วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

จักระมูลธาร จึงเป็นจักระที่สำคัญมาก

จักระมูลธาร จึงเป็นจักระที่สำคัญมาก แต่ก็สามารถกลายเป็นสิ่งที่รบกวนทางจิตมากได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การปลุกจักระที่ 6 หรือจักระอาชณะให้ฟื้นตัวก่อนที่จะไปปลุกจักระมูลธาร จึงเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการปลุกจักระของกุณฑาลินีโยคะ

ที่ตั้งของจักระที่ 1 ในเพศชาย ตั้งอยู่ภายในบริเวณใต้รอยฝีเย็บด้านใน บริเวณนี้มีเส้นประสาทมากมายมาหล่อเลี้ยงเกี่ยวกับประสาทความรู้สึกทั้งหลาย และในขณะเดียวกัน ก็เชื่อมต่อถึงอวัยวะเพศชายที่เรียกว่า ลูกอัณฑะ ส่วนที่ตั้งของจักระที่ 1 ในเพศหญิงนั้นอยู่ในบริเวณด้านในของปากมดลูก จักระที่ 1 หรือจักระมูลธารเป็นต่อมคล้ายกับปมหรือสิ่งที่ขมวดเป็นปม คัมภีร์โยคะโบราณกล่าวว่า เมื่อใดที่ปมอันนี้ถูกแก้ออกไปได้ ความรอบรู้แห่งภูมิปัญญาทางจิตวิญญาณ และพลังอันน่าอัศจรรย์ใจจะปรากฏออกมาในตัวผู้ฝึกคนนั้น

วิธีปลุกจักระที่ 1 มีหลายแบบหลายวิธีที่ควรฝึกควบคู่กันไปแบบบูรณาการ โดยวิธีการฝึกปลุกจักระที่ 1 ที่ง่ายที่สุด และเป็นพื้นฐานที่สุด คือ การส่งสมาธิจิตเพ่งไปที่ปลายจมูก เพราะรูจมูกซ้ายเชื่อมกับช่องอิทะ และรูจมูกขวาเชื่อมกับช่องปิงคละ การเพ่งปลายจมูกจึงเป็นการกระตุ้นช่องอิทะกับช่องปิงคละโดยตรง และเชื่อมโยงไปถึงจักระที่ 1 ที่อยู่ด้านล่าง รวมทั้งพลังกุณฑาลินีที่นอนสงบนิ่งอยู่ที่นั่น จากนั้นก็ให้ผู้ฝึกเพ่งจิตไปที่จักระที่ 1 พร้อมๆ กับการเพ่งปลายจมูกเพื่อกระตุ้นจักระที่ 1 ด้วย

ดังนั้น เมื่อผู้ฝึกส่งสมาธิจิตเพ่งไปที่ปลายจมูก จักระที่ 1 ของผู้ฝึกจะตื่นตัว อาจมีอาการตัวเบาเหมือนตัวจะลอย ผู้ฝึกจะต้องติดตามดูจิตและคุมสติให้มั่นอย่าไปติดหลงกับอาการเหล่านั้น อนึ่งในระหว่างที่ผู้ฝึกกำลังอยู่ในขั้นตอนของการปลุกจักระที่ 1 (จักระมูลธาร) กับจักระที่ 2 (จักระสวาธิษฐาน) จะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมาก เพราะถ้าหากผู้ฝึกได้ฝึกสมาธิจนกระทั่งจักระทั้งสองนี้ตื่นตัวขึ้นแล้ว มีความเป็นไปได้ว่า จะมีอารมณ์หลายแบบมากมายเข้ามา พร้อมทั้งกิเลสต่างๆ เช่น ความโกรธ ความโลภ ความหลง ตัณหา ราคะ ความทะเยอทะยาน เหล่านี้เป็นต้น

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ อารมณ์ในด้านลบทั้งหลายอาจปะทุออกมาได้ในช่วงนี้ แต่จิตวิญญาณที่ละเอียดอ่อนที่สถิตอยู่ภายใน ซึ่งผู้ฝึกได้ฝึกฝนบำเพ็ญมาเป็นอย่างดีจะสร้างพลังคุ้มครองและภูมิต้านทานให้

แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผู้ฝึกจะต้องฝึกฝนกุณฑาลินีโยคะต่อไป จนกระทั่งผู้ฝึกสามารถรู้ทัน และเข้าใจอารมณ์ในเชิงลบต่างๆ เหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง ว่ามีอะไรเกิดขึ้น ด้วยเหตุด้วยผลจากอะไร สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของความเครียด ความกดเก็บทางอารมณ์ที่สถิตอยู่ในจิตใต้สำนึกของผู้ฝึกเป็นเวลานานมากแล้ว แต่เพิ่งค่อยๆ ปรากฏออกมาให้เห็นชัดเมื่อจักระที่ 1 ถูกปลุกขึ้นมาด้วยการฝึกกุณฑาลินีโยคะเท่านั้นเอง

เมื่อผู้ฝึกตามรู้จนรู้ทันและเข้าใจจิตที่ปรุงแต่งของตนมากขึ้นแล้ว อาการผุดปะทุของอารมณ์ในเชิงลบทั้งหลายจะค่อยๆ หายไปเอง ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า อาการเหล่านี้ไม่ใช่อาการผิดปกติ แต่มันเป็นธรรมชาติของจิตที่จะขับความเครียด และอารมณ์ในเชิงลบต่างๆ ที่เก็บกดเอาไว้ในส่วนลึกของจิตใจมานานให้ออกมาข้างนอกเร็วขึ้น แล้วได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ โดยผ่านการบำเพ็ญสมาธิภาวนา จะได้ร่นระยะเวลาของการปรากฏขึ้นของพลังแห่งจิตวิญญาณ อันเนื่องมาจากการบำเพ็ญโยคะของผู้นั้น หาไม่แล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะมีวิวัฒนาการที่เนิ่นช้ามาก

เคล็ดในการปลุกจักระที่ 1 มีดังนี้...ก่อนอื่นควรฝึกในที่มืดสลัว นั่งคุกเข่าในท่าวัชระอาสนะ หรือนั่งขัดสมาธิในท่าสิทธะอาสนะ สองมือวางบนหน้าขาทั้งสองข้าง (ถ้าเป็นท่าวัชระอาสนะ) หรือบนปลายเข่าทั้งสองข้าง (ถ้าเป็นท่าสิทธะอาสนะ) หลับตาทั้งสองข้างเพียงแผ่วเบาสักครู่หนึ่ง จึงส่งสมาธิจิตเพ่งไปที่ปลายจมูก

ลองนึกภาพมองเห็นปลายจมูกของเราเอง เหมือนกับที่มองเห็นขณะลืมตา ให้ส่งจิตใจเพ่งไปที่ปลายจมูกตลอดเวลา จากนั้นค่อยๆ ลืมตาเพียงแผ่วเบา แล้วส่งสายตาและจิตใจมาที่ปลายจมูกให้มีความรู้สึกจดจ่ออยู่ที่ปลายจมูก

จากนั้นหลับตาลงอีกครั้ง โดยจิตยังเพ่งที่ปลายจมูกอยู่แล้วค่อยๆ ลืมตาเพียงแผ่วเบา มองปลายจมูกเช่นเดิม ทำเช่นนี้สลับกันไปเรื่อยๆ ประมาณ 10-20 นาที โดยที่ร่างกายทั้งหมดต้องผ่อนคลาย

จากนั้นจงเพ่งสมาธิไปที่จักระที่ 1 บริเวณรอยฝีเย็บพร้อมกับทำ มูลพันธะ หรือการเกร็งสลับกับการคลายกล้ามเนื้อบริเวณนี้ โดยที่จิตยังคงเพ่งที่ตำแหน่งนี้อยู่ ให้ทำไปราวๆ 30 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง จากนั้นจึงถอนสมาธิออกมา แล้วค่อยๆ ลืมตาขึ้น

จะเห็นได้ว่า เคล็ดของการปลุกจักระนั้นอยู่ที่การเริ่มปลุกจักระที่เป็นขั้วตรงข้ามของจักระนั้นก่อน แล้วจึงค่อยเพ่งจิตไปที่จักระที่ต้องการปลุกนั้นทีหลัง ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม เพื่อทำให้ลมปราณไหลเวียนได้สะดวกโล่ง

อนึ่ง การปลุกจักระที่ 1 ด้วยท่านั่งแบบวัชระอาสนะ (นั่งคุกเข่าแบบญี่ปุ่น) มีจุดดีตรงที่มันจะช่วยกระตุ้นเส้นกระเพาะปัสสาวะ และเส้นไตที่อยู่บริเวณฝ่าเท้า โดยที่น้ำหนักของร่างกายจะกดลงมาบนสองฝ่าเท้านี้ (ยังมีต่อ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...