วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

พรหมจรรย์ในศาสนา

< พรหมจรรย์ในศาสนา >

ก็ลองพิจารณาว่าแต่ละท่านอยู่ในพรหมจรรย์ขั้นไหนกันครับ

ความหมายของพรหมจรรย์ในศาสนา
หลายคนยังคงมีความฝังใจอยู่อย่างหนึ่งว่า คำว่า พรหมจรรย์ หมายถึง ออกบวชเป็นพระ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกแต่ไม่ทั้งหมด?

ในคัมภีร์มงคลทีป ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่อธิบายพระพุทธวจนะเรื่องมงคล 38 โดยตรง ท่านอธิบายไว้ เป็นคำบาลี อย่างนี้

“พรหมจะรยัง นามาะ ทานะ เวยยาวัจจะ ปัญจะสีละ อัปปะมัญญา เมถุนะวิระติ สะทาระสันโตสะ วิริยะ อุโปสะถังคะ อริยมัคคะ สาสะนะวะเสนะ ทะสะวิธัง โหติ”

ซึ่งแปลความหมายได้ดังนี้

ข้อวัตร ที่เรียกว่า พรหมจรรย์นั้น มี 10 อย่าง คือ
1. ทาน
2. เวยยาวัจจะ
3. เบญจศีล
4. เมตตาอัปปมัญญา
5. เมถุนวิรัติ
6. สทารสันโดษ
7. วิริยะ
8. อุโบสถ
9. อริยมรรค
10. ศาสนา

หมายความว่า ข้อปฏิบัติ สิบข้อนี้ แต่ละข้อ เรียกว่า พรหมจรรย์
พรหมจรรย์ ทั้งสิบนี้ ถ้าแบ่งเป็นชั้น ก็ได้ ๓ ชั้น ต่ำ กลาง  สูง และให้สังเกตว่า ทุกชั้น ต้องมีศีล กับธรรม ควบกันไปเสมอ ดังต่อไปนี้

แผนผังชั้นของพรหมจรรย์
ชั้นของพรหมจรรย์
10.  ศาสนา  = ปฏิบัติธรรมทุกข้อในศาสนา

ชั้นสูง
9.  อริยมรรค  = บำเพ็ญมรรค ๘ (ไตรสิกขา)
8. อุโบสถ  =  รักษาศีลอุโบสถ
7. วิริยะ  = ทำความเพียร

ชั้นกลาง
6. เมถุนวิรัติ  = เว้นเสพเมถุน
5. สทารสันโดษ  = พอใจแต่ในคู่ครองของตน
4. อัปปมัญญา  = แผ่เมตตา แก่สัตว์ทั่วไป

ชั้นต้น
3. เบญจศีล  = รักษาศีลห้า
2. เวยยาวัจจะ  = ขวนขวาย ในการทำประโยชน์
1. ทาน  = การสละทรัพย์ให้คนอื่น

ซึ่งถ้าพิจารณารายละเอียดข้างต้นนี้ ในพรหมจรรย์ 10 ข้อดังกล่าว ให้นึกไว้อยู่เสมอว่า ความมุ่งหมาย ของการประพฤติพรหมจรรย์คือการตัดโลกีย์ ซึ่งก็คือ ให้ตัดเยื่อใยในทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องของ กามารมณ์ และในทุกชั้นจะมีการรักษาศีล การปฎิบัติธรรม ควบกันไปเป็นระยะๆ

》พรหมจรรย์ชั้นต้น
พอขึ้นต้นก็คือ การถอนความห่วงใยในพัสดุ ของนอกตัวสละให้คนอื่นไป วิธีนี้เรียกว่า ทาน แต่ไม่ใช่หมายถึงให้จนหมดตัว แต่ให้บั่นทอนความมัวเมาติดพันลง ส่วนปัจจัยเครื่องจับจ่ายดำรงชีพไม่ห้าม และนอกจากตัดจากตัวให้ไปแล้ว ยังช่วยขวนขวาย ทำประโยชน์ให้คนอื่นด้วย หรือที่เรียกว่า เวยยาวัจจกรรม ส่วนในการรักษาเบญจศีล เป็นการตัดทางที่จะกอบโกยเอาพัสดุของโลกมาเป็นของตนในทางมิชอบ ในขั้นนี้ ปัญหาทางกาม ยังไม่ตัดขาด เพียงแต่ ไม่ทำผิดประเวณี เช่นไปทำชู้ กับชายหญิงต้องห้าม

》พรหมจรรย์ชั้นกลาง
เป็นการปฎิบัติ พรหมจรรย์ชั้นต้นให้เข้มงวดยิ่งขึ้น เช่นการเสียสละในชั้นต้นนั้นเพียงให้ของ ให้แรงงาน แต่พอมาในชั้นกลาง ให้เมตตา ซึ่งการแผ่เมตตาในชั้นนี้เรียกว่า อัปปมัญญา คือ ปรารถนาให้สรรพสัตว์ มีความสุขความเจริญ ไม่เลือกหน้า ไม่ว่าผู้นั้น สัตว์นั้น จะเป็นมิตร หรือศัตรู

ส่วนทางกามารมณ์ ท่านวางไว้ 2 ประเด็น
คือ ผู้ถือบวช ให้เว้นเสพเมถุนเด็ดขาด (เมถุนวิรัติ)
ส่วนผู้ครองเรือน ให้เว้นจากการร่วมหลับนอน กับหญิงอื่นแต่จะหลับนอน กับภรรยา หรือสามีของตน ก็ได้ (สทาสันโดษ)

》พรหมจรรย์ชั้นสูง
ต้องปรารภความเพียร ซึ่งความเพียร ในชั้นนี้ หมายถึงความเพียรพยายาม ที่จะละกิเลส เช่น นั่งสมาธิ เดินจงกรม ฟังธรรมะ พิจารณาธรรมะ หมายความว่า ต้องใช้เวลาของชีวิตแทบทั้งหมดในการทำความเพียร เพื่อตัดกิเลสทางด้านกามารมณ์ ต้องตัดขาดทั้งหมด ต้องถือศีลอย่างน้อย คือศีลอุโบสถ และประการสำคัญ คือต้องบำเพ็ญมรรคแปด ตรงมรรคแปด นี่แหละ ที่จะทำให้บรรลุ โลกุตรภูมิ

》พรหมจรรย์รวบยอด
พรหมจรรย์ ข้อที่ 10 มิได้จัดไว้ในขั้นใดขั้นหนึ่ง เพราะเป็นข้อรวบยอด หมายถึง ความสำเร็จ ในอธิสิกขา 3 แล้ว คือ
1. อธิศีลสิกขา              สำเร็จศีล ชั้นยอดแล้ว
2. อธิจิตตสิกขา            สำเร็จทางสมาธิ ชั้นยอดแล้ว
3. อธิปัญญาสิกขา        สำเร็จ ได้ดวงปัญญา ชั้นยอดแล้ว
หมายถึง ผู้บำเพ็ญมรรค 8 สมบูรณ์เต็มที่แล้ว ผู้บรรลุขั้นนี้ เรียกว่า “กะตะพรหมจะริยัง”  หมายความว่า “พรหมจรรย์สำเร็จแล้ว”

พอจ. เอโกธิภาวะ
21 พ.ค.2560

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...