0084 ทั้งสังขารและวิสังขารไม่ใช่ตัวตน
คำพูดที่มักเป็นปัญหา คือคำว่ามิใช่ตัวตน อนัตตา วิสังขารก็เป็นอนัตตา หมายความ ว่า ของปรุงก็เป็นอนัตตา ของไม่ปรุงก็เป็นอนัตตา ทั้งสองอย่างนั้นอย่าได้เข้าใจว่า เอามาเป็นตัวเป็นตน หรือเป็นของๆตนได้
สังขารนั้นมันเห็นชัดอยู่แล้ว มันเปลี่ยนแปลงเรื่อยไหลเรื่อย เอามาเป็นตัวตนไม่ได้ เพราะมันปรุงเรื่อย แต่มัน พวกที่ไม่ปรุง หยุด เย็น สงบอยู่ ก็จะยึดถือว่าตัวตนไม่ได้ เพราะมันเป็นของธรรมชาติเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ เป็นนิพพานธาตุ เป็นนิโรธธาตุอยู่ตามธรรมชาติ อย่าเอามาเป็นตัวตนของตน
เช่นเดียวกับทางฝ่ายวัตถุนี้ เราถือว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นธาตุอยู่ตามธรรมชาติ เอามาเป็นตัวตนไม่ได้ แต่ถึงแม้นิโรธธาตุ นิพพานธาตุ วิสังขาร อสังขตธาตุ มันก็เป็นธาตุตามธรรมชาติ เอามาเป็นตัวตนไม่ได้ ถ้าเอามาเป็นตัวตน ก็คือเข้าใจผิด แล้วก็ทำผิด แล้วก็ทำให้เกิดเรื่องใหม่ ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เอามาเป็นตัวตนไม่ได้ มาว่าเป็นตัวตนของตน
ดังนั้นคำว่าอนัตตาของธรรมทั้งปวง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตานั้นเข้าใจยาก สังขารก็อนัตตา วิสังขารก็อนัตตา จะพูดให้เป็นภาษาธรรมดาหน่อยก็ว่าสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ก็เป็นอนัตตา แม้สิ่งที่เที่ยงและไม่เป็นทุกข์ ก็ยังเป็นอนัตตาเพราะว่ามันเป็นของธรรมชาติด้วยกันทั้งนั้น หนทางที่จะไปเอาอะไรมาเป็นตัวตนเป็นอัตตานี้ไม่มี เพราะ มันเป็นสักแต่ว่าธาตุตามธรรมชาติ ถ้าใครจะไปเอามาเป็นตัวตนเป็นของตน มันก็เป็นความคิดที่ผิด ก็เรียกว่าอวิชชา แล้วมันก็กัดเอา คือมันจะเป็นทุกข์ เพราะคิดผิด หวังผิดยึดมั่นถือมั่นอย่างผิดๆ ด้วยอำนาจอวิชชา ไปยึดถืออะไรเอามาเป็นตัวตน มันก็กัดเอาทั้งนั้นแหละ คือทำให้เป็นทุกข์ สิ่งที่ว่ามันไม่มีค่า มันก็ยึดถือไม่ได้ สิ่งที่มีค่าก็ยึดถือไม่ได้ ขอให้อยู่อย่างที่ไม่ยึดถืออะไร
นี่มันเลยไปถึงว่า เรื่องดีเรื่องชั่วนั้นนะ ไม่ต้องยึดถือ ชั่วก็ไม่ทำ ดีก็ทำตามที่จะต้องทำ เพื่อเป็นเครื่องอำนวยความสะดวก แต่ก็ ไม่ต้องยึดถือ เช่นว่า ข้าวของ เงินทอง เพชรพลอย แพงที่สุดนี้ ก็ใช้เพื่อความสะดวกได้ แต่อย่าไปยึดถือ ถ้าไปยึดถือมันจะกัดเอา คือจะต้องเป็นทุกข์เดือดเนื้อร้อนใจ เพราะความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น ฉะนั้นจึงมีได้ ใช้ได้ กินได้ อาศัยประโยชน์ได้ แต่อย่าไปยึดถือมันเข้า มันจะกัดเอา ความดีความชั่วนี้ก็เหมือนกัน ชั่วนี้ไม่ต้องทำ ถ้ามันกัดเอาความดีนี้ใช้เป็นประโยชน์ได้ แต่ถ้าไปยึดถือเข้ามันก็จะกัดเอา ในธรรมชั้นสูงจึงไม่ยึดถือทั้งความชั่วและความดี
ก่อนพระพุทธเจ้านะ เขายึดถือความดี ดีที่สุดไปพรหมโลกชั้นสูงสุดแล้วก็ยึดถือ แล้วก็เวียนว่ายอยู่ที่นั่น นี้พระพุทธเจ้าท่านเกิดขึ้น ท่านตรัสว่าไม่ได้คือ ไม่มีอะไรควรจะยึดถือ ก็เลยเหนือพรหมโลกขึ้นไปเป็นนิพพาน ฉะนั้นนิพพาน จึงพ้นดี พ้นชั่ว พ้นบุญ พ้ยบาป พ้นกรรม พ้นผลของกรรม นิพพานคือวิสังขาร คือไม่ปรุง นั้นคือ เหนือดี เหนือชั่ว เหนือบุญ เหนือบาป เหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือกรรม เหนือผลแห่งกรรม การไม่ปรุงนี้เป็นกรรมที่ ๔ ในพระพุทธศาสนา เราจะอยู่เหนือกรรม จะหมดกรรม จะสิ้นกรรม กรรมไม่ดำไม่ขาว กรรมไม่ดีไม่ชั่ว นี่คือคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา จะเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา คืออัฏฐังคิโกมัคโค มันเป็นกรรมที่ทำให้หยุดปรุง เหนือกรรมดี กรรมชั่ว เหนือทกสิ่งทุกอย่าง
( คำสอน ท่านอาจารย์ พุทธทาสภิกขุ )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น