วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ดั่งนี้จึงต้องอาศัยวิตกวิจาร เพราะว่าการนับก็ดี หรือวิธีอื่นก็ดี ก็รวมอยู่ในวิตกคือตรึกทั้งนั้น ตรองทั้งนั้น คือตั้งจิตประคองจิตทั้งนั้น และแบบที่ใช้พุทโธก็เช่นเดียวกัน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ก็เป็นขั้นวิตกวิจาร อันเป็นเครื่องช่วยให้จิตตั้ง และเมื่อจิตเริ่มตั้งได้ ก็จะเริ่มได้ปีติคือความอิ่มใจ สุขใจ ความซาบซ่านในใจ เกิดสุขคือความสบายกายสบายใจ
และเมื่อได้ปีติได้สุขดั่งนี้จิตก็จะอยู่ตัว เพราะว่าจิตได้สุข ได้ปีติได้สุขจากสมาธิแล้ว ก็ไม่ต้องดิ้นรนพล่านไปหากามคุณารมณ์ ในตอนที่ยังดิ้นรนพล่านออกไปนั้นก็เพราะยังไม่ได้ปีติได้สุขจากสมาธิ
เมื่อได้ปีติได้สุขจากสมาธิแล้วจิตก็จะตั้งมั่นได้สงบได้อยู่ในอารมณ์ของสมาธิ จิตก็เป็นเอกัคคตาคือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ซึ่งเป็นตัวสมาธิ คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว
ลักขณูปนิชฌาน
อันนี้ต้องอาศัยฌานคือความเพ่ง เพ่งจิตลงไปที่อารมณ์ของสมาธิ หรือที่อารมณ์กรรมฐานดั่งที่กล่าวนั้น นี่คือฌานความเพ่ง เพ่งเพื่อให้จิตเป็นสมาธิคือตั้งมั่น อันเป็นตัวฌานคือตัวความเพ่ง และเมื่อได้ฌานคือความเพ่งดั่งนี้ ต้องการจะเลื่อนชั้นของการปฏิบัติเป็นวิปัสสนา ก็นำเอาความเพ่งที่เป็นสมาธินี้มาเพ่งลักษณะ
อันหมายถึงไตรลักษณ์ คือลักษณะที่เป็นเครื่องกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง มีเกิดดับ เรียกว่าอนิจจลักขณะ หรืออนิจจลักษณะ เพ่งที่ทุกข์ลักษณะหรือทุกขลักขณะ กำหนดหมายว่าเป็นทุกข์ ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เพ่งที่อนัตตลักขณะหรืออนัตตลักษณะ เครื่องกำหนดหมายว่าอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ก็คือเพ่งที่องค์ฌาน หรือองค์ของสมาธิดังกล่าวแล้วนั้นเอง เพ่งดู วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
เมื่อรวมเข้าแล้วก็เป็นนามรูป สิ่งที่รู้เป็นรูป รู้เป็นนาม เพราะว่าทั้งหมดนั้นก็รวมอยู่ในความรู้ของจิต ตัวความเพ่งเอง หรือตัวสมาธิเอง ก็อยู่ในความรู้ของจิต และความรู้ของจิตนั้นก็แยกได้เป็น ๒ คือเป็นสิ่งที่รู้อัน ๑ ตัวความรู้อัน ๑ สิ่งที่รู้นั้นก็เป็นรูป ตัวความรู้ก็เป็นนาม หรือว่าแยกออกไปเป็นขันธ์ ๕ คือสิ่งที่รู้นั้นก็เป็นรูปขันธ์กองรูป
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น