วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เคล็ดวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตขั้นสูง (ต่อ)

*เคล็ดวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตขั้นสูง (ต่อ)”*
กระบวนท่าที่ห้า “กระตุ้นเซลล์สมองด้วยท่าพีระมิด”
(1) ก่อนอื่นคุกเข่าฝึกลมปราณสลับรูจมูกแบบ “ปราณายามะ” ในกระบวนท่าที่สามเป็นจำนวน 3 ครั้ง จากนั้นกางแขนเสมอไหล่แตะพื้น ยืดลำตัวออกไปให้ตรงใช้ปลายเท้ารองรับน้ำหนักตัวเหมือนกำลังอยู่ในท่าวิดพื้น ศีรษะ ลำคอ ร่างกายท่อนบน ขาอยู่ในแนวเส้นตรงจงนิ่งอยู่ในท่านี้ ชั่วครู่เพื่อภาวนาถึงพลังศักดิ์สิทธิ์ (พลังกุณฑาลินี) ภายในตัวให้มาช่วยให้ร่างกายเราแข็งแรง ดังที่เคยทำกับกระบวนท่าก่อนๆ กระบวนท่านี้ยังมีประสิทธิผลที่ดีกับตับ และกระดูกสันหลังเป็นพิเศษอีกด้วย
(2) จากนั้นค่อยๆ ยกเอวให้สูงขึ้นจนร่างกายเราก้นโด่ง เวลามองจากด้านข้างจะเป็นเหมือนพีระมิด ในขณะทำท่านี้ให้ทำพร้อมกับระบายลมหายใจออก พยายามยกเอวให้สูงเท่าที่จะสูงได้ ฝ่าเท้าควรพยายามแนบสนิทกับพื้น ใบหน้ามองไปที่ปลายเท้า ศีรษะกับกระดูกสันหลังเป็นเส้นตรงเดียวกัน กระบวนท่านี้จะช่วยชำระเซลล์สมองให้สะอาด ทำให้เลือดไหลเข้าไปเลี้ยงสมองได้ดี ขณะทำท่านี้ขอให้ภาวนาในใจประกอบด้วยว่า ขอให้เซลล์สมองของเราจงดูดซับปราณเข้าไปฟอกเลือดให้สะอาด จนเซลล์สมองทุกเซลล์ทำงานอย่างแข็งขัน และกลับมาเยาว์วัยอีก
(3) ลดเอวลงจากท่าพีระมิด พร้อมกับดัดร่างกายท่อนบนไปด้านหลังดุจคันธนู จงแช่อยู่ในท่านี้ชั่วขณะ พร้อมกับบริกรรมมนต์ “โอม” เพื่อชำระปอดให้สะอาดโดยเพ่งจิตไปที่ปอด ก่อนจะกลับมาทำท่าพีระมิดใหม่ เมื่อจะเสร็จสิ้นกระบวนท่านี้ ให้ใช้เท้าเดินขณะอยู่ในท่าพีระมิด จนขาเข้าใกล้ลำตัวแล้วค่อยยืนขึ้น เอามือไขว้กันที่หน้าอก สำนึกขอบคุณพลังศักดิ์สิทธิ์ภายในอยู่ในใจ
กระบวนท่าที่หก “สลับตำแหน่งดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ในร่างกาย”
ตามหลักของวิชาโยคะนั้น จะถือว่ามีดวงจันทร์อยู่ที่ศีรษะของคนเรา ขณะที่ดวงอาทิตย์อยู่ที่บริเวณสะดือ การที่คนเรามี “ดวงอาทิตย์” อยู่ใต้ “ดวงจันทร์” เป็นสภาพที่วิชาโยคะเห็นว่า ไม่น่าพึงปรารถนา และไม่อาจชะลอวัยได้ เพราะฉะนั้น หากเราต้องการชะลอวัย และมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ ตามหลักวิชาโยคะก็จะต้องสลับตำแหน่งของ “ดวงอาทิตย์” กับ “ดวงจันทร์” ในร่างกายของตน โดยต้องทำให้ “ดวงจันทร์” มาอยู่ใต้ “ดวงอาทิตย์” หรือเอาสะดือมาอยู่เหนือศีรษะนั่นเอง ด้วยเหตุนี้แหละ การฝึกหกสูง และการฝึกศีรษะอาสนะ (สาลัมพะศีรษะอาสนะ) จึงมีความสำคัญต่อการฟื้นฟูความเป็นหนุ่มสาวของร่างกายมาก จึงควรฝึกให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
สาลัมพะหมายถึง พร้อมด้วยเครื่องค้ำยัน “สาลัมพะศีรษะอาสนะ” จึงหมายถึงท่าที่ยืนด้วยศีรษะ ซึ่งเป็นอาสนะหรือท่าที่สำคัญที่สุดในบรรดาโยคะอาสนะทั้งหมด จนได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งอาสนะทั้งปวง ในการฝึกอาสนะท่านี้ ก่อนอื่นให้นำผ้าห่มมาพับซ้อนกันวางบนพื้น และคุกเข่าลงใกล้ๆ วางท่อนแขนลงตรงกึ่งกลางผ้าห่ม ระวังอย่าให้ระยะห่างระหว่างข้อศอกบนพื้นกว้างกว่าช่วงไหล่ ประสานนิ้วมือเข้าด้วยกันจนแน่นสนิท โค้งฝ่ามือเป็นอุ้งคล้ายถ้วยใบหนึ่ง วางด้านนิ้วก้อยลงบนพื้น นิ้วมือที่ประสานกันจะต้องแนบสนิท
ตลอดระยะเวลาในการปฏิบัติอาสนะนี้ ก้มศีรษะลงจดพื้น ขยับศีรษะให้ท้ายทอยสัมผัสกับอุ้งมือทั้งสอง เลื่อนเข่าเข้ามาชิดข้อศอกให้เฉพาะส่วนยอดของศีรษะจดพื้น ไม่ใช่ส่วนหน้าหรือส่วนหลังของศีรษะ หลังจากจัดวางตำแหน่งของศีรษะจนได้ที่แล้ว ยกเข่าขึ้นขยับปลายเท้าเข้ามาชิดศีรษะมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หายใจออก ดีดปลายเท้าเบาๆ เพื่อยกเท้าให้พ้นพื้นพร้อมๆ กันทั้งสองข้าง โดยเข่ายังงออยู่ พับท่อนขาส่วนล่างเข้ามาชิดกับต้นขา ค่อยๆ ยกต้นขาขึ้นจนตั้งได้ฉากกับพื้นเข่าชี้ฟ้า ค่อยๆ เหยียดขาขึ้นจนท่อนขาทั้งหมดเหยียดตรง และร่างกายทั้งหมดตั้งได้ฉากกับพื้น จงอยู่ในท่านี้ 1-5 นาทีตามความสามารถ เมื่อชำนาญแล้วค่อยๆ เพิ่มเวลายาวขึ้นเรื่อยๆ เมื่อจะกลับลงมาสู่พื้นให้ปฏิบัติย้อนลำดับที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ฝึกควรฝึกอาสนะนี้โดยมีคนคอยช่วยหรือไม่ก็ฝึกอาสนะนี้ที่หน้ากำแพงก่อน โดยระยะห่างระหว่างกำแพงกับศีรษะไม่ควรเกินสามนิ้วฟุต เพราะถ้าหากระยะห่างมากกว่านี้ กระดูกสันหลังจะโค้งงอ และส่วนท้องจะยื่นออกมา น้ำหนักตัวจะตกอยู่ที่ข้อศอกและตำแหน่งของศีรษะก็จะเปลี่ยนไป เมื่อฝึกอาสนะนี้กับกำแพงได้แล้ว ก็ควรลองฝึกที่กลางห้อง หรือบริเวณที่ห่างจากกำแพงโดยไม่ต้องพิงกำแพงอีกต่อไป
อนึ่ง ในการฝึกศีรษะอาสนะนี้นั้น น้ำหนักของร่างกายควรจะตกอยู่ที่ศีรษะ มิใช่ที่ท่อนแขนหรือมือทั้งสอง เพราะท่อนแขนและมือทั้งสองข้างใช้ค้ำเพียงเพื่อช่วยการทรงตัวเท่านั้น ท้ายทอย ลำตัว ด้านหลังของต้นขา และส้นเท้าควรอยู่ในแนวเส้นตรงตั้งได้ฉากกับพื้น ไม่เอนเอียงไปทานด้านข้างใดๆ คอ คาง และกระดูกหน้าอกควรอยู่ในแนวเส้นตรง มิฉะนั้นศีรษะจะเอียงหรือเคลื่อนไปข้างหน้า
สำหรับมือที่ประสานกันนั้น ฝ่ามือไม่ควรช้อนเข้าไปใต้ศีรษะด้านบน และด้านล่างของฝ่ามือ แต่ควรอยู่ในแนวเดียวกันเพื่อประคองศีรษะให้ส่วนยอดของศีรษะจดพื้นอย่างถูกต้อง ข้อศอกและไหล่ทั้งสองข้างควรอยู่ในแนวเดียวกัน และข้อศอกไม่ควรถ่างกว้างออกจากกัน ไหล่ควรจะห่างจากพื้นมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ โดยการดันไหล่ขึ้น ควรพยายามนำเอาต้นขา เข่า ข้อเท้า และนิ้วหัวแม่เท้าเข้ามาชิดกันเท่าที่จะทำได้ จงยืดเท้าเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านหลังของต้นขาและหัวเข่า เพื่อให้ผู้ฝึกเกิดความรู้สึกโปร่งเบาทั่วร่างกาย แช่มชื่นเบิกบานจากการฝึกอาสนะท่านี้
ในขณะที่อยู่ในอาสนะนี้ ดวงตาของผู้ฝึกไม่ควรจะแดงก่ำ ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้น แสดงว่าทำท่าดังกล่าวไม่ถูกต้อง การฝึกศีรษะอาสนะจะทำให้โลหิตไหลเวียนมาเลี้ยงสมองมากขึ้น ทำให้สมองมีความกระปรี้กระเปร่าทำหน้าที่ต่างๆ ได้ดีขึ้น ผู้ฝึกจะรู้สึกได้เองว่า ตัวเองมีพลังความคิดเพิ่มขึ้น ความคิดก็แจ่มชัดขึ้นด้วย ที่สำคัญมันยังช่วยขยายขอบเขตของจิตวิญญาณของผู้ฝึก ทำให้ผู้ฝึกกลายเป็นผู้ที่มีดุลยภาพในตัวเอง และมีความเชื่อมั่นในตัวเอง กล้าที่จะเผชิญหน้ากับความทุกข์ยาก ความพ่ายแพ้ และความสูญเสียทั้งปวงในชีวิต
สำหรับผู้ที่ยังทำท่าศีรษะอาสนะนี้ไม่ได้ ขอให้ฝึกท่าต่อไปนี้ทดแทนไปก่อน โดยนอนหงายหน้าบนพื้น ให้ก้นติดฝาผนัง แล้วยกขาทั้งสองขึ้นตั้งฉากกับลำตัวแนบกับฝาผนัง สองมือแนบลำตัว แล้วภาวนาถึงพลังศักดิ์สิทธิ์ภายในตัว ขอให้เซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายของเราจงกลับมาเยาว์วัยอีกครั้ง
กระบวนท่าที่เจ็ด “ยกระดับพลังทางเพศ”
(1) ก่อนอื่นยืนตัวตรง หลังตรง ขาชิด เท้าเหยียบพื้นเต็มเท้า จากนั้นค่อยๆ ร่นมือทั้งสองจากข้างสะดือ พร้อมกับก้มตัวไปข้างหน้า โดยโค้งศีรษะต่ำลงจนกระทั่งสองมือไปแตะที่หัวเข่าทั้งสองข้าง ในขณะที่ก้มลำตัวให้หายใจออก โดยตั้งใจให้ระบายลมหายใจออกจากปอดให้หมดเมื่อมือแตะถึงหัวเข่า จากนั้นจึงค่อยหายใจเข้าช้าๆ
(2) เสร็จแล้วให้กักลมหายใจ พร้อมกับนวดหัวเข่าทั้งสองข้างเพื่อกระตุ้นการหมุนของจักระที่หัวเข่า ขณะเดียวกัน ก็เสียดสีต้นขาเบาๆ รวมทั้งนวดเฟ้นบริเวณอวัยวะเพศเพื่อกระตุ้นพลังทางเพศให้ตื่นตัว จากนั้นค่อยๆ ยกลำตัวท่อนบนขึ้นตั้งตรง เอามือวางที่เอวระบายลมหายใจออกจากปอดให้หมด แล้วจึงสูดลมหายใจเข้าไปใหม่ พร้อมกับดึงพลังทางเพศขึ้นข้างบนตามแนวกระดูกสันหลังไปจนถึงยอดศีรษะแล้วไหลผ่านหน้าผากลงมาที่ทรวงอก ก่อนที่จะระบายลมหายใจออก เสร็จแล้วให้ก้มตัวลงไปข้างหน้าใหม่ ทำเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก
(3) ในระหว่างที่ทำกระบวนท่านี้อยู่ ขอให้ภาวนาถึงพลังศักดิ์สิทธิ์ (พลังกุณฑาลินี) ภายในตัว จงโปรดประทานพลังอันยิ่งใหญ่แก่ตัวเราเพื่อให้ตัวเราเป็นผู้ชนะในชีวิตนี้ และสามารถยกระดับไปสู่มิติที่สูงส่งกว่านี้ได้ด้วย
...ในโมเดล “โยคะ” ของศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการนั้น นอกจากจะให้ความสำคัญกับการทำให้จักระต่างๆ ในร่างกายหมุนด้วยอัตราความเร็วสูงอยู่เสมอแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับ “กายนอก” (กายเนื้อ) กับ “กายใน” (กายทิพย์) ควบคู่กันไปอีกด้วย
*ความสำคัญของการฝึก “กายทิพย์” ในโมเดล “โยคะ” ของศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการ*
ในโมเดล “โยคะ” ของศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการนั้น นอกจากจะให้ความสนใจในการฝึกร่างกายเพื่อให้จักระต่างๆ หมุนด้วยอัตราความเร็วสูงแล้ว ยังมองจากมุมมองของ “พลังงาน” อีกด้วยว่า โครงสร้างแห่งร่างกายของคนเรานี้สามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วน คือ “กายนอก” (กายเนื้อ) กับ “กายใน” (กายทิพย์) กายนอกหรือกายเนื้อเป็นกายภาพที่สามารถมองเห็นได้ ขณะที่กายในหรือกายทิพย์เป็นกายส่วนที่เป็นพลังงานเรืองแสง ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นโดยที่กายชนิดดังกล่าวจะแทรกซ้อนอยู่ในกายเนื้อที่สามารถมองเห็นได้นี่เอง
ในโมเดล “โยคะ” จะถือว่า กายทิพย์หรือกายในนี้เป็นตัวดูดปราณหรือพลังชีวิตเข้าสู่กายเนื้อทั่วร่าง โดยผ่านจักระและเส้นทางลมปราณต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในกายทิพย์ และปรากฏออกมาเป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่า ออร่า (Aura) หรือ รัศมี ออร่าของมนุษย์คือปรากฏการณ์ด้านพลังงานที่เกิดอยู่ในระบบที่มีความซับซ้อนอย่างยิ่ง ออร่าคือตัวแทนแห่งพลังสร้างสรรค์ชีวิตซึ่งกระตุ้นให้เกิดพลังงาน และประคับประคองสุขภาพ การดำรงอยู่ของคนเราในรูปแบบของพลังงานที่ครอบคลุมกายเนื้อ ออร่าจะก่อให้เกิดช่องทางเพื่อการปฏิสัมพันธ์กับแหล่งพลังงานและมิติอื่นได้ด้วย
แนวคิดเกี่ยวกับออร่าหรือรัศมีของมนุษย์ซึ่งเป็นกลุ่มแสงที่ฉายออกมารอบๆ ร่างกายของคนเรานั้น เป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่โบราณแล้ว โดยที่เชื่อกันว่าออร่านี้สามารถบ่งบอกให้ทราบถึงคุณสมบัติเกี่ยวกับสุขภาพ อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และจิตใจของแต่ละคนได้ด้วย
เนื่องจากทั้งกายทิพย์ และกายเนื้อต่างมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก หากมีอะไรกระทบถึงกายเนื้อ ก็จะกระทบถึงกายทิพย์ด้วย หรือถ้ามีอะไรกระทบถึงกายทิพย์ก็ย่อมกระทบถึงกายเนื้อด้วยเช่นกัน ความเจ็บป่วยในกายเนื้อของคนเรา ถ้ามองจากมุมมองเชิง “พลังงาน” ตามโมเดลโยคะ จะมองว่า มีส่วนเกี่ยวโยงกับการป่วยของกายทิพย์ โดยที่ความป่วยของกายทิพย์นั้นมีสาเหตุมาจากความพร่องของปราณในที่ใดที่หนึ่งหรือทั่วร่างในกายทิพย์เป็นสำคัญ
นี่คือมุมมองเกี่ยวกับความเจ็บป่วยที่ไม่มีอยู่ในการแพทย์กระแสหลักปัจจุบัน แต่เป็นมุมมองหลักของการแพทย์เชิง “พลังงาน” โดยที่เมื่อเกิดการป่วยของกายทิพย์ ออร่าของผู้นั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในสีสัน และขอบเขตขนาดของรัศมีรอบกายที่หดเล็กลง
จากมุมมองข้างต้น โมเดล “โยคะ” ในศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการ จึงมีบทเสนอว่า คนที่ไม่ดูแลตัวเองให้ดีทั้งกายนอก (กายเนื้อ) และกายใน (กายทิพย์) มีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีอายุขัยต่ำกว่าอายุขัยโดยเฉลี่ย ส่วนคนที่ตั้งใจดูแลตัวเองให้ดีแค่เฉพาะกายนอก (กายเนื้อ) มีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีอายุยืนยาวกว่าอายุขัยโดยเฉลี่ยได้นิดหน่อย แต่ถ้าคนผู้นั้นตั้งใจดูแลตัวเองให้ดี ทั้งกายนอก (กายเนื้อ) และกายใน (กายทิพย์) ไปพร้อมๆ กัน มีความเป็นไปได้สูงมากว่าผู้นั้นจะมีอายุยืนยาวใกล้ร้อยปี หรือมีอายุยืนยาวมากกว่านั้น
ด้วยเหตุนี้ โมเดล “โยคะ” จึงเห็นว่า นอกจากจะต้องฝึกวิชาเพื่อให้จักระต่างๆ หมุนด้วยอัตราความเร็วสูงอยู่เสมอแล้ว คนเรายังจำเป็นต้องฝึกวิชาเพื่อบำรุง และชำระกายในหรือกายทิพย์ให้สะอาดสมบูรณ์อยู่เสมอด้วย โดยที่ “กายทิพย์” นี้แหละ คือตัวชี้ขาดที่กำหนดสุขภาพและความมีอายุยืนของคนเรา เพราะฉะนั้น ถ้าหากคนเราต้องการจะชะลอวัยและรักษาความเป็นหนุ่มสาวให้ยาวนาน เราก็ต้องมุ่งฝึกฝนกายในหรือกายทิพย์ของตัวเราเป็นสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้โดยการฝึกลมปราณ การฝึกความคิด และการฝึกจิตเป็นสำคัญ
การฝึกลมปราณเพื่อบำรุงและชำระกายทิพย์นั้น มีเคล็ดสำคัญอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรก คือทำอย่างไร คนเราจึงจะสามารถดูดซับปราณจำนวนมหาศาลเข้ามาสู่ร่างกายได้เป็นจำนวนมาก โดยผ่านอาหารที่รับประทาน น้ำที่ดื่ม และอากาศที่หายใจเข้าไป ทั้งนี้เพราะปราณคือตัวหล่อเลี้ยงกายทิพย์ของคนเรานั่นเอง เรื่องเหล่านี้หลายคนเริ่มตระหนัก และเข้าใจความสำคัญของปราณกันบ้างแล้ว แต่คนส่วนใหญ่สมัยนี้ก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องปราณอยู่ดี หรือรู้ก็รู้แบบงูๆ ปลาๆ เพราะการรับปราณเข้ามาในร่างกายเท่านั้น ยังไม่เป็นการเพียงพอต่อการทำให้ร่างกายสามารถชะลอวัย และรักษาความเป็นหนุ่มสาวให้ยาวนานได้ อย่างมาก็แค่ทำให้สุขภาพดีขึ้นเท่านั้น เพราะปราณเปรียบได้กับน้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์ โภชนาการเปรียบได้ดั่งน้ำมันเครื่อง ลำพังแค่สองสิ่งนี้ยังไม่ทำให้รถยนต์แล่นได้ จำเป็นต้องใส่กุญแจรถแล้วติดเครื่องให้ทำงาน
ตรงนี้แหละคือ ส่วนที่สอง ของการฝึกลมปราณเพื่อบำรุงและชำระกายทิพย์ เพื่อการชะลอวัยและรักษาความเป็นหนุ่มสาวให้ยาวนาน ซึ่งก็คือ เคล็ดการหายใจแบบพิเศษของโยคะ เพื่อไปกระตุ้นปราณให้ทำงาน และหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับร่างกายของผู้ฝึก รวมทั้งไปกระตุ้นจิตใต้สำนึกของผู้ฝึกให้ตื่นตัวเพื่อให้เกิดประสิทธิผลในด้านการชะลอวัย และรักษาความเป็นหนุ่มสาวให้ยาวนานนั่นเอง (ซึ่งจะได้กล่าวโดยละเอียดในภายหลัง)
นอกจากนี้ ผู้ฝึกยังจะต้องฝึกลมปราณเพื่อเพิ่มพลัง 5 ประเภทในร่างกายของตน อีกด้วย ซึ่งได้แก่
(1) การฝึกลมปราณเพื่อเพิ่มพลังทางเพศ
(2) การฝึกลมปราณเพื่อเพิ่มพลังขับสารพิษ (พลังขับถ่าย) ออกจากร่างกาย
(3) การฝึกลมปราณเพื่อการถนอมพลังในการใช้เสียง ให้ทรงพลังอยู่เสมอ
(4) การฝึกลมปราณเพื่อเพิ่มพลังในการเคลื่อนไหว ให้ปราดเปรียว และผ่อนคลายอยู่เสมอ
(5) การฝึกลมปราณเพื่อเพิ่มพลังชีวิตแบบองค์รวม จะเห็นได้ว่า การฝึกลมปราณเป็นหัวใจของศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการก็ว่าได้ การฝึกลมปราณ และผลจากการฝึกลมปราณเป็นสิ่งที่ใช้เงินซื้อโดยตรงไม่ได้ ผู้นั้นต้องฝึกด้วยตนเอง และทำด้วยตนเองเท่านั้น ไม่อาจทำแทนให้กันได้
ส่วน การฝึกความคิด และการฝึกจิตเพื่อบำรุงและชำระกายทิพย์ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการฝึกลมปราณนั้น คือการให้ข่าวสารข้อมูลเชิงบวก และสร้างสรรค์ต่อจิตใจและจิตวิญญาณของผู้ฝึกอยู่เสมอมิได้ขาด โดยผ่านการกระทำต่างๆ ที่หลากหลาย อย่างเช่น การภาวนา การสวดมนต์ การสอนตัวเอง การชักจูงตัวเอง การให้กำลังใจตัวเอง การมีวิธีคิด วิธีมองโลกในแง่ดีในเชิงบวก ในเชิงสร้างสรรค์ การมีวิธีพูด และการใช้คำพูดในชีวิตประจำวันที่เป็นบวก ที่เป็นกุศล และสร้างสรรค์ทั้งต่อตัวเอง และต่อผู้อื่น
การมีศรัทธาในการฝึกฝนตามแนวทางของภูมิปัญญาเชิงบูรณาการว่าจะช่วยให้เรามีสุขภาพแข็งแรง อายุยืน และสามารถชะลอวัยได้ การไม่ยอมให้ความเชื่อผิดๆ และโลกทัศน์เก่าในเรื่อง “ความแก่” ของคนส่วนใหญ่มาครอบงำจิตใจของเราได้ การใช้พลังแห่งจินตนาการ และสมาธิมาทำให้ตัวเราคึกคัก มีชีวิตชีวา แข็งแรง และกระชุ่มกระชวยอยู่เสมอ การสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองทั้งในเรื่องพลังกาย พลังความคิดและพลังใจของตัวเองเหล่านี้เป็นต้น
การฝึกความคิดและการฝึกจิตเพื่อบำรุงและชำระกายทิพย์นั้น จึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการฝึกลมปราณแต่อย่างใดเลย ส่วนแนวทางการฝึกอย่างละเอียดพิสดารนั้น จะกล่าวต่อไปในภายหลัง โดยในที่นี้ เราจะต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจเรื่อง จักระกับกายทิพย์ อย่างละเอียดก่อนเป็นอันดับแรก
*จักระกับกายทิพย์*
ในโมเดล “โยคะ” จะถือว่าการดูแลป้องกัน “กายทิพย์” ให้แข็งแรงเพื่อไม่ให้กายเนื้อเจ็บป่วย เป็นสิ่งที่ควรทำและทำได้ง่ายกว่าการรักษาโรคหลังจากที่ปรากฏออกมาที่ “กายเนื้อ” แล้ว อารมณ์ในด้านลบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความโกรธ ความวิตกกังวล ความหงุดหงิด ล้วนส่งผลกระทบที่ไม่พึงปรารถนาต่อกายทิพย์ โดยทำให้เกิดภาวะพร่องปราณขึ้นตามจักระต่างๆ หรือไม่ก็เกิดภาวะการกระจุกตัวหรืออุดตันของปราณขึ้นตามจักระต่างๆ อารมณ์ในด้านลบทั้งหลาย จึงทำให้กายทิพย์อ่อนแอ เพราะสูญเสียปราณซึ่งจะพลอยทำให้กายเนื้ออ่อนแอลงตามไปด้วย จนเกิดความเจ็บป่วยในที่สุด เนื่องจากกายทิพย์จะถูกสร้างขึ้นมาในลักษณะรูปทรงเดียวกับกายเนื้อ
ด้วยเหตุนี้ จิตใจจึงมีอิทธิพลต่อการก่อรูปของกายทิพย์ เป็นอย่างมาก แนวความคิดที่ว่า จิตใจสามารถมีอิทธิพล และสามารถหล่อหลอมกายทิพย์ได้นั้น มิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นความลึกซึ้งของภูมิปัญญาโบราณก็ว่าได้ ภูมิปัญญาโบราณอย่างโยคะจึงกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า สิ่งที่คนเราเห็น สิ่งที่คนเรารู้สึก และสิ่งที่คนเราคิดนั้น ย่อมมีอิทธิพลต่อกายทิพย์อย่างลึกซึ้ง ภูมิปัญญาโบราณของโยคะยังบอกอีกว่า หน้าที่ของกายทิพย์คือการดูดซับปราณแจกจ่ายปราณ และเพิ่มพลังปราณ (พลังชีวิต) ให้แก่กายเนื้อ
นอกจากนี้ กายทิพย์ยังเป็นเบ้าหลอมหรือตัวแบบสำหรับร่างที่เป็นกายเนื้อ โดยกายทิพย์จะปล่อยให้กายเนื้อทำหน้าที่รักษารูปร่าง รูปทรง และลักษณะของกายเนื้อไปตามกระบวนการทางชีวเคมีของมันไป แต่ถึงอย่างไร ในมุมมองของโยคะ กายเนื้อก็คือ กายที่หล่อหลอมมาจากกายแห่งพลังงาน (energy body) หรือกายทิพย์อยู่ดี
ถ้าหากกายทิพย์บกพร่อง (พร่องปราณ) กายเนื้อก็จะบกพร่อง (ไม่แข็งแรง) ตามไปด้วย กายเนื้อกับกายทิพย์จึงมีส่วนสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด หากเกิดมีอะไรกระทบต่อกายทิพย์ ก็ย่อมกระทบต่อกายเนื้อด้วย และในทำนองเดียวกัน หากมีอะไรกระทบต่อกายเนื้อ ก็ย่อมกระทบต่อกายทิพย์ด้วย ถ้ากายทิพย์ป่วย กายเนื้อก็จะป่วย หรือถ้ากายเนื้อป่วย กายทิพย์ก็จะป่วยตามไปด้วย ในทำนองเดียวกัน ถ้ากายทิพย์หายจากป่วย กายเนื้อก็หายจากป่วยด้วย หรือถ้ากายเนื้อหายจากป่วย กายทิพย์ก็จะหายจากป่วยด้วย
เพราะฉะนั้น ในมุมมองของโมเดล “โยคะ” การดูแลป้องกันกายทิพย์ให้แข็งแรงอยู่เสมอ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำก่อนเป็นอันดับแรกสุดในการรักษาสุขภาพและการชะลอวัย เพื่อการนี้ การดูแลจักระ จึงมีความสำคัญมากในโมเดล “โยคะ” เพราะ จักระคือศูนย์รวมพลังชีวิตที่สำคัญยิ่งของกายทิพย์ ในทำนองเดียวกับกายเนื้อที่มีอวัยวะต่างๆ ทั้งที่สำคัญต่อชีวิต และอวัยวะส่วนที่ไม่สำคัญนัก จักระก็เช่นกัน ในกายทิพย์จึงมีทั้ง จักระหลัก (major chakras) จักระขนาดกลาง (minor chakras) และ จักระขนาดเล็ก (mini chakras)
(1) จักระหลัก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของวงกลมประมาณ 3 ถึง 4 นิ้ว จักระหลักนี้จะทำหน้าที่ควบคุม และให้กำเนิดพลังงานแก่อวัยวะหลัก และอวัยวะที่สำคัญของกายเนื้อ จักระเหล่านี้จึงเป็นเสมือนสถานีเติมพลังงานจากกายทิพย์ ที่คอยจ่ายพลังชีวิตหรือพลังงานให้แก่อวัยวะหลัก และอวัยวะที่สำคัญต่างๆ ของกายเนื้อ เพราะฉะนั้น หากสถานีเติมพลังงานทำหน้าที่บกพร่องขึ้นมา อวัยวะที่สำคัญก็จะเจ็บป่วยหรือเกิดโรคขึ้นมาได้ ทั้งนี้เพราะอวัยวะที่สำคัญเหล่านี้ไม่มีพลังชีวิตที่เพียงพอต่อการทำหน้าที่ตามปกตินั่นเอง
(2) จักระขนาดกลาง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของวงกลมประมาณ 1 ถึง 2 นิ้ว
(3) จักระขนาดเล็ก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของวงกลมเล็กกว่าหนึ่งนิ้ว ทั้งจักระขนาดกลาง และจักระขนาดเล็กจะทำหน้าที่ควบคุม และให้พลังงานแก่ส่วนต่างๆ ของกายเนื้อที่มีความสำคัญน้อยลงไป
โดยทั่วไป จักระต่างๆ ในกายทิพย์จะมีหน้าที่สำคัญดังต่อไปนี้
(ก) ทำหน้าที่ดูดซับ และกระจายปราณ (พลังชีวิต) ไปยังส่วนต่างๆ ของกายเนื้อ
(ข) ทำหน้าที่ควบคุมให้พลังงาน และรับผิดชอบต่อการทำหน้าที่ตามปกติของกายเนื้อ และชิ้นส่วน รวมทั้งอวัยวะต่างๆ ทั้งหมด โดยเฉพาะ ต่อมไร้ท่อต่างๆ ของกายเนื้อจะถูกควบคุมและได้รับพลังงานจากจักระหลักบางอัน ต่อมไร้ท่อเหล่านี้สามารถถูกกระตุ้นได้โดยผ่านการควบคุมหรือการใช้จักระหลัก อาการเจ็บป่วยของคนเราส่วนมากและส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ของจักระหลักบางอันนั่นเอง
(ค) เป็นศูนย์กลางของอำนาจจิต (psychic faculties) ในการกระตุ้นให้จักระ (ศูนย์พลังงาน) ทำงานนั้น อาจยังผลให้เกิดการพัฒนาอำนาจจิตบางอย่างขึ้นมาได้ โดยที่จักระที่ทำงานได้ง่ายที่สุดคือ จักระมือ (hand-chakras) ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางฝ่ามือในการใช้จักระมือนั้น สามารถทำได้ โดยการที่ผู้นั้นต้องฝึกการรับรู้พลังที่ฝ่ามือ และเพิ่มความละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกถึงปราณ และออร่า (รัศมีคลุมกาย) ด้วยการกำหนดจิตผ่านใจกลางฝ่ามือให้จดจ่ออยู่กับปราณและออร่า
ในโมเดล “โยคะ” จะให้ความสำคัญมากสุดกับจักระหลัก ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 7 แห่งด้วยกัน เนื่องจากจักระทั้ง 7 นี้เป็นตำแหน่งที่กายเนื้อสามารถดูดซับปราณได้สะดวกที่สุด ผู้ที่สนใจศาสตร์ชะลอวัยตามโมเดล “โยคะ” จึงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับจักระหลักทั้ง 7 ให้กระจ่าง ดังต่อไปนี้
(1) จักระที่ 1 เรียกว่า “มูลธาร” ตั้งอยู่ระหว่างทวารหนักกับอวัยวะสืบพันธุ์ จักระนี้เป็นที่ตั้งของพลังกุณฑาลินี ซึ่งจะต้องถูกปลุกโดยผ่านการบำเพ็ญโยคะ ให้พลังนี้พุ่งขึ้นเป็นลำผ่านกระดูกสันหลังไปสู่สมอง โดยพุ่งผ่านท่อสุษุมนะ (ท่อกลางลำตัว) ของกายทิพย์ จักระนี้จึงเป็นจักระพื้นฐานมีหน้าที่ให้พลังปราณ และช่วยทำให้ร่างกายทั้งหมดแข็งแรง จักระนี้จึงเกี่ยวข้องกับความอยู่ดีมีสุขของร่างกายโดยตรง
(2) จักระที่ 2 เรียกว่า “สวาธิษฐาน” ตั้งอยู่ปลายกระดูกก้นกบซึ่งเป็นกระดูกข้อสุดท้ายของกระดูกสันหลัง จักระนี้ทำหน้าที่ควบคุมพลังทางเพศของคนเรา โดยผ่านการบำเพ็ญโยคะ ผู้นั้นจะสามารถเก็บรักษาและสงวนพลังทางเพศเอาไว้ได้ และยังสามารถแปลงและส่งพลังทางเพศนี้ไปเลี้ยงบำรุงสมอง เพื่อกระตุ้นสติปัญญาของผู้นั้นได้อีกด้วย
(3) จักระที่ 3 เรียกว่า “มณีปุระ” ตั้งอยู่บนกระดูกสันหลังที่เอวบริเวณตรงกับสะดือ แต่ด้านตรงข้าม จักระนี้ทำหน้าที่ควบคุมระบบการย่อยอาหารทั้งหมด ควบคุมทั้งตับอ่อน ตับ กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ กระบังลม และลำไส้เล็กในบางส่วน นอกจากนี้ยังควบคุมระบบการผลิตเลือดของคนเราอีกด้วย จักระนี้จึงมีความสำคัญมากต่อสุขภาพ ต่อการต้านเกิดมะเร็ง และต่อต้านการชะลอวัยทำให้อายุยืน
(4) จักระที่ 4 เรียกว่า “อนาหตะ” ตั้งอยู่บนกระดูกสันหลังบริเวณสะบักตรงข้ามกับหัวใจ จักระนี้เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกในเชิงบวกทั้งปวง โดยเฉพาะความรัก ความเมตตา ความเอื้ออารี ความกรุณา การให้อภัย และความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ นอกจากนี้ จักระนี้ยังทำหน้าที่ควบคุมให้พลังแก่หัวใจ ปอด และต่อมไธมัสอีกด้วย
(5) จักระที่ 5 เรียกว่า “วิสุทธิ” ตั้งอยู่บนกระดูกสันหลังข้อสุดท้ายขนานไปกับระดับไหล่ จักระนี้ควบคุมระบบหายใจ ซึ่งรวมไปถึงจมูก หลอดลม ปอด และผิวหนัง นอกจากนี้ จักระนี้ยังทำหน้าที่ควบคุมให้พลังแก่ต่อมไทรอยด์อีกด้วย
(6) จักระที่ 6 เรียกว่า “อาชณะ” ตั้งอยู่กลางหน้าผากระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง จักระนี้ทำหน้าที่ควบคุมเพิ่มพลังให้แก่ต่อมพิทูอิทารี และสมองจึงเกี่ยวข้องกับปรีชาญาณ และปัญญาญาณในการมองโลก มองชีวิต ของผู้นั้นโดยตรง
(7) จักระที่ 7 เรียกว่า “สหัสราระ” ตั้งอยู่กลางกระหม่อม จักระนี้มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นจิตวิญญาณของคนเราโดยตรง นอกจากนี้ จักระนี้ยังทำหน้าที่ควบคุมให้พลังแก่ต่อมไพนีลในสมองอีกด้วย
*#ว่าด้วยกายทิพย์ทั้ง 7 (The Seven Subtle Bodies)*ในโมเดล “โยคะ” แห่งศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการของผมนั้น ตัวผมนอกจากจะจำแนกกายของคนเราออกเป็น “กายเนื้อ” กับ “กายทิพย์” (subtle energy bodies) แล้ว ผมยังจำแนกแยกย่อย “กายทิพย์” ออกเป็น “เจ็ดกาย” (seven bodies) อีกด้วย
ที่มาของการจำแนกกายทิพย์ออกเป็นเจ็ดกายของผมนี้ มาจากระบบของราชาโยคะโบราณ ที่พิจารณาว่า คนเรามี กายทั้งสาม กับ โกศทั้งห้า ที่ปกคลุมอาตมัน (real self) เอาไว้ “กายทั้งสาม” นี้คือกายหยาบ กายละเอียด และกายเหตุ โดยที่ กายหยาบ ประกอบขึ้นมาจาก โกศชั้นที่หนึ่ง กับ โกศชั้นที่สอง ส่วน กายละเอียด ประกอบขึ้นมาจาก โกศชั้นที่สาม กับ โกศชั้นที่สี่ และ กายเหตุ อันเป็นกายที่ละเอียดพิสดารกว่ากายละเอียดอีก ประกอบขึ้นมาจาก โกศชั้นที่ห้า
(1) โกศชั้นที่หนึ่ง มีชื่อเรียกว่า อันนายามาโกศ (Annayama Kosha) เป็นส่วนที่หยาบสุดของร่างกาย ที่เรียกกันว่า กายเนื้อ
(2) โกศชั้นที่สอง มีชื่อเรียกว่า ปราณามายาโกศ (Pranamaya Kosha) เป็นตัวสร้างความคึกคักมีชีวิตชีวาแก่กายหยาบ ซึ่งเป็นเปลือกที่ปิดบังอาตมันชั้นนอกสุด โดยเป็นผู้ส่งพลังปราณหรือพลังชีวิตให้แก่กายเนื้อ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กายแห่งปราณ
(3) โกศชั้นที่สาม มีชื่อเรียกว่า มโนมายาโกศ (Manomaya Kosha) เป็นตัวที่เกี่ยวกับสัมผัส การรับรู้ อารมณ์ ความรู้สึก จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กายแห่งจิตใจ
(4) โกศชั้นที่สี่ มีชื่อเรียกว่า วิญญานามายาโกศ เป็นตัวที่เกี่ยวกับสติปัญญา ปรีชาญาณ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กายแห่งญาณปัญญา
(5) โกศชั้นที่ห้า มีชื่อเรียกว่า อนันดามายาโกศ เป็นตัวที่เกี่ยวกับความรู้อันศักดิ์สิทธิ์เรื่องอาตมัน จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กายแห่งจิตวิญญาณ หรือ กายแห่งอาตมัน
การจำแนกกายแบบราชาโยคะโบราณ ที่จำแนกกายออกเป็น โกศทั้งห้า หรือ กายทั้ง 5 (ที่พัฒนามาจาก กายทั้งสาม หรือกายหยาบ กายละเอียด และกายเหตุ) นี้ ยังตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ยอมรับการดำรงอยู่ของอาตมัน ในขณะที่ในโมเดลของผมตั้งอยู่บนมุมมองของพุทธที่ยึดหลักอนัตตา และสุญตา ด้วยเหตุนี้ ผมจึงได้จำแนกส่วนที่เป็น “กายทิพย์” (กายละเอียดกับกายเหตุ) ให้แยกย่อยออกไปอีก รวมทั้งหมดเป็น “เจ็ดกาย” (หรือถ้ารวมกายเนื้อเข้าไปด้วยก็จะเป็น 8 กาย) ดังต่อไปนี้คือ
(1) กายแห่งปราณ (pranic body)
(2) กายแห่งอารมณ์ (emotional body)
(3) กายแห่งจิตใจ (มโน) (mental body)
(4) กายแห่งพลังจิต (psychic energy body)
(5) กายแห่งเหตุของกรรม (กายเหตุ) (causal body)
(6) กายแห่งจิตวิญญาณ (spiritual body)
(7) กายแห่งนิพพาน (nirvanic body)
(หนึ่ง) กายแห่งปราณ (pranic body) เป็นกายที่อยู่ร่วมพื้นที่เดียวกับกายเนื้อของเรานี่เอง แต่จะแผ่ขยายออกมาเป็นออร่า หรือรัศมีคลุมกายออกไปได้ถึงสองสามฟุต สำหรับคนที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง หรืออาจแผ่ขยายออกมานอกผิวหนังเพียงสองสามนิ้วสำหรับคนที่ป่วย กายแห่งปราณนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งในศาสตร์เร้นลับทางตะวันตกว่า กายอีเธอร์ (etheric body)
(สอง) กายแห่งอารมณ์ (emotional body) เป็นกายที่ละเอียดกว่ากายแห่งปราณ แถมยังเป็นกายอันเป็นที่สะสมอารมณ์ด้านลบ จิตใต้สำนึกที่ถูกเก็บกด และถูกสร้างเงื่อนไขอคติต่างๆ นานา โดยผ่านพ่อแม่ ครู และต้นแบบต่างๆ ที่หล่อหลอมความเป็นตัวตน อุปนิสัย จริตสันดาน รสนิยมของคนผู้นั้นขึ้นมา
(สาม) กายแห่งจิตใจ (กายแห่งมโน) (mental body) เป็นกายที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเป็นกายอันเป็นที่ตั้งของ พุทธิ (intellect) หรือสติปัญญาในการแยกแยะถูก-ผิด ดี-เลวของคนผู้นั้น จึงเป็นกายที่เกี่ยวกับการใช้ตรรกะ เหตุผล ความคิดของคนผู้นั้น
(สี่) กายแห่งพลังจิต (psychic energy body) เป็นกายที่ละเอียดยิ่งกว่า กายแห่งมโน เพรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...