การใช้ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากสมอง เพื่อมาทำให้มีชีวิตที่ดีกว่า (ต่อ)*
คนในวัยทำงานที่ทำงานหนัก เครียดจัด พักผ่อนน้อยและไม่ค่อยออกกำลังกาย แล้วอยู่ดีๆ ก็เกิดอาการ “ไหลตาย” ที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “คะโรชิ” (การเสียชีวิตอย่างฉับพลันเพราะการหักโหม ทำงานหนักมากเกินไป) นั้น ก็น่าจะมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการที่สมองหลั่งสารโดปามินออกมามากเกินไปด้วย โดปามินเป็นฮอร์โมนที่ทำให้คนเราเกิดความคึกคักกระตือรือร้น แต่ถ้ามันหลั่งออกมามากเกินไปจนร่างกายใช้พลังออกมามากเกินควรจนเกิดอาการ “หมดพลัง” ก็อาจทำให้คนผู้นั้นอายุสั้นได้ ผู้คนในสมัยนี้มีชีวิตอยู่ด้วยการแข่งขัน อาชีพของคนที่ทำงานในภาคเอกชนเป็นอาชีพที่ต้องเอาชนะการแข่งขัน ต้องมีจิตใจที่ชอบต่อสู้ เอาชนะอย่างแรงกล้าถึงจะประสบความสำเร็จได้
แต่ถ้าพวกเขาไม่รู้ วิธีการใช้ “มอร์ฟีนในสมอง” อย่างถูกต้อง อย่างชาญฉลาดเพื่อชีวิตที่ดีกว่าในระยะยาวแล้ว ต่อให้ในช่วงแรกๆ ถึงพวกเขาจะประสบความสำเร็จงดงาม แต่มีความเป็นไปได้สูงมากว่าพวกเขายากที่จะมีอายุยืนได้ อย่างนี้จะเรียกว่า เป็นความสำเร็จที่แท้จริง และยั่งยืนได้อย่างไรกัน
จริงอยู่ คนที่จะทำงานใหญ่ และทำได้อย่างเก่งกาจ เยี่ยมยอดในระดับเทพนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่คนผู้นั้นจะต้องเป็นคนที่มีพลัง และใช้พลังมหาศาลในการดำเนินชีวิตประจำวันและการทำงาน เพราะถ้าหากคนผู้นั้น ไม่มีพลังแล้วก็ยากที่จะทำงานใหญ่ให้สำเร็จได้ แต่ต่อให้คนผู้นั้นเป็นคนที่มีพลังก็จริง หากบริหารและใช้พลังออกมาอย่างไม่เหมาะสม รับรองว่าสิ่งที่จะตามมาคือ โรคภัยไข้เจ็บ และการมีอายุสั้นเท่านั้นเอง
เคล็บลับนั้นอยู่ที่ว่า ถ้าผู้นั้นสามารถทำให้สมองของตนหลั่งสาร “มอร์ฟีนในสมอง” ออกมาในขณะทำงาน และใช้ชีวิตประจำวันอย่างกระตือรือร้นได้ ร่างกายของผู้นั้นก็จะหลั่งสารโดปามินออกมาเพียงเล็กน้อย แต่จะมีประสิทธิผลพอๆ กับสารโดปามินจำนวนสิบหรือยี่สิบเท่าที่หลั่งออกมาอย่างเดียว โดยสมองไม่ได้หลั่งสาร “มอร์ฟีนในสมอง” ออกมาด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ สาร “มอร์ฟีนในสมอง” นี้ยังมีประสิทธิผลของคานงัดในการช่วยเพิ่มพูนพลังงานของร่างกายด้วยนั่นเอง
การแค่มีความทะยานอยากในการทำโน่นทำนี่อย่างเดียว จึงไม่น่าเพียงพอที่จะทำให้คนเราประสบความสำเร็จได้ เพราะแค่มีความทะยานอยากอย่างเดียว มันจะทำให้สมองหลั่งสารโดปามินออกมามากเกินไปแล้วจะเกิดผลข้างเคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารโดปามิน และนอร์อะดรีนาลินจะทำให้เกิดอนุมูลอิสระเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้แก่เร็วและเป็นมะเร็งได้ ในอดีต พระหรือนักบุญที่ได้ชื่อว่าเป็นอริยบุคคลนั้น มักจะมีอายุยืนกันเป็นส่วนใหญ่กันทั้งนั้น เรื่องนี้ถ้ามองจากมุมมองของ การพัฒนาศักยภาพของสมองด้วยวิชากุณฑาลินีโยคะ แล้วก็อาจอธิบายได้ว่า เพราะท่านเหล่านั้นใช้ชีวิตและมีวิธีคิด วิธีมองโลกไปในหนทางที่กระตุ้นการหลั่งสาร “มอร์ฟีนในสมอง” ออกมานั่นเอง คนอย่างพวกท่านต่อให้ได้รับเชื้อโรคร้ายๆ ก็มักจะไม่เจ็บไข้ได้ป่วยโดยง่าย เพราะพวกท่านมี “ภูมิชีวิต” ที่แข็งแรง และมีความสามารถในการฟื้นตัวจากโรคสูงกว่าผู้คนธรรมดา
ทางวงการแพทย์เคยใช้หนูทดลองเรื่อง การเกิดมะเร็งและพบว่า ถ้าหากมีความเครียดมากขึ้น โอกาสที่จะเป็นมะเร็งก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากร่างกายได้รับสารก่อมะเร็งเข้าไป ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งราว 10% ในกรณีนี้ ถ้าหากได้รับความเครียดเพิ่มเข้าไปด้วย โอกาสที่จะเป็นมะเร็งจะสูงเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็นถึง 50% เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นคนที่ฝึกทางจิตมาในระดับสูง หรือคนที่มีจิตใจมั่นคง ไม่หวั่นไหวเมื่อเผชิญกับเรื่องเครียดที่คนอื่นเขาเครียดกัน แต่กลับสามารถหลั่งสาร “มอร์ฟีนในสมอง” ออกมาได้ สาร “มอร์ฟีนในสมอง” นี้จะทำให้โอกาสเป็นมะเร็งของผู้นั้นลดลงไปอย่างฮวบฮาบ นอกจากนี้ การที่ร่างกายของผู้นั้นมีภูมิต้านทานต่อการเป็นมะเร็ง ก็ย่อมหมายความว่า มีภูมิต้านทานต่อการเป็นโรคเรื้อรังร้ายแรงอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
โรคเรื้อรังร้ายแรงที่ผู้คนส่วนมากเป็นกัน คือโรคหลอดเลือดแข็งตัว ทำให้การไหลเวียนของโลหิตในร่างกายไม่ราบรื่นคล่องตัว และสาเหตุใหญ่ที่ทำให้กระแสเลือดไหลไม่คล่องนั้น ก็มาจากความเครียดและไขมันอุดตันในเส้นเลือด เพราะเมื่อเกิดความเครียดร่างกายก็จะหลั่งสารนอร์อะดรีนาลินออกมา ซึ่งจะทำให้เส้นเลือดหดตัวกั้นกระแสโลหิต และยังทำให้เกิดอนุมูลอิสระจำนวนมาก ซึ่งจะไปทำร้ายดีเอ็นเอ สร้างสารที่เป็นกรด ทำให้ร่างกายแก่เร็ว และอ่อนแอลง และยังไปเพิ่มความดันโลหิตซึ่งมีผลต่อสุขภาพของสมองโดยตรง ดังนั้น จึงต้องขอย้ำแล้วย้ำอีกว่า การคิด การมองโลกของคนเรานั้น มันมีผลกระทบต่อการหลั่งสารมอร์ฟีนในสมองโดยตรง และมีแต่การคิด การมองโลกในเชิงบวก หรือการคิดดี พูดดี ทำดีเท่านั้น ถึงจะทำให้เกิดการกระตุ้นหลั่งสารมอร์ฟีนในสมองออกมาได้
ในวิชาจิตวิทยาของมาสโลว์ได้ทำการจำแนกความต้องการของมนุษย์ออกเป็น 5 ระดับคือ
(1) ความต้องการทางกายภาพ เช่น การกิน การนอน การสืบพันธุ์
(2) ความต้องการความปลอดภัย
(3) ความต้องการความรัก และการมีสังกัด
(4) ความต้องการการยอมรับทางสังคม
(5) ความต้องการในการ “บรรลุตัวเอง” (self-realization)
คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันสามารถบรรลุความต้องการได้จนถึงระดับที่ 3 แล้ว คนที่บรรลุถึงระดับที่ 4 จะมีจำนวนน้อยลง และมีจำนวนน้อยลงมากที่บรรลุถึงระดับที่ 5 ได้ เมื่อเราพิจารณาเรื่องนี้จากมุมมองของการพัฒนาศักยภาพสมองด้วยวิชากุณฑาลินีโยคะ เราได้คำตอบว่า คนที่ใช้ชีวิตอย่างมี “วิถี” ของตนเองคือ คนที่มีความสุขเป็นอย่างยิ่ง เพราะคนที่ใช้ชีวิตเพื่อกระทำในสิ่งที่ตนเองรักเป็นสำคัญ คือคนที่ใช้ชีวิตอย่างต้องการ “บรรลุตัวเอง” หรือบรรลุ “ตัวตน” ของตนนั่นเอง
คนที่ใช้ชีวิตแบบนี้ จะได้รับความอิ่มเอิบ และความสุขใจจากการที่มีการหลั่งสารมอร์ฟีนในสมองออกมา เพราะได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก มิใช่ทำงานเพราะความจำใจหรือเพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น เราจึงอาจกล่าวได้ว่า ยิ่งคนเรามีระดับความต้องการเป็นขั้นสูงมากขึ้นเท่าไร ความปีติความสุขใจที่จะได้รับจากการหลั่งสารมอร์ฟีนในสมอง ก็จะเพิ่มมากขึ้นเพียงนั้น
มันจึงเป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่การใช้ชีวิตที่ถูกต้อง ดีงาม เพื่อคนอื่น เพื่อสังคม เพื่อมนุษยชาติ เพื่อโลก เพื่อจักรวาล กลับจะทำให้คนผู้นั้นมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง กระชุ่มกระชวยดูอ่อนเยาว์กว่าวัย และไกลจากโรค เรื่องนี้สามารถอธิบายทางกายภาพได้ว่า เพราะร่างกายของคนเรามีระบบทำงานเหมือนกับเทอร์โมสตรัทในเครื่องทำความเย็น อันเป็นระบบฟีดแบ็กในเชิงลบ กล่าวคือ ถ้าอากาศหนาวเย็น ขุมขนในร่างกายจะหดตัวเพื่อป้องกันความร้อนระเหย แต่ถ้าอากาศร้อน ขุมขนจะขยายตัวเพื่อขับเหงื่อไม่ให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น หรืออย่างเวลาที่ร่างกายหลั่งสารนอร์อะดรีนาลิน และอะดรีนาลินออกมา ก็จะหลั่งสารเซโรโตนินออกมายับยั้งควบคุมเอาไว้
การหลั่งสาร “มอร์ฟีนในสมอง” ก็เช่นกัน ปกติร่างกายจะหลั่งสารยับยั้งที่ชื่อว่า “เกียบา” ออกมา แต่มีข้อยกเว้นอยู่กรณีเดียว คือบริเวณสมองส่วนหน้าที่เป็นส่วนที่ทำงานทางด้านความคิดจิตใจ ซึ่งเป็นการทำงานของสมองชั้นสูงที่มีเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น สมองส่วนหน้านี้ ถ้าถูกกระตุ้นจนมีสาร “มอร์ฟีนในสมอง” หลั่งออกมา ร่างกายจะไม่หลั่งสารยับยั้งออกมาควบคุม ทำให้สามารถหลั่งมอร์ฟีนในสมองออกมาได้เรื่อยๆ...เรื่องนี้ต้องขยายความเพราะเป็นการค้นพบที่สำคัญมาก (ยังมีต่อ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น