วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

กุณฑาลินีโยคะ กับการพัฒนาศักยภาพของสมอง

*กุณฑาลินีโยคะ กับการพัฒนาศักยภาพของสมอง*

ในมุมมองของโยคะ โลกนี้คือลีลาของพลังงาน หรือการเคลื่อนไหวของพลังงานที่ก่อให้เกิดรูปลักษณ์อันหลากหลายอย่างเหลือคณานับ จนกลายเป็น “มายา” ของโลกนี้ อันเป็นการผันแปรของพลังงานอย่างไม่รู้จบนั่นเอง หากกล่าวเฉพาะการดำรงอยู่ของมนุษย์ พลังงานที่ก่อตัวขึ้นเป็นมนุษย์เรานี้ โยคะเชื่อว่าคือพลังกุณฑาลินี (Kundalini) อันเป็นพลังจากแหล่งกำเนิดของจักรวาล (primodial energy) กุณฑาลินี จึงหมายถึงพลังงานเพื่อการวิวัฒนาร่างกาย และจิตใจของมนุษย์เป็นสำคัญ

พลังงานดำรงอยู่ทั้งในสภาวะที่เผยตัวออกมาแล้ว และในสภาวะที่ยังไม่เผยตัวออกมาคือเป็นแค่ สภาวะของเมล็ดพันธุ์ โดยที่ กุณฑาลินีคือศักยภาพ หรือความเป็นไปได้ทั้งหมดของความเป็นมนุษย์ที่คนเราอาจบรรลุถึงได้ เพียงแต่มันยังคงดำรงอยู่ในฐานะที่เป็นแค่เมล็ดพันธุ์ หรือเป็นแค่ศักยภาพในตัวของคนเราเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น กุณฑาลินีโยคะ จึงเป็นวิชาเพื่อการปลุกพลังกุณฑาลินีเพื่อทำให้ศักยภาพที่แฝงเร้นอยู่ในตัวมนุษย์กลายเป็นจริงขึ้นมา ในมุมมองของโยคะ มนุษย์เราส่วนใหญ่ ไม่เคยได้ใช้ศักยภาพที่ดำรงอยู่ในตนเองออกมา 100% เลย แต่กลับใช้แค่บางส่วนเป็นส่วนน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่ของศักยภาพที่ยังไม่ได้ถูกใช้ออกมานี่แหละ คือสิ่งที่โยคะเรียกว่า กุณฑาลินี

ในบรรดาศักยภาพที่แฝงเร้นอยู่ในตัวมนุษย์นั้น แม้แต่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่เองก็ยังยอมรับว่า ศักยภาพของสมองเป็นส่วนที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย กล่าวคือ คนเราใช้สมองเพียงแค่ 10% ของศักยภาพของมันเท่านั้นเอง ที่เหลืออีก 90% ของศักยภาพสมอง กลับถูกกลบฝังอยู่ภายในตัวคนเราอย่างน่าเสียดาย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ผู้คนส่วนใหญ่ไม่รู้วิธีที่จะพัฒนาศักยภาพของสมองส่วนที่แฝงเร้น ซึ่งวิชาโยคะเรียกว่า กุณฑาลินีนี้อย่างเป็นระบบนั่นเอง

จะว่าไปแล้ว กุณฑาลินีโยคะ น่าจะเป็นศาสตร์โบราณที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ปราชญ์คุรุทั้งหลายแห่งโยคะได้คิดค้นขึ้นมา เพื่อพัฒนาศักยภาพของสมองอย่างเป็นระบบ ด้วยเหตุนี้เอง ในสายตาของมวลชนสมัยโบราณที่ไม่รู้จักวิชาโยคะจึงมองเห็นบรรดาปราชญ์คุรุผู้ฝึกฝนกุณฑาลินีโยคะเหล่านี้เป็น “ยอดคน” หรือเป็นมนุษย์ที่มีความสามารถสูงส่งเทียม “เทพยดา” ในตำนานไปเลยทีเดียว ทั้งๆ ที่โดยแท้จริงแล้ว กุณฑาลินีโยคะคือส่วนหนึ่งของศาสตร์และปรัชญาแห่งตันตระ (Tantra) ที่มุ่งก่อให้เกิดวิวัฒนาการทางจิต (evolution of consciousness) อย่างเป็นระบบ แก่ตัวผู้ฝึกในฐานะปัจเจก และแก่มนุษยชาติในฐานะที่เป็นเผ่าพันธุ์ เท่านั้นเอง

ปราชญ์คุรุแห่งวิชาโยคะ ได้ค้นพบมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วว่า แต่ละส่วนต่างๆ ในสมองของคนเรานั้น ล้วนเชื่อมโยงกับจักระต่างๆ ในระดับกายทิพย์ทั้งสิ้น โดยที่บางส่วน (บริเวณส่วนหน้าของสมอง) เชื่อมโยงกับจักระที่ 1 (มูลธาร) ขณะที่บางส่วนที่อยู่ถัดเข้ามาเชื่อมโยงกับจักระที่ 2 (สวาธิษฐาน) ส่วนที่อยู่ถัดเข้ามาตรงกลาง เชื่อมโยงกับจักระที่ 3 (มณีปุระ) และจักระที่ 4 (อนาหะตะ) ตามลำดับ โดยที่ส่วนที่อยู่บริเวณส่วนหลังของสมอง เชื่อมโยงกับจักระที่ 5 (วิสุทธิ) ส่วนบริเวณต่อมไพนีลของสมองตรงกึ่งกลางด้านในสมองนั้น เชื่อมโยงกับจักระที่ 6 (อาชณะ)

จักระทั้ง 6 ฐานหรือ 6 แห่งนี้ เป็นเสมือนสวิตช์ไฟที่ทำหน้าที่ “เปิดไฟ” (ให้พลังงาน) แก่ส่วนต่างๆ ทั้งหมดของสมองนั่นเอง โดยที่จักระที่ 7 (สหัสธาร) ซึ่งเป็นตำแหน่งบนยอดสุดของศีรษะเป็นที่ตั้งของจิตวิญญาณอันสูงส่ง (อาตมัน) และเป็นที่สถิตที่แท้จริงของพลังกุณฑาลินี (kundalini shakti) เมื่อผู้นั้นฝึกโยคะสำเร็จแล้ว

นอกจากจักระทั้ง 7 แล้วในระบบของกุณฑาลินีโยคะ ยังให้ความสำคัญกับตำแหน่งอีก 2 ตำแหน่งในบริเวณสมองด้วยคือ (1) จุดพินธุ (Bindu) ซึ่งอยู่บริเวณส่วนยอดด้านหลังของศีรษะกับ (2) จักระลลนา (lalana chakra) ซึ่งเป็นจักระย่อยตั้งอยู่บริเวณด้านหลังเหนือเพดานปากบน ซึ่งเป็นจุดที่เก็บ “น้ำอมฤต” (ambrosia) หรือฮอร์โมนทิพย์ที่หลั่งออกมาจากจุดพินธุ เพื่อปล่อยสู่จักระที่ 5 (วิสุทธิ) บริเวณลำคอ ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากต่อการชะลอวัย รักษาความเป็นหนุ่มสาวให้ยาวนาน และการมีสุขภาพแข็งแรงอายุยืน

เนื่องจากกุณฑาลินีโยคะทำการแบ่งส่วนต่างๆ ของสมองออกเป็น 6 ส่วนตามความเชื่อมโยงกับจักระต่างๆ เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ ระบบการฝึกของกุณฑาลินีโยคะ จะใช้วิธีการฝึกแบบต่างๆ ที่หลากหลาย เพื่อกระตุ้นจักระที่ 1 ไปจนถึงจักระที่ 6 เพื่อส่งผลทางอ้อมต่อการพัฒนาศักยภาพที่แฝงเร้นในบริเวณส่วนต่างๆ ของสมอง เพื่อทำให้ผู้ฝึกคนนั้น กลายเป็น “ยอดคน” ที่มีวิวัฒนาการทางจิตสูงส่งเทียมเทพยดา

ในระบบของกุณฑาลินีโยคะ ได้กำหนดที่ตั้งฐานหรือตำแหน่งต่างๆ ของจักระในกายทิพย์ โดยเชื่อมโยงกับโครงกระดูกสันหลังของกายเนื้อที่เป็นเครือข่ายของระบบประสาท และยังมีท่อ (nadi) ส่งพลังงาน (ปราณ) ของกายทิพย์ (กายปราณ) ซึ่งมีอยู่ 3 ท่อด้วยกันคือ

(1) ท่ออิทะ (ida) เป็นท่อปราณทางฝั่งซ้ายของร่างกายซึ่งเชื่อมโยงกับสมองซีกขวา เป็นช่องแห่งจันทรา (หยิน) และเป็นช่องแห่งการพัฒนาจิตใจ (mind) และการหยั่งรู้

(2) ท่อปิงคละ (pingala) เป็นท่อปราณทางฝั่งขวาของร่างกายซึ่งเชื่อมโยงกับสมองซีกซ้าย เป็นช่องแห่งสุริยัน (หยาง) และเป็นช่องแห่งการพัฒนากาย (body) และการบำบัด รวมทั้งการมีอำนาจเหนือสสารวัตถุ

(3) ท่อสุษุมนะ (sushumna) เป็นท่อปราณตรงกลางร่างกาย อันเป็นเส้นทางที่พลังกุณฑาลินีที่ถูกปลุกขึ้นมาใช้ไต่ขึ้นจากจักระที่ 1 ตรงฐานล่างสุดไปสู่จักระที่ 6 ข้างบน ก่อนจะไปสถิตอยู่ที่จักระที่ 7 หรือสหัสธาร นี่จึงเป็นช่องแห่งการพัฒนาจิตวิญญาณ (spirit) หรือเป็นช่องแห่งความรู้แจ้งอันเป็น “ทางสายกลาง” ในวิชาโยคะ

ด้วยเหตุนี้เอง ในระบบการฝึกของกุณฑาลินีโยคะ จึงให้ความสำคัญกับการปรับสมดุลของท่ออิทะกับท่อปิงคละก่อนเป็นอันดับแรกๆ โดยผ่านการฝึกดัดตน (อาสนะ) และการฝึกหายใจ (ปราณายามา) ก่อนที่จะไปฝึกกระตุ้นจักระตามฐานต่างๆ ของร่างกายในภายหลัง

แต่ก่อนที่เราจะลงลึกเข้าไปในรายละเอียดของวิธีการฝึกกระตุ้นจักระตามฐานต่างๆ ผมคิดว่า เราควรมาทำความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับกลไกการทำงานของสมองด้วยองค์ความรู้ของศาสตร์ตะวันตกก่อนจะดีกว่า เพื่อแสดงให้เห็นว่า ข้อสรุปและผลการค้นคว้าของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เกี่ยวกับสมองนั้นแทบไม่แตกต่างจากคำสอนของกุณฑาลินีโยคะเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพของสมองแต่อย่างใดเลย โดยเฉพาะข้อสรุปของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เกี่ยวกับสมองที่ยืนยันว่า “ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากสมองสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนเราได้”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...