วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เคล็ดการฝึกตันตระทั้ง 112 วิธี วิธีที่1

ต่อไปจะขอกล่าวถึงเคล็ดการฝึกตันตระทั้ง 112 วิธีดังต่อไปนี้

      

       (1)“โอ เธอผู้เปล่งประกายแสง ประสบการณ์นี้เกิดขึ้นใน ระหว่าง ลมหายใจเข้าออก คือภายหลังจากลมหายใจเข้ากับก่อนที่ลมหายใจออก...ที่นั่นมีของขวัญจากฟ้าดำรงอยู่”
      

       ขยายความ ความจริงดำรงอยู่ที่นั่นเสมอมา ความจริงไม่ใช่สิ่งที่จะบรรลุได้ในอนาคต แต่ตัวเราที่ดำรงอยู่ในขณะนี้นี่แหละคือตัวความจริงในทัศนะของตันตระ ขณะที่ “ใจ” เป็นสิ่งที่อยู่กับอนาคตหรืออดีต แต่ไม่เคยสนใจที่จะอยู่กับปัจจุบัน เพราะถ้าหาก “ใจ” อยู่กับปัจจุบัน มันจะไม่อาจเคลื่อนไหวอะไรได้ เพราะในปัจจุบันไม่มีที่ว่างให้ “ใจ” เคลื่อนไหว “ใจ” จะเคลื่อนไหวได้ จำเป็นต้องมีอนาคตหรือไม่ก็อดีต ดังนั้นใจจึงไม่เคยพบกับความจริงซึ่งอยู่ในปัจจุบันขณะได้เลย การพบความจริงเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่การค้นหาความจริงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยในทัศนะของตันตระ เพราะตัวการค้นหานี่แหละที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความจริง เนื่องจากพอเริ่มการค้นหา เราก็จะห่างจากปัจจุบันขณะและตัวเราทันที
      

       วิธีฝึกของตันตระที่ถ่ายทอดโดยพระศิวะนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีการดึง “ใจ” ออกจากอดีตหรืออนาคตให้กลับมาอยู่ที่ปัจจุบันทั้งสิ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เคล็ดของตันตระช่วงแรกๆ จะกล่าวถึงเรื่องการหายใจ มนุษย์เราตั้งแต่เกิดจนตาย ต้องมีการหายใจอยู่ตลอดเวลา ในระหว่างการเกิดกับการตายนี้แหละที่ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งปวงล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การหายใจเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชีวิต การหายใจยังเป็นสะพานที่เชื่อม “ตัวเรา” กับ “ร่างกายของเรา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล การหายใจยังเป็นสะพานที่เชื่อมตัวเรากับเวลาและสถานที่ และการหายใจยังเป็นสิ่งที่จะทำให้ตัวเราข้ามพ้นโลกนี้ ทั้งๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้        

       สิ่งที่พระศิวะได้ถ่ายทอดให้แก่พวกเราในคัมภีร์ตันตระนี้ เป็นวิชาตันตระ เพราะเคล็ดของมันไม่ใช่อยู่ที่วิธีการฝึกบังคับลมหายใจแบบปราณายามะของโยคะ แต่อยู่ที่การใช้การหายใจเพื่อเป็นวิธีการในการเข้าสู่ภายในตัวเองของผู้ฝึกอย่างมีสติ อย่างในเคล็ดอันที่ 1 พระศิวะทรงตรัสว่า ถ้าหากเรามีสติตื่นตัวในระหว่างลมหายใจเข้าออกจะเกิดสิ่งนั้น หรือเกิดประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งนั้นขึ้นมา

      
       ในช่วงก่อนที่ลมหายใจจะออก และก่อนที่ลมหายใจจะเข้า ช่วงขณะนั้นซึ่งสั้นมากเหลือเกิน เป็นช่วงที่เราไม่ได้หายใจ เมื่อเราไม่ได้หายใจในช่วงขณะนั้น มันจึงเป็นช่วงที่เราไม่ได้อยู่ในโลกนี้ มันเป็นช่วงที่เราตายไปแล้ว ทั้งๆ ที่เรายังมีชีวิตอยู่ แต่เนื่องจากมันเป็นช่วงที่สั้นมากเหลือเกิน คนส่วนใหญ่จึงไม่รู้สึกตัวในทัศนะของตันตระ ทุกครั้งที่ลมหายใจออกคือ การตาย และทุกครั้งที่ลมหายใจเข้าก็คือ การเกิดใหม่
      

       ทุกครั้งที่เราหายใจ เราจึงเกิด-ตาย เกิด-ตายอยู่ตลอดเวลา ช่องว่างระหว่างสองสิ่งนี้สั้นมากเหลือเกิน แต่ถ้าเราตื่นรู้ มีสติที่จะสังเกตช่องว่างอันนี้ได้ เมื่อนั้นเราจะได้ของขวัญหรือพรจากฟ้าหรือเบื้องบน วิธีฝึกอันนี้ต่อมาชาวพุทธจะได้รู้จักมันในนามของ “อานาปานสติ” ซึ่งเป็นวิธีฝึกสติที่ได้ช่วยผู้คนนับล้านๆ คนให้สามารถเติบโตทางจิตวิญญาณได้ตลอดช่วงหลายศตวรรษมานี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...