วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

จักระกับกายทิพย์

*จักระกับกายทิพย์*
ในโมเดล “โยคะ” จะถือว่าการดูแลป้องกัน “กายทิพย์” ให้แข็งแรงเพื่อไม่ให้กายเนื้อเจ็บป่วย เป็นสิ่งที่ควรทำและทำได้ง่ายกว่าการรักษาโรคหลังจากที่ปรากฏออกมาที่ “กายเนื้อ” แล้ว อารมณ์ในด้านลบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความโกรธ ความวิตกกังวล ความหงุดหงิด ล้วนส่งผลกระทบที่ไม่พึงปรารถนาต่อกายทิพย์ โดยทำให้เกิดภาวะพร่องปราณขึ้นตามจักระต่างๆ หรือไม่ก็เกิดภาวะการกระจุกตัวหรืออุดตันของปราณขึ้นตามจักระต่างๆ อารมณ์ในด้านลบทั้งหลาย จึงทำให้กายทิพย์อ่อนแอ เพราะสูญเสียปราณซึ่งจะพลอยทำให้กายเนื้ออ่อนแอลงตามไปด้วย จนเกิดความเจ็บป่วยในที่สุด เนื่องจากกายทิพย์จะถูกสร้างขึ้นมาในลักษณะรูปทรงเดียวกับกายเนื้อ

ด้วยเหตุนี้ จิตใจจึงมีอิทธิพลต่อการก่อรูปของกายทิพย์ เป็นอย่างมาก แนวความคิดที่ว่า จิตใจสามารถมีอิทธิพล และสามารถหล่อหลอมกายทิพย์ได้นั้น มิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นความลึกซึ้งของภูมิปัญญาโบราณก็ว่าได้ ภูมิปัญญาโบราณอย่างโยคะจึงกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า สิ่งที่คนเราเห็น สิ่งที่คนเรารู้สึก และสิ่งที่คนเราคิดนั้น ย่อมมีอิทธิพลต่อกายทิพย์อย่างลึกซึ้ง ภูมิปัญญาโบราณของโยคะยังบอกอีกว่า หน้าที่ของกายทิพย์คือการดูดซับปราณแจกจ่ายปราณ และเพิ่มพลังปราณ (พลังชีวิต) ให้แก่กายเนื้อ

นอกจากนี้ กายทิพย์ยังเป็นเบ้าหลอมหรือตัวแบบสำหรับร่างที่เป็นกายเนื้อ โดยกายทิพย์จะปล่อยให้กายเนื้อทำหน้าที่รักษารูปร่าง รูปทรง และลักษณะของกายเนื้อไปตามกระบวนการทางชีวเคมีของมันไป แต่ถึงอย่างไร ในมุมมองของโยคะ กายเนื้อก็คือ กายที่หล่อหลอมมาจากกายแห่งพลังงาน (energy body) หรือกายทิพย์อยู่ดี

ถ้าหากกายทิพย์บกพร่อง (พร่องปราณ) กายเนื้อก็จะบกพร่อง (ไม่แข็งแรง) ตามไปด้วย กายเนื้อกับกายทิพย์จึงมีส่วนสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด หากเกิดมีอะไรกระทบต่อกายทิพย์ ก็ย่อมกระทบต่อกายเนื้อด้วย และในทำนองเดียวกัน หากมีอะไรกระทบต่อกายเนื้อ ก็ย่อมกระทบต่อกายทิพย์ด้วย ถ้ากายทิพย์ป่วย กายเนื้อก็จะป่วย หรือถ้ากายเนื้อป่วย กายทิพย์ก็จะป่วยตามไปด้วย ในทำนองเดียวกัน ถ้ากายทิพย์หายจากป่วย กายเนื้อก็หายจากป่วยด้วย หรือถ้ากายเนื้อหายจากป่วย กายทิพย์ก็จะหายจากป่วยด้วย

เพราะฉะนั้น ในมุมมองของโมเดล “โยคะ” การดูแลป้องกันกายทิพย์ให้แข็งแรงอยู่เสมอ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำก่อนเป็นอันดับแรกสุดในการรักษาสุขภาพและการชะลอวัย เพื่อการนี้ การดูแลจักระ จึงมีความสำคัญมากในโมเดล “โยคะ” เพราะ จักระคือศูนย์รวมพลังชีวิตที่สำคัญยิ่งของกายทิพย์ ในทำนองเดียวกับกายเนื้อที่มีอวัยวะต่างๆ ทั้งที่สำคัญต่อชีวิต และอวัยวะส่วนที่ไม่สำคัญนัก จักระก็เช่นกัน ในกายทิพย์จึงมีทั้ง จักระหลัก (major chakras) จักระขนาดกลาง (minor chakras) และ จักระขนาดเล็ก (mini chakras)

(1) จักระหลัก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของวงกลมประมาณ 3 ถึง 4 นิ้ว จักระหลักนี้จะทำหน้าที่ควบคุม และให้กำเนิดพลังงานแก่อวัยวะหลัก และอวัยวะที่สำคัญของกายเนื้อ จักระเหล่านี้จึงเป็นเสมือนสถานีเติมพลังงานจากกายทิพย์ ที่คอยจ่ายพลังชีวิตหรือพลังงานให้แก่อวัยวะหลัก และอวัยวะที่สำคัญต่างๆ ของกายเนื้อ เพราะฉะนั้น หากสถานีเติมพลังงานทำหน้าที่บกพร่องขึ้นมา อวัยวะที่สำคัญก็จะเจ็บป่วยหรือเกิดโรคขึ้นมาได้ ทั้งนี้เพราะอวัยวะที่สำคัญเหล่านี้ไม่มีพลังชีวิตที่เพียงพอต่อการทำหน้าที่ตามปกตินั่นเอง

(2) จักระขนาดกลาง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของวงกลมประมาณ 1 ถึง 2 นิ้ว

(3) จักระขนาดเล็ก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของวงกลมเล็กกว่าหนึ่งนิ้ว ทั้งจักระขนาดกลาง และจักระขนาดเล็กจะทำหน้าที่ควบคุม และให้พลังงานแก่ส่วนต่างๆ ของกายเนื้อที่มีความสำคัญน้อยลงไป

โดยทั่วไป จักระต่างๆ ในกายทิพย์จะมีหน้าที่สำคัญดังต่อไปนี้

(ก) ทำหน้าที่ดูดซับ และกระจายปราณ (พลังชีวิต) ไปยังส่วนต่างๆ ของกายเนื้อ

(ข) ทำหน้าที่ควบคุมให้พลังงาน และรับผิดชอบต่อการทำหน้าที่ตามปกติของกายเนื้อ และชิ้นส่วน รวมทั้งอวัยวะต่างๆ ทั้งหมด โดยเฉพาะ ต่อมไร้ท่อต่างๆ ของกายเนื้อจะถูกควบคุมและได้รับพลังงานจากจักระหลักบางอัน ต่อมไร้ท่อเหล่านี้สามารถถูกกระตุ้นได้โดยผ่านการควบคุมหรือการใช้จักระหลัก อาการเจ็บป่วยของคนเราส่วนมากและส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ของจักระหลักบางอันนั่นเอง

(ค) เป็นศูนย์กลางของอำนาจจิต (psychic faculties) ในการกระตุ้นให้จักระ (ศูนย์พลังงาน) ทำงานนั้น อาจยังผลให้เกิดการพัฒนาอำนาจจิตบางอย่างขึ้นมาได้ โดยที่จักระที่ทำงานได้ง่ายที่สุดคือ จักระมือ (hand-chakras) ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางฝ่ามือในการใช้จักระมือนั้น สามารถทำได้ โดยการที่ผู้นั้นต้องฝึกการรับรู้พลังที่ฝ่ามือ และเพิ่มความละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกถึงปราณ และออร่า (รัศมีคลุมกาย) ด้วยการกำหนดจิตผ่านใจกลางฝ่ามือให้จดจ่ออยู่กับปราณและออร่า

ในโมเดล “โยคะ” จะให้ความสำคัญมากสุดกับจักระหลัก ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 7 แห่งด้วยกัน เนื่องจากจักระทั้ง 7 นี้เป็นตำแหน่งที่กายเนื้อสามารถดูดซับปราณได้สะดวกที่สุด ผู้ที่สนใจศาสตร์ชะลอวัยตามโมเดล “โยคะ” จึงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับจักระหลักทั้ง 7 ให้กระจ่าง ดังต่อไปนี้

(1) จักระที่ 1 เรียกว่า “มูลธาร” ตั้งอยู่ระหว่างทวารหนักกับอวัยวะสืบพันธุ์ จักระนี้เป็นที่ตั้งของพลังกุณฑาลินี ซึ่งจะต้องถูกปลุกโดยผ่านการบำเพ็ญโยคะ ให้พลังนี้พุ่งขึ้นเป็นลำผ่านกระดูกสันหลังไปสู่สมอง โดยพุ่งผ่านท่อสุษุมนะ (ท่อกลางลำตัว) ของกายทิพย์ จักระนี้จึงเป็นจักระพื้นฐานมีหน้าที่ให้พลังปราณ และช่วยทำให้ร่างกายทั้งหมดแข็งแรง จักระนี้จึงเกี่ยวข้องกับความอยู่ดีมีสุขของร่างกายโดยตรง

(2) จักระที่ 2 เรียกว่า “สวาธิษฐาน” ตั้งอยู่ปลายกระดูกก้นกบซึ่งเป็นกระดูกข้อสุดท้ายของกระดูกสันหลัง จักระนี้ทำหน้าที่ควบคุมพลังทางเพศของคนเรา โดยผ่านการบำเพ็ญโยคะ ผู้นั้นจะสามารถเก็บรักษาและสงวนพลังทางเพศเอาไว้ได้ และยังสามารถแปลงและส่งพลังทางเพศนี้ไปเลี้ยงบำรุงสมอง เพื่อกระตุ้นสติปัญญาของผู้นั้นได้อีกด้วย

(3) จักระที่ 3 เรียกว่า “มณีปุระ” ตั้งอยู่บนกระดูกสันหลังที่เอวบริเวณตรงกับสะดือ แต่ด้านตรงข้าม จักระนี้ทำหน้าที่ควบคุมระบบการย่อยอาหารทั้งหมด ควบคุมทั้งตับอ่อน ตับ กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ กระบังลม และลำไส้เล็กในบางส่วน นอกจากนี้ยังควบคุมระบบการผลิตเลือดของคนเราอีกด้วย จักระนี้จึงมีความสำคัญมากต่อสุขภาพ ต่อการต้านเกิดมะเร็ง และต่อต้านการชะลอวัยทำให้อายุยืน

(4) จักระที่ 4 เรียกว่า “อนาหตะ” ตั้งอยู่บนกระดูกสันหลังบริเวณสะบักตรงข้ามกับหัวใจ จักระนี้เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกในเชิงบวกทั้งปวง โดยเฉพาะความรัก ความเมตตา ความเอื้ออารี ความกรุณา การให้อภัย และความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ นอกจากนี้ จักระนี้ยังทำหน้าที่ควบคุมให้พลังแก่หัวใจ ปอด และต่อมไธมัสอีกด้วย

(5) จักระที่ 5 เรียกว่า “วิสุทธิ” ตั้งอยู่บนกระดูกสันหลังข้อสุดท้ายขนานไปกับระดับไหล่ จักระนี้ควบคุมระบบหายใจ ซึ่งรวมไปถึงจมูก หลอดลม ปอด และผิวหนัง นอกจากนี้ จักระนี้ยังทำหน้าที่ควบคุมให้พลังแก่ต่อมไทรอยด์อีกด้วย

(6) จักระที่ 6 เรียกว่า “อาชณะ” ตั้งอยู่กลางหน้าผากระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง จักระนี้ทำหน้าที่ควบคุมเพิ่มพลังให้แก่ต่อมพิทูอิทารี และสมองจึงเกี่ยวข้องกับปรีชาญาณ และปัญญาญาณในการมองโลก มองชีวิต ของผู้นั้นโดยตรง

(7) จักระที่ 7 เรียกว่า “สหัสราระ” ตั้งอยู่กลางกระหม่อม จักระนี้มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นจิตวิญญาณของคนเราโดยตรง นอกจากนี้ จักระนี้ยังทำหน้าที่ควบคุมให้พลังแก่ต่อมไพนีลในสมองอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...