ตันตระนี้หมายถึง รหัส หรือ ความลับ โดยเริ่มเกิดขึ้นก่อนยุคของศาสนาฮินดู อันเป็นนิกายหนึ่งที่มีรากฐานมาจากนิกายสรวาสติวาทะ (อาจาริยวาท) เป็นนิกายที่เกิดขึ้นมาก่อนจะเป็นมหายานและวัชรยาน โดยนิกายนี้มีจุดเด่นที่การใช้ทวิธรรมหรือธรรมคู่ และการฝึกจิตด้วยรหัสต่างๆ พูดง่ายๆ คือ แสดงออกในรูปปริศนาธรรมต่างๆ นั่นเอง โดยมีมุมมองคล้ายๆ ลัทธิเต๋าของจีนที่ว่า มีขาวย่อมมีดำ มีดีย่อมมีเลว มีเกิดย่อมมีดับ มีชายย่อมมีหญิง เป็นต้น
ต่อมาเมื่อต้องมาพัฒนาตัวเองเพื่อสู้กับศาสนาฮินดู ที่นำศาสนาพราหมณ์มาปรับปรุงใหม่โดยดึงเอาหลักปรัชญาของศาสนาพุทธเข้าไปผสมกับศาสนาพราหมณ์เดิมจนออกมาเป็นศาสนาฮินดู
นิกายสรวาสติวาทะจึงได้มีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดและสามารถต่อกรกับศาสนาฮินดูได้ จึงมีการนำเรื่องพระพุทธเจ้าที่เชื่อว่ามีจำนวนอนันต์มาใช้เป็นเครื่องต่อสู้ เมื่อมีพระพุทธเจ้ามากมายดั่งเม็ดทรายในคงคามหานที ก็เริ่มมีคำถามขึ้นมาว่าพระพุทธเจ้านั้นต้องมีจุดกำเนิดสิ นั่นเองจึงเป็นการเริ่มต้นของพระอาทิพุทธเจ้าขึ้น แล้วแบ่งภาคเป็นรูปสัมโภคกายด้วยอำนาจญาณออกไปเป็นพุทธเจ้าอีกมากมายที่สถิตอยู่บนพุทธเกษตร อีกทั้งยังแบ่งภาคลงมาเป็นพระพุทธเจ้าในภาคนิรมาณกายที่ปรากฏบนโลกอีก
จากนั้นจึงเพิ่มกำลังพลให้ศาสนาพุทธเข้มแข็งสามารถต่อสู้กับศาสนาฮินดูได้มากขึ้น ด้วยการดึงเอาพระโพธิสัตว์ต่างๆ เข้ามารวมเป็นกองทัพใหม่ด้วย อันเป็นที่มาของมหายานและวัชรยานในปัจจุบัน
เมื่อนานเข้า และ เมื่อนิกายย่อยๆ ของนิกายสรวาสติวาทะได้แผ่ขึ้นไปทางเหนือของอินเดีย และประเทศต่างๆ ก็รับเอาวัฒนธรรมความเชื่อของดินแดนนั้นๆ เข้ามาผสมผสานด้วย เฉกเช่นเดียวกับวิธีดูดกลืนศาสนาอื่นของศาสนาฮินดูนั่นเอง
เมื่อนิกายสรวาสติวาทะเคลื่อนเข้าสู่ทางตอนเหนือของอินเดีย ก็ได้แตกแขนงออกเป็น 3 ระดับ ซึ่งทั้ง 3 ระดับนั้นก็นำวิชาตันตระนี้มาใช้ด้วยเช่นกัน คือ
1. มันตรยาน อันจะเน้นในพิธีกรรม โดยจะใช้มนตร์และมุทรา (การแสดงปริศนาธรรมด้วยนิ้ว) มาใช้ในการถ่ายทอดธรรมด้วยรหัสต่างๆ ตามแบบตันตระ
2. วัชรยาน จะเน้นในสหัชญาณ จะเน้นการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งภายในจิต โดยผ่านวิถีแห่งตันตระเป็นคำปริศนาที่ไม่ตายตัว
3. กาลจักร เป็นขั้นที่เน้นการประสานความคิดที่แตกแยกทางทรรศนะต่างๆ แล้วหาความเป็นกลางที่ลงตัว ยอมรับเอาปรัชญาธรรมต่างๆ เข้ามาเป็นของตนเอง จึงเห็นได้ว่ามีการนำเอาเทพเจ้าของฮินดู เอาวิชาโหราศาสตร์ เช้ามาร่วมด้วย อีกทั้งยังมีการนำเอาเทพเจ้าพื้นเมืองมาร่วมอีกเช่นกัน แล้วมีการสร้างเทพใหม่ๆ ขึ้นอีกมากมาย อาทิเช่นพวกเทพยิดัม ยับ-ยุม เป็นต้น
ดังนั้นภาพที่เราเห็นพระอาทิพุทธเจ้ากอดรัดอยู่กับศักติของพระองค์นั้น จึงไม่ได้แสดงรหัสหรือสื่อความหมายไปทางอนาจารอย่างที่เราคิดกันเลย นั่นเป็นภาพปริศนารหัสธรรมตามแนวของตันตระ ที่ว่ามีชายย่อมมีหญิง มีขาวย่อมมีดำ มีปรากฏย่อมมีไม่ปรากฏ
เมื่อจะสื่อให้เห็นถึงการกำเนิดของพระพุทธเจ้าในรูปแบบต่างๆ แล้ว จึงต้องนำภาพศักติมาอธิบายร่วมกับพระอาทิพุทธเจ้า เพื่อความเข้าใจได้ว่าเมื่อชายและหญิงมารวมกันย่อมก่อให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมานั่นเอง ถ้าผู้ใดไม่เข้าใจที่มาของตันตระแล้วย่อมจะมองว่าภาพนี้เป็นภาพลามกอนารไปก็ย่อมได้
อีกอย่างมีหลายท่านเข้าใจกันว่า วิชาตันตระนั้นมีที่มาจาก ลัทธิไศวะศักติหรือตันตระฮินดู ซึ่งเราจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่าจะมีการร่วมเพศกันในเทวสถานถวายแด่เทพเจ้า
คนที่คิดว่าพุทธตันตระก็คงมีความคล้ายกันเช่นนั้น เมื่อดูจากภาพพระอาทิพุทธเจ้า นั่นเป็นการเข้าใจที่ผิด เพราะปรัชญาพุทธตันตระฉบับเดิมจริงๆ นั้นไม่ได้มีจุดมุ่งหมายไปในทางเช่นนั้นเลย ถ้ามองจากรูปลักษณ์ภายนอกเราอาจะมองว่ามีความคล้ายคลึงกันมาก แต่ในทางปฏิบัติและจุดประสงค์ของวิชาและทางปรัชญานั้นจะต่างกันอย่างสิ้นเชิง
พุทธตันตระนั้นตามประวัติแล้วเกิดก่อนลัทธิตันตระของฮินดูนานมาก โดยต้องเข้าใจกันก่อนว่า ระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาฮินดูนั้นมีการแย่งชิงพื้นที่การนับถือจากชาวอินเดียกันเป็นอย่างมาก ต่างฝ่ายต่างก็ดึงเอาข้อดีของอีกฝ่ายกันไปใช้ บ้างก็ดึงไปทั้งหมด บ้างก็ดึงไปได้เพียงบางส่วนแบบขาดๆ เกินๆ
โดยฮินดูตันตระมีเป้าหมายที่ การเข้ารวมกับศักติแล้วจะเพียบพร้อมไปด้วยพลังอำนาจ เพราะการรวมกันระหว่างศิวะกับศักติ โลกจึงได้กำเนิดขึ้น อันการติดอยู่ในรูปลักษณ์นั่นเอง
ส่วนพุทธตันตระนั้น มีจุดมุ่งหมายต่างจากลัทธิตันตระของฮินดู โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ความเป็นสูญตา อันเป็นภาวะที่ว่างเปล่าแต่ไม่ว่างเปล่า ไม่ได้เกิดจากการสร้างหรือจากการปรุงแต่งใดๆ เป็นสภาวะที่แท้จริงเป็นสัจธรรมของธรรมชาติ อันมีอยู่แล้วตั้งอยู่แล้วก่อนการสร้างและข้ามพ้นจากการสร้างทั้งปวงด้วย
เมื่อทราบดังนี้คงเข้าใจถึงพุทธตันตระมากขึ้นนะครับ และภาพที่ปรากฏก็ไม่ได้ลามกอนาจารอย่างที่เราคิดกัน ที่หลายท่านคิดกันไปเช่นนั้นก็เพราะเรานั้นไปรับเอาเรื่องหรือความเข้าแบบผิดๆ ของตันตระในแบบฮินดูมา
ซึ่งตอนหลังศาสนาฮินดูส่วนใหญ่เขาก็ได้ปฏิเสธแนวทางของนิกายนี้อย่างสิ้นเชิง และยังระบุว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด ในแก่นแท้และเป้าหมายสูงสุดของศาสนาฮินดูเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย
ซึ่งในไทยเราก็มีการนำลัทธิตันตระในแบบที่ยังไม่แตกฉานในวิถีแห่งตันตระมาใช้เช่นกัน โดยจะไปเน้นกรรมวิธีทางไสยศาสตร์เป็นหลัก มากกว่านำมาแสวงหาอภิธรรม อภิปรัชญาทางพุทธศาสนา โดยมีให้เห็นว่าที่มีการนำมาใช้แบบนี้จะมีการกระทำพิธีกรรมเสริมดวง การใช้วัตถุภายนอกมาช่วยในการแก้กรรม ซึ่งต้องบอกเลยว่าผู้ที่นำตันตระมาใช้เช่นนี้มิได้มีความเข้าใจในระบบตันตระที่แท้จริงเลย แถมยังผิดวัตถุประสงค์ของศาสนาที่มุ่งเน้นการหลุดพ้นที่เกิดขึ้นจากพุทธิปัญญาด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น