วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เคล็ดลับโบราณของแหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว

“เคล็ดลับโบราณของแหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” ของปีเตอร์ เคลเดอร์*

ในความเข้าใจของผม “ศาสตร์ชะลอวัย” ในระดับชาวบ้านของโลกตะวันตกในยุคบุกเบิกนั้น อิงอยู่กับภูมิปัญญาเร้นลับและโบราณของศาสตร์ตะวันออกอย่าง วิชาโยคะ โดยเริ่มต้นจากหนังสือเล่มหนึ่งของปีเตอร์ เคลเดอร์ (Peter Kelder) ชื่อ “The Eye of Revealation” อันเป็นหนังสือเล่มบางๆ เพียงไม่กี่สิบหน้าที่ตีพิมพ์ออกมาในปี ค.ศ. 1939 (ต่อมาได้รับการตีพิมพ์ใหม่เป็นที่แพร่หลายในชื่อ “Ancient Secret of the Fountain of Youth” ในปี ค.ศ. 1985)

“คำนำ” ของผู้จัดพิมพ์ที่ได้นำหนังสือคลาสสิกเล่มนี้ของปีเตอร์ เคลเดอร์ มาตีพิมพ์ใหม่ได้กล่าวถึงหนังสือเล่มบางๆ เล่มนี้ว่า “นี่เป็นหนังสือที่น่าอัศจรรย์เล่มหนึ่ง แต่นี่ไม่ใช่หนังสือสำหรับคนทุกคน หากเป็นหนังสือสำหรับคนที่เชื่อว่าคนเราสามารถชะลอความแก่ได้เท่านั้น”

“...ถ้าคุณเชื่อหรือยึดติดกับวิธีคิดเก่าๆ ว่าการชะลอความแก่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การอ่านหนังสือเล่มนี้จะเป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์”

“...เท่าที่ทราบ หนังสือเล่มนี้ของปีเตอร์ เคลเดอร์ เป็นข่าวสารอันทรงคุณค่าจะหาสิ่งใดเปรียบได้ ที่เขียนเป็นอักษรออกมาจำนวนหนึ่งในหนังสือเพียงไม่กี่เล่มที่เปิดเผย เคล็ดวิชาเร้นลับโบราณของทิเบตในการรักษาความเป็นหนุ่มสาว มีสุขภาพแข็งแรง และมีชีวิตชีวาตราบนานเท่านาน”

“...เคล็ดวิชาเร้นลับนี้ ได้สืบทอดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายพันปีแล้วที่วิหารลี้ลับในแถบเทือกเขาหิมาลัย แต่เพิ่งถูกนำมาเปิดเผยสู่โลกตะวันตกเป็นครั้งแรก โดยหนังสือของปีเตอร์ เคลเดอร์ เมื่อปี ค.ศ. 1939 แล้วถูกลืมไปเป็นเวลานานปี ทางสำนักพิมพ์ถึงต้องนำหนังสือเล่มนี้มาจัดพิมพ์ใหม่อีกครั้ง เพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่”

“...มันเป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่าเรื่องราวของผู้พันแบรดฟอร์ด ในหนังสือเล่มนี้ของเคลเดอร์ เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งหรืออิงมาจากเรื่องจริงผสมแต่ง แต่ทางผู้จัดพิมพ์สามารถยืนยันได้ว่าประสิทธิผลของ กระบวนท่า 5 กระบวนท่า (The Five Tibetan Rites) (บางทีก็เรียกว่า “The Five Rites” หรือ “The Five Tibetans” หรือ “The Five Rites of Rijuvenation” แต่ปัจจุบันนี้นิยมเรียกสั้นๆ ว่า “T5T”) ของเคล็ดวิชาเร้นลับโบราณของทิเบตอันนี้มีอยู่จริง แม้ว่าอาจจะไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะทำให้ผู้ฝึกอ่อนเยาว์ลง 50 ปี และเปลี่ยนโฉมในชั่วข้ามคืนได้ แต่ทางผู้จัดพิมพ์สามารถรับรองได้ว่า มันจะทำให้ผู้ฝึกดูหนุ่มดูสาวขึ้น รู้สึกอ่อนเยาว์ขึ้น รวมทั้งมีความคึกคักมีชีวิตชีวาขึ้นกว่าเดิมได้อย่างแน่นอน ถ้าผู้นั้นฝึก “5 กระบวนท่า” นี้ทุกๆ วัน...”

ถ้าหาก “5 กระบวนท่า” (The Five Rites หรือ T5T) ของเคล็ดวิชาเร้นลับโบราณของทิเบตนี้ได้ผลจริงๆ เราก็คงต้องตั้งคำถามต่อไปว่า มันได้ผลอย่างไร และทำไม คำตอบจากหนังสือเล่มนี้ก็คือ พลังปราณ หรือ พลังจักรวาล นั่นเอง ซึ่งปัจจุบันนี้สามารถวัดทางอ้อมได้แล้วในรูปของรังสีออร่า เพราะรังสีออร่าของคนที่หนุ่มแน่นแข็งแรงจะต่างไปจากรังสีออร่าของคนที่แก่ชรา และเจ็บป่วยอย่างชัดเจน เพราะพลังปราณคือตัวหล่อเลี้ยงรังสีออร่านี้ พลังปราณส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อในร่างกาย ปัจจุบันทางการแพทย์ได้ค้นพบแล้วว่า กระบวนการแก่ของคนเราเป็นกระบวนการที่ถูกควบคุมโดยฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากต่อมไร้ท่อเหล่านี้โดยเฉพาะต่อมพิตทูอิทารีในสมอง “5 กระบวนท่า” นี้เป็นการฟื้นฟูสมดุลในการใช้พลังปราณมาทำให้ร่างกายเกิดการชะลอความแก่ และนำไปสู่การมีอายุที่ยืนยาวนั่นเอง กล่าวในความหมายนี้ การฝึกฝนปฏิบัติเพื่อการชะลอวัยแบบนี้ จึงถูกจัดอยู่ในแนวทางหนึ่งของ “การแพทย์เชิงพลังงาน” ได้

การทดลองปฏิบัติ “5 กระบวนท่า” นี้อย่างต่อเนื่องทุกวัน ผลจะเริ่มปรากฏขึ้นมาหลังจากเวลาผ่านไปหนึ่งเดือนแล้ว ที่สำคัญอย่างยิ่งในการจะฝึก “5 กระบวนท่า” นี้ให้ได้ผล ผู้นั้นจะต้องสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ตัวเองอยู่เสมอว่า ตัวเขาได้ตระหนักแล้วว่า ตัวเขาเป็นบุคคลพิเศษที่สามารถมองเห็นข้อจำกัดในวิธีคิดและทัศนะแบบเก่าของคนทั่วไปในเรื่องของความแก่ ตัวเขาจึงหันมาสนใจเรื่อง “ศาสตร์ชะลอวัย” อย่างจริงจัง นอกจากนี้ ตัวเขาจะต้องตระหนักดีว่า ตัวเขาเองเป็นบุคคลที่ควรค่า และมีคุณค่าพอที่จะรักษาความเป็นหนุ่มสาวให้ยั่งยืนยาวนาน เพราะตัวเขาเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อสังคมนี้ และต่อโลกใบนี้

ใจความหลักๆ ของหนังสือ “เคล็ดลับโบราณของแหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” ของปีเตอร์ เคลเดอร์ มีดังต่อไปนี้

...หลายปีก่อน ขณะที่เคลเดอร์กำลังนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ในสวนสาธารณะ เขาได้พบอดีตนายทหารนอกราชการของอังกฤษชื่อผู้พันแบรดฟอร์ด อายุราวๆ หกสิบกว่าปี มีผมหงอก ในวัยหนุ่มแบรดฟอร์ดเคยไปประจำการที่อินเดีย และได้รับทราบเรื่องราวจากพระลามะของทิเบตว่ามี “แหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” แต่ตอนนั้นแบรดฟอร์ดยังไม่แก่ เขาจึงเพียงแค่ค้นคว้าสะสมข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้เท่านั้น แต่ตอนนี้แบรดฟอร์ดเข้าสู่วัยชราแล้ว และเขาได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดแล้วว่า เขาจะกลับไปอินเดียอีกครั้งเพื่อไปเสาะหา “แหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” ที่นั่น ผู้พันแบรดฟอร์ดได้ชวนเคลเดอร์ให้ร่วมเดินทางไปกับเขาด้วย แต่เคลเดอร์ปฏิเสธเพราะไม่คิดว่าคนเราจะฝืนสังขารได้

หลายปีผ่านไป เคลเดอร์เกือบลืมเรื่องราวของผู้พันแบรดฟอร์ดเสียสนิท จนกระทั่งเคลเดอร์ได้รับจดหมายจากผู้พันแบรดฟอร์ดว่า เขาได้พบ “แหล่งน้ำแห่งความเป็นหนุ่มสาว” แล้วและกำลังเดินทางมาพบกับเคลเดอร์ที่สหรัฐอเมริกาในอีกสองเดือนข้างหน้า ตอนแรกที่เคลเดอร์ได้พบกับผู้พันแบรดฟอร์ดอีกครั้ง เขาจำผู้พันแบรดฟอร์ดแทบไม่ได้ เพราะเขาดูหนุ่มขึ้นมากจนดูเหมือนกลายเป็นคนละคน เคลเดอร์เชื่อทันทีว่า ผู้พันแบรดฟอร์ดได้พบ “แหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” แล้วจริงๆ

ผู้พันแบรดฟอร์ดได้เล่าเรื่องราวของเขาให้เคลเดอร์ฟังว่า เขาได้ใช้เวลากว่าสองปีในการเสาะหา “แหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” ซึ่งในที่สุดเขาก็ค้นพบ เมื่อเขาไปถึงวิหารลี้ลับแห่งหนึ่งในเทือกเขาหิมาลัย ที่นั่นแบรดฟอร์ดได้รับการถ่ายทอดเคล็ดวิชาเร้นลับโบราณจากพระลามะ ภายในชั่วระยะเวลาไม่กี่เดือนที่เขาพำนักอยู่ที่นั่น เขาได้พบว่า ตัวเองกลับมาหนุ่มขึ้นอีกร่วม 15 ปีอย่างที่ตัวเขาแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองเมื่อเห็นภาพตัวเองในกระจก

ผู้พันแบรดฟอร์ดได้เล่ารายละเอียดของ “แหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” ให้เคลเดอร์ฟังว่า...สิ่งสำคัญสิ่งแรกที่แบรดฟอร์ดได้รับการถ่ายทอด หลังจากเขาไปถึงวิหารลี้ลับแห่งนี้ก็คือ ร่างกายของคนเรามีศูนย์พลังงานอยู่เจ็ดแห่ง ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า วอร์เท็กซ์ (Vortex) แต่ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า จักระ (Chakra) ตามหลักวิชาโยคะ (Yoga)

วอร์เท็กซ์หรือจักระนี้เป็นสนามชีวไฟฟ้าที่ทรงพลังมาก มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง วอร์เท็กซ์ทั้งเจ็ดนี้ตั้งอยู่บนตำแหน่งต่อมไร้ท่อทั้งเจ็ดแห่งในร่างกายคนเรา วอร์เท็กซ์ที่หนึ่ง ซึ่งเป็นวอร์เท็กซ์ที่อยู่ตำแหน่งต่ำที่สุด ตั้งอยู่ตรงต่อมเพศหรือต่อมสืบพันธุ์ วอร์เท็กซ์ที่สอง ตั้งอยู่บนตับอ่อนในบริเวณช่องท้อง วอร์เท็กซ์ที่สาม ตั้งอยู่บนต่อมอะดรินัลบริเวณโซลาร์เพลกซัส วอร์เท็กซ์ที่สี่ ตั้งอยู่บนต่อมไทมัสบริเวณหัวใจ วอร์เท็กซ์ที่ห้า ตั้งอยู่บนต่อมไทรอยด์ บริเวณคอ วอร์เท็กซ์ที่หก ตั้งอยู่บนต่อมไพเนียลบริเวณสมอง และ วอร์เท็กซ์ที่เจ็ด ที่อยู่ตำแหน่งสูงสุดตั้งอยู่บนต่อมพิตทูอิทารีในสมอง (ยังมีต่อ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...