หากเข้าใจวิธีคิดของตันตระเกี่ยวกับวิธีฝึกหยุด
เพื่อชักนำพลังงานและจิตมิให้ส่งออกนอก แต่ให้ดึงพลังงานและจิตกลับคืนสู่ศูนย์กลางภายในได้แล้ว ตันตระแนะว่าให้ลองใช้วิธีนี้กับ
“ความต้องการทางเพศ” ในขณะที่เกิดอารมณ์ทางเพศขึ้นมา แล้วผู้นั้นจะเห็นได้เองว่า วิธีนี้ทำให้เกิดความรู้สึกตัวดีกว่า วิธีกดข่มความต้องการทางเพศเป็นอย่างมาก เนื่องจาก พลังชีวิตของคนเรามีคุณสมบัติที่ต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา เมื่อไม่ปล่อยออกสู่ข้างนอก ก็ต้องไหลกลับสู่ข้างใน ไม่มีทางหยุดนิ่ง ขณะที่การไปกดข่มจะไม่อาจกดข่มพลังงานได้ตลอด พลังงานจะต้องดิ้นรนหาทางออกไปสู่ข้างนอกจนได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือรูปการใดรูปการหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ตันตระจึงมุ่งที่จะใช้พลังงานที่เป็นพลังชีวิตของคนเรา เพื่อเข้าถึงศูนย์กลางภายในแทน เพราะตันตระรู้ดีว่า “ความคิดชั่ววูบ” หรือ “อารมณ์ชั่ววูบ” ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นความคิดหรือความอยากประเภทใดก็ตาม เมื่อมีขึ้นปรากฏขึ้นก็แสดงว่า “พลังงาน” กำลังพุ่งพล่านที่จะออกไปสู่ข้างนอกอยู่ ซึ่งจะผลักดันจากข้างในให้ผู้นั้นทำอะไรออกมาสู่ภายนอกเป็น “การกระทำ” เพราะฉะนั้น เมื่อผู้นั้น “หยุด” โดยฉับพลัน พลังงานภายในตัวผู้นั้นย่อมไม่อาจอยู่นิ่งข้างในได้ ผู้นั้นหยุดแล้ว แต่พลังงานภายในยังไม่หยุด มันจึงต้องเข้าสู่ศูนย์กลางภายในแทน เพราะมันไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ นี่แหละคือเคล็ดที่สำคัญยิ่งในการฝึกสติ และความรู้สึกตัวของตันตระ โดยผ่านการชักนำพลังงานเข้าสู่ศูนย์กลางภายใน และทำการแปรเปลี่ยนคุณภาพของพลังงานของผู้นั้นอย่างเป็นไปเอง
จะขอยกตัวอย่างให้เห็นความพิสดารของวิธีการนี้ของตันตระ อย่างเช่น ตอนที่เราเกิดความรู้สึกอยากจะจาม หากเราคิดที่จะไม่จาม เราจะรู้สึกว่าการพยายามที่จะไม่จามนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก เพราะเป็นการฝืนใจ ในที่สุดก็จะจามออกมาจนได้ เพราะฉะนั้น ตันตระจึงแนะว่า เมื่อเกิดความรู้สึกอยากจะจาม ให้เราหยุดการเคลื่อนไหวของร่างกายให้หมดชั่วขณะ หยุดแม้กระทั่งลมหายใจ จนความรู้สึกที่อยากจะจามบรรเทาลงแล้วจึงค่อยขยับตัว หากเราทำได้เช่นนี้แล้ว พลังงานของเราจะไม่แผ่ซ่านออกไปข้างนอก แต่จะถูกปล่อยเข้าสู่ศูนย์กลางภายในตัวเราแทน
อีกตัวอย่างหนึ่ง หากเรากำลังโกรธอยู่ มีความรู้สึกที่อยากจะต่อยหน้าคน หรืออยากทำลายข้าวของ หรืออยากใช้ความรุนแรง ใจของเราในขณะนั้นกำลังเดือดพล่านเต็มไปด้วยพลังแห่งการทำลาย ทันใดนั้น ด้วยมหาสติและความรู้สึกตัวอย่างยิ่งของตันตระ เราตัดสินใจฉับพลันแสดงความรักกับคนใกล้ชิดจะเป็นใครก็ได้ โดยการสวมกอดเขา จุมพิตเขาด้วยความรัก อะไรจะเกิดขึ้นภายในตัวเรา? แรกๆ เราอาจรู้สึกแปลกๆ เหมือนเป็นการเล่นละคร เพราะเรากำลังโกรธอยู่ แต่เรากลับต้องแสดงความรักออกมา แต่แล้วเราก็จะตระหนักได้เองว่า ในห้วงยามนั้นแหละ ที่ตัวเราสามารถ “รัก” คนได้มากเหลือเกิน เพราะพลังงานที่กำลังเดือดพล่านอยู่ได้ถูกดึงให้ไปสู่ความรัก แทนที่จะถูกระบายออกมาเป็นความโกรธแค้น
จงอย่าสับสน การ “หยุด” โดยนำไปปนกับการ “กลั้น” เพราะการหยุดของตันตระไม่ใช่การกลั้นพลังงาน แต่เป็นการเล่นกับพลังงาน โดยดูว่าพลังงานจะเคลื่อนที่เข้าสู่ศูนย์กลางภายในหรือไม่อย่างไรต่างหาก อนึ่ง วิธีหยุดความอยากของตันตระที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะต้องใช้กับความอยากจริงๆ ที่เกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ หรือแรงกระตุ้นเร้าภายในจริงๆ จึงจะสามารถชักนำพลังงานเข้าสู่ศูนย์กลางภายในได้ หากเป็นความอยากที่เกิดจากความรู้สึกตามความเคยชินแบบกลไก มันจะไม่ได้ผล
เพราะฉะนั้น จงใช้วิธีหยุดนี้ก็ต่อเมื่อตัวเราเกิดความอยากขึ้นมาจริงๆ และจงหยุดทันที โดยไม่คิดอะไรทั้งสิ้น แม้แต่เรื่องการหยุดคือให้หยุดเท่านั้น จากนั้นจงรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นโดยไม่ขยับตัว โดยไม่หายใจ โดยไม่คิดแม้แต่เรื่องศูนย์กลางภายใน จงปล่อยให้ความอยากหรือพลังงานเคลื่อนไหวเอง เพราะในขณะนั้น หากไป “คิด” เรื่องศูนย์กลางภายใน พลังงานก็จะพุ่งไปที่ “ความคิด” ทันที จงอย่าลืมว่า พลังงานภายในนี้ถูกใช้อย่างสูญเปล่าง่ายดายเหลือเกิน แค่เผลอไปคิดนิดเดียวก็เปลี่ยนทิศทางของพลังงานได้โดยง่ายแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น