกครั้งนั้น
ผู้ฝึกต้องเข้าใจว่า โยคะมองว่า เมื่อเราหายใจเข้า ศักยภาพทั้งหมดของเราจะถูกเติมเต็ม และถูกยกขึ้นราวกับเป็นถ้วยที่ปรี่ไปด้วยพลังปราณที่มอบให้แด่ความศักดิ์สิทธิ์ของจักรวาล และเมื่อเราหายใจออกช้าๆ จนสุด หยุดชั่วขณะแล้วหายใจออกอีกครั้ง เราจะสัมผัสได้ถึง “ตัวตน” ของเราที่ว่างลง อันเป็นความว่างอันศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นสุญตาแบบชั่วคราวได้ อนึ่งในการฝึกปราณายามะ ถ้าผู้ฝึกจะฝึกแบบพาหยะหรือการกลั้นหายใจหลังจากหายใจออก ผู้ฝึกก็ควรที่จะฝึกแบบนี้แบบเดียวเป็นหลักไปพักใหญ่จนกว่าจะชำนาญ ในระหว่างนั้น ผู้ฝึกไม่ควรปะปน หรือฝึกร่วมกับการฝึกปราณายามะแบบอื่น
(2) แบบอาภยันตระ หรือการกลั้นหายใจหลังจากหายใจเข้า (อาภยันตรปราณายามะ)
จะว่าไปแล้ว การฝึกกลั้นหายใจหลังจากหายใจเข้าเป็นการฝึกปราณายามะที่แพร่หลายที่สุด ที่ผู้ฝึกควรจะฝึกให้ได้ และชำนาญเสียก่อนที่จะไปฝึกแบบพาหยะข้างต้น เพราะการฝึกกลั้นหายใจหลังจากหายใจเข้า จะทำให้พลังงานหรือปราณถูกซึมซับเข้าสู่ร่างกายอย่างเต็มที่ และกระจายไปสู่ระบบทั้งหมดผ่านการไหลเวียนของเลือด โยคะเชื่อว่า การหายใจเข้าเป็นการยืดและขยายออกของจิตวิญญาณ โดยการหายใจเข้า จิตวิญญาณข้างในสุดจะค่อยๆ เผยตัวออกมาโอบกอดเปลือกหุ้มแต่ละชั้น (กายทิพย์แต่ละชั้น) ของมันขึ้นสู่ชั้นผิวหนังของกายหยาบ (กายเนื้อ) ประหนึ่งคนรักที่กำลังโอบกอดผู้เป็นที่รักของตน
การกลั้นหายใจหลังจากหายใจเข้า ในมุมมองของโยคะ จึงเป็นการหลอมรวมกันของคนรัก (จิตวิญญาณ) กับผู้เป็นที่รัก (กายแต่ละชั้น ทั้งกายเนื้อและกายทิพย์ชั้นต่างๆ ข้างใน) จะเห็นได้ว่า ปราณายามะนั้นเป็นมากกว่าการฝึกหายใจในทางสรีระอย่างแน่นอน
เพราะในทันทีที่ผู้ฝึกจดจ่อใส่ใจอยู่กับการเคลื่อนไหวภายในของลมหายใจแล้ว มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่ผู้ฝึกจะใช้ประสาทสัมผัสภายนอกไปด้วยในขณะเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เอง ปราณายามะจึงเป็นการเริ่มต้นถอนจิตและอินทรีย์ของผู้ฝึกออกจากการเกี่ยวข้องกับสิ่งภายนอก นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม ปราณายามะจึงทำให้จิตใจของผู้ฝึกเกิดความสงบได้
การจะฝึกปราณายามะให้ได้ผลเต็มที่ ผู้ฝึกจะต้องมีพลังและความมั่นคงของกระแสพลังในร่างกายผ่านความชำนาญในการฝึกอาสนะเสียก่อน เพื่อให้ร่างกายของผู้ฝึกมีความต้านทานการเพิ่มขึ้นของกระแสพลัง ซึ่งมาจากการฝึกปราณายามะได้ โยคะเชื่อว่าปราณคือลมหายใจของพระเจ้าหรือเทพเจ้า ผู้ฝึกปราณายามะจะสัมผัสกับ “ตรีมูรติ” อยู่ทุกขณะจิต โดยที่การหายใจเข้าคือพลังแห่งการสร้าง (พระพรหม) การกลั้นหายใจคือ พลังในการควบคุม (พระนารายณ์) และการหายใจออกคือพลังในการทำลายสิ่งไม่บริสุทธิ์ (พระศิวะ) มันจึงเป็นพันธกิจของโยคะโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปราณายามะที่จะนำพาผู้ฝึกหยั่งถึงความลี้ลับนี้
ผู้ฝึกต้องไม่ลืมว่า การฝึกอาสนะจะปกป้องผู้ฝึกจากอันตราย และความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของกระแสพลังที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการฝึกปราณายามะ เพราะฉะนั้น ผู้ฝึกควรมีอารมณ์ที่มั่นคง และร่างกายที่มั่นคงเสียก่อนที่จะเริ่มฝึกปราณายามะอย่างจริงจัง หากผู้นั้นยังเป็นคนที่กระดอนไปมาระหว่างความสุดโต่งของพฤติกรรมอารมณ์และจิตใจ นั่นย่อมแสดงว่า คนผู้นั้นยังไม่พร้อมสำหรับปราณายามะ ควรกลับไปฝึกอาสนะให้ดีเสียก่อน
ขอย้ำอีกครั้งว่า ปราณายามะไม่ใช่การหายใจตามปกติ อีกทั้งไม่ใช่การหายใจลึกๆ เท่านั้น แต่มันคือศิลปะในการหลอมรวมสมองกับหัวใจ คือศิลปะในการเชื่อมปัญญาของปัจเจกเข้ากับปัญญาจักรวาล นอกจากนี้ ปราณายามะยังเป็นศิลปะในการเสริมสร้างพลังจักรวาล โดยผ่านการหลอมรวมธาตุที่ตรงกันข้ามสองชนิดคือ ไฟและน้ำในตัวของผู้ฝึก ไฟคือคุณสมบัติของจิตใจ ส่วนน้ำคือคุณสมบัติซึ่งตรงกับสรีระร่างกายโดยปกติ น้ำทำให้ไฟดับ ส่วนไฟทำให้น้ำระเหย ดังนั้น มันจึงไม่อาจนำไฟกับน้ำมารวมกันได้โดยง่าย
ดังนั้น ธาตุลมจึงเป็นตัวเชื่อมต่อ ซึ่งการไหลเวียนของมันภายในปอดจะทำให้เกิดกระแสพลังซึ่งหลอมรวมน้ำกับไฟเข้าด้วยกัน และก่อเกิดกระแสพลังของปราณ กระแสพลังนี้จะแผ่ซ่านผ่านระบบประสาทและกระแสเลือดกระจายไปทั่วร่าง ทำให้เซลล์ทุกเซลล์ฟื้นคืนความมีชีวิตชีวา ขณะที่ธาตุดินในรูปของกายคือ ฐานของการก่อกำเนิดพลัง ส่วนธาตุที่ห้าหรืออากาศธาตุที่เป็นที่ว่าง ทำให้เกิดพื้นที่ว่างภายใน ซึ่งจำเป็นสำหรับการกระจายของพลังงานในร่างกาย ความจำเป็นของพื้นที่ว่าง (อากาศธาตุ) ที่กลมกลืน และสมดุลยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของกระดูกสันหลัง และกล้ามเนื้อที่ค้ำจุนมัน เพราะกระดูกสันหลังคือช่องกลางของระบบประสาท เมื่อผู้ฝึกทำให้ลมหายใจลึกและยาวขึ้น พร้อมๆ กับการยกเหยียดข้อกระดูกสันหลังทั้งสามสิบสามข้อ ตามด้วยการเปิดกระดูกซี่โครงจากกระดูกสันหลัง กระบวนการเหล่านี้ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันในระหว่างการทำอาสนะร่วมกับปราณายามะ จะทำให้เกิดการหลอมรวมน้ำกับไฟได้ อุปมาดั่งการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำนั่นเอง โดยที่ปราณายามะใช้วิธีกลั้นหายใจในการชักนำ และกั้นกระแสทั้งหมด (ด้วยการกลั้นหายใจ) เพื่อควบคุมดึงพลังที่มีอยู่ออกมาอย่างพรั่งพรูบริบูรณ์ได้
ผู้ฝึกจึงควรทำให้ตัวเองเอิบอาบอยู่ในลมหายใจเข้า และลมหายใจออก รวมทั้งในการกลั้นหายใจอย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่ทำให้เกิดความเครียดในเซลล์สมอง หรือเส้นประสาท ผู้ฝึกต้องหัดควบคุมลมหายใจของตนเอง เพื่อให้มันไปควบคุมสมองอีกต่อหนึ่ง แล้วผู้ฝึกจะสามารถมีชีวิตในแต่ละขณะโดยดื่มด่ำอยู่ในการไหลเวียนอันราบเรียบของวงจรแห่งลมหายใจเข้า และลมหายใจออกได้ กระแสของลมหายใจของเขา ก็จะเป็นเฉกเช่นการไหลของแม่น้ำที่ทั้งปริ่มเต็ม ยิ่งใหญ่ และเปี่ยมไปด้วยพลังชีวิต (ยังมีต่อ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น