วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ความว่าง

ความว่าง

ความว่างในขั้นศีลสมาธิปัญญา

การที่จะเป็นความว่างนั้นต้องหัดกำหนดให้รู้จักความสงบกาย

สงบวาจาสงบใจ ซึ่งเป็นศีล ไม่ดิ้นรนไปเพื่อที่จะประพฤติ

ก่อภัยก่อเวรต่างๆ จิตพร้อมทั้งกายทั้งวาจาสงบเรียบร้อย

ดั่งนี้ก็เป็นศีล ตัวศีลนี่แหละเป็นความว่าง ว่างจากภัย

ว่างจากเวรทั้งหลาย ไม่ก่อภัยไม่ก่อเวรอะไรๆ ขึ้น

ทางกายวาจาพร้อมทั้งทางใจ คือใจก็ไม่คิดที่จะไป

ก่อภัยก่อเวรแก่ใคร ไปทำร้ายเบียดเบียนใคร กายวาจา

ก็ไม่ไปประพฤติกระทำร้ายใครเบียดเบียนใคร

ก็ว่างจากภัยจากเวรทั้งหลาย ใจที่ว่างดั่งนี้

กายวาจาที่ว่างดั่งนี้เป็นศีล

จิตก็เหมือนกัน เมื่อจิตสงบได้จากความคิดฟุ้งซ่านไป

ในอารมณ์ตามใคร่ตามปรารถนาต่างๆ มาตั้งมั่นอยู่ในกิจ

ที่ควรทำต่างๆ ตลอดจนถึงมีความสงบอยู่ในภายใน

ไม่ฟุ้งซ่านออกไป ความสงบจิตดั่งนี้ก็เป็นสมาธิ

และปัญญาคือตัวความรู้ ความรู้ที่รู้จักศีลตามเป็นจริง

รู้จักสมาธิตามเป็นจริง ตลอดจนถึงรู้จักตัวความว่าง

ว่าความว่างที่เป็นความว่างจริงนั้น ต้องว่างจาก

ความเพลิดเพลิน ความติดใจยินดีที่ไปกับตัณหา

ความดิ้นรนทะยานอยาก ดั่งนี้ก็เป็นปัญญา คือ

รู้จักสัจจะคือความจริงที่กายวาจาใจของตัวเอง

ดั่งนี้ก็เป็นปัญญา จิตที่เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญานี้เอง

ก็เป็นตัวความว่างซึ่งเป็นตัวผล เป็นความสงบที่ยิ่งๆ ขึ้นไป

และเป็นความรู้ที่ยิ่งๆ ขึ้นไป

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว จึงจะรู้จักธรรมะ รู้จักพุทธศาสนา

เมื่อรู้จักธรรมะรู้จักพุทธศาสนาดั่งนี้ แม้น้อยหนึ่ง

ก็เป็นประโยชน์มาก เพราะได้รู้จักของจริงของแท้

ว่าพุทธศาสนาที่จริงที่แท้นั้นเป็นอย่างนี้ และจะทำให้

รู้จักลู่ทางที่จะปฏิบัติให้พบกับความว่าง ให้พบกับ

ความสงบ ให้พบกับความหลุดพ้นของตนยิ่งๆ ขึ้นไปได้
---------------------------------------------------------------
ความจริงที่ตนเอง

พระบรมศาสดาผู้ทรงรู้ทรงเห็น ได้ทรงแสดงธรรมะสั่งสอน

ก็เพื่อให้ผู้ปฏิบัติทุกคนได้รู้ได้เห็นสัจจะคือความจริงนี้

ที่ตนเองของทุกๆ คน ไม่ใช่ที่อื่น แม้ที่ทรงแสดง

สติปัฏฐานทั้ง ๔ ตั้งสติกำหนดดูกายเวทนาจิตธรรม

ก็เป็นการดูให้รู้เข้ามาในการที่จะปฏิบัติอาศัย

กายเวทนาจิตธรรมนี้เอง ให้เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นมา

และให้พบกับความว่าง ให้พบกับความสงบ ให้พบกับ

ความหลุดพ้น ไม่ใช่อย่างอื่น

และก็ทรงจำแนกแจกธรรม ก็คือตรัสสอนให้ผู้ฟัง

รู้จักจำแนกทางปฏิบัติออกไปเป็นกาย เป็นเวทนา จิต ธรรม

ดูให้รู้จักกาย รู้จักเวทนา รู้จักจิต รู้จักธรรม

ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว และโดยเฉพาะในข้อที่เกี่ยวกับ

ธรรมะนั้น ก็ได้ทรงสรุปเข้าในสัจจะคือความจริงความจริงที่ตนเอง

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

วัดบวรนิเวศวิหาร

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...