0349 หลักการทำสมาธิคือรูปฌาน
ที่แสดงมานี่เราทุกคนจงปลูกศรัทธาให้มั่นคง มีความอดทนเป็นสิ่งสำคัญ มีสัจจะคือความจริงใจในการที่จะกระทำการปฏิบัติ อย่าเป็นคนเหลวไหลหละหลวมผัดวันประกันพรุ่ง อย่าเป็นคนเกียจคร้าน รักษาศีลให้ดีให้เรียบร้อย คือขัดเกลากิเลสหยาบ ธรรมะคือสมาธิขัดเกลากิเลสอย่างกลาง เมื่อเรารักษาศีลดีเราก็จะนั่งสมาธิได้เร็ว คือศีลวิสุทธิ จิตก็จะวิสุทธิไปด้วย จิตคือสมาธินั่นเอง เมื่อจิตเราวิสุทธิ ทิฏฐิก็วิสุทธิ ทิฏฐิก็คือปัญญานั่นเอง กล่าวโดยสรุป ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นองค์ของมรรค ๘ ซึ่งย่อลงมา ถ้าเราปฏิบัติตรงแล้วทุกอย่าง เช่น รักษาศีลไว้ให้มั่นแล้ว มีสมาธิฌานเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเกิดปัญญานำไปสู่การละกิเลส จึงขอเน้นว่าจงทำตามที่สั่งสอนนี้ขึ้นไปตามขั้นตอน ทำให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆตรงตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่อาจารย์ปฏิบัติอยู่นี้รู้แน่ชัด ขอยืนยันไว้กับศิษย์ทุกคนว่าไม่มีคำสั่งสอนใดที่อาจารย์คิดขึ้นเองอาจารย์ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ครบถ้วนทั้งสิ้น จึงสามารถสอนพวกเราได้ ถ้าไม่รู้จริงอาจารย์ไม่กล้าสอนพวกเรา เพราะนรกเป็นของมีจริง การสอนให้ศิษย์ทำผิด ครูบาอาจารย์เป็นผู้ลงนรก ศิษย์ไม่เท่าไรหรอก นี่เป็นหลักสำคัญ จะอวดดีอวดเก่งไม่ได้ในการที่ปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก่อนที่จะสอนศิษย์ของพระองค์พระองค์ก็ต้องตรัสรู้เป็นพระอรหหันต์แล้ว และพระอรหันต์ต่างๆ เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระกัสสปะเถระ ล้วนเป็นพระอรหันต์ระดับอัครสาวกมีอภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ ทั้งสิ้น การเขียนตำราใดๆ ขึ้นใหม่โดยอัตโนมัติเพื่อสั่งสอนผู้อื่นที่คิดว่าดี วิเศษยิ่งกว่าคำสั่งสอนของพุทธองค์ที่มีอยู่ในอภิธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ รู้ที่ใจไม่ใช่จากการพูด
อภิญญา ๖ เป็นความรู้ชั้นสูงอันเกิดจากการปฏิบัติสมถวิปัสสนา ประกอบด้วย
๑. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได
๒. ทิพโสด มีหูทิพย์
๓. เจโตปริยญาณ สามารถทายใจคนอื่นได้
๔. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้
๕. ทิพจักขุ (จุตูปปาตญาณ) มีตาทิพย์
๖. อาสวักขยญาณ คือทำให้อาสวะกิเลส (กิเลสละเอียด) หมดสิ้นไป
๕ อย่างแรก เป็นโลกียอภิญญา เสื่อมได้เมื่อยังไม่ถึงพระนิพพาน อย่างที่ ๖ คือ อาสวักขยญาณ เป็นโลกุตรอภิญญา ทำให้กิเลสหมดสิ้น บรรลุถึงมรรคผลนิพพานได้
ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ คือ ปัญญาแตกฉานมี ๔ อย่างด้วยกันคือ
๑. อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในทางอรรถ
๒. ธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในทางธรรม
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในทางนิรุกติหรือภาษา
๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในทางปฏิภาณ
จบเพียงเท่านี้ครับ
หลวงปู่สรวง ปริสุทโธ วัดถ้ำขวัญเมือง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น