มหาธรรม เรื่อง ข้อแตกต่างของนิกายลับและการปฏิบัติวัชระญาณ
ญาณสามขั้นของผู้ปฏิบัติธรรม ซึ่งลามะทิเบตได้จำแนกไว้ คือ มหายาน หรือญาณใหญ่ที่ช่วยคนได้มากๆ เร็วๆ และเน้นให้เข้าถึงนิโรธก่อน แต่ไม่เน้นรายละเอียดหรือความเป็นที่สุดแห่งธรรมมาก เรียกว่าเอาแค่จิตตรงนิพพาน หรือโสดาบันก็นับว่าพอแล้ว แต่เน้นที่ต้องได้คนจำนวนมากๆ, ตันตระญาณ คือ ญาณที่เน้นรายละเอียดเรื่องจิตวิญญาณขั้นสูงและญาณขั้นสูงต่างๆ เกือบถึงระดับญาณตรัสรู้ ซึ่งยากแก่การฝึกขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งมักอยู่ในกลุ่มนิกายลับ ฝึกกันเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีปัญหาบางประการเมื่อฝึกแล้ว จึงหลบอยู่แบบลับๆ และญาณที่สาม คือ วัชระญาณ หรือญาณที่แข็งแกร่งประดุจเพชร ไม่อาจทำลายได้ อันเกิดจากการปรับตัวเข้าสู่สังคมแบบต่างๆ ด้วยการธุดงค์เป็นสำคัญ จนไม่มีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับหมู่คณะใดๆ นี่คือลักษณะที่อธิบายได้ง่ายๆ ของญาณทั้งสามของทิเบต ในไทยก็มีญาณทั้งสามนี้ให้ฝึกครบ มหายานฝึกได้ทั่วไปมักพบในสถานธรรมที่มีคนมากๆ และจะไม่เน้นรายละเอียดในการฝึกลงลึกมากนัก การปฏิบัติง่าย และไม่ลึกนัก เช่น สถานธรรมแห่งหนึ่งที่อุบลราชธานี, ส่วนวัชระญาณนั้น เป็นญาณขั้นสูงสุด ในด้านการอยู่อาศัยร่วมกับคนบนโลกนี้ (แต่ไม่เด่นด้านปัญญาญาณเท่าตันตระญาณ) จะพบได้ยาก เพราะจะไม่ค่อยอยู่กับที่ ธุดงค์ไปเรื่อยๆ ตันตระญาณก็มักเป็นนักเขียนลึกลับ
ข้อแตกต่างของตันตระญาณและวัชระญาณ
ตันตระญาณขั้นสูง จะพุ่งตรงไปสู่ญาณตรัสรู้ และเสี่ยงต่อการตรัสรู้ผิดเวลามาก ดังนั้น จึงมีวิธียับยั้งจิตไม่ให้บริสุทธิ์มากเกินไป คือ การใช้กิเลสเป็นอาหารเลี้ยงจิตวิญญาณให้จิตวิญญาณเป็นเครื่องซักฟอกกิเลส หรือพลังดำรอบตัว ดูดซับพลังดำเข้าตัว แล้วถ่ายเอาพลังดีออกไป ทำให้ตนเองมีความคล้ายต้นโพธิ์ คือ ต้นไม้ที่ดูดซับอากาศเสีย ให้อากาศดีคืนสู่บรรยากาศมาก ทำแบบนี้มากๆ ก็เกิดเป็น “โพธิญาณ” ได้ คือ จากตันตระญาณไปสู่โพธิญาณ หรือ “ญาณตรัสรู้” เป็นพระพุทธเจ้านั่นเอง แต่ข้อเสียของญาณนี้คือ มีความใกล้ภาวะพระปัจเจกพุทธเจ้ามาก ดังนั้น จึงเข้าสังคมได้ยาก นิยมปลีกอยู่อย่างลับๆ เป็นนิกายลับไป และประกอบกับดูดซับพลังดำได้ จึงมีปัญหากับคนที่เล่นคุณไสยดำมาก มีทั้งคนที่โกรธ, หลง, และกามเข้ามาพัวพันมาก เพราะจิตใสเกินไป คนเหล่านี้ จะเอาความโกรธ, กาม และความหลง มาใส่พวกตันตระญาณ เพราะผู้ฝึกตันตระญาณเป็นพวกดูดซับพลังดำเพื่อซักฟอกให้ขาว จึงนับว่าวิถีจิตเข้าถึงความใสอย่างที่สุด เหนือญาณทุกญาณ แต่เสียตรงที่เข้ากับสังคมได้ยากเพราะจะถูกคนรุมเล่นงานมากดังกล่าว
ส่วนวัชระญาณนั้น เขาจะฝึก “ซกเชน” กัน คือ ฝึกกายใสรัศมีสีรุ้งเจ็ดสี อันเป็นกายทิพย์และฉัพพรรณรังสีของพระพุทธเจ้า เมื่อได้แล้วก็จะทำให้คนยอมรับ ไปไหนมาไหนก็เข้ากับคนในสังคมได้มากกว่าพวกนิกายลับ เหมือนเป็นของดีงามสวยงาม ไปไหนใครก็ชอบ แต่ญาณหยั่งรู้ยังไม่เท่าพวกตันตระญาณ เด่นด้านบารมีและความนิยมชมชอบของคนในสังคม คือ ฝึกแล้วได้บารมี ไปไหนมาไหนผู้คนยอมรับ, ชมชอบ, เปิดรับ, ยอมให้เข้าได้หมด, ปรับตัวกับคนได้ง่าย เหมือนเพชรที่เปล่งประกายใครๆ ก็นิยมนั่นเอง แต่เสียตรงที่ เขาจะเห็นและพึงใจในซกเชน คือ กายทิพย์ และรัศมีสีรุ้งนั้น ทำให้เกิด “รูปราคะ” และจิตจะไม่ใสเท่าพวกตันตระญาณที่ซักฟอกพลังดำครั้งแล้วครั้งเล่า ญาณหยั่งรู้จะน้อยกว่า คือ วิถีจิตติดค้างตรงที่รูปราคะ มักคิดหรือระลึกนึกถึงรูปนิมิตหรือกายทิพย์ของตนเนืองๆ ด้วยราคะคือความพอใจ, พึงใจ, เพลินใจนั้น แบบนี้ จิตจะไม่ตรงเข้าสู่นิพพาน จะยั้งอยู่ หยุดอยู่ค้างที่รูปราคะ และทำให้ไม่ต้องหาวิธีแก้ด้วยการดูดซับพลังดำ เพราะไม่อาจได้ถึงขั้นตรัสรู้อยู่แล้ว ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าผู้สำเร็จวัชระญาณ จิตบริสุทธิ์น้อยกว่าโพธิญาณ แต่มีบารมีและปรับตัวอยู่กับคนได้ดีกว่า มีความเป็นอยู่คล้ายพระในพุทธศาสนามากกว่า คือ ธุดงค์เรื่อยไป ไม่ใช่อยู่อย่างคล้ายพระปัจเจกพุทธเจ้าแบบพวกนิกายลับ สำหรับการฝึกวัชระญาณนั้น การฝึกสิ้นสุดลงแค่เราพอใจในกายทิพย์เรา คือ กายใส มีรัศมีสีรุ้งครบเจ็ดสี (ซกเชน) มีกายทิพย์ที่มีบารมีมากพอควร เช่น กายโพธิสัตว์ หรือกายยูไล แล้วไม่ต้องไปละความพอใจในรูปราคะของตนนั้นๆ เท่านี้ก็ไม่มีปัญหาแล้ว เปิดตัวได้เลย
ความเป็นอยู่ของผู้บรรลุญาณสามแบบ
๑) ผู้บรรลุมหายาน
จะอยู่แบบอาจารย์สอนธรรม มีสำนักธรรมขนาดใหญ่ รองรับผู้คนได้มาก และช่วยให้คนได้เข้าถึงธรรมจำนวนมากๆ มีวิธีง่ายๆ เร็ว, ลัด, สั้น แต่ไม่เน้นรายละเอียดของธรรมมาก เรียกว่าเป็นญาณแรกที่เราควรบรรลุให้เร็วที่สุด มรรคผลขั้นนี้หวังเพียงโสดาบันก็พอแล้ว ดังนั้น ผู้บรรลุมหายานจึงนับว่ามีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักมากที่สุด มากกว่าญาณอื่นๆ แม้ว่าธรรมหรือญาณหยั่งรู้จะน้อยกว่าแบบอื่นๆ ก็ตาม แต่เพราะการมีสถานธรรม และการถ่ายทอดธรรมให้แก่คนจำนวนมากๆ นั้นเอง ทำให้เป็นที่รู้จักอย่างเปิดเผยในวงกว้าง ซึ่งคนทั่วไปที่มีบุญบารมีน้อย แต่มีจำนวนมาก สามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุด มากกว่าญาณอื่น
๒) ผู้บรรลุตันตระญาณ
จะอยู่แบบพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า คือ อยู่แบบลับๆ ไม่ค่อยให้ใครรู้ ไม่ชอบเปิดตัว ไม่นิยมชื่อเสียง รับศิษย์น้อยมากๆ แต่ศิษย์จะมีบารมีมาก และเป็นยอดคน ทำหน้าที่คล้ายพระปัจเจกพุทธเจ้าที่คอยปรับทิฐิให้พระเจ้าจักรพรรดิฉะนั้น บ้างจะมีงานเขียน หรือเขียนหนังสือออกมาให้ได้อ่านกัน แทนที่จะมาเจอตัวกันโดยตรง ซึ่งท่านอาจไม่พร้อม ด้วยเพราะภายในของท่านยังไม่มีเสถียรภาพ และยังเสี่ยงที่จะควบคุมภายในไม่ได้ จึงต้องหลบอยู่ประมาณกำลังตนต่อไป การถ่ายทอดธรรมโดยการเขียนนี้ ก็คล้ายแนวทางของท่านเหล่าจื้อ มาก ความเป็นอยู่ก็จะคล้ายกันมาก ธรรมที่ได้ก็สูงมากพอๆ กันทีเดียว ผู้บรรลุตันตระญาณมักแสวงหาป่าเขาที่สงบวิเวกอบรมตนเองอยู่เนืองๆ
๓) ผู้บรรลุวัชระญาณ
จะอยู่แบบพระธุดงค์ไม่ยึดติดสถานที่สัญจรไปมาเรื่อย ข้อนี้แตกต่างจากผู้บรรลุมหายานมาก ตรงกันข้ามเลยทีเดียว และจะมีศิษย์ไม่มากแบบมหายาน แต่ก็ไม่น้อยเกินไปอย่างตันตระญาณ เรียกว่าเป็นสายตรงที่คล้ายพระอรหันตสาวกในแบบดั้งเดิมมากที่สุด และยังสามารถได้พบกับกลุ่มคนที่ปรารถนานิพพานในยุคนี้ได้ด้วย ซึ่งมีไม่มาก แต่ไม่น้อยเกินไป การปฏิบัติแบบนี้ ละความยึดติดในภพต่างๆ ได้ขาดสิ้นทีเดียว ในผู้ฝึกมหายานส่วนใหญ่จะยึดติดสถานที่, สถานธรรมของตนกัน ทำให้ไม่พ้นสุขาวดีโลกธาตุ แต่ในการฝึกวัชระญาณนี้จะช่วยให้หลุดพ้นได้หมดพร้อมในการนิพพานเต็มที่ มากกว่าแบบตันตระญาณ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ วัชระญาณเหมาะกับอรหันตสาวกมาก ส่วนตันตระญาณเหมาะกับนิตยโพธิสัตว์มาก ส่วนมหายานนั้นเหมาะกับพระโพธิสัตว์ทั่วไปที่จุติที่สุขาวดีมาก
สรุปง่ายๆ คือ มหายานเน้นความเป็นโพธิสัตว์จำนวนมาก, ตันตระญาณเน้นญาณตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า, วัชระญาณเน้นจิตใสบริสุทธิ์มากๆ เหมาะกับสาวกที่ปรารถนานิพพานเร็วๆ (อรหันตสาวก) ถ้าเรียงลำดับความบริสุทธิ์ใสซื่อของจิตก็ต้องเรียงจากมหายานไปวัชระญาณ ไปตันตระญาณ (ตันตระญาณใสเกินไปแต่หยุดไม่เป็น จนต้องดูดซับพลังดำหรือกิเลส) ถ้าเรียงตามจำนวนลูกศิษย์ก็จากมหายานไปวัชระญาณ และไปตันตระญาณ ถ้าเรียงจากความคล้ายอรหันตสาวก ก็เรียงจากวัชระญาณไปมหายานและตันตระญาณ
อนึ่ง ผู้บรรลุญาณทั้งสามแบบนี้ อาจได้อรหันต์เหมือนกัน แต่ยังไม่นิพพานเหมือนกัน ที่ต่างกันก็เพียงรายละเอียดของธรรมที่สำเร็จ, ญาณหยั่งรู้ต่างๆ, ความเป็นอยู่, บุญบารมี ฯลฯ นั่นเอง การบรรลุญาณแต่ละอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสียต่างกันไป เหมาะสมกับคนต่างกัน เช่น คนที่ยอมรับกรรมและบุญได้มากและอยากโปรดสัตว์มากๆ ควรเลือกเข้าสู่มหายาน, คนที่มีบุญบารมีมากๆ และต้องการพุทธภูมิ ควรเลือกเข้าสู่ตันตระญาณเพราะมีกรรมและบุญพัวพันน้อย แต่ได้ถึงญาณตรัสรู้ได้, คนที่ต้องการนิพพานเร็วๆ หรืออยากนิพพานในชาตินี้ ควรเลือกวัชระญาณ ซึ่งจะทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับคนในสังคมได้ด้วย ทำให้สามารถชำระวิบากกรรมได้หมดเร็ว และยังอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้ดี
-จบ-
มหาธรรม เรื่อง พิษต้านพิษและการใช้กิเลสของตันตระญาณ
สำหรับพระอรหันตโพธิสัตว์ที่มีจิตบริสุทธิ์มากๆ ใกล้จะไม่เหลือกิเลสอะไรเลยนั้น จะผิดจากธรรมชาติของอรหันตโพธิสัตว์ อันอาจจะส่งผลให้พระอรหันตโพธิสัตว์องค์นั้นตรัสรู้ก่อนเวลาอันควรและกลายเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าผิดยุคสมัย ทั้งยังไม่ถึงวาระจะนิพพาน อีกด้วย จึงจะต้องมีกิเลสเหลือเพื่อเวียนว่ายตายเกิดต่อไป ทางตันตระญาณ มีวิธีช่วยทำให้ปรับเข้าสู่ธรรมชาติที่ควรจะเป็นได้ กล่าวคือ จิตไม่บริสุทธิ์เกินไปและจะไม่หม่นหมองด้วยอวิชชาเกินไปคือ พอเหมาะพอดี เป็นทางสายกลางของ “พระโพธิสัตว์” ที่ยังไม่เอานิพพานในชาตินั้นๆ ถึงจุดนี้เองที่จะได้รับการสอนเทคนิคพิเศษ เพื่อให้สามารถทรงจิตอยู่ในภาวะที่พอดี มีกิเลสบ้างเล็กน้อย แต่ยังไม่หมดไปเลยเสียทีเดียวได้ เรียกว่าการใช้พิษต้านพิษ หรือ ใช้กิเลสให้เกิดประโยชน์ เป็นเทคนิคของนิกายลับสายตันตระญาณ
จิตที่จะไม่บริสุทธิ์จนเกินไปจนเกิดปัญหานั้น จะต้องมีกิเลสเหลืออยู่บ้าง แต่ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมเดินธรรมแล้ว จะหยุดไม่ได้ ธรรมจักรจะเดินตลอด ถ้าหยุดหรือถอยหลังพลังมารจะแทรกทำให้ธรรมเสื่อมลงได้ ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องเดินหน้าต่อไป และก้าวสู่การใช้พิษต้านพิษ คือ เมื่อจิตบริสุทธิ์มากเกินไปแล้ว จะต้องหาแหล่งกิเลสเพื่อเอาเข้าตัวลดทอนความบริสุทธิ์ของตนเองลง โดยไม่เดินธรรมจักรถอยหลัง เช่น การยอมดูดซับรับพลังดำของมารและอสูรเข้าตัวเอง เพื่อใช้พลังมารและอสูรซึ่งเป็นพลังดำ ลดทอนความบริสุทธิ์ของตน ทำให้ตนไม่นิพพานเร็วเกินไป และยังทำให้มีความคล้ายกับคนปกติ ไม่เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เดินธรรม อยู่ร่วมสังคมกับมวลสัตว์ที่มีกิเลส และโปรดสัตว์ต่อไปได้ คือ การเลือกยอมรับกิเลสตัวใดตัวหนึ่งเป็นอย่างน้อย คือ โกรธ, กาม หรือความหลง อย่างใดอย่างหนึ่ง ระยะนี้ อาจมีมารหรืออสูรมาแทรกในกายได้ เพื่อยับยั้งกระบวนการภายในของเรา ให้เราไม่บริสุทธิ์เกินไป หรืออาจนำพาเราไปเจอคนที่ชอบเล่นไสยดำ เขาก็จะทำของใส่เรา ทำใส่ไม่ยั้ง ใส่แล้วใส่อีก พอเราปฏิบัติภายในจนบริสุทธิ์มากเมื่อไร เขาจะทำใส่อีก หรือของดำของเขาจะไหลออกมาเข้าตัวเราเอง โดยที่เขาก็ควบคุมไม่ได้ นี่คือ ธรรมชาติของการเดินธรรมขั้นนี้ บางท่านไปไหนมาไหน ก็จะเจอแต่คนอยากมีกามด้วยเช่น พระมหากัจจายนะ ที่เคยถูกชายนึกรักอยากได้เอาไปเป็นภรรยา (ทั้งๆ ที่เป็นผู้ชาย) นี่เพราะจิตที่บริสุทธิ์เกินไปยังไม่ถึงวาระจะได้นิพพาน ย่อมมีเหตุปัจจัยตามธรรมชาติมาขวางเอาไว้ ไม่ผิดปกติจากธรรมชาติแต่อย่างใด ซึ่งจะมาในรูปใดในสามแบบนี้ คือ กาม, โกรธ หรือความหลง ก็ตามที ถ้าไม่มาผ่านทางกายสังขารมนุษย์ ก็จะมาทางจิตวิญญาณเข้าแทรกร่างของเราแทนอันนี้มีกันทุกคน พระโพธิสัตว์ยังไม่ถึงวาระที่จะได้นิพพานมีจิตวิญญาณแทรกกันได้ทั้งนั้น ถ้าไม่แทรกไว้ไม่ขวางนิพพานไปก่อนจะตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ ซึ่งผิดเวลา เวลานี้ศาสนาของพระพุทธเจ้าสมณะโคดมนั้นยังไม่สิ้นยุค จะมีพระพุทธเจ้าองค์ที่สองก็ไม่ได้ พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ไม่ได้ ดังนั้น การขวางนิพพานโดยธรรมภาคดำ จึงจำเป็นที่ต้องกระทำ เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อสามภพ (ถ้ามีท่านใดตรัสรู้ผิดวาระ สัตว์ในสามภพนี้จะได้รับผลกระทบมาก เรียกว่าตายหมู่ได้เลยทีเดียว)
ดังนั้น จึงต้องขอให้เข้าใจภาวะของอรหันตโพธิสัตว์ด้วยว่าทำไมยังต้องมีกิเลสเหลืออยู่ดังกล่าว และถ้าท่านพบเห็นพระชีกอ, พระขี้โกรธ, พระหลงตัวเอง อย่าเพิ่งตกใจ ดีแล้วที่ท่านเห็นชัด เขาไม่หลอกลวงและไม่ปิดบังท่าน ท่านจะได้ไม่หลงมากเกินไป แต่ก็อย่าเพิ่งเกลียดหรือต่อต้านพระแบบนั้นมากเกินไป เพราะบางที อาจเข้าข่ายอรหันตโพธิสัตว์สายตันตระญาณได้ อย่างพระบางรูปก็มีเรื่องสีกามายุ่ง, มีเรื่องเทศน์บิดเบือนคนสอน, มีเรื่องเมาทะเลาะกับคนก็ได้ ฯลฯ อย่าเพิ่งไปบวกหรือลบกับสิ่งที่กระทบโสตประสาทของท่านเกินไป เรื่องจิตใจคนเราเป็นเรื่องลึกซึ้งและละเอียดอ่อน เราไม่หลงเขาก็ดีแล้ว อย่าไปมีอคติหรือความคิดเชิงลบกับเขาด้วย เราทำใจเราเป็นกลางให้ได้ นี่ดีกว่าพระที่ทำตัวเปลือกนอกดูดีน่าเลื่อมใส แต่ภายในหรือเบื้องหลังโสมม ซึ่งแบบนี้ทำให้เราหลงงมงายอยู่นาน หลอกเอาเงินเราไปเยอะแยะ โดยไม่ให้เราได้ทันรู้ตัวหรือจับสังเกตได้เลย อนึ่ง เป็นการยากที่จะดูออกว่าท่านใดเข้าข่ายใช้พิษต้านพิษนี้ พึงเลี่ยงกรรมเสียดีกว่า
-จบ-
มหาธรรม เรื่อง อรหันตโพธิสัตว์เหตุไฉนจึงควรห่มขาว
ดังที่กล่าวเหตุผลแล้วว่าพระโพธิสัตว์ ถ้าบรรลุถึงขั้นอรหันต์แบบไม่เหลือกิเลสเลย ก็จะกลายเป็นพระพุทธเจ้าหรือพระปัจเจกพุทธเจ้าได้เพราะบารมีเก่านั้นมีมากนั่นเอง และผลจากการตรัสรู้ผิดเวลานั้นคือ หายนะของมวลสัตว์ทั้งสามภพทีเดียว ดังนั้น จึงต้องมีวิธีให้พระอรหันตโพธิสัตว์ยังมีกิเลสเหลืออยู่บ้าง และหนึ่งในวิธีนั้นคือ การใช้กาม เพราะการใช้กามนั้นมีกรรมน้อยกว่าการใช้โกรธและหลง ความโกรธอาจทำให้เราฆ่าคนได้ ความหลงอาจทำให้เราทำลายและบิดเบือนพระธรรมวินัยได้ ดังนั้น กามกิเลสจึงเป็นทางออกที่มีกรรมน้อยที่สุดของพระอรหันตโพธิสัตว์ และทำให้ท่านอาจต้องสึกไปห่มผ้าขาวแทน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับการดำรงอยู่ของพระสงฆ์อื่นๆ ที่อยู่ในผ้าเหลืองแบบไม่มีกาม ในบางท่าน เช่น อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ก็ละสังขารตายเมื่ออายุเพียง ๓๗ ปี เพราะท่านไม่ค่อยมีกาม ไม่มีโกรธและไม่หลงตัวเอง แต่ท่านเป็นโพธิสัตว์ ดังนั้น จิตท่านจะบริสุทธิ์มากเกินไปไม่ได้ ถ้าตรัสรู้ผิดเวลา สามภพจะได้รับภัย ดังนี้ ท่านจึงละสังขารตายเร็วกว่ากำหนด เพื่อเก็บจิตวิญญาณคืนก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้นดังกล่าว เหตุการณ์แบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก และไม่ใช่ครั้งเดียว มีปรากฏเสมอ แต่เราอาจไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะเหตุใด คนดีมากๆ จึงอายุสั้นและตายเร็วอย่างนี้ บางท่าน ที่จิตบริสุทธิ์มากๆ ไม่มีอะไรแทรกหรือเกาะเกี่ยวได้เลย ไม่นานก็ตาย นี่เพราะเหตุอย่างนี้ ดังนั้น พระโพธิสัตว์ต้องเข้าใจวิถีของตนที่แตกต่างไปจากพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ดังที่จะกล่าวในบทความดังต่อไปนี้
ทางออกของพระอรหันตโพธิสัตว์
๑) ยอมให้พรหมแทรก คือ การให้จิตวิญญาณจากพรหมโลกมาแทรก แล้วจึงทำหน้าที่เป็นครูสอนสมาธิ ซึ่งมักต้องยอมรับยศถาบรรดาศักดิ์ในวันใดวันหนึ่ง แบบนี้ เหมาะสมกับพระโพธิสัตว์ที่ละความปรารถนาพุทธภูมิ และพร้อมรับตำแหน่งพระยูไล (พระพุทธเจ้าบนสวรรค์) แทน เพราะจะพัวพันกับบริวารมากตัดไม่ขาด
๒) ยอมให้เทพแทรก คือ การยอมให้จิตวิญญาณเทพแทรก แล้วทำหน้าที่เทพ คือ ต้องพัฒนาบ้านเมืองในด้านต่างๆ เช่น สร้างวัดที่ขาดแคลนในถิ่นทุรกันดาร แบบนี้จะมีบุญมาก จะสืบชาติต่อภพไปยาวมาก เหมาะสำหรับพระโพธิสัตว์ที่มีลำดับการตรัสรู้ยังอีกยาวไกล เช่น ครูบาศรีวิชัย, ครูบาไชยวงศา เป็นต้น
๓) ยอมให้มารแทรก คือ การยอมให้มารแทรก แล้วทำหน้าที่มาร คือ ขวางการนิพพานของสัตว์ แต่ช่วยสัตว์ให้พ้นนรก, อบายภูมิ ได้ด้วยการทำบุญมากๆ มีกุศโลบายมาก แบบนี้ ที่วัดธรรมกายก็ทำ ซึ่งเป็นทางออกที่เหมาะสมทางหนึ่ง แบบนี้ เหมาะสมกับการโปรดสัตว์นรก และสัตว์จากอบายภูมิสี่ แต่ไม่ควรเทศน์ธรรม
๔) ยอมให้อสูรแทรก คือ การยอมให้จิตวิญญาณอสูรเข้าแทรก ส่วนใหญ่จะเป็นอสูรพาหนะทรง เช่น มังกรดำ, ม้าขาว, หงส์ฟ้า ฯลฯ แบบนี้เหมาะสมกับการทำหน้าที่ภาคปราบแต่อาจมีกรรมมาก เพราะอสูรใช้วิธีการฆ่าเพื่อที่จะจัดการปัญหาต่างๆ แต่จะอยู่ในผ้าเหลืองได้ กรณี ปราบพระสงฆ์ที่ชอบเล่นมนต์ดำ คุณไสย
๕) ยอมสึกห่มผ้าขาว คือ การยอมสึก เพื่อได้มีคู่ครอง และใช้กามเป็นเครื่องกั้นไม่ให้ตรัสรู้เร็วเกินเวลา แบบนี้ สามารถให้กำเนิดกุมาร คือ จิตวิญญาณกุมาร ซึ่งจะเข้าแทรกในกายคน เข้ามาเป็นลูกศิษย์แท้ๆ ของตนได้ และจะไม่พัวพันกรรมมากแบบพรหม เพราะพรหมมีบริวารที่อายุยืนนานมากๆ พัวพันกันมากเกินไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น